วันศุกร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 9/11 (2)



พระอาจารย์

9/11 (551122A)

22 พฤศจิกายน 2555

(ช่วง 2)


(ต่อจาก แทร็ก 9/11 ช่วง 1

พระอาจารย์  –  ที่บอกให้รู้ตัวบ่อยๆ ทุกคนน่ะ  เพื่อให้มันเห็นความเป็นจริง มันจะได้เข้าใจ ...จิตมันจะได้เข้าใจ 

เมื่อมันย้ำอยู่ในความเป็นจริง หรือว่ามีสติมัดไว้ ระลึกไว้ ผูกไว้ กับความเป็นจริงในปัจจุบัน...คือกาย  การระลึกก็ระลึกรู้แต่สิ่งที่เป็นความเป็นจริง  แล้วมันก็จะเห็นความเป็นจริง จนเกิดความเข้าใจสภาพที่แท้ของมัน

เมื่อมันเข้าใจสภาพที่แท้จริงของกาย ของตัว ของปัจจุบันแล้วนี่  มันจะเกิดปัญญาที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐิขึ้นมา ...เมื่อมันมีปัญญามีสัมมาทิฏฐิขึ้นมาแล้ว ทุกข์ต่างๆ นานามันก็คลาย คลี่คลายลงไปเอง 

มันไม่ได้คลายจากภายนอก ทุกข์มันคลายจากภายใน  ภายในจิตที่มันออกจากความยึดมั่นถือมั่น ออกจากความยึดตัวถือตน ออกจากการเข้าไปเป็นเจ้าของ ออกจากการหมายมั่นน่ะ 

มันจึงจะแก้ทุกข์ได้ ออกจากทุกข์ได้ แล้วก็ไม่เป็นทุกข์อีก...ในเรื่องราวที่มันเคยเป็นทุกข์มาแต่เก่าก่อน หรือจะมาในอนาคตก็ตาม  เพราะมันเข้าใจเหตุที่แท้จริง...การละทุกข์ที่แท้จริงมันละตรงไหน มันละที่ไหน 

เพราะนั้นการละทุกข์ มันละที่ความเข้าใจ  มันต้องเข้าใจ...อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ทำอย่างไรถึงเป็นทุกข์ มันก็ละ ... นี่ มันเข้าใจ 

แต่ถ้าไม่มีปัญญา มันไม่เข้าใจเหตุที่เกิดทุกข์ที่แท้จริง  เวลามันละ...มันก็ไม่ได้ไปละที่เหตุให้เกิดทุกข์ที่แท้จริง มันไปละที่ปลายเหตุ ไปละแบบ...เอาความคิดแก้ความคิด เอาอารมณ์แก้อารมณ์ เอาความรู้สึกแก้ความรู้สึก 

อย่างนี้ มันละ มันแก้ที่ปลายเหตุ มันก็เกิดการอลหม่านสับสนไปหมด ฟุ้งซ่าน  จิตใจก็ไม่เป็นระเบียบแบบแผนอะไร อะไรก่อน-หน้า-หลังอะไรไม่รู้  มันแยกแยะอะไรไม่ออกสักอย่างนึง 

มีแต่เรื่องของเรา ตัวของเรา  ดี-ร้าย ถูก-ผิด บวก-ลบ ลบ-บวก อยู่อย่างนั้น  สุข-ทุกข์ คละเคล้ากันอยู่อย่างนั้น ...ดิ้นไม่หลุดเหมือนติดบ่วง เหมือนปลาติดแห 

แล้วก็มานั่งคร่ำครวญกันว่าทรมาน เป็นทุกข์ ...แล้วก็มัวแต่คร่ำครวญโดยที่ไม่ลงมือปฏิบัติ ไม่ลงมือเข้าไปเจริญสติสมาธิปัญญา มันก็ไม่มีประโยชน์โพดผลแต่ประการใดขึ้นมา

