วันอังคารที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 9/14



พระอาจารย์
9/14 (551128A)
28 พฤศจิกายน 2555



พระอาจารย์ –  แต่ละคนก็มีจริตไม่เหมือนกัน ญาติโยมก็จริตไม่เหมือนกัน ถูกใจยังไงก็เลือกเอา ...ทางนอกก็มีหลายทาง ทางบำเพ็ญน่ะมีหลายทาง  แต่ว่าทางมรรคมีทางเดียว เส้นทางสายเอกน่ะมีทางเดียว 

แต่ว่าทางของการบำเพ็ญบารมี การบำเพ็ญบุญ การดำรงชีวิต วิถีชีวิต ...มันมีหลายเส้นทาง มากมายจนเหลือคณา เกิดตายมาหลายล้านๆ ชาติ ยังไม่จบไม่สิ้น เพราะว่ามันมีหลากหลายเส้นทางมาก

บารมีเติมเท่าไหร่ก็ไม่เต็มหรอก ทำไป จนกว่ามันจะหยุด มันก็พอ ... หยุดเมื่อไหร่ก็พอเมื่อนั้น  หยุดที่จิต หยุดที่ใจ หยุดที่กาย หยุดที่ปัจจุบันน่ะ ...มันก็เต็มอยู่ที่นี้ บารมีมันก็เต็มหมด ไม่ขาด ไม่เกิน ...พอดี 

ทุกอย่างมันพอดีลงที่ปัจจุบัน พอดีอยู่ที่กายใจปัจจุบัน ขันธ์ปัจจุบัน ...ไม่มีขันธ์อดีต ไม่มีขันธ์อนาคต ไม่มีรูป เสียง กลิ่น รส ...ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส 

อุปาทานขันธ์มันก็ไม่เกิดขึ้นได้ ขันธ์หลอกขันธ์ไม่จริง จิตหลอกจิตไม่จริง มันก็เกิดไม่ได้ ...เพราะมันมีรูปแค่ปัจจุบัน เสียงแค่ปัจจุบัน ไม่มีอดีตอนาคตของรูปของเสียงที่เห็นที่ได้ยิน 

ทุกอย่างมันก็จบลงที่นั้นแหละ ... จะดีจะร้าย จะถูกจะผิด จะควรจะไม่ควร จะใช่จะไม่ใช่ ...มันก็จบลงที่ตรงนั้น...ปัจจุบัน...ไม่ไปจบที่อื่น

มีแต่จิตที่ไม่มีปัญญา หรือจิตผู้ไม่รู้นี่แหละ มันไม่ยอมจบ ไม่ยอมให้จบ ...มันจะไปหาทางจบในอดีตบ้าง หาทางจบในอนาคตบ้าง 

"เมื่อไหร่จะจบ เมื่อไหร่จะพอดี เมื่อไหร่จะหยุด เมื่อไหร่จะมาก เมื่อไหร่จะน้อย เมื่อไหร่จะเกิดขึ้นอีก" 

นี่ จิตมันก็ไปหาอุปาทานขันธ์ สร้างอุปาทานขันธ์ขึ้นมา หลอกล่อ ล่อหลอก ไปตามความไม่รู้ของมันนั่นแหละ ...เกิดตายจึงไม่จบไม่สิ้น เพราะอุปาทานขันธ์

ถ้าขันธ์ปัจจุบัน ขันธ์ตามความเป็นจริงแล้ว มันก็จบอยู่ในชาติเดียว เกิด รอวันตายไป ... ตายเมื่อไหร่ก็จบตรงนั้น ...สำหรับผู้มีปัญญาก็จบไปพร้อมกับจิต 

มันก็จบไปพร้อมกับความเข้าใจ มันก็จบไปพร้อมกับความไม่ลังเลสงสัย ในการหมดไปสิ้นไปของขันธ์ ว่ามันเป็นเช่นนี้ มันต้องเป็นอย่างนี้ มันไม่เป็นอย่างอื่น 

มันไม่เป็นอย่างที่เป็นในอดีต มันไม่เป็นอย่างที่จิตมันเคยสร้าง หรือมันเข้าใจว่าจะต้องเป็นในอนาคต ... มันเป็นเท่านี้ มันพอดีกันหมด 

ถึงบอกว่ามันต้องมาจบลงในปัจจุบันให้ได้ ...ถ้าไม่สำรวมจิต ถ้าไม่สำรวมกายวาจาอยู่กับปัจจุบันแล้วนี่ มันจะไม่เข้าใจขันธ์ที่มีที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 

ระหว่างเท่าทันอาการทางจิตน่ะ  อย่าไปเผลอเพลินกับมัน อย่าไปตามมัน อย่าไปจริงจังกับมัน อย่าเอามาเป็นธุระ อย่าเอามาเป็นอารมณ์ 

