วันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 9/25 (1)


พระอาจารย์
9/25 (551231B)
31 ธันวาคม 2555
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  การประพฤติ การปฏิบัติตนในองค์มรรค จะขาดไม่ได้เลยในศีล สมาธิและปัญญา แม้แต่กระทั่งเวลาใดเวลาหนึ่ง จะต้องสมัครสมานสามัคคี สงเคราะห์รวมกันอยู่เสมอ ไม่ขาด ไม่บกพร่อง

พระโสดาบัน พระสกิทาคา เป็นผู้ที่มีศีลปานกลาง สมาธิปานกลาง ปัญญาเล็กน้อย  พระอนาคามี เป็นผู้ที่มีศีลสมบูรณ์ สมาธิสมบูรณ์ ปัญญาปานกลาง  พระอรหันต์เป็นผู้ที่มีศีลบริบูรณ์ สมาธิบริบูรณ์ ปัญญาบริบูรณ์

นี่ไม่ใช่เราว่า แต่พระพุทธเจ้าท่านว่าไว้เลย ท่านตรัสไว้อย่างนี้ ...๔ ลำดับอริยะบุคคล อริยะจิต ไม่ได้ห่างขาดจากศีลสมาธิและปัญญาแต่ประการใดเลย

เพียงแต่ว่าเหลื่อมล้ำกันในการมากน้อยกว่ากัน แต่จะไม่ขาดแม้แต่องค์ใดองค์หนึ่งในศีลสมาธิและปัญญา ...จะมาละไว้ฐานที่เข้าใจ จะมาบอกว่ามันจะต้องมีทีหลังไว้ทีหลังนี่ไม่มีอ่ะ

ทำไปคู่กันหมดตลอดเวลา เป็นหนึ่งคู่กัน ...แต่มันจะชัดเจนอย่างไรไม่รู้ในขณะที่ทำนั้น จะไปชัดเจนในแง่ศีล จะชัดขึ้นในแง่ของสมาธิ หรือจะชัดขึ้นในแง่รู้เห็นตามความเป็นจริงก็ตาม

มันอาจจะชัดในแต่ละลำดับขั้นไม่เหมือนกัน ...แต่ว่าในขณะนั้นน่ะ มันพร้อมกันอยู่ทั้งศีลสมาธิปัญญา

ต้องสำรวจตัวเองให้ได้ว่าขาดตัวใดตัวหนึ่งไหม ถ้าขาดแล้วรีบแล้วเติมเลยนะ ...เราถึงบอกว่าสิ่งที่พวกเราขาดมาก มากๆ มากที่สุด...คือไม่รู้ตัว คือไม่รู้กาย นี่เบื้องต้น และก็ท่ามกลางด้วยซ้ำ

พระอนาคามีศีลบริบูรณ์ ...ความบริบูรณ์ของศีลท่าน คือความหมายอะไร  ศีลห้าเต็มรึไง หรือว่าศีลแปด  หรือพระอนาคามีเป็นถึงพรหมจรรย์แล้ว ก็ต้องศีลแปดเต็มมั้ง หรือว่า ๒๒๗ เต็ม เอาอันไหนเต็มดี

นี่ ถ้าว่าศีลบัญญัตินะ จะเริ่มสงสัยแล้ว ...มันเต็มยังไงวะ แปดเต็มยังไง  แล้วถ้าห้าเต็มแปลว่าแปดไม่เต็มหรือ แล้วอันไหนมันเต็มกันแน่ หรือต้อง ๒๒๗ ถึงจะเต็ม

อ้าว งั้นก็ไปบวชสิ ต้องบวชอย่างเดียวถึงจะเต็มรึไง  อ้าว งั้นแปดก็เต็มไม่ได้สิ  มันจะบริบูรณ์ได้ยังไงล่ะ แล้วอะไรคือความบริบูรณ์ถ้าอย่างนี้

แต่ถ้าเข้าใจอย่างที่เราว่าตั้งแต่ต้นว่า...กายคือศีลนี่ ตัวอธิศีลคือกาย ...คำว่าเต็มกายเต็มใจน่ะคืออะไรล่ะ ...หมายความว่า หนึ่งวันมีร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งวันน่ะ...ไม่ลืมกายเลย...เต็ม