ก็ต้องจำไว้ว่า การภาวนาน่ะเป็นไปเพื่อวิถีแห่งการพ้นทุกข์ ออกจากทุกข์ได้...ด้วยปัญญา  ถ้าไม่เกิดปัญญา มันก็ไม่มีทางที่จะออกจากทุกข์ได้ หรือเหนือทุกข์ได้ เหนือรูป เหนือนาม เหนือผัสสะ เหนืออารมณ์ เหนือโลก เหนือความเป็นไปรอบตัวเอง

แต่ละคนน่ะมันก็จะมีสภาวะแวดล้อมของตัวเองอยู่แล้ว...ที่มันดูเหมือนมันบีบคั้นอยู่ แล้วก็อยู่ใต้อำนาจของมัน คืออยู่ใต้มันหมด  มันจะดี มันจะร้าย มันจะถูก มันจะผิด หรืออะไร มันก็ทำให้บีบคั้นให้จิตใจนี่เกิดความเศร้าหมองขุ่นมัวอยู่ตลอดเวลา

จนกว่าจะภาวนาจนถึงขีดขั้นที่มีสัมมาทิฏฐิปัญญา เห็นทุกข์ เห็นเหตุให้เกิดทุกข์ เห็นมรรค เห็นผลแห่งการเจริญมรรค คือความดับไปสิ้นไป ของความยึดมั่นถือมั่น ทุกข์ก็คลี่คลายลงไปตามลำดับน่ะ 

อยู่กับทุกข์ได้โดยที่ไม่เป็นทุกข์ อยู่กับสุขได้โดยที่ไม่เป็นสุข ... มันก็อยู่ด้วยความเป็นกลาง เหนือสรรพสิ่ง ที่แวดล้อมขันธ์ห้านี้

เพราะนั้นการที่จะไปแก้สิ่งแวดล้อมที่ล้อมขันธ์ห้านี้ แก้ไม่ถูกหรอก มันแก้ไม่ได้...เพราะมันเปลี่ยนแปลงไปมา หาหลักเกณฑ์ไม่ได้ หาความแน่นอนไม่ได้ มันไม่เป็นดั่งที่หวัง ดั่งที่คาด 

ถึงคาดไว้แล้ว มันก็ไม่เหมือนอย่างที่คาด  เหมือนก็เหมือนไม่ตรง เหมือนนิดๆ หน่อยๆ  มันมีแต่ความไม่สมดุล มีความบกพร่องของมันอยู่ตลอดเวลา

ถ้าเอาจิตไปผูกกับสิ่งต่างๆ ด้วยความหมายมั่นยึดถือ หรืออุปาทานที่ไปตั้งเป้าหมายไว้กับอะไรก็ตาม ความเป็นทุกข์ก็มีอยู่ตลอดเวลา ไม่จบไม่สิ้น

ภาวนาน่ะ มันไม่ยากหรอก ...ที่มันยากเพราะว่ามันขี้เกียจทำกัน ขี้เกียจสร้างความรู้ตัว ขี้เกียจระลึกรู้อยู่ที่ตัว มันชอบเผลอ ชอบปล่อย

คุยให้น้อย พูดให้น้อย รู้ตัวให้มาก ... อะไรข้างนอกน่ะให้มันน้อยลง ทำความรู้ตัว รู้ชัดกับตัวเองให้มากขึ้น ให้ต่อเนื่อง ให้ได้ตลอดเวลา 

ถึงแม้มันจะมีอารมณ์ขุ่นมัวอะไร ก็อย่าไปอยู่กับความขุ่นมัว  อย่ามัวแต่ไปคิด อย่ามัวแต่ไปหา อย่ามัวแต่ไปแก้ ...มันคิดหาทางแก้ หาทางเปลี่ยน 

อย่าไปจมอยู่กับอาการพวกนั้น ให้มารู้อยู่กับตัวไว้ ...มันก็จะออกจากอาการได้เป็นระยะ เป็นครั้งเป็นคราว เป็นขณะๆ ไป 

จนมันมีกำลัง จนมันสามารถตั้งมั่นได้โดยไม่ไปคิดแก้คิดหนี คิดเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ หรือคิดห้าม คิดกัน คิดผลักไส หาเหตุหาผล หาถูกหาผิด อะไรพวกนี้ ซึ่งมันมักจะเข้าไปตกอยู่ในอาการอย่างนี้

