วันพุธที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 9/15


พระอาจารย์
9/15 (551128B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
28 พฤศจิกายน 2555



พระอาจารย์ –   ฝึกสติ รู้ตัวในปัจจุบันนั่นแหละ อย่างเดียว ให้มากที่สุด 

นิดนึงก็ไม่เอา หน่อยนึงก็ไม่เอา...ในความคิดที่มันไหลออก  มันจะแนะอะไรล่ะ ไปมา ...นอกจากกิจธุระจำเป็นที่จะต้องทำจริงๆ ก็ทำด้วยความตั้งอกตั้งใจทำ มีสติกำกับ ในการคิด ในการนึก 

แล้วก็หยุด ...เมื่อมันถึงเวลาหยุด...ต้องหยุด  เวลากลับมาแล้วก็ต้องหยุด ออกจากที่แล้วต้องหยุด ... อย่าให้มันวนเวียน ซ้ำซาก อย่าให้มันไปจม จนเป็นปลักเป็นหล่ม เป็นตม เป็นโคลน 

เดี๋ยวจิตมันจะกลาย... คือ "เรา" ก็จะกลายเป็นควาย ที่ไปจมปลัก จมโคลน เลอะเทอะ เปรอะ แปดเปื้อนอยู่กับมัน ในความที่ไม่มีอะไรเป็นสาระ

ใช้ความคิด ใช้ความจำ ด้วยการตั้งใจมั่น ด้วยตั้งใจรู้ ด้วยตั้งใจกำกับด้วยสติอยู่เสมอ ... เพราะอะไร ...เพื่อให้ว่าเวลาละ เวลาหยุด จะได้หยุดได้ วางได้ ปล่อยได้ 

เพราะว่าระหว่างทำมันมีความรู้ตัว คอยกำกับอยู่ คอยรู้...ว่ากำลังคิดอยู่นะ กำลังทำอะไรอยู่นะ กำลังไปไหนมาไหนอยู่ ในกิจการที่ต้องทำอะไรเพื่ออะไร ในการดำรงชีวิต ...เนี่ย ให้มันเป็นไป

ก็ไม่ได้หมายความว่าจะหยุด หรือสตาฟตัวเอง ให้เหมือนกับหุ่นขี้ผึ้งหรือรูปปั้น หรือสตาฟจิตให้เป็นหินนิ่ง...ไม่ใช่  แต่เมื่อถึงคราวต้องหยุด...ต้องหยุดจริงๆ อยู่กับอิริยาบถ...ก็อยู่กับอิริยาบถจริงๆ 

งานทั้งหลายทั้งปวง กิจทั้งหลายทั้งปวง อดีตอนาคตทั้งหลายทั้งปวง วางไว้ก่อน วางไว้ ผ่อนคลายออกไป ...อย่าเอามาเป็นธุระ หรือเอามาเป็นเครื่องขัดขวาง เป็นเครื่องกังวล เป็นปลิโพธ 

(หมายเหตุ : ปลิโพธ = เครื่องผูกพันหรือหน่วงเหนี่ยวเป็นเหตุให้ใจพะวักพะวนห่วงกังวล, เหตุกังวล, ข้อติดข้อง)

เวลายืนเดินนั่งนอน ด้วยความตั้งอกตั้งใจที่จะรู้แค่ยืนเดินนั่งนอน ก็ต้องรู้แค่ยืนเดินนั่งนอนจริงๆ อย่างนี้ ...สร้างนิสัยความไม่ออกนอกองค์มรรค ไม่ออกนอกศีลสมาธิปัญญาไว้เป็นประจำ 

ท่านถึงเรียกว่าเป็นนิจศีล  ศีลจึงเป็นนิจ คือความต่อเนื่อง ไม่ขาดสาย ไม่ขาดระยะ ... สมาธิก็บังเกิด ปัญญาก็บังเกิด เมื่อมันถึงความสมดุลพอดีพร้อมพอกันแล้ว ... นี่ ความเป็นมรรคสมังคี 

คือมันจะแยกไม่ออกเลยระหว่างศีลสมาธิปัญญาคืออะไร  ศีลคืออะไร สมาธิคืออันไหน ปัญญาคืออะไร ...คือดูตรงไหนมันใช่หมดเลย ไม่ว่าจะเรียกว่าศีล ไม่ว่าจะเป็นสมาธิรึเปล่า ไม่ว่าจะมีปัญญามั้ย มันแยกไม่ออก 

มันเป็นพร้อมกันตรงนั้นแหละ เรียกว่ามันรวมตัวกันเป็นเนื้อหนึ่งใจเดียวสมานกัน ด้วยความที่ว่าไม่มีแบ่งว่าเป็นสมถะ ไม่แบ่งว่าเป็นปัญญา ไม่แบ่งว่าเป็นศีลสมาธิ ...มันเป็นสมังคีรวมตัวกัน 

นั่นน่ะเขาเรียกว่าประสาน ใจมันประสานคืนสู่สภาพที่เป็นตัวใจรู้ใจเห็น  นี่ ตัวของมันเองจริงๆ ...คือมันพรั่งพร้อมด้วยศีลสมาธิปัญญาตามภาษาตามบัญญัติเลยน่ะ ...เหมือนกับว่าไอ้ศีลสมาธิปัญญานี่คือตัวบัญญัติภาษานะ 

แต่ตัวใจรู้ใจเห็นจริงๆ นั่นน่ะคือตัวศีลสมาธิปัญญาตัวแท้เลย ...ลักษณะ คุณสมบัติ  คุณลักษณะของใจนี่ล่ะ คือคุณลักษณะของศีลสมาธิปัญญาเลย  

มีทั้งความตั้งมั่น มีทั้งความเป็นกลาง มีทั้งความรอบรู้ มีทั้งความชัดเจน มีทั้งความธรรมดา มีทั้งความไม่เป็นสุข มันครบในองค์ศีลสมาธิปัญญา 

ที่กว่าจะเรียนรู้ในคำว่าศีลสมาธิปัญญา ต้องอาศัยความตรากตรำ บากบั่น พากเพียร ลองผิดลองถูกมา แล้วค่อยๆ มาสังเคราะห์รวมตัวกัน จนเป็นหนึ่งเดียวกัน 

มันเข้าใจว่าเมื่อถึงใจแล้ว ภาวนาถึงกายแล้วก็ภาวนาถึงใจแล้วนี่  เมื่อถึงใจแล้วจะรู้เลยว่า...ใจนั่นแลคือความหมายของคำว่าศีลสมาธิปัญญา

ไอ้ที่เคยทำมาอย่างนู้น อย่างนี้ อย่างนั้น  มันยังเป็นรอบนอก เป็นแค่เครื่องสนับสนุนส่งตรงเข้ามา...ตรงที่ใจดวงเดียวเท่านั้นเอง 

เพราะนั้นว่าการภาวนาก็ทำให้มันกำชับ ให้มันอยู่แวดวงปัจจุบัน ให้มันอยู่ในแวดวงกายใจปัจจุบัน ให้มันสั้นลง ให้มันลดอาณาบริเวณของการภาวนา ของจิตที่มันส่ายไปทั่ว 

จนเป็นหนึ่ง ...หนึ่งคือหนึ่ง  ไม่ใช่หนึ่งงงง หนึ่งงงง  หนึ่งนั้นมันหนึ่งไม่จริง หนึ่งก็คือหนึ่ง ไม่มีจุดทศนิยม หนึ่งคือหนึ่งรู้หนึ่งเห็น หนึ่งกับสิ่งที่ถูกรู้ หนึ่งกับสิ่งที่ถูกเห็นนั้นจริงๆ 

ไม่มีอุปาทานขันธ์ซ้อนขึ้นมา แม้แต่นิดนึง...ก็ อ้อ เห็นแล้ว  นั่นน่ะ มหาสติ  แม้แต่นิดนึงที่มันซ้อนขันธ์จริงขึ้นมานี่ มันก็เห็นทัน เห็นแล้วก็ละ เห็นก็แล้วดับ เห็นแล้วก็สลาย 

เห็นแล้วก็ถูกแผดเผาไปด้วยอำนาจของใจ อำนาจของศีลสมาธิปัญญา จนมันไม่สามารถจะมาปิดบังครอบคลุม ครอบงำ หรือทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนไปจากธรรมที่ปรากฏอยู่ต่อหน้าต่อตามันไป

เพราะนั้นเรื่องที่เรียนรู้ เรื่องที่พวกเราจะได้ยินนี่ มันเยอะ หลายคนหลายความคิด หลายผู้ปฏิบัติก็หลากหลายไปหมด คนนั้นคนนี้ อาจารย์องค์นั้นอาจารย์องค์นี้  ตีกันเละเทะไปหมด 

แต่ถ้าออกมาเป็นลำพังแล้วนี่ ก็ไม่ต้องไปหาตำรา ไม่ต้องไปหาเพื่อนผู้ปฏิบัติคอยค้ำจุน คอยชี้ทาง ไอ้คอยชี้ทางกันไปชี้ทางกันมาน่ะ มันพาลงหล่ม ลงตม ลงโคลนโดยไม่รู้ตัวเลย