อันนี้เต็มพิกัด เต็มเลย ไม่บกพร่องเลย  เป็นอัตโนมัติเลย คือมีความรู้ตัวคงอยู่เป็นอัตโนมัติทั้งวัน หลายวัน จนไม่ลืมเลย ...นั่น อธิศีล ศีลบริบูรณ์...เต็ม มีภพเดียวชาติเดียว ใช่มั้ย

ก็ถ้ามันมีแค่กาย รู้แค่กายนี่  มันก็เหลือแค่ภพเดียวชาติเดียว ใช่ไหม ...มันมีจิตไปสร้างชาติที่ไหนได้ มันมีจิตไปสร้างภพที่ไหนได้

สมาธิก็บริบูรณ์ ...เพราะกายบริบูรณ์ ศีลบริบูรณ์  จิตก็เป็นหนึ่ง ไม่เป็นสอง นั่นท่านเรียกว่าสมาธิบริบูรณ์ แต่ปัญญาปานกลาง เพราะยังไม่จบ

ยังเหลืออีกภพนึง ใช่ป่าว ...ก็มันยังเหลืออีกภพตรงนี้ คือชาติที่เป็นมนุษย์นี่ชาติเดียว  ยังเหลืออีกตั้งหนึ่งชาติ  นั่นน่ะปัญญายังไม่จบ ยังไม่สมบูรณ์

ถ้าปัญญาสมบูรณ์หมายความว่าต้องไม่มีภพและไม่มีชาตินะ ...แต่นี่ยังอุตส่าห์เหลืออีกตั้งหนึ่งชาติ คือชาติปัจจุบัน ภพปัจจุบัน คือภพของความเป็นคนในปัจจุบัน

นี่จึงเรียกว่าพระอนาคามีเป็นผู้ที่มีภพเดียวชาติเดียว...เป็นชาติสุดท้าย  การเกิดเป็นคนของท่านจึงเรียกว่าการเกิดเป็นคนครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย ไม่มีการเกิดซ้ำเป็นคนอีกต่อไป

แต่ถ้าต่ำกว่าอนาคามี ศีลไม่บริบูรณ์ ...มันยังมีช่องว่างของจิตที่เลื่อน ที่เคลื่อน ที่หมายไปในอดีตและอนาคต ...นั่นแหละ อนุญาตให้ ๗ ชาติ ไม่เกินนี้ สำหรับผู้ที่มีศีลระดับปานกลาง สมาธิปานกลาง คือพระอริยะขั้นต้น ขั้นกลาง

เพราะนั้นช่วงที่จิตหลุดลอด เล็ดลอด หรือไปหมายในอดีต หมายในอนาคต หมายในกายสังขารข้างหน้าข้างหลัง ที่ไกลกว่า ที่ใกล้กว่า ที่ละเอียดกว่า ที่ประณีตกว่า ที่เลิศกว่า

นี่ยังมีโอกาสหลุดนะ ...ไอ้โอกาสที่หลุดน่ะ พระพุทธเจ้าบอกว่าหลุดได้ไม่เกิน ๗ ชาติ มาเกิดไม่เกินนั้น ...ซึ่งนี่ไม่ใช่ว่าเป็นตามคำสั่งของพระพุทธเจ้านะ 

แต่จิตผู้นั้น จิตเจ้าของจิตผู้รู้ดวงนั้นจะเข้าใจด้วยตัวของตัวเองเลยว่า...ตายตอนนี้ อย่างมากก็แค่นี้แหละ ๗-๓-๑ ...ไม่ ๓ ไม่ ๑ ก็ ๗ ...แต่ไม่เกินนี้

เพราะท่านเห็นเลยว่า การเลื่อนการเคลื่อน มันไปแค่ไหน...ไม่เกินนี้ ...เพราะนั้นท่านไม่ต้องให้ใครยืนยัน ท่านยืนยันด้วยตัวเอง ...แล้วก็ไม่รู้จะไปยืนยันกับใครด้วย เพราะไม่มีใครมารู้ด้วย ใช่มั้ย

แล้วหน้าที่ของท่านทำอะไร ... ก็ทำให้มันสั้นที่สุด รวมเป็นหนึ่งในชาติปัจจุบันให้มากที่สุด

เพราะนั้นก็ถามว่าชาติปัจจุบันพวกเราเป็นอะไร...เป็นคน ใช่มั้ย ...เราถึงบอกว่าเป็นคนแล้วมันยังนั่งไม่เป็นเลยน่ะ เห็นมั้ย ยืนยังยืนไม่เป็น

