วันพฤหัสบดีที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 9/24



พระอาจารย์
9/24 (551231A)
31 ธันวาคม 2555



พระอาจารย์ –  ประกอบเหตุอย่างไร ผลอย่างนั้น ...เมื่อใดที่เราประกอบเหตุแห่งศีล ผลที่ได้ ไม่ใช่ปัญญา แต่เป็นสมาธิก่อน

จิตจะเริ่มตั้งมั่นขึ้นตามลำดับให้ปรากฏชัดเจนขึ้นเอง ...ดวงจิตผู้รู้จะรวมตัวขึ้น ชัดเจนขึ้นเอง...ไม่ต้องไปค้น ไม่ต้องไปสร้าง ไม่ต้องไปหาเลย

ทุกอย่างจะเป็นไปตามครรลองของมรรค ...ไม่ได้เป็นไปตามครรลองของกิเลส ความอยาก ความไม่อยาก  ความสงสัย ความลังเล  หรือการสร้างขึ้น การคิดค้นขึ้นมา

แต่จะเป็นไปตามครรลองของมรรค...ประกอบเหตุอย่างไร...สิ่งใดเกิด...สิ่งนั้นเกิดตามมา ...ไม่ประกอบเหตุอย่างไร...สิ่งนั้นไม่เกิด สิ่งนั้นดับไป

เพราะนั้นการเข้าไปประกอบเหตุให้เกิดความต่อเนื่องในองค์ศีล...ด้วยสติ ...นั่นแลจึงจะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดสัมมาสมาธิขึ้นมา

และเมื่อใดสัมมาสมาธิจิตตั้งมั่นปรากฏขึ้น แล้วเข้าไปประกอบเหตุด้วยศีลและสมาธิ ...นั่นเองปัญญาจึงเกิดขึ้นตามมา

การรู้และการเห็นตามความเป็นจริงจะเกิดขึ้น ...จะเกิดความชัดเจนขึ้น จะเกิดความเข้าใจความเป็นจริงของกาย ของโลก ชัดเจนขึ้น...ในแง่มุมที่จิตไม่เคยเห็นมาก่อน

เพราะฉะนั้นน่ะ การภาวนาของพวกเรานี่...ที่บางคนรู้สึกว่ายาก หรือทำไม่ได้ ...เพราะมันไม่เป็นไปตามลำดับขั้นตอน มันข้ามขั้นตอน

มันรู้เกินไป มันรู้เกินจริงไป  มันไปรู้คิด มันไปรู้ตามความคิด  มันไปรู้จำ มันไปรู้ตามความจำเกินไป ...แล้วเอาความรู้ที่ได้จากการรู้คิดและรู้จำนั้นน่ะ เอามาเป็นตัวปฏิบัติ

ผลมันจึงไม่ได้เป็นไปตามที่มันคาด ...เมื่อผลไม่ได้เป็นไปตามที่มันคาดไว้นี่แหละ มันจึงรู้สึกว่าการภาวนาเป็นของยาก เป็นเรื่องยาก

ทั้งนี้ทั้งนั้นสาเหตุมาจาก...ฟังไม่ดี ...เมื่อฟังไม่ดี ท่านเรียกว่าสุตตมยปัญญาไม่ดี  เมื่อสุตตมยปัญญาไม่ดี จินตามยปัญญาก็ไม่ดีตามไปด้วย

เมื่อจินตามยปัญญาไม่ดี ...หมายความว่าคิดเองเออเอง คาดไปเอง หมายไปเอง เข้าใจไปเอง แล้วเอาความคิดเองเออเอง เข้าใจไปเอง เอาไปปฏิบัติเป็นภาวนามยปัญญา ...ภาวนามยปัญญาจึงไม่บังเกิดขึ้น

เลยเห็นว่าการภาวนานี้เป็นของยาก ทำไม่ได้ ไม่เหมาะกับตัวเอง ไม่ใช่จริต ไม่ใช่สันดาน ไม่ใช่นิสัย ...จึงเกิดอาการค้นและหาต่อไปอีก …ซึ่งวิธีการมันมีเยอะ มีหลากหลาย มีหลายอาจารย์ มีหลายตำรา