ไปลำพังน่ะ กายใจเปล่าๆ นี่แหละ ...อยู่กับความรู้ตัว แก้ทุกอย่าง แก้ปัญหาทุกอย่างด้วยการรู้ตัว  ไม่แก้ด้วยความคิด ไม่แก้ด้วยการหา การค้น การถาม ไม่แก้ด้วยการกลบ หาอารมณ์ สร้างอารมณ์อื่นมาปิดบัง มาบิดเบือน 

แก้มันตรงๆ ด้วยการรู้ตัวลงไปตรงๆ มันออกมาจะข้างๆ คูๆ คดๆ เคี้ยวๆ เลี้ยวลดออกมา หรือจะชักนำชักจูงออก ก็แก้ด้วยการใช้สติ แล้วก็ระลึกขึ้นอยู่กับตัว ด้วยการรู้อยู่กับตัว...รู้อยู่กับตัว

มันจะอึดอัด มันจะคับข้อง มันจะไม่จบ มันจะยังไม่สิ้น...ก็อยู่ตรงที่รู้ตัวอยู่  มันยังมีอะไรวนเวียนๆ อยู่ตรงนั้น คอยลากคอยจูง คอยดันคอยดึงอยู่...ก็อดทน ต้องอด...อดทน 

แล้วก็ทนแล้วก็อด อยู่อย่างนั้นแหละ เพื่อให้กลับมารู้ตัวได้ด้วยความปลอดโปร่ง ...เมื่อใดที่มันอดทนรู้ตัวไป มันก็จะเกิดภาวะที่ตามมา...เป็นผลตามมาเอง คือว่าการรู้ตัวนั้นมันจะรู้ตัวด้วยความปลอดโปร่งโล่งเบา

แปลว่าอะไร ...แปลว่าเหล่าอุปาทานขันธ์ที่เกิดจากการน้อมนำขึ้นมาของจิตผู้ไม่รู้ มันเริ่มหมดเหตุปัจจัยไป สลายไป 

เหมือนไฟน่ะ ไฟที่มันลุกขึ้นมานี่  ถ้าไม่มีใครผู้ใดผู้หนึ่ง เอาเชื้อเพลิงไปเติมมันน่ะ ...ไฟกองนั้น มันจะมีอายุของมัน มีความมอดไหม้ในตัวของมันเอง จนหมดจนสิ้นไปในลำพังของมันเอง

เฉกเช่นเดียวกัน เมื่อใดที่เราตั้งหน้าตั้งตาทำความรู้ตัวอย่างเดียว ก็เหมือนกับรามือราตีนที่จะยื่นไปหยิบเชื้อเพลิง หรือว่าเศษวัสดุอุปกรณ์อะไรที่เป็นเชื้อไฟ แล้วก็โยนเข้าไปในกองไฟกองนั้นๆ 

ไฟมันก็ยังไม่ดับหรอก เพราะเราไม่ได้เอาน้ำไปรด ไม่ได้เอามือยื่นไป มือที่ยื่นไปตักน้ำราด ก็ไม่ยื่น มือที่ยื่นไปเอาเชื้อเพลิงใส่ไฟ ก็ไม่ยื่น ...เพราะตั้งหน้าตั้งตาเอามือนั้นมาชี้ตรงแน่วแน่อยู่กับตัว คือรู้ตัวนี่

ไฟกองนั้นน่ะ ...ไม่ว่ามันจะกองลุกท่วมตัวท่วมบ้านท่วมโลกท่วมจักรวาล หรือว่าเป็นไฟเล็กไฟน้อยที่พอให้หงุดหงิดงุ่นง่าน อึดอัด คับข้อง เนี่ย ไฟทั้งนั้นน่ะ ...มันก็ดับ มันก็ดับของมันเองนั่นแหละ มันก็มอดไป

แต่ว่าความมอดของไฟเหล่านี้ของพวกเรา มันยังไม่เป็นสมุจเฉท  มันก็เหมือนกับมันยังมีเชื้ออยู่ ตกค้างอยู่ ...แต่ว่ามันไม่ถึงกับไหม้ จนเกิดความเร่าร้อน รุ่มร้อน 

เนี่ย มันก็สงบ มันก็เกิดความปลอดโปร่งขึ้นได้ ในขณะทำความรู้ตัวต่อไป และต่อไปเมื่อทำอย่างนี้บ่อยๆ ไอ้ไฟที่มันยังตกค้าง ที่มันยังไม่ดับไปนี่ มันก็เริ่มซาลง

เพราะอะไร เพราะไอ้ไฟนี้มันเนื่องมาจากอดีต เนื่องมาจากภพอดีตที่มันคอยสุมไว้ มันก็ลุก ทั้งๆ ที่ไม่มีเชื้อก็ดูเหมือนมันยังลุก ยังไหม้อยู่ ...แต่ว่าไม่โหมกระพือขึ้นน่ะมันก็จะเย็นลงในระดับนึง 

เพราะนั้นไอ้ไฟทั้งหลายที่มันลุกอยู่นี่ ที่มันล้อมรอบใจรู้ใจเห็น หรือว่าดวงใจผู้บริสุทธิ์อยู่นี่ ...ใจนี่เย็น เหมือนน้ำแข็ง ใจเป็นธาตุเย็น ธาตุสงบ ธาตุดับ ธาตุที่ไม่ก่อเกิดใดๆ ในนั้นได้ มันมีความเย็นในตัวของมัน

แต่เพราะไฟที่ห่อหุ้มมัน จึงไม่สามารถเข้าไปสัมผัสถึงความเย็นของธาตุใจของธาตุรู้ได้ ...แต่เมื่อใดที่ไฟเริ่มซาเริ่มหมด เริ่มไม่มีใครเอาเชื้อเพลิงไปสุมไปเผามันแล้วนี่ มันก็จะบังเกิดความสงบร่มเย็นภายในขึ้นมาเอง 

ดูเหมือนมันบังเกิดขึ้นมาเอง ดูเหมือนว่าไม่ต้องทำอะไร มันก็มีความสงบร่มเย็นในตัวของมันเอง เพราะว่าธาตุใจนี่ มันออกจากไฟที่ห่อหุ้มมัน 

เหมือนกับมีน้ำแข็งอยู่ก้อนนึง ถ้าจุดไฟไว้รอบน้ำแข็งก้อนนั้น มันจะรู้สึกว่าเย็นหรือรู้สึกว่าร้อน ยังไงก็ต้องร้อน ...แต่เมื่อใดไฟนั้นราลงนี่ เมื่อเข้าใกล้ไฟนั้นก็จะรู้สึกเย็นมากกว่าร้อน นั่น เมื่อไม่มีไฟ

ถ้าเป็นพระอรหันต์นี่หมายความว่าไฟนี่มอดหมดแล้ว ยังไงก็เย็น ต่อให้โยนเชื้อเพลิงเข้ามา ต่อให้มีจิตอีกจิตนึงเข้าไปสร้างเชื้อเพลิงอะไรขึ้น มันก็ไม่มีคำว่าลุกไหม้ เพราะว่าไฟมันมอดหมดแล้ว มันสิ้นแล้ว 

แต่ของพวกเรานี่มันยังไม่สิ้น มันยังไม่มอด มันยังไม่เป็นสมุจเฉท มันก็แค่ซาลงมาก่อน ...เนี่ย ตรงนี้ ไอ้ตัวที่คาอยู่นี่คืออวิชชา ตัณหา แต่ในอดีตที่มันเคยไปสะสมไว้มากมาย 

และมันก็พร้อมที่จะลุกไหม้ขึ้นได้ทุกเวลา โดยไม่เลือกกาลเวลา ...กิเลส อวิชชา ตัณหา ไม่เลือกกาลเวลา  ขนาดนอนหลับไม่รู้เนื้อรู้ตัว ฝันแล้วยังเกิดอารมณ์ได้ ฝันแล้วยังโกรธ ยังกลัวได้ เห็นมั้ย 

มันไม่เลือกเวลาว่ารู้ตัวหรือไม่รู้ตัว มันเกิดความรุ่มร้อนเร่าร้อนขึ้นได้ตลอดเวลา ...เพราะนั้นไฟกิเลส ไฟราคะ ไฟโทสะ ไฟโมหะนี่ มันยังสุมรุมอยู่ภายในนี่ อยู่ตลอด

อาศัยที่ว่า อดทน ยังไงก็ต้องอดทน ...ที่จะไม่ไปคว้า ไปจับ ไปต้อง หรือไปเพิ่ม ไปลด ไปเปลี่ยนแปลงมัน แม้กระทั่งจะไปดับมันด้วย...ไม่เลย 

เอาจนมันหมดเชื้อมอดไหม้ในตัวของมัน จนหมดไม่เหลือเชื้อของมันนั่นแหละ ...เรียกว่ามันจะต้องผูกตายขายขาดอยู่กับศีลสมาธิปัญญาแบบจริงๆ จังๆ อย่างยิ่งเลยน่ะ 

แล้วก็จะเข้าใจเองว่า อ้อ นี่ดับไปแล้ว ...คือไอ้ไฟเหล่านี้มันก็จะดับเป็นหย่อมๆๆๆ ไป ...อันไหนดับแล้วอันนั้นดับเลย 