พอให้เห็นว่ามันมี พอให้เห็นว่ามันปรากฏขึ้น พอให้เห็นว่ามันยังอยู่ มันยังตั้งอยู่ มันยังไม่ดับ ...พอให้เห็นแค่นั้น อย่าไปวุ่นวี่วุ่นวาย จริงจัง จดจ่อ

ผูกกับกายปัจจุบันไว้ให้ดี แยบคายให้ดีในความเป็นกาย ...จนมันเห็น จนมันเข้าใจ จนมันแจ้งในกาย ว่ามันเป็นแค่ก้อนทุกข์ มันเป็นแค่กองทุกข์ 

ไม่ใช่กาย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่คน ไม่ใช่ชาย ไม่ใช่หญิง ไม่ใช่ดี ไม่ใช่ไม่ดี ...มันเป็นก้อน กองทุกข์ ก้อนทุกข์กองทุกข์ ก้อนธาตุกองธาตุ ก้อนธรรมกองธรรม 

ไม่มีค่างวด ไม่มีราคา ไม่มีคุณค่าในความหมายในความเห็นของจิต  เนี่ย มันเห็น มันแจ้งในกาย ...ไม่มีเรา ไม่มีของเรา ในก้อนธาตุ ในก้อนทุกข์นี้

กายเป็นก้อนทุกข์กองทุกข์ มันอยู่ด้วยภาวะที่ทนทุกข์ในตัวของมันเองอยู่ตลอด ...การขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว การแปรเปลี่ยนของอิริยาบถ การเกิดความรู้สึกแปรปรวนไปมา พวกนี้ มันเป็นภาวะทุกข์บีบคั้น 

ขยับเขยื้อนเพื่อให้เกิดความสุขขึ้นมาทดแทนทุกข์ที่เริ่มก่อตัว แสดงตัว ...ด้วยความไม่รู้ตัวว่ามันทำไมถึงต้องเคลื่อน ถึงต้องขยับ ทำไมถึงต้องเปลี่ยนอิริยาบถ ทำไมถึงต้องเดิน ทำไมถึงต้องยืน

เพราะทุกข์มันบีบคั้นในตัวของมัน แสดงความเป็นก้อนทุกข์ของมัน ...การเปลี่ยนอิริยาบถจึงเป็นการผ่อนคลายทุกข์เป็นคราวๆ ไป ...ไม่ใช่ว่ามันเป็นก้อนสุขกองสุข 

มันถูกทุกข์นี่บีบบังคับให้เกิดการต้องบริหารกายอยู่เสมอ เพื่อทำความสมดุล...พอให้ทุเลา พอให้มันเบาบางไป เพื่อความสืบเนื่องของขันธ์เท่านั้นเอง

มอง รู้ ดูมัน สังเกตมัน แยบคายกับมัน...เป็นงานหลัก เป็นวิถีแห่งสติสมาธิปัญญา เป็นวิถีแห่งมรรค ...พยายามให้อยู่ในร่องในรอย ในครรลองนี้ อย่าให้มันออกไปนอกร่องนอกรอยนี้ ครรลองนี้  มันก็จะตรงต่อองค์มรรค 

ส่วนที่มันจะชักจูงชักนำให้ออกนอกครรลองนี้ ก็มีรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ภายนอก มันก็มีจิตปรุงแต่งเป็นความคิดความเห็น เป็นอดีต-อนาคต เป็นอารมณ์ ความรู้สึก ...พวกนี้เป็นสิ่งที่มันจะชักจูงออกนอกครรลองนี้

ก็พยายามเท่าทัน อย่าให้มันแตกออกไปจากกายใจปัจจุบัน ... แม้จะไม่รู้ จะไม่เห็น จะไม่แจ้ง จะไม่ชัดขนาดไหน ...ก็ซ้ำซากลงไป อย่าเบื่อ อย่าหน่าย อย่าเบือนหน้าหนี อย่าท้อ อย่าอิดหนาระอาใจ 

ซ้ำซากลงไปในที่อันเดิม ในที่เดียว ในที่นี้ ณ ที่นี้ที่เดียว ทุกอย่างก็จะจบอยู่ในที่นี้ที่เดียว ...แล้วก็จะเห็นความเป็นจริงว่ามันจบจริงๆ ในปัจจุบันนี้ ...ทุกอย่าง 

รูปที่เห็นก็จบตรงนี้  เสียงที่ได้ยินก็จบที่นี้ เดี๋ยวนี้  กลิ่นที่ปรากฏ ได้กลิ่น ก็จบลงที่นี้ ...เมื่อมันหมดเหตุปัจจัยของรูปเสียงกลิ่นรสที่กระทบ...ทุกอย่างก็จบ