แต่ถ้าฟังให้ดี พิจารณาตาม จนเกิดความเข้าใจตรง...ในระดับจินตามยปัญญาที่ตรง ...คือภาวนามยปัญญานี่อยู่ดีๆ จะจับขึ้นมาแล้วภาวนาเลย คือเข้าใจเอาเองแล้วก็ภาวนาเลยนี่...ล้มเหลวหมด

มันจะเละเทะ เลอะเทอะ มั่ว สับสน แล้วก็วน วนไปวนมา ...มันก็เบื่อ แล้วก็ท้อว่าปฏิบัติมาตั้งหลายปี หลายสิบปี ทำไมไม่เกิดผล หรือว่าได้ผลไม่เท่ากับที่ลงทุนเลย

ก็เลยคืนกลับสู่...แปลงร่างคืนสู่สภาพเดิม ...คือปล่อย ไม่ขวนขวายในการภาวนา ปล่อยให้เวลาล่วงเลยผ่านไป จนวันตาย แล้วก็เกิดใหม่

ทุกอย่างที่พระพุทธเจ้าท่านตรัส ท่านสอนนี่ ...ท่านว่าไปตามลำดับขั้นตอน และละเอียดมาก ...ไม่ใช่มักง่าย ไม่ใช่ทำอะไรด้วยความมักง่าย ลวกๆ

ถ้าเข้าใจตามลำดับขั้นตอนแล้วนี่ การปฏิบัติธรรมนี้จะไม่ยากเลย แล้วไม่ใช่เป็นของที่เกินกำลังของคนที่จะน้อมนำไปปฏิบัติให้บังเกิดผล...ตามที่พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ทำอย่างไร ...ก็ได้อย่างนั้น

แต่เพราะความรู้จำและรู้คิดนี่แหละ มันจึงไปรู้เกินที่พระพุทธเจ้าบอก ไปทำเกินที่พระพุทธเจ้าท่านบอก ...การบังเกิดผลจึงคลาดเคลื่อนไปหมด

เพราะนั้นให้เชื่อเราไว้ก่อน ว่ายืนเดินนั่งนอนนี่แหละ ให้รู้แค่นี้แหละ ให้ทำอยู่แค่นี้แหละ...เอาสติมากำกับพฤติกรรม กิจกรรมของกายปัจจุบันนี้ ให้ได้มากที่สุด ต่อเนื่องที่สุด

นี่แหละ ทำอย่างเดียว ...ไม่ต้องไปคาด ไม่ต้องไปหมาย ไม่ต้องไปหวังอะไร ...อะไรเป็นสมาธิ อะไรเป็นปัญญา ไม่ต้องไปถาม ไม่ต้องไปคะเน ไม่ต้องไปเทียบเคียง

ทำหน้าที่ของตัวเองในปัจจุบัน คือระลึกรู้ เท่าทันอาการของกาย...กายเล็ก กายน้อย กายใหญ่ กายย่อย ...อย่างอื่นไม่สน

เรื่องราวในจิต...ไม่สน  อดีตอนาคต...ไม่เอา  การกระทำของสัตว์บุคคลอื่น...ไม่ใส่ใจ ไม่เอาใจใส่ ไม่เอามาเป็นภาระ ไม่เอามาเป็นเรื่อง ไม่เอามาเป็นอารมณ์

เอาวางไว้ก่อน วางไว้ก่อน ...เอากายตัวเองก่อน เอารู้กายตัวเองก่อน เอารู้ปัจจุบันกายของตัวเองให้มันพอดีกัน...ให้รู้กับกายมันพอดีกัน ไม่ขาดตกบกพร่อง ไม่ห่างหายจากกัน

นี้จึงเรียกว่าการเจริญมรรค...โดยอาศัยมรรคเบื้องต้นแรกคือศีลเป็นมรรค ซึ่งแท้ที่จริงแล้วนี่ แค่การเจริญศีลเป็นมรรคเบื้องต้นนี่ แล้วเอาหลักใหญ่เป็นตัวศีล...คือกายนี่ 