แต่ถ้ามันดับจริงนะ มันจะรู้เลยว่ามันดับแล้วดับเลย หมายความว่ามันไม่มีเชื้อ มันไม่มีสะเก็ด มันไม่มีทางที่จะลุกจะไหม้ด้วยเชื้อเพลิงใดเชื้อเพลิงหนึ่งแต่ประการใด 

เนี่ย มันก็จะหายไปเป็นหย่อมๆๆๆ ไปก่อน แล้วความโล่ง ความโปร่ง ความเบา ความเย็น ความสงบ ความไม่เป็นทุกข์ภายในมันก็บังเกิด

เหมือนกับอานุภาพของใจก็แผ่ขยายออกมา ให้ทั้งตัวคนนั้นทั้งตัวขันธ์นั้น แม้คนรอบนอกก็ยังสามารถรับรู้ได้ สัมผัสได้กับความเย็นนั้นๆ ความสงบร่มเย็นนั้นๆ ความบริสุทธิ์นั้นๆ ที่แผ่ออกไป

เพราะไอ้สิ่งที่หุ่มหุ้มล้อมรอบมันด้วยไฟ คือราคะ โทสะ โมหะ มันหมด  มันก็เปิดช่องให้อานุภาพของใจ หรืออานุภาพของความเย็นที่มาจากธรรมชาติที่แท้จริงของใจ มันก็แผ่ออกมาในช่องในร่องนั้นไป

แล้วก็เพียรอยู่ในที่ตั้งที่มั่นรู้ตัวไป อยู่ตรงที่ใจรู้ใจเห็นนั่นแหละ ไปเรื่อยๆ กิเลสมันก็จะค่อยๆ มอด สิ้นไป ...แล้วก็คอยอดกลั้นอดทนต่อจิตที่มันจะเข้าไปควานไปค้นหาอะไรมาเป็นเชื้อเพลิงให้เกิดความไม่จบและสิ้น

คือมันจะให้ไฟลุกไหม้ต่อโชติช่วงชัชวาลชั่วนาตาปี เนี่ยเป็นไฟกิเลส ไม่ใช่ไฟแห่งปัญญา ไม่ใช่แสงสว่างแห่งปัญญา  มันคนละกองกัน มันไม่เหมือนกัน ...ถ้าแสงสว่างที่เกิดจากปัญญามันเกิดจากใจ 

แต่แสงสว่างที่เกิดจากไฟมันเกิดจากราคะ โทสะ โมหะ แล้วก็เป็นตัวชี้นำ ให้เกิดความเร่าร้อนต่อเนื่องกับสัตว์บุคคลอื่น กับวัตถุข้าวของอื่น กับอดีตอนาคตต่อไป

เห็นมั้ย ไฟจากกองไฟมันก็มีแสง แสงเพลิงอย่างนี้  แต่มันเป็นแสงสว่างที่จะชี้นำให้ไปเผาไหม้เผาลนต่อไปข้างหน้า แล้วก็ไปไหม้ผู้อื่นและภายนอกออกไป 

แต่ไฟสว่างด้วยปัญญา มันสว่างโดยที่ไม่ได้เกิดจากราคะ โทสะ โมหะ  มันเป็นความสว่างจากใจรู้ใจเห็นนี่ มันจะนำทางไปสู่มรรคผลและนิพพาน คือความหลุดและพ้นจากสิ่งต่างๆ ที่เกิดจากความไม่รู้ไม่เห็น

ก็เพียร ทำความรู้ตัวอยู่กับปัจจุบัน ...จะเป็นอะไร จะเป็นความรู้สึกในส่วนใดส่วนหนึ่งในกายปัจจุบันนี้ได้หมด จะเป็นลมหายใจก็ได้ จะเป็นความรู้สึกในรูปกายที่นั่งก็ได้ จะเป็นเวทนา ความตึง ความแน่น 

อะไรก็ตามที่มันปรากฏชัดเจนอยู่ในปัจจุบันกายนี้ ก็รู้ ก็หยั่ง ก็เห็น หยั่งรู้หยั่งเห็นลงไป...ซ้ำซาก ...จนจิตมันหลบลี้หนีหน้าหายไป จน “เรา” มันหลบลี้หนีหน้าหายไป

บางครั้งที่เราหยั่งรู้หยั่งเห็นอยู่ในกายเฉยๆ ขณะที่นั่งอย่างเดียวนี่ จนบางครั้งมันเกิดความรู้สึกขึ้นมาด้วยตัวเองก็ได้ว่า “ตัวเราไปไหนวะนี่” บางทีมันเหมือนไม่มีตัวเราตรงนี้เลย  ก็เกิดความรู้สึกอย่างนั้นขึ้นมา 

มันก็จะเข้าใจด้วยตัวเองขึ้นว่า แค่รู้ตัวอยู่แค่นี้ ทุกอย่างมันจะเปิดเผยความเป็นจริงขึ้นมาเอง เพราะธรรมอยู่ที่นี้ ธรรมอยู่ตรงนี้ ธรรมอยู่เดี๋ยวนี้  ถ้าอยู่ที่นี้แล้วมันไม่เห็นความเป็นจริงก็ไม่เรียกว่าเป็นธรรมแล้ว

เพราะนั้น ธรรมเขาก็จะเปิดเผยขึ้นมา...จากที่ไม่เคยเข้าใจก็จะเข้าใจ จากที่ไม่เคยเห็นก็จะเห็น จากที่ไม่เคยชัดเจนก็จะชัดเจน เพราะธรรมนั้นอยู่ เขาแสดงตัวอยู่ตลอดเวลา

ก็ค่อยๆ ลึกซึ้งแยบคายในตัวของมันเองขึ้นตามลำดับ ...จากที่เคยต้องวิ่งตาม ต้องวิ่งคว้า ต้องวิ่งไล่จับ ต้องขวนขวายหาธรรมมานี่ ...มันก็จะหยุดไปโดยปริยาย

จิตมันก็อ่อนกำลังลง เพราะว่าไม่ให้กำลังจิตด้วยความอยากและความไม่อยากอีกต่อไป ...เพราะมันรู้สึกว่าอยู่ตรงนี้เฉยๆ มันก็เข้าใจเองแล้วนี่ ไม่เห็นจะต้องไปหาอะไรเลย ไม่เห็นต้องไปทำอะไรเพิ่มขึ้นมาอีกเลย 

จิตมันก็จะถูกใช้น้อยมากด้วยเจตนา ด้วยความจงใจ ด้วยความอยากรู้อยากเห็น ด้วยความอยากได้ ด้วยความอยากมี ด้วยความอยากเป็น ด้วยความไม่อยากได้ ไม่อยากมี ไม่อยากเป็น 

พวกนี้มันก็จะหมดผู้เข้าไปเรียกหาใช้สอยกับมัน ...จิตมันก็จะค่อยๆ ง่อยเปลี้ยเสียขาลงไป มันก็อยู่ในที่ที่มันตั้งมั่นอยู่ในที่อันเดียว ทุกอย่างก็ยิ่งชัดเจนในตัวของมันมากขึ้นไป

เห็นมั้ย ศีลสมาธิปัญญามันเกื้อกัน มันเป็นเนื้อหนึ่งใจเดียวกัน ประสานกันแบบ all for one น่ะ มันเป็นอย่างนั้น ทุกอย่างรวมลงเป็นหนึ่ง แล้วก็หนึ่งได้ด้วยศีลสมาธิปัญญานั่นเอง 

จนเป็นหนึ่งถึงที่สุด เรียกว่า อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา นั่นคือความหมายของคำว่าที่สุดของศีลสมาธิปัญญา...ก็คือใจรู้ ใจผู้รู้ผู้เห็นดวงเดียวนั่นเอง เป็นที่ตอบโจทย์ได้ทั้งหมดทั้งสิ้น

เพราะนั้นการภาวนา ถ้าถึงใจแล้วนี่ ไม่มีปัญหา  เพราะปัญหามันอยู่ที่จิตออกไป ...แต่ถ้าอยู่ที่ใจแล้วจะไม่มีปัญหาเลย แม้แต่นิดเดียว 

เห็นมั้ยว่าใจที่มันเต็มเปี่ยมด้วยศีลสมาธิปัญญาด้วยตัวของมันเอง มันจะไม่มีปัญหาขัดข้องแต่ประการใด แม้แต่จุดทศนิยมของสงสัยยังไม่มี  ไม่สามารถจะหลุดเล็ดลอดออกไปได้ 

แม้แต่ขณะจิตนึง อณูนึงของจิตนึง ปรมานูนึงของจิตนึง ก็ยังไม่สามารถไปก่อเกิดเป็นความคิด เป็นความเห็น ไปก่อเกิดเป็นความสงสัย เป็นเราลังเล ไปก่อเกิดเป็นเวล่ำเวลา ไปก่อเกิดเป็นอดีตเป็นอนาคตได้เลย