พอไม่มีเรื่อง ไม่มีผัสสะ อยู่คนเดียว  ก็หลงก็เพลินอีก หายไป ลอยไป อยู่ไหนก็ไม่รู้ ...ก็ต้องฝึกทบทวนตัวเอง อยู่กับตัวเอง รู้ตัวเอง อยู่กับเนื้อกับตัว อย่าให้มันหาย อย่าให้ตัวหาย อย่าให้กายหาย อย่าให้รู้หาย 

นั่นแหละถึงจะเรียกว่าการภาวนาในชีวิตประจำวัน...ทำต่อเนื่องไป ไม่มีเวลาพักเวลาผ่อนหรอก ... ภาวนา มันจะพัก มันจะหยุดได้ ก็ต่อเมื่อมันหมดกิเลสแล้วโดยสิ้นเชิง หมดความหมายมั่นลงไป

ตราบใดที่จิตยังไม่หมดอวิชชา ตัณหาอุปาทานแล้ว ภาวนายังหยุดไม่ได้ สติก็ยังขาดไม่ได้ ...มันก็ต้องอาศัยความระวังรักษาเนื้อรักษาตัว รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา เป็นรากเป็นฐาน 

อย่าไปเชื่อจิตที่ว่า ปล่อยมันไป เดี๋ยวค่อยทำ รอก่อน หมดเรื่องนั้นเรื่องนี้ก่อน อยู่ที่นั้นที่นี้ก่อน ...จิตน่ะมันคอยจะเบียดบังเวลาของการภาวนาไป

อย่าเบื่ออย่าท้อ อย่าคิดว่าแก้อะไรไม่ได้หรอกกับการรู้ตัวแค่นี้เอง ... อดทนไว้ ในอารมณ์ ในกิเลสที่มันอยากจะพลุ่งพล่านอะไรออกไป กิเลสโทสะความเจ้าอารมณ์พวกนี้ 

ต้องอดทนอดกลั้น ...ถ้าไม่อย่างนั้นน่ะ ก็อยู่ใต้กิเลสอยู่ตลอด  เกิดโทสะเกิดหงุดหงิดเมื่อไหร่ก็ชักลากไป อารมณ์มันชักลาก ชักพาไป ให้หลุดเนื้อหลุดตัว หลุดจากกาย หลุดจากใจปัจจุบัน

ใครก็แก้ไม่ได้ มันต้องแก้ตัวเอง ตัวเจ้าของต้องตั้งอกตั้งใจที่จะแก้ตัวเอง ด้วยความรู้ตัว ...จะไปเอาถูกเอาผิดกับอะไร เดี๋ยวมันก็ตายหมดแล้ว ทั้งโลกไม่มีใครเหลือหรอก ตัวเองก็ตาย จะไปเอาอะไรกับมัน 

คนตายแล้วโลกมันก็ยังอยู่อย่างนี้ ไม่ไปไหนหรอก ...ตายอย่างหมดกิเลสดีกว่าตายไปพร้อมกับกิเลส แล้วก็มาเกิดใหม่ ตายไปพร้อมกับความไม่รู้แล้วก็มาเกิดใหม่ 

ให้ตายแบบหมดความสงสัยลังเล ให้ความไม่รู้หมดไปน่ะ


โยม –  พระอาจารย์คะ แล้วอย่างโยมนี่ ยังสามารถทำบริกรรมพุทโธในใจไปด้วย ยังจะเหมาะอยู่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  คือถ้ามันรู้ตัวได้ ก็รู้ตัวเฉยๆ ...ถ้ามันยังรู้ตัวไม่ได้ แล้วก็หายไป ก็บริกรรมพุทโธก็ได้ เป็นอุบาย

โยม –  ค่ะ

พระอาจารย์ –  แล้วก็ให้รู้ว่า พุทโธอันนึง...รู้อันนึง  ใครรู้พุทโธ ใครว่าพุทโธก็ให้สังเกตด้วย ...ไม่ใช่พุทโธเป็นนกแก้วนกขุนทอง พุทโธเหมือนท่องจำน่ะ 