แล้วก็มาสังเกตดู เท่าทันต่อ  ...ว่าทำไมถึงยังไม่จบ มันเพราะอะไร มันเป็นอะไร มันเป็นตัวไหน...ที่ไม่ยอมจบ มันไม่ยอมให้จบ  

หรือหลงไปกับอดีต หลงไปกับสัญญา หลงไปกับความคิดความปรุงไปข้างหน้า พวกนี้ ...ให้มันเห็น ไอ้ที่มันไม่จบเพราะอะไร ไอ้ที่มันต่อเนื่องไปเพราะอะไร 

ก็ให้สังเกตให้เข้าใจ จนละ จนวาง ...เหตุที่ไม่ยอมให้จบด้วยความไม่รู้ มาจากจิต มาจากความอยาก มาจากความไม่อยาก ที่มันไม่พอแค่รูปแค่เสียงที่มันเกิดอยู่ ดับไปในปัจจุบัน 

ศึกษาสำเหนียก ซ้ำซากเช่นนี้  มันก็จะค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ จางคลายจากความที่ไม่ยอมจบไม่ยอมสิ้นสักที ...จิตมันก็จะรวมเป็นหนึ่งได้มั่นคงขึ้นในปัจจุบัน ตั้งมั่น แน่วแน่ อยู่กับปัจจุบัน 

อดีตอนาคตก็เริ่มจางคลายไป เวล่ำเวลาก็ไม่ค่อยมี ...เพราะจิตมันสร้างเวลาไม่ได้ มันถูกรวมด้วยศีลสมาธิปัญญาเป็นหนึ่งอยู่ในปัจจุบัน

ก็เพียรรักษา ประคับประคองศีลสมาธิปัญญาภายในของตัวเองไว้ เหมือนกับเป็นเสบียงกรังในองค์มรรค 

แต่ถ้าออกนอกศีลสมาธิปัญญา มันก็จะมีความอยากความไม่อยากเป็นเสบียงกรัง มีตัณหาอุปาทานเป็นเสบียงกรัง ให้เดิน ให้ท่องไปในสามโลกธาตุ ให้ท่องไปวนเวียนไปมาในวัฏสงสาร

แต่ถ้าอยู่ในมรรค มีศีลสมาธิปัญญาเป็นเสบียง เป็นกำลัง เป็นกองหนุน เป็นสิ่งที่คอยค้ำจุนให้ผู้ปฏิบัติผู้ภาวนานั้นสำเร็จงานในมรรค

เพราะนั้นคำว่าศีลสมาธิปัญญา มันก็เป็นแค่คำพูดที่แบ่งกันขึ้นมาโดยสมมุติโดยบัญญัติเท่านั้น ... โดยภาคของการปฏิบัติ ศีลสมาธิปัญญาก็รวมอยู่ที่แค่คำว่า “รู้ตัว” 

แค่รู้ตัว ทำความรู้ตัวในปัจจุบัน รู้คือรู้ ตัวคือตัว มีอยู่แค่นี้ ...สองอย่าง สองสภาวะ สองสภาพธรรม สองความเป็นจริง ตัวก็จริง รู้ก็จริง ของจริง

เพราะนั้นเมื่อรู้กับของที่จริง เรียกว่า "รู้จริง"  เพราะว่าตัวเป็นตัวจริง ตัวปัจจุบันเป็นตัวที่มีอยู่จริง ปรากฏอยู่จริง  รู้ที่กำหนด รู้ที่มีสติคอยกำกับเพื่อให้กลับมารู้ตัวนี่ จึงเป็นรู้ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง เรียกว่ารู้จริง

ธรรมชาติธรรมดาของคนโดยทั่วไป มันไม่ค่อยรู้จริง ...มันมีแต่รู้จำ มันมีแต่รู้คิด มันมีแต่รู้ไปมา มันมีแต่รู้ไปในอดีต มันมีแต่รู้ไปในอนาคต มันมีแต่รู้ไปตามตำรับตำรา 

มันมีแต่รู้ไปไม่จบไม่สิ้น ไม่ยั้งไม่หยุด ...เป็นความรู้ที่ไม่เป็นไปเพื่อเกิดมรรคผลและนิพพาน เพราะมันไม่ใช่ความรู้จริง ไม่ได้รู้ตามจริง ไม่ได้รู้สิ่งที่เป็นจริง มีอยู่จริง

เพราะนั้นการที่รู้จริง ก็คือต้องรู้ที่ตัว รู้อยู่กับตัว ...ตัวก็เป็นตัวปัจจุบัน ตัวคนอื่นก็ไม่ใช่ ตัวเราในอดีตก็ไม่ใช่ ตัวเราในอนาคตก็ไม่ใช่ 