ตาย ...จิตก็ตายไป ค่อยๆ ตายไป เมื่ออยู่ที่นี้ที่เดียว

ประมวลรวมแล้วนี่ เห็นมั้ยว่าการภาวนานี่ไม่ใช่ของยาก ทุกคนมีอุปกรณ์อยู่แล้ว ใช้ไม่เป็นเท่านั้นเอง ...ครูบาอาจารย์ก็มาสอนให้รู้จักใช้อุปกรณ์ให้เป็น ว่าอันนี้ควรทำอย่างนี้ อันนั้นควรทำอย่างนั้น 

น้ำปลาไว้ใส่เมื่อต้องการเค็ม น้ำตาลก็ใส่เมื่อต้องการหวาน ไม่ใช่ว่าใช้ผิดที่ผิดทาง  มันไม่ถูกที่ไม่ถูกทางรสชาติก็ไม่เป็นสัปปะรด ผลของการภาวนามันก็ไม่เป็นสัปปะรดขึ้นมา 

เพราะว่ามันใช้เครื่องปรุงเครื่องประกอบนี่ไม่ถูก ใช้ไม่เป็น ใช้แบบครูพักลักจำบ้าง คิดเอาเองบ้าง หรือไปคาดคะเนเอาเอง หรือว่าไปฟังจากคนที่ไม่ได้เป็นพ่อครัวจริง แต่เสกสรรปั้นแต่งตัวเองเป็นพ่อครัวหัวป่าก์ 

รสชาติออกมามันก็ผิดมนุษย์มนาไป ผิดประหลาดมหัศจรรย์ไป แปลกประหลาดไปแบบคนเขากินกันไม่ได้ มันก็กินได้เป็นหมู่พวกกันเองเท่านั้นเอง

แต่ว่าธรรมนี่ต้องเป็นรสชาติเดียวกัน รสชาติเหมือนกัน ... ถ้าเป็นเกลือก็ต้องเค็ม หมายความว่าเกลือที่ไหนก็ต้องเค็ม มันรสชาติเดียวกัน 

พระพุทธเจ้าถึงเปรียบว่า ธรรมนี่เป็นหนึ่งนะ ธรรมนี่เหมือนกับน้ำในมหาสมุทร น้ำทุกหยดต้องลงมหาสมุทร อย่างนั้นเอง 

แล้วในมหาสมุทรนั้นน่ะ ไม่ว่าจะเป็นของเน่า ของเสีย ของสวย ของงาม ของบูด ของดี ของไม่ดี ทุกอย่างจะถูกมหาสมุทรพัดเกยตื้นหมด 

มหาสมุทรคือมหาสมุทรแห่งใจ ไม่มีอะไรเจือปน แอบแฝงอยู่ในใจนั้นอีก ต้องคัดกรองออกจนหมดจนสิ้นนั่นเอง 

ธรรมต้องมีรสชาติเช่นนั้นเช่นเดียว ไม่ใช่ว่า บางเจ้าเค็ม บางเจ้าหวาน บางเจ้าปะแล่มๆ บางเจ้าหวานเจี๊ยบ อะไรอย่างนั้น มันทำไมถึงเกิดความแตกต่างของรสชาติแห่งพระธรรมได้

ตราบใดที่ยังไม่หยั่งเข้าไปจนถึงรสชาติของศีลที่แท้จริง ยังไม่หยั่งถึงรสชาติของสมาธิที่แท้จริง รสชาติของปัญญาที่แท้จริง มันจะไม่เข้าไปถึงรสชาติของธรรมที่แท้จริง 

เห็นมั้ย รสชาติมันมีหลายรสชาติ แค่ศีลก็มีหลายรส แค่สมาธินี่ก็มีตั้งหลายรสชาติ สงบบ้าง สงบขั้นละเอียดประณีต ขั้นอย่างนู้นขั้นอย่างนี้ แบบนิ่งเหมือนไม่ไหวติงไม่ขยับเขยื้อน ฟ้าผ่ายังไม่รู้สึก 

เห็นมั้ยความสงบนี่มันก็มีหลายรสชาติเลย ...แต่สงบของสัมมาสมาธิล่ะ สงบคือต้องรสชาติของสัมมาสมาธิ 

ทุกอย่างนี่จะเป็นตัวตัดสินเองว่า ที่พระพุทธเจ้าว่า ตรงต่อศีล ตรงต่อสมาธิ ตรงต่อปัญญา ตรงต่อมรรคผลและนิพพานนั้น อย่างไรจึงเรียกว่าเป็นรสชาติที่แท้จริงของศีลสมาธิปัญญา 

เพื่อให้เกิดรสชาติที่กลมกล่อมของธรรมที่เป็นกลาง ที่เป็นความบริสุทธิ์ ที่เป็นความพอดี ที่เป็นความที่ว่าไม่ขาดและเกิน นั่นแหละ

เพราะนั้นถ้าพระอรหันต์ พระอริยะ ท่านเข้าไปตรงต่อรสชาติของศีลสมาธิปัญญาเมื่อไหร่ รสชาติธรรมจะเป็นรสชาติเดียวกัน ...ต่อให้เดินด้วยวิธีการใดก็ตาม การพูดการคุยจะไม่ขัดแย้งกันเลยในเรื่องของธรรม 

แต่ความเห็นในโลก ความเห็นในการใช้ชีวิต ในการประกอบกระทำกิจกรรม พฤติกรรมทางกายวาจานี่ไม่เหมือนกัน ผิดกันได้ เถียงกันยังได้เลย ไม่มีปัญหา แต่รสชาติของธรรมนี่เป็นเนื้อเดียวกัน เป็นรสชาติเดียวกัน

พอเข้าถึงธรรม พูดถึงเรื่องธรรม รสชาติของธรรมแล้วนี่ ทุกอย่างสลายหมด ทุกอย่างเป็นแค่สมมุติเท่านั้น แล้วก็อุปนิสัยแล้วก็วาสนา ...แต่ถ้าพูดถึงธรรมแล้ว จบ จบเลย ปิดฉากเลย

เพราะนั้นท่านง่าย โลกก็ง่าย ธรรมก็ง่าย เห็นมั้ย มีปัญหาขนาดไหน เอาธรรมเป็นที่สรุปแล้วจบหมดเลย ภายนอกก็จบ ภายในก็จบ สงบนิ่งเป็นกลาง เหมือนเดิม เท่านั้นเอง

เอาแล้ว พูดซะยืดยาว ก็แค่รู้ตัวนั่นเอง

กายเดียวใจเดียว ...ตัตถะๆ วิปัสสติ ที่นี้ที่เดียว วิปัสสติจึงจะเกิดขึ้น วิแปลว่าแจ้ง ปัสสติ รู้ตัวซ้ำซาก ย้ำๆ ลงไปจนเกิดความชัดเจน นั่นแหละเรียกว่า ตัตถะๆ วิปัสสติ ขึ้น ณ ที่นี้ กายใจนี้ ที่เดียว 

ก็บังเกิดผล คือความหลุดพ้นจากขันธ์และโลก นั่นก็คือผล หลุดพ้นออกจากอุปาทานทุกข์ ...ซึ่งไม่ใช่หลุดพ้นจากทุกขสัจ นั่นจะหลุดพ้นต่อเมื่อเหตุปัจจัยนั้นจบอีกทีนึง

มันก็จะเข้าใจแล้วก็ยอมรับกับทุกขสัจ ...แต่ไม่ยอมรับทุกข์อุปาทาน หมายความว่าไม่ยอมให้ทุกข์อุปาทานนั้นเกิดขึ้นด้วยความไม่รู้อีกต่อไป ...ท่านจึงข้ามพ้นทุกข์ด้วยประการฉะนี้ 

ส่วนทุกขสัจท่านจะไปข้ามต่อเมื่อหมดอายุขัยอีกทีนึง ขันธ์ห้าก็หมดวาระตรงนั้น จิตก็หมดภาระตรงนั้น ใจก็หมด คืนสู่สภาวะที่จะต้องมาจำอยู่กับวิบากขันธ์โดยปริยาย 

มันก็หมดความเกาะกุมได้อีก เป็นอิสระร้อยเปอร์เซ็นต์ 

แต่ก็เป็นอิสระ99.99 เปอร์เซ็นต์ตั้งแต่ท่านเข้าใจหมดแล้ว ...เหลืออีกจุดหนึ่งเปอร์เซ็นต์ก็คือวิบากยังต้องเสวยขันธ์นี้อยู่เท่านั้นเอง 

เอ้า ...ไปทำกัน


.....................................