พุทโธแล้วใครว่าพุทโธล่ะ มันก็ให้เห็นด้วย ให้รู้ด้วยว่า...เออ มีคนว่าพุทโธ มีคนรู้พุทโธอยู่  มีตัวนึงที่รู้อยู่...มีตัวนึงที่ว่าออกมา 

ถ้ามีแต่พุทโธๆ เดี๋ยวก็หลับ เดี๋ยวก็หาย ...แล้วมันจะกลับมารู้ตัวไม่เป็น ไม่รู้จักคำว่ารู้ตัวคืออะไร

เพราะอะไร ...เพราะว่าคำว่ารู้ตัว รู้สึกตัว รู้กายนี่ มันสามารถเอามาใช้ในอิริยาบถปกติได้  พุทโธมันมาใช้ในเวลาปกติไม่ได้ มันทำความต่อเนื่องไม่ได้ในการงาน 

แต่ถ้ารู้ตัวอยู่กับตัวนี่ มันสามารถต่อเนื่อง มีสติได้ต่อเนื่องในชีวิตประจำวัน  ไม่ต้องไปแบ่งแยก แตกแยกออกมาว่าอยู่คนเดียวถึงจะรู้ตัวได้อย่างนั้น ...มันสามารถรู้ตัวได้ในทุกที่ ทุกสถานการณ์ ทุกเวลา

อะไรก็ได้ที่จะทำให้กลับมารู้ตัวเป็นน่ะ แล้วก็อยู่กับการรู้ตัวได้นานๆ นั่นน่ะ ทำไปเหอะ  แล้วมันก็ค่อยๆ ตั้งมั่นขึ้นตามลำดับ ...ทำจนรู้จักคำว่าจิตตั้งมั่น จนเข้าใจด้วยตัวของมันเองว่า เนี่ย เรียกว่าจิตตั้งมั่น

มันก็เรียนรู้ว่าจิตตั้งมั่นเป็นยังไง จิตเป็นหนึ่งเป็นยังไง จิตที่หนักแน่นไม่หวั่นไหวเป็นยังไง นั่นน่ะ รู้ตัว...มันจะเข้าใจว่าจิตเป็นหนึ่งคืออะไร 

ไม่ใช่รู้ตัวแบบป๊อบๆ แป๊บๆ ...มันไม่มีทางที่จะเข้าถึงความรู้สึกที่เรียกว่าอันนี้จิตตั้งมั่น จิตแนบแน่น จิตไม่หวั่นไหว จิตหนักแน่น จิตมั่นคง จิตหนึ่ง จิตเอก จิตเป็นสัมมาสมาธิ

คราวนี้ว่ารู้ตัวได้เล็กๆ น้อยๆ ขาดๆ หายๆ แล้วก็มานั่งท้อแท้ว่าไม่ได้ไปไหน ไม่ได้อะไร แล้วก็ขี้เกียจขี้คร้านต่อไป  มันจะเป็นอยู่ตรงนี้  พอมันไม่ได้ผลที่เห็นชัดขึ้นมาก็จะหาทางแก้ หาทางอื่นแล้ว

ให้รู้มันเข้าไปว่า อย่าไปมัวแต่บ่น อย่ามัวท้อแท้ อย่ามัวแต่หวังผล ...เอาจนมันเกิดความรู้ความเข้าใจด้วยตัวของมันเอง ว่าอย่างนี้ รู้ตัวจนเกิดภาวะจิตตั้งมั่นขึ้นด้วยตัวของมันเองน่ะ มันจะค่อยๆ ชัดเจน เข้าใจ 

เมื่อมันตั้งมั่นดีแล้ว มันจึงจะเห็นกาย รู้จักกาย...ในแง่มุมที่มันไม่เคยรู้จักมาก่อน  มันจะเห็นกายรู้จักกาย ในแง่มุมที่จิตไม่เคยรู้ ไม่เคยเข้าใจมาก่อน