ตัวเราในปัจจุบันนั่นแหละ ย้ำๆ ลงไป ...จนมันแยกระหว่าง “ตัวเรา” กับ “ตัว” เฉยๆ ...ว่ามันเป็นคนละตัวกันอย่างไร ... "ตัวเรา" มาจากไหน

มันก็เกิดความแยกธาตุแยกขันธ์ ...แยก จำแนก ธาตุสี่ ขันธ์ห้า อายตนะหก ผัสสะหก ออกจากกัน จนไม่เป็นเนื้ออันเดียวกัน 

มันก็จะเห็นขันธ์ห้าร่องแร่ง รุ่งริ่ง ปุๆ ปะๆ สลับสับเปลี่ยนไปมา ไม่เป็นชิ้นไม่เป็นอัน ไม่เป็นแก่นไม่เป็นสาร ไม่เป็นสาระ ไม่เป็นสัตว์ ไม่เป็นบุคคล ไม่เป็นใคร ไม่เป็นของใคร 

เป็นเพียงแค่อาการเกิดดับ เป็นหย่อมๆๆๆ นั้นบ้างนี้บ้าง ตรงนั้นบ้างตรงนี้บ้าง กระจัดกระจายทั่วไป

ความหมายมั่น ความยึดมั่นในขันธ์ ทั้งในอดีต ทั้งในอนาคต ทั้งในปัจจุบัน ก็ค่อยๆ ลดน้อยถอยลงไป ด้วยกำลังของศีลสมาธิปัญญานี้เอง ไม่ใช่ด้วยความอยากหรือความไม่อยาก 

แต่มันด้วยศีลสมาธิและปัญญา ด้วยการที่เพียรอยู่ในศีลสมาธิปัญญา ด้วยความต่อเนื่อง ด้วยความเป็นกลาง ด้วยความตั้งมั่น ด้วยความเข้าใจ ด้วยการรู้อยู่ในที่อันเดียว พวกนี้ เป็นมรรค

ทำให้มาก ทำให้ต่อเนื่อง ...อย่าเบื่อ อย่าเบื่อที่ทำซ้ำๆ อย่าเบื่อที่ทำอย่างเดียว อย่าเบื่อ อย่าท้อ อย่าไปหลายใจหลายมือ อย่าไปหลายจิตหลายใจ อย่าไปหลายวิธีการ อย่าไปหลายความเห็น

อย่าไปหลายความคิด อย่าไปตามความคิดพวกนี้ ...จิตก็จะค่อยๆ มีความสำรวมระวังในตัวของมันเอง มีความหยุด มีความยั้งในตัวของมันเองได้

คิดไปไกล คิดไปนาน มันก็เกิดการรู้ ...ระลึก เท่าทัน แล้วก็หยุด กลับมารู้ตัว เป็นพื้น เป็นหลัก เป็นฐาน มันก็เกิดความตั้งมั่นแนบแน่นกับองค์มรรค ...มรรคก็จะยิ่งชัดเจน

มรรคอันใด ผลอันนั้น ... ผลอันใดก็เข้าไปสนับสนุนมรรคองค์นั้นต่อ เป็นความเนื้อหนึ่งใจเดียวกัน ประสานกันอยู่อย่างนี้ ...เป็นมรรคสมังคี

ผลที่ได้ก็เป็นมรรคจิตมรรคญาณ ... ละรูปละนาม เพิกรูปถอนนาม ทำลายรูปทำลายนามไป 

จากความไม่รู้ที่มันเข้าไปจริงจัง ไปกอบโกย ไปหมายครอง ไปยึดถือ ไปเหนี่ยวรั้ง ไปผลักไปดึง ...อะไรพวกนี้เกิดจากความไม่รู้ทั้งสิ้น มันจึงมีอาการเหล่านี้ตามมา

เมื่อมีอาการเหล่านี้ตามมา ผลของมันก็คือ ทุกข์-สุข สุข-ทุกข์  หมุนเวียนสลับกัน ... โดยมีทุกข์เป็นรากฐานของมัน สุดท้ายสุขแทบจะไม่มีเลย มีแต่ทุกข์...กับทุกข์...กับทุกข์ เท่านั้นเอง 

มีแต่เรื่อง ...ไม่มีคำว่าจบเรื่อง หมดเรื่อง สิ้นเรื่อง  หมดเรื่องนี้ก็มีเรื่องนั้น หมดเรื่องนั้นก็มีเรื่องนี้ หมดคนนั้นเรื่องคนนั้นก็มีเรื่องคนนี้ หมดเรื่องของเราตรงนี้เดี๋ยวก็มีเรื่องของเราตรงนั้น 