คือเป็นคนแค่แป๊บนึงตอนยืนน่ะ  ไอ้ที่เหลือไม่ได้เป็นคน ... ถามว่าเป็นอะไร...ไม่รู้ ...ก็ใช่น่ะสิ ก็มันเป็นอะไร มันไปอยู่ที่ไม่รู้น่ะ แทนที่มันจะรู้ว่ามันกำลังยืน กำลังเดิน 

เออ ตอนนั้นน่ะที่รู้ว่ากำลังเดิน รู้ถึงความรู้สึกในการเดิน ในขณะเดิน ก็เป็นคนตลอดเวลาตอนนั้น ไม่ได้ออกจากความเป็นคน ไม่ได้ออกจากภพชาติปัจจุบันใช่ไหม

เพราะฉะนั้นพระอนาคามีขึ้นไปเท่านั้น...จึงจะเป็นคนโดยสมบูรณ์  เพราะท่านไม่ได้ออกจากความเป็นคนเลย แม้แต่ขณะจิตหนึ่ง นั่นท่านจึงเรียกว่า มหาสติ

และท่านอยู่ด้วยมหาสติและอยู่ด้วยมหาปัญญา  มีความรู้เท่าทันทุกขณะของจิต...ที่จะเลื่อน ที่จะเคลื่อนไปจากปัจจุบันกายปัจจุบันรู้ที่เป็นหนึ่ง

ดังนั้นจิตท่านจึงไม่เป็นสอง ...เมื่อไม่เป็นสอง นั่นแหละที่เรียกว่า สมาธิบริบูรณ์ สัมมาสมาธิ  จิตเป็นหนึ่ง...หนึ่งแบบไม่มีทศนิยม จึงเรียกว่าจิตเอก

จิตเอกนี้แหละจึงเป็นจิตที่เลิศที่สุดในสามโลกสำหรับความเป็นคน แม้แต่เทวดาอินทร์พรหมยังต้องมากราบกราน บอกให้เลย ไม่มีอะไรเลิศกว่าจิตหนึ่งแล้ว

ต่อให้ทรัพย์สมบัติมีมูลค่ามหาศาลขนาดไหน เมื่อใดที่เข้าสู่จิตหนึ่ง ไม่มีอะไรมาเปรียบได้ ...ทุกอย่างทิ้งได้ วางได้ โดยไม่ลังเลสงสัย และอาลัยอาวรณ์

เข้าสู่ความมีคุณค่าสูงสุดของใจที่เป็นอนันต์ ...นั่นแหละจึงจะเห็นค่าของใจแบบมีค่าไม่มีประมาณ ไม่มีอะไรมาประมาณได้

ไม่ว่าเคยประมาณว่ามันมีค่าอย่างไร ดีอย่างไร เหนืออย่างไร สูงอย่างไร  จะเอาสิ่งเหล่านั้นที่มันเคยให้ค่าให้ประมาณไว้ ไม่สามารถมาประมาณค่าได้กับใจดวงนี้

แปลว่าท่านพร้อมแล้วที่จะละทุกสิ่งที่นอกเหนือจากใจ ...นี้แล จึงเป็นขั้นตอนที่เรียกว่า "วิมุตติ" เป็นการดำรงอยู่เพื่อความหลุดและพ้นโดยถ่ายเดียว

หลุดพ้นอะไร...หลุดพ้นจากหนึ่งชาตินี้ไง ...นั่นแหละงานของท่าน

แล้วงานของพวกเราล่ะ หลุดพ้นจากอะไร ...ที่นับภพนับชาติไม่ถ้วน มันห่างกันหน่อยนะ ...หน่อยนึงนะ แค่หน่อยนึง ...คือถ้าทำจริง บอกแล้วว่าถ้าทำตามลำดับขั้นตอนล่ะมันจะไม่ยาก

ไม่ใช่ทำลัดขั้นตอน คืออยู่ในขั้นตอนของศีล...กูก็จะละกิเลสให้ได้ ต้องได้ ต้องเอาให้ได้ ...เออ เอาเข้าไป มันคงได้สักชาตินึงล่ะ...แต่ไม่ใช่ชาตินี้นะ

ก็มันลัดอ่ะ ...ศีลมึงยังไม่มีเลย จะละกิเลสได้ยังไง ฮึ  พอบอกให้มารู้ตัว ก็ว่า..."ไม่เอาแระ เสียเวลา ไม่เกิดปัญญา ไม่เห็นรู้อะไรเลย รู้แต่ว่านั่ง โง่ฉิบหาย