ในขณะที่รู้ตัว รู้กายยืนเดินนั่งนอน ขยับ นิ่ง ไหว อย่างนี้ ...สมาธิและปัญญามันเกิดในตัวนั้นอยู่แล้ว แต่มันยังไม่ปรากฏขึ้นชัดเจนเท่านั้นเอง

เพราะสิ่งที่เรายังต้องทำให้มาก เติมให้มากก็คือตัวศีล ตัวกาย ตัวรู้ตัว ตัวที่รู้อยู่กับปัจจุบันกาย...ตัวนี้แหละ ...คือต้องทำศีลให้ปรากฏชัดเจนก่อน

ซึ่งในขณะที่ทำองค์ศีลให้ปรากฏชัดเจน สมาธิและปัญญาก็เกิดในที่นั้นเองอยู่แล้ว ...แต่ยังไม่ปรากฏเป็นความชัดเจนขึ้นมา

แล้วจึงอาศัยความพากเพียรนี้เอง ฝึกประกอบกระทำขึ้นซึ่งความรู้ตัวในปัจจุบันนี้...ให้มาก ให้นาน ให้ต่อเนื่องที่สุด เต็มกำลัง ให้เต็มกำลังความสามารถ

ไม่ต้องไปทำที่อื่น ไม่ต้องไปหาที่อื่นมาทำ ...จนความชัดเจนปรากฏขึ้นของจิตตั้งมั่น จิตเป็นหนึ่ง จิตเป็นดวงจิตผู้รู้ที่ชัดเจนขึ้น

แล้วจากนั้นไป มันจะรู้เองว่าการดำเนินต่อไปจะทำอย่างไร จะเอาไอ้จิตผู้รู้นั้นมาทำอะไร จะเดินปัญญาได้อย่างไร จะเกิดความรู้ความแจ้งได้อย่างไร

ถ้าถึงตอนนั้นแล้วไม่รู้ ก็มาหา มาถาม จะบอกให้ ถ้ามันโง่ปานนั้นน่ะ ...ซึ่งจริงๆ มันก็จะไม่โง่หรอก มันก็รู้อยู่แล้วแหละ แต่มันไม่มั่นใจ ...อาจจะไม่มั่นใจ

ครูบาอาจารย์ก็มีหน้าที่ย้ำว่า...เออ มึงทำไปเหอะ แล้วจะต้องทำอย่างงั้น จะต้องทำอย่างงี้ นั่น

เมื่อจิตมันรวม ตั้งมั่นดีแล้ว เป็นสัมมาสมาธิตั้งมั่นอยู่ในที่เดียว ไม่หวั่นไหวไปตามอาการน้อยอาการใหญ่ทั้งภายในและภายนอก ...นั่น ท่านเรียกว่าสัมมาสมาธิ 

แล้วมันตั้งมั่นอยู่กับอะไรเป็นหลักล่ะ ...ก็มันตั้งมั่นอยู่กับศีลคือกายเป็นหลัก แล้วมันจะเห็นอะไรนอกเหนือจากกายเป็นหลักล่ะ...ไม่มี นอกนั้นเป็นรอง สิ่งที่มันเห็นที่นอกเหนือจากกายนี่ 

ก็บอกว่ากายเป็นหลัก มันจะเห็นอะไรเป็นหลักนอกจากกาย เพราะนั้นสิ่งที่ออกจากกายหรือว่าไม่ใช่กาย ไม่ใช่หลักที่มันจะเห็น หรือจะรู้ หรือจะชัด

เพราะนั้นเมื่ออาศัยศีลหรือกายเป็นหลัก มันก็จะเห็นกายนี่แหละชัด...ตามความเป็นจริง ...มันจะชัดตามความเป็นจริง ไม่ใช่ชัดตามความคิด ไม่ได้ชัดตามความเห็น

ไม่ได้ชัดตามตำรา ไม่ได้ชัดตามคนเขาบอก ไม่ได้ชัดตามที่คิดไปเอง แต่มันจะชัดตามความเป็นจริง...ว่ามันเป็นก้อนธาตุ ว่ามันเป็นก้อนทุกข์