     

วันอังคารที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 9/14



พระอาจารย์
9/14 (551128A)
28 พฤศจิกายน 2555



พระอาจารย์ –  แต่ละคนก็มีจริตไม่เหมือนกัน ญาติโยมก็จริตไม่เหมือนกัน ถูกใจยังไงก็เลือกเอา ...ทางนอกก็มีหลายทาง ทางบำเพ็ญน่ะมีหลายทาง  แต่ว่าทางมรรคมีทางเดียว เส้นทางสายเอกน่ะมีทางเดียว 

แต่ว่าทางของการบำเพ็ญบารมี การบำเพ็ญบุญ การดำรงชีวิต วิถีชีวิต ...มันมีหลายเส้นทาง มากมายจนเหลือคณา เกิดตายมาหลายล้านๆ ชาติ ยังไม่จบไม่สิ้น เพราะว่ามันมีหลากหลายเส้นทางมาก

บารมีเติมเท่าไหร่ก็ไม่เต็มหรอก ทำไป จนกว่ามันจะหยุด มันก็พอ ... หยุดเมื่อไหร่ก็พอเมื่อนั้น  หยุดที่จิต หยุดที่ใจ หยุดที่กาย หยุดที่ปัจจุบันน่ะ ...มันก็เต็มอยู่ที่นี้ บารมีมันก็เต็มหมด ไม่ขาด ไม่เกิน ...พอดี 

ทุกอย่างมันพอดีลงที่ปัจจุบัน พอดีอยู่ที่กายใจปัจจุบัน ขันธ์ปัจจุบัน ...ไม่มีขันธ์อดีต ไม่มีขันธ์อนาคต ไม่มีรูป เสียง กลิ่น รส ...ไม่มีอดีต ไม่มีอนาคต ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส 

อุปาทานขันธ์มันก็ไม่เกิดขึ้นได้ ขันธ์หลอกขันธ์ไม่จริง จิตหลอกจิตไม่จริง มันก็เกิดไม่ได้ ...เพราะมันมีรูปแค่ปัจจุบัน เสียงแค่ปัจจุบัน ไม่มีอดีตอนาคตของรูปของเสียงที่เห็นที่ได้ยิน 

ทุกอย่างมันก็จบลงที่นั้นแหละ ... จะดีจะร้าย จะถูกจะผิด จะควรจะไม่ควร จะใช่จะไม่ใช่ ...มันก็จบลงที่ตรงนั้น...ปัจจุบัน...ไม่ไปจบที่อื่น

มีแต่จิตที่ไม่มีปัญญา หรือจิตผู้ไม่รู้นี่แหละ มันไม่ยอมจบ ไม่ยอมให้จบ ...มันจะไปหาทางจบในอดีตบ้าง หาทางจบในอนาคตบ้าง 

"เมื่อไหร่จะจบ เมื่อไหร่จะพอดี เมื่อไหร่จะหยุด เมื่อไหร่จะมาก เมื่อไหร่จะน้อย เมื่อไหร่จะเกิดขึ้นอีก" 

นี่ จิตมันก็ไปหาอุปาทานขันธ์ สร้างอุปาทานขันธ์ขึ้นมา หลอกล่อ ล่อหลอก ไปตามความไม่รู้ของมันนั่นแหละ ...เกิดตายจึงไม่จบไม่สิ้น เพราะอุปาทานขันธ์

ถ้าขันธ์ปัจจุบัน ขันธ์ตามความเป็นจริงแล้ว มันก็จบอยู่ในชาติเดียว เกิด รอวันตายไป ... ตายเมื่อไหร่ก็จบตรงนั้น ...สำหรับผู้มีปัญญาก็จบไปพร้อมกับจิต 

มันก็จบไปพร้อมกับความเข้าใจ มันก็จบไปพร้อมกับความไม่ลังเลสงสัย ในการหมดไปสิ้นไปของขันธ์ ว่ามันเป็นเช่นนี้ มันต้องเป็นอย่างนี้ มันไม่เป็นอย่างอื่น 

มันไม่เป็นอย่างที่เป็นในอดีต มันไม่เป็นอย่างที่จิตมันเคยสร้าง หรือมันเข้าใจว่าจะต้องเป็นในอนาคต ... มันเป็นเท่านี้ มันพอดีกันหมด 

ถึงบอกว่ามันต้องมาจบลงในปัจจุบันให้ได้ ...ถ้าไม่สำรวมจิต ถ้าไม่สำรวมกายวาจาอยู่กับปัจจุบันแล้วนี่ มันจะไม่เข้าใจขันธ์ที่มีที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน 

ระหว่างเท่าทันอาการทางจิตน่ะ  อย่าไปเผลอเพลินกับมัน อย่าไปตามมัน อย่าไปจริงจังกับมัน อย่าเอามาเป็นธุระ อย่าเอามาเป็นอารมณ์ 

พอให้เห็นว่ามันมี พอให้เห็นว่ามันปรากฏขึ้น พอให้เห็นว่ามันยังอยู่ มันยังตั้งอยู่ มันยังไม่ดับ ...พอให้เห็นแค่นั้น อย่าไปวุ่นวี่วุ่นวาย จริงจัง จดจ่อ

ผูกกับกายปัจจุบันไว้ให้ดี แยบคายให้ดีในความเป็นกาย ...จนมันเห็น จนมันเข้าใจ จนมันแจ้งในกาย ว่ามันเป็นแค่ก้อนทุกข์ มันเป็นแค่กองทุกข์ 

ไม่ใช่กาย ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่คน ไม่ใช่ชาย ไม่ใช่หญิง ไม่ใช่ดี ไม่ใช่ไม่ดี ...มันเป็นก้อน กองทุกข์ ก้อนทุกข์กองทุกข์ ก้อนธาตุกองธาตุ ก้อนธรรมกองธรรม 

ไม่มีค่างวด ไม่มีราคา ไม่มีคุณค่าในความหมายในความเห็นของจิต  เนี่ย มันเห็น มันแจ้งในกาย ...ไม่มีเรา ไม่มีของเรา ในก้อนธาตุ ในก้อนทุกข์นี้

กายเป็นก้อนทุกข์กองทุกข์ มันอยู่ด้วยภาวะที่ทนทุกข์ในตัวของมันเองอยู่ตลอด ...การขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว การแปรเปลี่ยนของอิริยาบถ การเกิดความรู้สึกแปรปรวนไปมา พวกนี้ มันเป็นภาวะทุกข์บีบคั้น 

ขยับเขยื้อนเพื่อให้เกิดความสุขขึ้นมาทดแทนทุกข์ที่เริ่มก่อตัว แสดงตัว ...ด้วยความไม่รู้ตัวว่ามันทำไมถึงต้องเคลื่อน ถึงต้องขยับ ทำไมถึงต้องเปลี่ยนอิริยาบถ ทำไมถึงต้องเดิน ทำไมถึงต้องยืน

เพราะทุกข์มันบีบคั้นในตัวของมัน แสดงความเป็นก้อนทุกข์ของมัน ...การเปลี่ยนอิริยาบถจึงเป็นการผ่อนคลายทุกข์เป็นคราวๆ ไป ...ไม่ใช่ว่ามันเป็นก้อนสุขกองสุข 

มันถูกทุกข์นี่บีบบังคับให้เกิดการต้องบริหารกายอยู่เสมอ เพื่อทำความสมดุล...พอให้ทุเลา พอให้มันเบาบางไป เพื่อความสืบเนื่องของขันธ์เท่านั้นเอง

มอง รู้ ดูมัน สังเกตมัน แยบคายกับมัน...เป็นงานหลัก เป็นวิถีแห่งสติสมาธิปัญญา เป็นวิถีแห่งมรรค ...พยายามให้อยู่ในร่องในรอย ในครรลองนี้ อย่าให้มันออกไปนอกร่องนอกรอยนี้ ครรลองนี้  มันก็จะตรงต่อองค์มรรค 

ส่วนที่มันจะชักจูงชักนำให้ออกนอกครรลองนี้ ก็มีรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ภายนอก มันก็มีจิตปรุงแต่งเป็นความคิดความเห็น เป็นอดีต-อนาคต เป็นอารมณ์ ความรู้สึก ...พวกนี้เป็นสิ่งที่มันจะชักจูงออกนอกครรลองนี้

ก็พยายามเท่าทัน อย่าให้มันแตกออกไปจากกายใจปัจจุบัน ... แม้จะไม่รู้ จะไม่เห็น จะไม่แจ้ง จะไม่ชัดขนาดไหน ...ก็ซ้ำซากลงไป อย่าเบื่อ อย่าหน่าย อย่าเบือนหน้าหนี อย่าท้อ อย่าอิดหนาระอาใจ 

ซ้ำซากลงไปในที่อันเดิม ในที่เดียว ในที่นี้ ณ ที่นี้ที่เดียว ทุกอย่างก็จะจบอยู่ในที่นี้ที่เดียว ...แล้วก็จะเห็นความเป็นจริงว่ามันจบจริงๆ ในปัจจุบันนี้ ...ทุกอย่าง 

รูปที่เห็นก็จบตรงนี้  เสียงที่ได้ยินก็จบที่นี้ เดี๋ยวนี้  กลิ่นที่ปรากฏ ได้กลิ่น ก็จบลงที่นี้ ...เมื่อมันหมดเหตุปัจจัยของรูปเสียงกลิ่นรสที่กระทบ...ทุกอย่างก็จบ

แล้วก็มาสังเกตดู เท่าทันต่อ  ...ว่าทำไมถึงยังไม่จบ มันเพราะอะไร มันเป็นอะไร มันเป็นตัวไหน...ที่ไม่ยอมจบ มันไม่ยอมให้จบ  

หรือหลงไปกับอดีต หลงไปกับสัญญา หลงไปกับความคิดความปรุงไปข้างหน้า พวกนี้ ...ให้มันเห็น ไอ้ที่มันไม่จบเพราะอะไร ไอ้ที่มันต่อเนื่องไปเพราะอะไร 