หรือมันเหลือแค่ความรู้อันเดียว แล้วมันไม่รู้อะไรเลยเหรอ แล้วมันจะเกิดปัญญาได้ไงวะเนี่ย" ...นี่ แล้วมันก็นั่งฝันหวานๆๆ เมื่อไหร่จะสำเร็จ

แล้วก็สำเร็จไหมล่ะ ...คือนั่งเปรียบไปเปรียบมา เออ กูละอันนั้นได้แล้ว เออ อันนั้นก็ไม่เกิดอารมณ์แล้ว น่าจะเข้าที่แล้วว่ะกู  ...คือนั่งฝัน นอนฝัน ยืนฝันอยู่อย่างนั้นน่ะ

แต่ไม่รู้อยู่อย่างเดียวว่า...กูกำลังยืน กูกำลังนั่ง ...แล้วมาประมาทว่าไอ้ความรู้ตรงนี้ "ฮื้อ เดะๆ เดะๆ ความรู้ขั้นอนุบาล เดะๆ กูไม่ต้องรู้ก็ได้ กูจะละกิเลสลูกเดียว"

เหมือนขว้างงูไม่พ้นคอ ประมาณนั้นน่ะ ดูเอาเองเหอะ เราไม่ได้ว่าใคร...นี่ว่าทุกคนเลยอ่ะ แล้วก็กลายเป็นการปฏิบัติแบบผัดวันประกันพรุ่ง แล้วก็แก้ผ้าเอาหน้ารอด ข้างๆ คูๆ ไปอย่างนั้นน่ะ

มีเหตุผลมารองรับได้ทุกอย่างเช่นนั้น มันเข้ากูทั้งนั้น เป็นของเราทั้งนั้นเลยใช่ตามธรรมก็ได้ ...จิตน่ะมันฉลาดมากในการรับสมอ้าง ...กูก็ต้องหาทางอ้างให้ได้ว่ามันเป็นของเรา

แต่ถ้าเราไม่เชื่อจิตซะเลย ตัดปัญหาไปเลย วางเอาไว้ๆ อย่าแตะต้อง อย่าข้องแวะกับมัน ...เอาไอ้ที่บอกว่าเป็น “เดะๆ” (เด็กๆ) นี่แหละ เป็นทางเดิน

คือรู้ตัวอย่างเดียว รู้ที่เดียว รู้อันเดียว กายเดียวใจเดียว กายหนึ่งจิตหนึ่ง  รู้มันอยู่แค่นี้ ...ถ้าทำอย่างนี้ ไม่ต้องถามปัญญาหรอก

อย่าไปหล่อเลี้ยงจิตไว้ อย่าไปหล่อเลี้ยงอนาคต อย่าไปจริงจังกับอนาคต อย่าไปหล่อเลี้ยงกับอดีต อย่าไปจริงจังกับอดีต อย่าไปหล่อเลี้ยงกับภายนอก อย่าไปจริงจังกับภายนอก

นี่ไม่ตายก็เลี้ยงไม่โต เชื่อมั้ย ...ไอ้ไม่ตายก็เลี้ยงไม่โตนั่นน่ะคือจิต ถ้าอยู่อย่างนี้ ไม่ตายก็เลี้ยงไม่โต ...จิตคิด จิตปรุง จิตอดีต จิตอนาคต จิตไปจมไปแช่ไปมั่วซั่วที่นั้นที่นี้ ไม่ตายก็เลี้ยงไม่โตแล้ว

ต้องทำหน้าที่นี้ให้มาก นี่เรียกว่าการปฏิบัติธรรมที่สมควรแก่ธรรม ก็ธรรมเรามันอยู่ขั้นนี้ มันก็ต้องทำขั้นนี้ จะไปทำขั้นไหน จะไปขั้นละกิเลสได้ยังไง ฮึ

การละกิเลส นู่น พระอนาคานู่น ถึงจะละกันได้เด็ดขาด เริ่มเด็ด...แล้วก็ขาด ...ไอ้ของพวกเรานี่เด็ด...แต่ไม่ยอมขาด  แต่กูจะเด็ดให้ขาด แต่มันไม่ยอมขาด ...มันคนละหน้าที่กันแล้ว


(ต่อแทร็ก 9/25  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น