ว่ามันเป็นก้อนที่แปรปรวนไปมา ว่าเป็นก้อนที่คงสภาพเดิมไม่ได้...โดยที่ไม่มีใครไปกระทำมันหรอก มันเป็นของมันอย่างนั้นเอง ...นั่นแหละที่เรียกว่ากายตามจริง

แต่ถ้าจิตไม่ตั้งมั่น ดวงจิตผู้รู้ไม่รวมเป็นหนึ่ง จะไม่เห็นกายตามความเป็นจริงในแง่มุมนี้ ...อาจจะเห็นเพราะคิดนำ อาจจะเห็นเพราะฟังเราพูด แต่ไม่ใช่มันเห็นจริง

เพราะนั้นไอ้ปัญญาที่เข้าไปเห็นตามที่เราพูด หรือตามที่มันเข้าใจเอาเองหรือว่าฟังมาบ่อย ...ก็ยังเป็นความเห็นที่ไม่จริง ยังปลอมปนอยู่

ปลอมด้วยความจำ ปลอมด้วยคิดล่วงหน้า ปลอมด้วยเคยได้ยินได้ฟังอย่างนี้มา แล้วเชื่อว่ามันน่าจะเป็นอย่างนี้จริง มันเชื่อ...แค่เชื่อว่า... "มันน่าจะเป็นอย่างนี้จริง" 

แต่ยังไม่ใช่เห็นจริง ...ไม่เหมือนกันนะ เชื่อว่ามันจะเป็นจริง กับเห็นจริงๆ ...นี่ มันคนละตัวกัน

ไอ้ตัวที่จะเห็นจริงๆ นี่ ต้องเห็นด้วยดวงจิตผู้รู้อยู่ ที่รวมตัวเป็นสัมมาสมาธิ ด้วยครรลองของมรรค ...คือมีศีลเป็นเบื้องต้น ระลึกรู้อยู่ในกายปัจจุบัน ถี่ๆ บ่อยๆ ต่อเนื่อง

เพราะนั้นเมื่อมันรวมตัว โดยอาศัยกายหรืออาศัยศีลเป็นหลักของมันแล้วนี่ มันจะไม่เห็นอะไรสำคัญนอกเหนือจากกายนี้แหละ

นี้เองจึงจะเป็นเหตุให้เกิดญาณทัสสนะที่เห็นกายตามความเป็นจริงก่อน...เป็นอันดับแรก เป็นอันดับต้น ...จะไม่ไปแจ้งที่อื่นก่อนเลย

ก็มันตั้งมั่นกับกาย แล้วมันจะไปแจ้งที่ไหนล่ะ ถ้าไม่ใช่ที่กาย ...มันจึงมาทำสัมมาทิฏฐิเบื้องต้นเบื้องแรกกับกายนี้เป็นอันดับแรก

เพื่ออะไร ...เพื่อไปทำความละ วาง จาง คลาย ออกจากสักกายทิฏฐิ คือกายที่ไม่จริง กายปรุงแต่ง กายสังขาร กายสักกาย ...เพื่อทำลายความยึดมั่นถือมั่นในกายสักกาย 

กายสังขาร กายปรุงแต่ง กายสมมุติ กายบัญญัติ กายเรา กายของเรา ...พวกนี้คือกายเดียวกันหมด คือเป็นกายที่ไม่จริง เป็นกายที่ปลอมปนกับกายตามความเป็นจริง

ถ้าไม่มีสัมมาสมาธิจิตตั้งมั่นเป็นหนึ่ง มันจะแยกไม่ออก ระหว่างกายที่แท้จริงกับกายที่ไม่จริง ...ถึงมันแยกออก มันก็แยกออกในระดับแค่จินตา นึกๆ คิดๆ เอา

มันยังไม่เห็นจริง รู้จริงเห็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นหนึ่งและเป็นกลาง ...จึงเรียกว่าเป็นปัญญาที่เกิดขึ้นลอยๆ คิดเอาเอง  มันยังละวางจางคลายสักกายไม่ได้เลยแม้แต่ประการใด