วนเวียนๆ น่าเบื่อหน่าย ไม่มีสาระ ... แต่ก็...ถ้าไม่มีปัญญาก็ไม่รู้จะหยุดยังไง จะออกจากมันได้อย่างไร จะอยู่เหนือมันอย่างไร จะไม่ตามมันอย่างไร 

ก็ต้องฝึก ก็ต้องดัดจริต ดัดจิต อบรมจิต ควบคุมจิต ระวังจิต เท่าทันจิต ...รักษาจิตรู้ รักษาจิตเห็น ละจิตที่โลดแล่นไปมา ละอดีต วางอนาคต อยู่กับปัจจุบัน อย่างนี้ จนมันเกิดกำลังในตัวของมันเอง

ด้วยแรงสนับสนุนของศีลสมาธิปัญญา มันจะมีกำลังในตัวของมันเอง เมื่อมันเกิด...บังเกิดผลมากขึ้น เข้าใจมากขึ้น ผลมากขึ้น 

ความทุกข์น้อยลง ...เอาตัวทุกข์ที่น้อยลงนั่นแหละเป็นตัววัดผล ไม่ต้องไปเอาบัญญัติ ไม่ต้องไปเอาสมมุติ ไม่ต้องไปเอาตำรา เป็นตัววัด

แต่เอาตัวทุกข์นี่ ที่ทุกข์จากการเห็น ทุกข์จากการคิด ทุกข์จากการได้ยิน ทุกข์จากอารมณ์ ทุกข์จากความซ้ำซากในความคิด ทุกข์จากการซ้ำซากในสัญญาความจำ มันน้อยลงมั้ย มันจางคลายลงไปมั้ย 

ทุกข์จากความสงสัยลังเล ทุกข์จากความไม่อิ่มไม่เต็มไม่พอ ทุกข์จากความทะยานอยาก ทั้งในทางโลกและทางธรรมน่ะ ให้สังเกตดูว่ามันน้อยลงมั้ย 

ถ้าน้อยลงก็แปลว่าเป็นผลของมรรค ผลของศีลสมาธิปัญญาที่ตรง ...ไม่ใช่ข้างๆ คูๆ ไม่ใช่ลูบๆ คลำๆ แต่มันตรง ...ถ้ามันตรง ผลก็จะเกิดว่าทุกข์ก็จะน้อยลง

ส่วนทุกขสัจก็มีเท่าเดิม มีความแปรปรวนไปมา มีความไม่คงอยู่ในตัวของมันเอง สลับไปมา เป็นเท่าเดิมของมัน เท่าที่เคยมีเคยเป็น มันไม่มีมากขึ้นหรือน้อยลง มันไม่มีที่มันดีขึ้นเลวลง มันก็เป็นของมันอยู่เป็นธรรมดาอย่างนั้น

แต่คำว่าทุกข์ที่น้อยลง ...คือทุกข์ที่เกิดจากอุปาทานขันธ์ ทุกข์ที่เกิดจากอดีต ทุกข์ที่เกิดจากอนาคต ทุกข์ที่เกิดจากจิตปรุงแต่งจากความไม่มีจริง...แต่ว่าปรากฏให้มันมีดูเหมือนจริงขึ้นมา 

ทุกข์อย่างนี้จะน้อยลง ...มันเห็น ... แล้วไอ้ตัวนี้มันจะเป็นเหมือนพลังหรือกำลังที่จะให้เกิดความมุ่งมั่นในองค์มรรค ไม่ท้อถอย 

เพราะว่าขนาดทำอย่างนี้ แค่นี้ ทุกข์ยังน้อยลงแค่นี้เท่านี้ ...ถ้าเราทำให้มากขึ้นกว่านี้ ทุกข์มันจะอยู่อย่างนี้ได้อย่างไร มันจะอยู่ได้อย่างไร  นี่ มันจะถึงคำว่าหมดสิ้นได้ จริงมั้ย ...มันก็ไม่ลังเลสงสัยในองค์มรรค

เพราะตั้งแต่ภาวนามานี่ ผลไม่เคยผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปแต่ประการใด จากแต่ก่อน ... มันก็จะเข้าใจว่าไอ้ที่เราไม่ได้ผลน่ะ ...เพราะเราไม่ตรงต่อองค์มรรค 

เราไม่ตรงต่อศีล เราไม่ตรงต่อสมาธิ เราไม่ตรงต่อปัญญา ผลมันจึงลักปิดลักเปิด เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย มันก็จึงเกิดความสับสน ไม่มั่นใจ ไม่มั่นคงในวิถีแห่งการปฏิบัติ ...นี่ มันเห็นมันก็ยิ่งไม่ลังเลสงสัยมากขึ้นไป