ก็ให้สังเกตให้เข้าใจ จนละ จนวาง ...เหตุที่ไม่ยอมให้จบด้วยความไม่รู้ มาจากจิต มาจากความอยาก มาจากความไม่อยาก ที่มันไม่พอแค่รูปแค่เสียงที่มันเกิดอยู่ ดับไปในปัจจุบัน 

ศึกษาสำเหนียก ซ้ำซากเช่นนี้  มันก็จะค่อยๆ เข้าใจ ค่อยๆ จางคลายจากความที่ไม่ยอมจบไม่ยอมสิ้นสักที ...จิตมันก็จะรวมเป็นหนึ่งได้มั่นคงขึ้นในปัจจุบัน ตั้งมั่น แน่วแน่ อยู่กับปัจจุบัน 

อดีตอนาคตก็เริ่มจางคลายไป เวล่ำเวลาก็ไม่ค่อยมี ...เพราะจิตมันสร้างเวลาไม่ได้ มันถูกรวมด้วยศีลสมาธิปัญญาเป็นหนึ่งอยู่ในปัจจุบัน

ก็เพียรรักษา ประคับประคองศีลสมาธิปัญญาภายในของตัวเองไว้ เหมือนกับเป็นเสบียงกรังในองค์มรรค 

แต่ถ้าออกนอกศีลสมาธิปัญญา มันก็จะมีความอยากความไม่อยากเป็นเสบียงกรัง มีตัณหาอุปาทานเป็นเสบียงกรัง ให้เดิน ให้ท่องไปในสามโลกธาตุ ให้ท่องไปวนเวียนไปมาในวัฏสงสาร

แต่ถ้าอยู่ในมรรค มีศีลสมาธิปัญญาเป็นเสบียง เป็นกำลัง เป็นกองหนุน เป็นสิ่งที่คอยค้ำจุนให้ผู้ปฏิบัติผู้ภาวนานั้นสำเร็จงานในมรรค

เพราะนั้นคำว่าศีลสมาธิปัญญา มันก็เป็นแค่คำพูดที่แบ่งกันขึ้นมาโดยสมมุติโดยบัญญัติเท่านั้น ... โดยภาคของการปฏิบัติ ศีลสมาธิปัญญาก็รวมอยู่ที่แค่คำว่า “รู้ตัว” 

แค่รู้ตัว ทำความรู้ตัวในปัจจุบัน รู้คือรู้ ตัวคือตัว มีอยู่แค่นี้ ...สองอย่าง สองสภาวะ สองสภาพธรรม สองความเป็นจริง ตัวก็จริง รู้ก็จริง ของจริง

เพราะนั้นเมื่อรู้กับของที่จริง เรียกว่า "รู้จริง"  เพราะว่าตัวเป็นตัวจริง ตัวปัจจุบันเป็นตัวที่มีอยู่จริง ปรากฏอยู่จริง  รู้ที่กำหนด รู้ที่มีสติคอยกำกับเพื่อให้กลับมารู้ตัวนี่ จึงเป็นรู้ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง เรียกว่ารู้จริง

ธรรมชาติธรรมดาของคนโดยทั่วไป มันไม่ค่อยรู้จริง ...มันมีแต่รู้จำ มันมีแต่รู้คิด มันมีแต่รู้ไปมา มันมีแต่รู้ไปในอดีต มันมีแต่รู้ไปในอนาคต มันมีแต่รู้ไปตามตำรับตำรา 

มันมีแต่รู้ไปไม่จบไม่สิ้น ไม่ยั้งไม่หยุด ...เป็นความรู้ที่ไม่เป็นไปเพื่อเกิดมรรคผลและนิพพาน เพราะมันไม่ใช่ความรู้จริง ไม่ได้รู้ตามจริง ไม่ได้รู้สิ่งที่เป็นจริง มีอยู่จริง

เพราะนั้นการที่รู้จริง ก็คือต้องรู้ที่ตัว รู้อยู่กับตัว ...ตัวก็เป็นตัวปัจจุบัน ตัวคนอื่นก็ไม่ใช่ ตัวเราในอดีตก็ไม่ใช่ ตัวเราในอนาคตก็ไม่ใช่ 

ตัวเราในปัจจุบันนั่นแหละ ย้ำๆ ลงไป ...จนมันแยกระหว่าง “ตัวเรา” กับ “ตัว” เฉยๆ ...ว่ามันเป็นคนละตัวกันอย่างไร ... "ตัวเรา" มาจากไหน

มันก็เกิดความแยกธาตุแยกขันธ์ ...แยก จำแนก ธาตุสี่ ขันธ์ห้า อายตนะหก ผัสสะหก ออกจากกัน จนไม่เป็นเนื้ออันเดียวกัน 

มันก็จะเห็นขันธ์ห้าร่องแร่ง รุ่งริ่ง ปุๆ ปะๆ สลับสับเปลี่ยนไปมา ไม่เป็นชิ้นไม่เป็นอัน ไม่เป็นแก่นไม่เป็นสาร ไม่เป็นสาระ ไม่เป็นสัตว์ ไม่เป็นบุคคล ไม่เป็นใคร ไม่เป็นของใคร 

เป็นเพียงแค่อาการเกิดดับ เป็นหย่อมๆๆๆ นั้นบ้างนี้บ้าง ตรงนั้นบ้างตรงนี้บ้าง กระจัดกระจายทั่วไป

ความหมายมั่น ความยึดมั่นในขันธ์ ทั้งในอดีต ทั้งในอนาคต ทั้งในปัจจุบัน ก็ค่อยๆ ลดน้อยถอยลงไป ด้วยกำลังของศีลสมาธิปัญญานี้เอง ไม่ใช่ด้วยความอยากหรือความไม่อยาก 

แต่มันด้วยศีลสมาธิและปัญญา ด้วยการที่เพียรอยู่ในศีลสมาธิปัญญา ด้วยความต่อเนื่อง ด้วยความเป็นกลาง ด้วยความตั้งมั่น ด้วยความเข้าใจ ด้วยการรู้อยู่ในที่อันเดียว พวกนี้ เป็นมรรค

ทำให้มาก ทำให้ต่อเนื่อง ...อย่าเบื่อ อย่าเบื่อที่ทำซ้ำๆ อย่าเบื่อที่ทำอย่างเดียว อย่าเบื่อ อย่าท้อ อย่าไปหลายใจหลายมือ อย่าไปหลายจิตหลายใจ อย่าไปหลายวิธีการ อย่าไปหลายความเห็น

อย่าไปหลายความคิด อย่าไปตามความคิดพวกนี้ ...จิตก็จะค่อยๆ มีความสำรวมระวังในตัวของมันเอง มีความหยุด มีความยั้งในตัวของมันเองได้

คิดไปไกล คิดไปนาน มันก็เกิดการรู้ ...ระลึก เท่าทัน แล้วก็หยุด กลับมารู้ตัว เป็นพื้น เป็นหลัก เป็นฐาน มันก็เกิดความตั้งมั่นแนบแน่นกับองค์มรรค ...มรรคก็จะยิ่งชัดเจน

มรรคอันใด ผลอันนั้น ... ผลอันใดก็เข้าไปสนับสนุนมรรคองค์นั้นต่อ เป็นความเนื้อหนึ่งใจเดียวกัน ประสานกันอยู่อย่างนี้ ...เป็นมรรคสมังคี

ผลที่ได้ก็เป็นมรรคจิตมรรคญาณ ... ละรูปละนาม เพิกรูปถอนนาม ทำลายรูปทำลายนามไป 

จากความไม่รู้ที่มันเข้าไปจริงจัง ไปกอบโกย ไปหมายครอง ไปยึดถือ ไปเหนี่ยวรั้ง ไปผลักไปดึง ...อะไรพวกนี้เกิดจากความไม่รู้ทั้งสิ้น มันจึงมีอาการเหล่านี้ตามมา

เมื่อมีอาการเหล่านี้ตามมา ผลของมันก็คือ ทุกข์-สุข สุข-ทุกข์  หมุนเวียนสลับกัน ... โดยมีทุกข์เป็นรากฐานของมัน สุดท้ายสุขแทบจะไม่มีเลย มีแต่ทุกข์...กับทุกข์...กับทุกข์ เท่านั้นเอง 

มีแต่เรื่อง ...ไม่มีคำว่าจบเรื่อง หมดเรื่อง สิ้นเรื่อง  หมดเรื่องนี้ก็มีเรื่องนั้น หมดเรื่องนั้นก็มีเรื่องนี้ หมดคนนั้นเรื่องคนนั้นก็มีเรื่องคนนี้ หมดเรื่องของเราตรงนี้เดี๋ยวก็มีเรื่องของเราตรงนั้น 

วนเวียนๆ น่าเบื่อหน่าย ไม่มีสาระ ... แต่ก็...ถ้าไม่มีปัญญาก็ไม่รู้จะหยุดยังไง จะออกจากมันได้อย่างไร จะอยู่เหนือมันอย่างไร จะไม่ตามมันอย่างไร 