การสั่งการสอนการอบรมของพระพุทธเจ้า...ที่ว่ามาโดยเป็นภาษาบัญญัติสมมุติขึ้นมานี่ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ท่านพูดมั่วๆ นะ ...มันเป็นขั้นตอน มันเป็นหลัก มันเป็นหลักเกณฑ์

มันเป็นลำดับ...ตามลำดับลำดา ตามปัจจยาการทุกอย่าง ...ไม่ใช่ว่ามาเหมาๆ เอา หรือนึกเอายังไงก็พูดไปให้มันคล้องจองกันมาเป็นภาษาเท่านั้น...ไม่ใช่

แต่มันเป็นไปตามปัจจยาการ...สิ่งนี้เกิด...สิ่งนี้เกิด สิ่งนี้เกิด...สิ่งนี้เกิดตามมา สิ่งนี้เกิดตามมา...สิ่งนี้เกิดตามมา

ไม่ใช่มั่ว คิดๆ นึกๆ แล้วก็มั่วเอา คาดเอา ว่ามันน่าจะอย่างนั้น มันควรจะอย่างนี้ ...ไอ้นี่ละมั่ว จิตน่ะเก่งนักเรื่องมั่วนี่  จิตผู้ไม่รู้น่ะ ทั้งมั่วแล้วก็เหมา เหมาเอาเลย

แต่ถ้าทำตามปัจจยาการของศีลสมาธิปัญญา ตามขั้น ตามลำดับ ตามกฎเกณฑ์ที่ท่านว่าไว้ ...ซึ่งไม่ใช่ท่านพอใจจะว่านะ แต่ท่านเห็นด้วยตัวของท่านเองว่าทุกอย่างมันเป็นตามลำดับอย่างนี้ๆๆ หนา

ผลก็จะปรากฏขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่ผลของศีลมาก่อน ผลของสมาธิตามมา ผลแห่งปัญญาค่อยตามมาทีหลัง ให้ชัดเจนมากขึ้นๆ พร้อมกับปล่อยวางสักกายได้มากขึ้น

ปล่อยวางอย่างไร ลักษณะของการปล่อยวางสักกายคืออะไร ...คือไม่เชื่อกายอดีตว่ามีจริง ไม่เชื่อว่ากายอนาคตนั้นมีจริง ไม่เชื่อว่ากายเรานั้นมีจริง ไม่เชื่อว่ากายเขานั้นมีจริง

เมื่อมันไม่เชื่อว่ากายเหล่านั้นมีจริง ...มันจะไม่ให้ความสำคัญ มันจะไม่ให้ความมั่นหมาย มันจะไม่ให้ความยึดมั่นถือมั่นในกายที่ไม่จริงเหล่านั้น

แต่ตราบใดที่มันยังไม่เห็นว่ากายเหล่านี้ไม่จริง มันจะเกิดความมั่นหมายในกายเหล่านี้ว่ามีจริง แล้วเป็นจริง ...นั่น ท่านเรียกว่าความยึดมั่นถือมั่นก็ยังบังเกิดอยู่กับกายที่เป็นสักกาย

ซึ่งความเห็นที่เข้าไปผูกกับความยึดมั่นถือมั่นในสักกายนั่น ...ท่านเรียกว่าความเห็นผิด หรือเรียกว่ามิจฉาทิฏฐิ

เพราะฉะนั้นในลำดับของมรรค...สิ่งที่จะต้องละเบื้องต้น จิตมันจะต้องละเบื้องต้น หรือทำความรู้แจ้งในเบื้องต้น ทำความเข้าใจชัดเจนในเบื้องต้น ...ก็คือสักกายทิฏฐิ

และเมื่อมันละหรือว่ามันทำความแจ้งชัดในสักกายคือกายปรุงแต่งนี่ ...สิ่งที่มันจะเข้าใจตามมาคือ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส

มันจะเป็นหมวดเรื่องราวที่เป็นปัจจยาการซึ่งกันและกันระหว่างสามตัวนี้...สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส

เมื่อแจ้งในสักกาย เข้าใจในสักกาย ก็จะเข้าใจถึงความสงสัยลังเลในการปฏิบัติต่อไปในองค์มรรค สงสัยในวิธีการปฏิบัติ ว่าถูก ว่าใช่ ว่าควร หรือไม่ควรแต่ประการใด ...นี่จะหมด หมดสามตัวพร้อมกัน