เมื่อปฏิบัติเช่นนี้ด้วยความรู้ตัวไปอยู่สม่ำเสมอ จนมันถึงขั้นที่เรียกว่า ไม่ละไม่วาง ไม่คลาดไม่เคลื่อนจากสายตาของใจเลย ไม่ละไม่เคลื่อนจากสายตาของสติ สายตาของสมาธิปัญญาภายใน 

จนมันเต็ม จนมันเป็นเส้นตรง จนมันเป็นเหมือนสายน้ำที่ไหลรินไม่ขาดสายอยู่ภายใน จนบังเกิดเป็นร่องน้ำที่มันจะค่อยๆ แข็งแกร่งเชี่ยวกราก ...เรียกว่าความแข็งแรงขององค์มรรค ไม่มีอะไรมาตัด มาทอน มาทำลายได้  

มันจะเชื่อมกันด้วยความเหนียวแน่น เป็นเส้นตรง เส้นเดียว เส้นเอก เป็นทางเอก...หลุดพ้นจากขันธ์ เพื่อความหลุดพ้นจากขันธ์ เพื่อความหลุดพ้นจากโลก เพื่อความหลุดพ้นจากสามโลก 

เพื่อไปสู่จุดหมายปลายทาง คือจุดที่ไม่เกิดไม่ดับ ไม่มีทั้งเกิด ไม่มีทั้งดับ ไม่มีทั้งมาก ไม่มีทั้งน้อย ไม่มีทั้งสูง ไม่มีทั้งต่ำ ไม่มีการเปรียบเทียบในที่นั้น 

มันก็จะถึงที่สุด ที่จะเรียกว่าทะเลแห่งนฤพานก็ได้ ทะเลที่ปราศจากทุกข์โทษภัยใดๆ ในนั้น ... นั่นแหละเป้าหมายที่สุดของมรรค 

จากที่มันเคยว่าทำไม่ได้ ทำไม่ถึง ไม่แน่ใจในกำลังของตัวเอง ...มันก็จะเข้าใจ มั่นใจขึ้นไปตามลำดับ ความพากความเพียรก็เต็มขึ้นตามลำดับ ไม่มีเวล่ำเวลา


อ่านหนังสือแม่ชีไน้ เขาเอามาให้นี่ แม่ชีไน้...รู้จักรึเปล่า บวชมาไม่เคยนอนกลางวันเลย เห็นมั้ย นั่งสมาธิเดินจงกรม เดินจงกรมนั่งสมาธิสลับกัน งานก็ทำ เอาทุกอย่าง พอถึงเวลามาอยู่คนเดียวก็นั่งสมาธิเดินจงกรม ไม่เคยนอน 

ขนาดนั้นก็ยังติดอยู่ตั้ง 20 ปี ไปติดสมาธิอยู่ ปัญญากว่าจะเกิดได้ ...เห็นมั้ย ไม่มีครูบาอาจารย์นำ ไม่มีตำรับตำรานำ ทำไปแบบด้วยความอดทน มั่นใจ ตั้งใจว่าจะปฏิบัติอย่างเดียวเท่านั้นแหละ 

แต่สุดท้ายด้วยผลแห่งความพากความเพียร ยังงั้ยยังไงมันก็ข้ามผ่านได้หมด มันต้องหันเหมาสู่ครรลองแห่งปัญญา ครรลองแห่งอริยมรรค อริยผลจนได้น่ะ

หนังสือที่เพิ่นเขียนมาเยอะแยะ ทั้งหมดแล้วมาสรุปว่า...ฉันโดนจิตหลอกหมดเลย ทั้งหมดที่เห็นนั่น ที่เห็นว่า หลวงปู่เทพโลกอุดรก็มา ท้าวเวสสุวรรณก็มา ท้าวสักกะก็มา อะไรพวกนี้ จิตมันหลอกหมดเลย 

หลงดีใจว่าฉันเก่ง ฉันภาวนาดี ...กว่าจะมารู้ว่าทั้งหมดนี่ มันเหลือแค่ศีลสมาธิปัญญาที่รวมลงเป็นหนึ่งในปัจจุบันเท่านั้นแหละ จึงมรรคผลและนิพพานก็รวมอยู่ที่เดียวกันนั่นเอง

แต่ถ้าไม่ได้ทำถึงขนาดนั้นขนาดนี้ด้วยตัวของตัวเองแล้วนี่ ไม่มีทางที่จะหลุดพ้นออกจากวงจรของจิต ที่มันจะเสกสรรปั้นแต่งสิ่งต่างๆ นานา 