เรียกว่าเป็นแง่มุมที่เป็นความเป็นจริง ...ไม่ใช่แง่มุมหลอกๆ ที่จิตมันเชื่อ ที่จิตมันเคยมีความเห็น ที่คนอื่นเขาเชื่อ ที่คนอื่นเขาเคยมีความเห็น

ก็เรียกว่าเห็นตรงลงไปในกาย ยอมรับในความเป็นกายที่แท้จริงมากขึ้น  มันจึงจะถอดถอนความเห็นผิดในกาย ...เมื่อความเห็นผิดในกายมันหมดไป น้อยไป ความเป็นเรา ตัวเรา ก็น้อยลงไปด้วย 

เมื่อตัวเราน้อยลง เรื่องราวของผัสสะที่มากระทบ มาสัมผัส จิตที่มันจะไปหมายมั่นว่าเป็นเรื่องราวของเรา โดนเรา ตัวเรา มันก็ไม่มี ...เมื่อมันไม่มี ทุกข์มันก็ไม่มี 

ไอ้ทุกข์ที่มันมีอยู่ทุกวันที่วี่นี่ มันเป็นทุกข์มาจาก "ตัวเรา"  เก้าสิบเปอร์เซ็นต์ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์น่ะ...เป็นตัวเราทั้งนั้น เป็นเรื่องของเรา...นั่นแหละ มันจึงเป็นทุกข์

เมื่อมันไม่มีเรื่องของเรา ไม่มีอะไรเป็นตัวเราแล้วนี่ มันจะเป็นทุกข์ยังไง ...เพราะนั้นถึงบอกว่าการที่เห็นกายตามความเป็นจริงแล้ว มันจึงจะออกจากความเป็นเรา  ถ้าไม่เห็นกาย มันจะออกจากเราไม่ได้ 

ถ้าออกจากเราไม่ได้ ก็ออกจากทุกข์ เหนือทุกข์ไม่ได้ ...ทุกเรื่องก็เป็นเรา เขาว่าให้เรา เขาทำให้เรา เขาพูดให้เรา เขาดูถูกเรา เขาชมเรา เขาติเรา เขาเกลียดเรา เขาโกรธเรา เขารักเรา เขาไม่รักเรา 

พวกนี้ ทุกข์ทั้งนั้นน่ะ ...รักก็เป็นทุกข์ เราก็เป็นทุกข์ ...ไม่รักก็เป็นทุกข์ เราก็เป็นทุกข์ ...มีแต่ทุกข์

ทุกข์มันไม่ได้อยู่ที่รักหรือชังอ่ะ ทุกข์มันอยู่ที่เรานั่นแหละ...ไปสร้าง ไปหมาย ตัวนี้ ก้อนนี้ กองนี้ เป็นเรา ทั้งที่ว่าก้อนนี้กองนี้มันเป็นก้อนทุกข์กองทุกข์ ก้อนธรรมกองธรรม ก้อนธาตุกองธาตุ ...มันเป็นก้อนเราที่ไหน 

นี่ มันไม่เห็น จิตมันโง่ จิตไม่มีปัญญา ...แล้วก็มัวแต่ปล่อยให้มันเอ้อระเหยลอยนวลของมันไป ปล่อยจิตปล่อยใจไปตามยถากรรม ...มันจะเข้าใจอะไร มันจะละอะไร มันจะเลิกอะไร มันจะถอดถอนอะไรได้ล่ะ 

มันมีแต่พอกพูนกิเลสน่ะ พอกพูนอารมณ์ ทำตามอารมณ์  ได้อะไรมา ไม่ได้อะไรมา มันก็เก็บไว้ คาไว้ ข้องไวอยู่ภายในนั่นแหละ  ใส่แต้มใส่คะแนนสะสมไป ไม่มีลดน้อยจางคลายลงไปเลย 

ยิ่งอยู่ยิ่งกิเลสหนาขึ้น มันจะอยู่ไปทำไม ตายซะดีกว่า ...อยู่ไปแล้วกิเลสน้อยลงเบาลง...เออ สมควร