ก็ต้องฝึก ก็ต้องดัดจริต ดัดจิต อบรมจิต ควบคุมจิต ระวังจิต เท่าทันจิต ...รักษาจิตรู้ รักษาจิตเห็น ละจิตที่โลดแล่นไปมา ละอดีต วางอนาคต อยู่กับปัจจุบัน อย่างนี้ จนมันเกิดกำลังในตัวของมันเอง

ด้วยแรงสนับสนุนของศีลสมาธิปัญญา มันจะมีกำลังในตัวของมันเอง เมื่อมันเกิด...บังเกิดผลมากขึ้น เข้าใจมากขึ้น ผลมากขึ้น 

ความทุกข์น้อยลง ...เอาตัวทุกข์ที่น้อยลงนั่นแหละเป็นตัววัดผล ไม่ต้องไปเอาบัญญัติ ไม่ต้องไปเอาสมมุติ ไม่ต้องไปเอาตำรา เป็นตัววัด

แต่เอาตัวทุกข์นี่ ที่ทุกข์จากการเห็น ทุกข์จากการคิด ทุกข์จากการได้ยิน ทุกข์จากอารมณ์ ทุกข์จากความซ้ำซากในความคิด ทุกข์จากการซ้ำซากในสัญญาความจำ มันน้อยลงมั้ย มันจางคลายลงไปมั้ย 

ทุกข์จากความสงสัยลังเล ทุกข์จากความไม่อิ่มไม่เต็มไม่พอ ทุกข์จากความทะยานอยาก ทั้งในทางโลกและทางธรรมน่ะ ให้สังเกตดูว่ามันน้อยลงมั้ย 

ถ้าน้อยลงก็แปลว่าเป็นผลของมรรค ผลของศีลสมาธิปัญญาที่ตรง ...ไม่ใช่ข้างๆ คูๆ ไม่ใช่ลูบๆ คลำๆ แต่มันตรง ...ถ้ามันตรง ผลก็จะเกิดว่าทุกข์ก็จะน้อยลง

ส่วนทุกขสัจก็มีเท่าเดิม มีความแปรปรวนไปมา มีความไม่คงอยู่ในตัวของมันเอง สลับไปมา เป็นเท่าเดิมของมัน เท่าที่เคยมีเคยเป็น มันไม่มีมากขึ้นหรือน้อยลง มันไม่มีที่มันดีขึ้นเลวลง มันก็เป็นของมันอยู่เป็นธรรมดาอย่างนั้น

แต่คำว่าทุกข์ที่น้อยลง ...คือทุกข์ที่เกิดจากอุปาทานขันธ์ ทุกข์ที่เกิดจากอดีต ทุกข์ที่เกิดจากอนาคต ทุกข์ที่เกิดจากจิตปรุงแต่งจากความไม่มีจริง...แต่ว่าปรากฏให้มันมีดูเหมือนจริงขึ้นมา 

ทุกข์อย่างนี้จะน้อยลง ...มันเห็น ... แล้วไอ้ตัวนี้มันจะเป็นเหมือนพลังหรือกำลังที่จะให้เกิดความมุ่งมั่นในองค์มรรค ไม่ท้อถอย 

เพราะว่าขนาดทำอย่างนี้ แค่นี้ ทุกข์ยังน้อยลงแค่นี้เท่านี้ ...ถ้าเราทำให้มากขึ้นกว่านี้ ทุกข์มันจะอยู่อย่างนี้ได้อย่างไร มันจะอยู่ได้อย่างไร  นี่ มันจะถึงคำว่าหมดสิ้นได้ จริงมั้ย ...มันก็ไม่ลังเลสงสัยในองค์มรรค

เพราะตั้งแต่ภาวนามานี่ ผลไม่เคยผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปแต่ประการใด จากแต่ก่อน ... มันก็จะเข้าใจว่าไอ้ที่เราไม่ได้ผลน่ะ ...เพราะเราไม่ตรงต่อองค์มรรค 

เราไม่ตรงต่อศีล เราไม่ตรงต่อสมาธิ เราไม่ตรงต่อปัญญา ผลมันจึงลักปิดลักเปิด เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย มันก็จึงเกิดความสับสน ไม่มั่นใจ ไม่มั่นคงในวิถีแห่งการปฏิบัติ ...นี่ มันเห็นมันก็ยิ่งไม่ลังเลสงสัยมากขึ้นไป

เมื่อปฏิบัติเช่นนี้ด้วยความรู้ตัวไปอยู่สม่ำเสมอ จนมันถึงขั้นที่เรียกว่า ไม่ละไม่วาง ไม่คลาดไม่เคลื่อนจากสายตาของใจเลย ไม่ละไม่เคลื่อนจากสายตาของสติ สายตาของสมาธิปัญญาภายใน 

จนมันเต็ม จนมันเป็นเส้นตรง จนมันเป็นเหมือนสายน้ำที่ไหลรินไม่ขาดสายอยู่ภายใน จนบังเกิดเป็นร่องน้ำที่มันจะค่อยๆ แข็งแกร่งเชี่ยวกราก ...เรียกว่าความแข็งแรงขององค์มรรค ไม่มีอะไรมาตัด มาทอน มาทำลายได้  

มันจะเชื่อมกันด้วยความเหนียวแน่น เป็นเส้นตรง เส้นเดียว เส้นเอก เป็นทางเอก...หลุดพ้นจากขันธ์ เพื่อความหลุดพ้นจากขันธ์ เพื่อความหลุดพ้นจากโลก เพื่อความหลุดพ้นจากสามโลก 

เพื่อไปสู่จุดหมายปลายทาง คือจุดที่ไม่เกิดไม่ดับ ไม่มีทั้งเกิด ไม่มีทั้งดับ ไม่มีทั้งมาก ไม่มีทั้งน้อย ไม่มีทั้งสูง ไม่มีทั้งต่ำ ไม่มีการเปรียบเทียบในที่นั้น 

มันก็จะถึงที่สุด ที่จะเรียกว่าทะเลแห่งนฤพานก็ได้ ทะเลที่ปราศจากทุกข์โทษภัยใดๆ ในนั้น ... นั่นแหละเป้าหมายที่สุดของมรรค 

จากที่มันเคยว่าทำไม่ได้ ทำไม่ถึง ไม่แน่ใจในกำลังของตัวเอง ...มันก็จะเข้าใจ มั่นใจขึ้นไปตามลำดับ ความพากความเพียรก็เต็มขึ้นตามลำดับ ไม่มีเวล่ำเวลา


อ่านหนังสือแม่ชีไน้ เขาเอามาให้นี่ แม่ชีไน้...รู้จักรึเปล่า บวชมาไม่เคยนอนกลางวันเลย เห็นมั้ย นั่งสมาธิเดินจงกรม เดินจงกรมนั่งสมาธิสลับกัน งานก็ทำ เอาทุกอย่าง พอถึงเวลามาอยู่คนเดียวก็นั่งสมาธิเดินจงกรม ไม่เคยนอน 

ขนาดนั้นก็ยังติดอยู่ตั้ง 20 ปี ไปติดสมาธิอยู่ ปัญญากว่าจะเกิดได้ ...เห็นมั้ย ไม่มีครูบาอาจารย์นำ ไม่มีตำรับตำรานำ ทำไปแบบด้วยความอดทน มั่นใจ ตั้งใจว่าจะปฏิบัติอย่างเดียวเท่านั้นแหละ 

แต่สุดท้ายด้วยผลแห่งความพากความเพียร ยังงั้ยยังไงมันก็ข้ามผ่านได้หมด มันต้องหันเหมาสู่ครรลองแห่งปัญญา ครรลองแห่งอริยมรรค อริยผลจนได้น่ะ

หนังสือที่เพิ่นเขียนมาเยอะแยะ ทั้งหมดแล้วมาสรุปว่า...ฉันโดนจิตหลอกหมดเลย ทั้งหมดที่เห็นนั่น ที่เห็นว่า หลวงปู่เทพโลกอุดรก็มา ท้าวเวสสุวรรณก็มา ท้าวสักกะก็มา อะไรพวกนี้ จิตมันหลอกหมดเลย 

หลงดีใจว่าฉันเก่ง ฉันภาวนาดี ...กว่าจะมารู้ว่าทั้งหมดนี่ มันเหลือแค่ศีลสมาธิปัญญาที่รวมลงเป็นหนึ่งในปัจจุบันเท่านั้นแหละ จึงมรรคผลและนิพพานก็รวมอยู่ที่เดียวกันนั่นเอง

แต่ถ้าไม่ได้ทำถึงขนาดนั้นขนาดนี้ด้วยตัวของตัวเองแล้วนี่ ไม่มีทางที่จะหลุดพ้นออกจากวงจรของจิต ที่มันจะเสกสรรปั้นแต่งสิ่งต่างๆ นานา 

ที่ดูเหมือนจริง ดูดี ดูเป็นจริง ดูจับต้องได้ ดูมีคุณค่า ดูมีราคา ดูมีความเหนือกว่าบุคคลทั้งหลาย ดูว่าฉันเก่ง ดูว่าฉันดีได้ ...สุดท้ายก็มากลายเป็นบทละคร 