ที่ดูเหมือนจริง ดูดี ดูเป็นจริง ดูจับต้องได้ ดูมีคุณค่า ดูมีราคา ดูมีความเหนือกว่าบุคคลทั้งหลาย ดูว่าฉันเก่ง ดูว่าฉันดีได้ ...สุดท้ายก็มากลายเป็นบทละคร 

เหมือนบทละคร...ที่เขาจะสร้างสรรค์ตัวละครใดตัวละครหนึ่งผลักดันออกมา แล้วก็แต่งองค์ทรงเครื่องไป ให้ดูมีค่ามีราคาตามบัญญัติตามสมมุตินั้นๆ

ถ้าไม่เท่าทัน มันก็ดูจริงจัง ซาบซึ้งน้ำหูน้ำตาไหลไปกับสภาวะจิตปรุงแต่งนั้นๆ ...กว่าที่จะมีปัญญาเหนือมัน ฉลาดเท่าทันมัน 

ก่อนที่จะเหนือมันน่ะ จะต้องเท่าทันมันก่อน ถ้าไม่เท่าทันมันแล้วไม่มีทางเหนือมัน ...และถ้าทันแล้วไม่ตามมันนั่นแหละถึงจะเริ่มอยู่เหนือมัน พลิกขึ้นมาอยู่เหนือมัน

เมื่ออยู่เหนือมัน...มันก็ต้องมีที่อยู่  ก็จะอยู่ที่ไหนล่ะถ้าจะไม่อยู่ที่จิตถ้าไม่อยู่ที่ความคิด ...ก็ต้องมาอยู่ที่กายปัจจุบันนั่นแหละจึงจะเป็นที่อยู่ เป็นที่อยู่ของมรรค เป็นที่อยู่ของผู้ปฏิบัติ 

ไม่ว่าเพศพรรณวรรณะไหน ไม่ว่าจะฝึกมาแบบไหน ปฏิบัติวิธีการไหน กุศโลบายแบบไหน ...จะไปยืนที่อื่นไม่ได้ จะไปตั้งที่อื่นไม่ได้ นอกเหนือจากกายใจปัจจุบันนี้เอง

ทุกอย่างนอกจากกายใจ มันเป็นแค่องค์ประกอบ จะเป็นการสวดมนต์ จะเป็นการท่องบ่น จะเป็นการบริกรรม จะเป็นการคิดพิจารณา อะไรก็ตาม ...มันเป็นกุศโลบาย มันเป็นอุบาย 

แต่ถ้ายืนหยัดตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ที่กายใจปัจจุบันแล้ว นั่นแหละ มันก็จะค่อยๆ ทิ้ง วาง สิ่งที่มันเคยพึ่งพาอาศัย

เมื่อเหลือแต่กายใจล้วนๆ กายใจปัจจุบันจริงๆ ศีลสมาธิปัญญารวมอยู่ที่กายใจนั้นจริงๆ แล้วนี่ ความหมายของคำว่า อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ก็จะซาบซึ้งตรึงใจขึ้นมาเอง

ว่า นี่แหละ ที่ท่านเรียกว่า อัตตา หิ อัตตโน นาโถ อาศัยตนนั่นแหละเป็นที่พึ่งแห่งตน  กายใครกายมัน ใจใครใจมัน จำเพาะกายจำเพาะจิตนี้เอง จึงจะเป็นหนทาง จึงจะเป็นครรลองของทางที่จะเข้าสู่ที่สุดของมรรค

ไม่อาศัยคำบริกรรม ไม่อาศัยกางตำรา ไม่อาศัยคนรอบข้าง ไม่อาศัยสถานที่ ไม่อาศัยเวลา ไม่อาศัยสถานะ ไม่อาศัยเพศ ไม่อาศัยอายุ ไม่อาศัยวรรณะ ไม่อาศัยอะไรเลย นี่ 

อาศัยกายใจของตัวเจ้าของนั่นแหละเป็นที่ตั้ง เป็นที่มุ่ง เป็นที่อยู่ เป็นที่หยั่ง เป็นที่ทำความรู้ความแจ้ง เป็นที่ทำความเพียร เป็นที่ทำความเข้าใจ เป็นที่แยบคาย ลึกซึ้งลงไป ...นี่ มรรคก็อยู่ที่นี้เอง

เพราะฉะนั้น ถ้าให้เราเปรียบ พวกโยมกับแม่ชีไน้ ...แม่ชีไน้นี่ถือว่าโอกาสน้อย เพราะเขาไม่มีคนสอนคนบอก แต่พวกเรานี่มันมีคนสอนคนบอก ตั้งแต่ครูบาอาจารย์ใดก็ตาม มันก็มีการเรียนการบอก แล้วก็มีการทำตาม 

แต่ว่าพวกเราอ่อนด้อยกว่าแม่ชีไน้...ตรงที่ความเพียรเนี่ย...เทียบไม่ติด มันเทียบไม่ได้กันเท่านั้น 