ผู้ภาวนาจริงๆ น่ะ  ยิ่งอยู่ยิ่งกิเลสเบาบางลงไป มีคุณค่าแห่งการเกิด ...แต่มนุษย์ทั่วไป อยู่ไปอยู่มา กิเลสมันมากกว่าตอนที่มันเกิดอีก 

ตอนเกิดมาเป็นเด็กกิเลสมันไม่ค่อยเยอะเท่าไหร่หรอก  ตอนตายสิเต็มตัวเลย เต็มจนนอนตาหลับไม่ลง นอนแล้วคนยังก่นด่าตามหลังอีกต่างหาก ...เห็นมั้ย ตายไปกิเลสมันพอกพูนขึ้นเป็นกองเลย ไม่รู้มันจะเกิดมาทำไม

แล้วมันเกิดมากี่ภพกี่ชาติ กิเลสมันจะพอกพูนขนาดไหน  มันมองไม่เห็นกันรึไง ...แล้วยังปล่อยปละละเลย ปล่อยให้มันไปตามอารมณ์ ไปตามอำเภอใจ ไปตามกิเลสอยู่อย่างนี้ มีชีวิตตามกิเลส

พอให้มาภาวนานิดๆ หน่อยๆ  มันก็บ่นแล้ว "ยาก ทำไม่ได้" ... อะไรก็ทำไม่ได้ ไอ้นู่นก็ทำไม่ได้ ไอ้นี่ก็ทำไม่ได้ ไอ้นั่นก็ไม่ถึงเวลา ไอ้นี่ก็ไม่ถึงเวลา เรายังไม่อยู่ในสถานะที่ทำได้ 

อ้างอยู่นั่นน่ะตลอด อ้างไปจนวันตาย แล้วก็สะสมกิเลสไป ตายไปพร้อมกับกิเลสที่ไม่ได้ลดน้อยถอยลงเลย ...เขาเรียกว่าเกิดมาเพื่อพอกพูน สะสม มันไม่ได้เกิดมาเพื่อขัดเกลา ชำระออก

เพราะนั้นการได้ยินได้ฟังธรรม ก็เพื่ออะไร ก็เพื่อกระตุ้นตัวเองขึ้นมา  ให้มันขยันหมั่นเพียรขึ้นมา ให้มันเกิดการเข้าไปชำระขัดเกลา 

ไม่ใช่พูดไปเปล่าๆ ปลี้ๆ ...เดี๋ยวคนพูดก็ตาย คนฟังก็ตายแล้ว แต่ตายไม่เหมือนกัน ...ตายเกิดกับตายไม่เกิดก็ตายไม่เหมือนกัน ตายเกิดน้อยลงกับตายเร็วแล้วเกิดซ้ำมากขึ้น  มันไม่เหมือนกันแล้วแต่ละคน

เพราะนั้นเราจะอยู่ในมนุษย์หมู่ไหนล่ะ หมู่ของปุถุชนหรือหมู่ของอริยะล่ะ มันต่างกัน 

วนเวียนซ้ำซากจนไม่รู้เหนือรู้ใต้อะไรแล้ว โกรธกันไปเกลียดกันมา เกิดใหม่ก็เจอกันอีก  ตอนนี้เราเหนือเขา ชาติหน้าเขาเหนือเรา สลับสับเปลี่ยนกันอยู่อย่างนั้นน่ะ เหมือนงูกินหาง ไม่มีทางออก ไม่มีทางจบหรอก 

ทำไปตามอารมณ์ ทำไปตามกิเลส ...วันนี้เราได้ เดี๋ยวพรุ่งนี้เขาได้  วันนี้เราเสีย เดี๋ยวพรุ่งนี้เขาเสีย  เดี๋ยววันหน้าเราเสีย วันนี้เราได้ ...มันสลับสับเปลี่ยนอยู่อย่างนี้ 

เหมือนเล่นเกมเล่นกลกันอยู่อย่างนั้น เป็นกลของกิเลส กลของความไม่รู้ ...หาทางออกซะตั้งแต่หัววัน ตั้งแต่อายุยังน้อย

(ต่อแทร็ก 9/12)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น