นี่ก็พูดตามตำรา แต่ว่าการปฏิบัติ การบังเกิดผล มันก็จะบังเกิดผลตามปริยัติที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ ...จึงเรียกว่าปริยัติ ปฏิบัติ แล้วจึงเกิดปฏิเวธ ...ไม่คลาดเคลื่อนจากกันเลย

ไม่แหกกฎ ไม่แหกตำรา ไม่แหกธรรมวินัยคำสอน พระไตรปิฎก พระสูตร พระธรรม พระอภิธรรม ...สงเคราะห์ตรงตามหลักตามธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสทุกประการ ไม่คลาดเคลื่อน ไม่ผิดเพี้ยน

ต้องพูดอย่างนี้ ต้องยืนยันกันอย่างนี้ ...เพราะเดี๋ยวนี้มันมีสัทธรรมปฏิรูปเยอะ พวกนักปฏิวัติค้นคิดน่ะ ปฏิวัติตำรา ปฏิวัติหลักการปฏิบัติ ปฏิวัติว่าเอาเอง ลัดขั้นตอน ...มันเลยเกิดความสับสน

เพราะนั้นคำว่าปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ...เราไม่ได้หมายความว่าต้องมายึดในปริยัติ แต่ต้องมีปริยัติน่ะเป็นตัวอิงไว้ เพื่อไม่ให้ธรรมนั้นคลาดเคลื่อนจากที่พระพุทธเจ้าท่านบอกไว้ ท่านสอนไว้ ท่านตรัสไว้

พระพุทธเจ้าท่านบอกไว้เมื่อพระอานนท์ถาม...เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพาน จะให้นับถือเคารพอะไร ...พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า...พระธรรมนั่นไง

แล้วอะไรเป็นสื่อแทนพระธรรม ก็คือปริยัติ...ต้องอิงไว้นะ จะมาข้ามไม่ได้  ถ้าข้าม...มันกลายเป็นศาสนาของปรัชญาไป ก็คิดๆ วิเคราะห์ ค้นคิดขึ้น แต่งตำราขึ้นมาใหม่เลย

เดี๋ยวนี้ก็มี ไอ้พวกที่บอกว่าไม่เชื่อพระไตรปิฎก เพราะว่าพระไตรปิฎกเขียนมาตั้งสองพันห้าร้อยกว่าปี ใครเขียนก็ไม่รู้ อรรถกถาแต่งมั้ง เติมนั่นบ้างเติมนี่บ้างเข้าไป

นั่นก็อาจจะมี แต่หลักๆ นี่ทิ้งไม่ได้...ที่ท่านว่าไว้ ไตรสิกขา มรรคมีองค์แปด ศีลสมาธิปัญญา มหาสติปัฏฐาน มัชฌิมาปฏิปทา อริยสัจสี่ กิจที่พึงกระทำในอริยสัจ

เหล่านี้ต้องคงอยู่นะ ปริยัติเหล่านี้ ...ท่านว่าอย่างไร เป็นอย่างนั้นจริงๆ  และต้องเป็นอย่างนั้นจริงๆ จิตจะต้องเป็นอย่างนั้นจริงๆ เถียงไม่ได้เลย

อันอื่นไม่รู้...เทพเทวดาอะไรไม่เกี่ยว ไม่สน  ฌานสมาบัติอะไรนี่...มันก็มี แต่เราไม่ให้ไปอิงตรงนั้นเลย ไม่สนใจจะเอามาอิง ...เพราะไม่ได้เป็นเหตุที่เอื้อโดยตรงต่อมรรคผลและนิพพาน 

เพราะนั้นก็ไม่ต้องไปเอาเป็นเอาตายอะไรกับไอ้เหล่านั้นหรอก ...แต่ไอ้เหล่านี้ที่ต้องเอาเป็นเอาตายคือ...ศีลสมาธิปัญญา ...นี่ จำไว้ให้แม่น ... เพราะนี้คือมรรค


(ต่อแทร็ก 9/25)





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น