แม่ชีไน้นี่อาศัยว่าโอกาสเขาก็ไม่เอื้ออำนวย แต่ความเพียรนี่แรง ความตั้งใจมั่น ความมุ่งมั่นในการปฏิบัตินี่มันแรงกล้า ...มันก็สามารถก้าวข้ามทุกอย่างได้ ด้วยอาศัยความพากเพียร

แต่พวกเรานี่...เหตุปัจจัยเกื้อหนุน ได้ยินได้ฟัง มีสติ มีปัญญา มีทรัพย์ ไม่ต้องไปทุรนทุรายดิ้นรน มีสถานที่อยู่อาศัยพอเป็นที่สัดส่วนส่วนตัวที่จะทำความเพียรได้เต็มที่

แล้วก็ยังได้ยินได้ฟังจากคำครูบาอาจารย์ที่สอนตรงสอนชัด อธิบายได้ชัดอธิบายได้ตรงมาก็หลายองค์ มันก็สมควรที่น่าจะสำเร็จเร็วกว่า 20 ปี ...อาจจะสักเจ็ดวันก็น่าจะได้แล้ว (หัวเราะ)  

ด้วยเหตุปัจจัยที่มันเพียงพอแล้วนี่ ...แต่ว่าถ้าเอาความเพียรของแม่ชีไน้มาสักครึ่งนึงแล้วมาทำตามนี่ บอกให้เลยว่าไม่นานเท่า อย่างแม่ชีไน้ก็เป็นได้ทุกคนไป

แต่ว่าพวกเรามันด้อยตรงที่ว่าความพากเพียร หรือว่าสัมมาวายาโมนี่ มันน้อยๆ ...เพราะว่ามันมีเงื่อนไขข้ออ้างเยอะ ... แต่ถ้าเป็นอย่างแม่ชีไน้นี่ ทำงานตัดฟืนแบกน้ำทั้งวันนี่ 

ถ้าเป็นพวกเรา...ตกเย็นก็ โอ้ย ไม่ไหวแล้ว มันต้องนอน มันต้องพักผ่อน มันต้องให้มีแรงก่อนแล้วให้ร่างกายดีแล้วค่อยมาตั้งหน้าภาวนาเอาจริงเอาจัง รอให้มันหมดธุระการงานซะก่อน เห็นรึเปล่า 

อย่างแม่ชีไน้นี่ไม่ งานราษฎ์ก็ทำ งานหลวงก็ทำงาน แล้วแถมยังอยู่ในที่ๆ ไม่ใช่เป็นที่ของตัวเอง คนนั้นก็ลากไป คนนี้ก็ลากมา ...ขนาดไปไหนมาไหนท่านก็ไม่ทิ้งศีลสติสมาธิปัญญา 

แม้จะไม่ตรง แต่ท่านก็เอาตามที่ท่านเข้าใจ ว่าศีลคืออย่างนี้ๆๆ ก็เข้าใจ ก็วิรัต ก็รักษาไป ตามที่เคยเข้าใจมา ...แล้วมันก็ค่อยๆ พัฒนาขึ้น ตรงขึ้น ชัดเจนขึ้น 

เพราะความมุ่งมั่นอยู่ในศีลสมาธิปัญญาโดยความไม่ท้อถอย ไม่อ่อนข้อให้กิเลส ไม่อ่อนข้อให้ความสบาย ไม่อ่อนข้อในความมักง่าย เอาแต่ใจ เอาแต่ลำพังความอยากความไม่อยาก 

มันจึงเป็นธรรมที่มาเอื้อต่อองค์มรรค ...โดยมองดูเหมือนว่าชีวิตท่านลำบากลำบน ต้องอาศัยความลำบากลำบนนั่น  ...แต่จริงๆ น่ะมันเป็นเรื่องของกรรมวิบาก แล้วก็เป็นธรรมที่มาเกื้อหนุนสงเคราะห์

ในการที่เคยพากเพียรมาแต่อดีต มันติดมันข้องมาอย่างนี้ ...มันก็ต้องมาเจอธรรมเหล่านี้ ที่แวดล้อมตัว วิถีชีวิต วิถีการเกิด วิถีครอบครัว สถานะทางเพศ สถานะทางสังคม 

ทุกอย่างจะมาหล่อหลอมเพื่อสงเคราะห์ขัดเกลา สิ่งที่เคยทำมาด้วยความไม่รู้แต่ในอดีต แม้แต่จะเป็นการภาวนาอย่างไรแบบไหนก็ตาม ...เพื่อมาคัดกรองออกไป ให้มันตรงจนถึงที่สุด


(ต่อแทร็ก 9/15)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น