เหมือนบทละคร...ที่เขาจะสร้างสรรค์ตัวละครใดตัวละครหนึ่งผลักดันออกมา แล้วก็แต่งองค์ทรงเครื่องไป ให้ดูมีค่ามีราคาตามบัญญัติตามสมมุตินั้นๆ

ถ้าไม่เท่าทัน มันก็ดูจริงจัง ซาบซึ้งน้ำหูน้ำตาไหลไปกับสภาวะจิตปรุงแต่งนั้นๆ ...กว่าที่จะมีปัญญาเหนือมัน ฉลาดเท่าทันมัน 

ก่อนที่จะเหนือมันน่ะ จะต้องเท่าทันมันก่อน ถ้าไม่เท่าทันมันแล้วไม่มีทางเหนือมัน ...และถ้าทันแล้วไม่ตามมันนั่นแหละถึงจะเริ่มอยู่เหนือมัน พลิกขึ้นมาอยู่เหนือมัน

เมื่ออยู่เหนือมัน...มันก็ต้องมีที่อยู่  ก็จะอยู่ที่ไหนล่ะถ้าจะไม่อยู่ที่จิตถ้าไม่อยู่ที่ความคิด ...ก็ต้องมาอยู่ที่กายปัจจุบันนั่นแหละจึงจะเป็นที่อยู่ เป็นที่อยู่ของมรรค เป็นที่อยู่ของผู้ปฏิบัติ 

ไม่ว่าเพศพรรณวรรณะไหน ไม่ว่าจะฝึกมาแบบไหน ปฏิบัติวิธีการไหน กุศโลบายแบบไหน ...จะไปยืนที่อื่นไม่ได้ จะไปตั้งที่อื่นไม่ได้ นอกเหนือจากกายใจปัจจุบันนี้เอง

ทุกอย่างนอกจากกายใจ มันเป็นแค่องค์ประกอบ จะเป็นการสวดมนต์ จะเป็นการท่องบ่น จะเป็นการบริกรรม จะเป็นการคิดพิจารณา อะไรก็ตาม ...มันเป็นกุศโลบาย มันเป็นอุบาย 

แต่ถ้ายืนหยัดตั้งมั่นแน่วแน่อยู่ที่กายใจปัจจุบันแล้ว นั่นแหละ มันก็จะค่อยๆ ทิ้ง วาง สิ่งที่มันเคยพึ่งพาอาศัย

เมื่อเหลือแต่กายใจล้วนๆ กายใจปัจจุบันจริงๆ ศีลสมาธิปัญญารวมอยู่ที่กายใจนั้นจริงๆ แล้วนี่ ความหมายของคำว่า อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ก็จะซาบซึ้งตรึงใจขึ้นมาเอง

ว่า นี่แหละ ที่ท่านเรียกว่า อัตตา หิ อัตตโน นาโถ อาศัยตนนั่นแหละเป็นที่พึ่งแห่งตน  กายใครกายมัน ใจใครใจมัน จำเพาะกายจำเพาะจิตนี้เอง จึงจะเป็นหนทาง จึงจะเป็นครรลองของทางที่จะเข้าสู่ที่สุดของมรรค

ไม่อาศัยคำบริกรรม ไม่อาศัยกางตำรา ไม่อาศัยคนรอบข้าง ไม่อาศัยสถานที่ ไม่อาศัยเวลา ไม่อาศัยสถานะ ไม่อาศัยเพศ ไม่อาศัยอายุ ไม่อาศัยวรรณะ ไม่อาศัยอะไรเลย นี่ 

อาศัยกายใจของตัวเจ้าของนั่นแหละเป็นที่ตั้ง เป็นที่มุ่ง เป็นที่อยู่ เป็นที่หยั่ง เป็นที่ทำความรู้ความแจ้ง เป็นที่ทำความเพียร เป็นที่ทำความเข้าใจ เป็นที่แยบคาย ลึกซึ้งลงไป ...นี่ มรรคก็อยู่ที่นี้เอง

เพราะฉะนั้น ถ้าให้เราเปรียบ พวกโยมกับแม่ชีไน้ ...แม่ชีไน้นี่ถือว่าโอกาสน้อย เพราะเขาไม่มีคนสอนคนบอก แต่พวกเรานี่มันมีคนสอนคนบอก ตั้งแต่ครูบาอาจารย์ใดก็ตาม มันก็มีการเรียนการบอก แล้วก็มีการทำตาม 

แต่ว่าพวกเราอ่อนด้อยกว่าแม่ชีไน้...ตรงที่ความเพียรเนี่ย...เทียบไม่ติด มันเทียบไม่ได้กันเท่านั้น 

แม่ชีไน้นี่อาศัยว่าโอกาสเขาก็ไม่เอื้ออำนวย แต่ความเพียรนี่แรง ความตั้งใจมั่น ความมุ่งมั่นในการปฏิบัตินี่มันแรงกล้า ...มันก็สามารถก้าวข้ามทุกอย่างได้ ด้วยอาศัยความพากเพียร

แต่พวกเรานี่...เหตุปัจจัยเกื้อหนุน ได้ยินได้ฟัง มีสติ มีปัญญา มีทรัพย์ ไม่ต้องไปทุรนทุรายดิ้นรน มีสถานที่อยู่อาศัยพอเป็นที่สัดส่วนส่วนตัวที่จะทำความเพียรได้เต็มที่

แล้วก็ยังได้ยินได้ฟังจากคำครูบาอาจารย์ที่สอนตรงสอนชัด อธิบายได้ชัดอธิบายได้ตรงมาก็หลายองค์ มันก็สมควรที่น่าจะสำเร็จเร็วกว่า 20 ปี ...อาจจะสักเจ็ดวันก็น่าจะได้แล้ว (หัวเราะ)  

ด้วยเหตุปัจจัยที่มันเพียงพอแล้วนี่ ...แต่ว่าถ้าเอาความเพียรของแม่ชีไน้มาสักครึ่งนึงแล้วมาทำตามนี่ บอกให้เลยว่าไม่นานเท่า อย่างแม่ชีไน้ก็เป็นได้ทุกคนไป

แต่ว่าพวกเรามันด้อยตรงที่ว่าความพากเพียร หรือว่าสัมมาวายาโมนี่ มันน้อยๆ ...เพราะว่ามันมีเงื่อนไขข้ออ้างเยอะ ... แต่ถ้าเป็นอย่างแม่ชีไน้นี่ ทำงานตัดฟืนแบกน้ำทั้งวันนี่ 

ถ้าเป็นพวกเรา...ตกเย็นก็ โอ้ย ไม่ไหวแล้ว มันต้องนอน มันต้องพักผ่อน มันต้องให้มีแรงก่อนแล้วให้ร่างกายดีแล้วค่อยมาตั้งหน้าภาวนาเอาจริงเอาจัง รอให้มันหมดธุระการงานซะก่อน เห็นรึเปล่า 

อย่างแม่ชีไน้นี่ไม่ งานราษฎ์ก็ทำ งานหลวงก็ทำงาน แล้วแถมยังอยู่ในที่ๆ ไม่ใช่เป็นที่ของตัวเอง คนนั้นก็ลากไป คนนี้ก็ลากมา ...ขนาดไปไหนมาไหนท่านก็ไม่ทิ้งศีลสติสมาธิปัญญา 

แม้จะไม่ตรง แต่ท่านก็เอาตามที่ท่านเข้าใจ ว่าศีลคืออย่างนี้ๆๆ ก็เข้าใจ ก็วิรัต ก็รักษาไป ตามที่เคยเข้าใจมา ...แล้วมันก็ค่อยๆ พัฒนาขึ้น ตรงขึ้น ชัดเจนขึ้น 

เพราะความมุ่งมั่นอยู่ในศีลสมาธิปัญญาโดยความไม่ท้อถอย ไม่อ่อนข้อให้กิเลส ไม่อ่อนข้อให้ความสบาย ไม่อ่อนข้อในความมักง่าย เอาแต่ใจ เอาแต่ลำพังความอยากความไม่อยาก 

มันจึงเป็นธรรมที่มาเอื้อต่อองค์มรรค ...โดยมองดูเหมือนว่าชีวิตท่านลำบากลำบน ต้องอาศัยความลำบากลำบนนั่น  ...แต่จริงๆ น่ะมันเป็นเรื่องของกรรมวิบาก แล้วก็เป็นธรรมที่มาเกื้อหนุนสงเคราะห์

ในการที่เคยพากเพียรมาแต่อดีต มันติดมันข้องมาอย่างนี้ ...มันก็ต้องมาเจอธรรมเหล่านี้ ที่แวดล้อมตัว วิถีชีวิต วิถีการเกิด วิถีครอบครัว สถานะทางเพศ สถานะทางสังคม 

ทุกอย่างจะมาหล่อหลอมเพื่อสงเคราะห์ขัดเกลา สิ่งที่เคยทำมาด้วยความไม่รู้แต่ในอดีต แม้แต่จะเป็นการภาวนาอย่างไรแบบไหนก็ตาม ...เพื่อมาคัดกรองออกไป ให้มันตรงจนถึงที่สุด


(ต่อแทร็ก 9/15)