วันพุธที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 9/26 (2)


พระอาจารย์
9/26 (551231C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
31 ธันวาคม 2555
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 9/26  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  นั่นแหละปัญญา เข้าไปแยก ...แยก จำแนกธรรม วิจยะธรรมออก วิจยะขันธ์ออก วิจยะกิเลสออก วิจยะความไม่รู้...ออกจากสิ่งที่มาจากความรู้จริง จนมันแตกกระจัดกระจายออกไปหมด 

มันก็มารวม มาคลุม มาปิด มาบัง มาครอบงำไม่ได้ ...ก็เหลือแต่กายเดียวกับใจเดียวอยู่คู่กัน...สองสิ่ง สิ่งที่ถูกรู้กับสิ่งที่รู้...แค่นี้ มีแค่นี้...เป็นหลักเลย ...นอกนั้นก็ยังมี...อย่างมากก็แค่วูบๆ วาบๆ ผ่านไปมา 

แต่ไม่มีการเข้าไปจริงจัง ...คือไอ้อาการที่เข้าไปจริงจังกับมันนั่นแหละ ท่านเรียกว่าอุปาทาน หรือว่าความยึดมั่นถือมั่นในอุปาทาน...จะไม่มี จะไม่เข้าไปถือจริงถือจัง

เพราะฉะนั้น ถ้าดำรงเดินมาในตามลักษณะของมรรค ประกอบอยู่ในเหตุแห่งมรรคเช่นนี้ ผลจะได้อย่างนี้ ไม่ผิดเป็นอื่น จะไม่มีผลอย่างอื่นเลย เช่น เห็นผี เห็นเทวดา เห็นชาติอดีต เห็นจิตคนนั้นคนนี้...จะไม่มี

จะเห็นแต่อย่างนี้ ผลของมรรคโดยตรง มรรคนี่...ผลคือเห็นกายอย่างนี้ เห็นสักกายอย่างนี้ ...คือมันไม่มีผลแปรเป็นอื่นเลย  ยืนยัน...มาตั้งแต่พระพุทธเจ้าครั้งพุทธกาล 

และพระอริยสงฆ์ที่เป็นธรรมทายาทสืบเนื่องต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ก็ต้องเห็นอย่างนี้ ...เพราะ...นี้คือทางสายเอก นี้คือทางสายเดียว ที่จะเป็นไปสู่ความหลุดและพ้น โดยไม่หวนคืน

เพราะนั้นเหล่าพระอริยะท่านไม่หวนคืนเพราะท่านเดินอยู่ในทางนี้...ทุกองค์ ทุกท่านไป ...จึงเกิดผลเห็นผล ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีเห็นไม่เหมือนกันแต่ประการใด 

ต้องเห็นอย่างนี้...เหมือนกันหมดเลย  ต้องเรียกว่าฟันธงเลย...ว่าธรรมนี้เป็นของจริงอย่างนี้...เป็นโดยสัจจะ ไม่มีอะไรมาลบล้างได้ ไม่มีอะไรมาเปลี่ยนแปลงความเป็นสัจจะเหล่านี้ได้

ไม่มีการเปลี่ยนแปลงสัจจะของศีลสมาธิปัญญาได้ ว่าผู้ใดที่ประกอบกระทำตรงต่อสัมมาศีล สัมมาสมาธิ สัมมาญาณะแล้วนี่ ...ผลจะต้องเป็นสัจจะเช่นนี้ๆ คือนิโรธเป็นที่สุด

เบี้ยบ้ายรายทางนั้นก็เรียกว่าปัญญาญาณ คือเห็นตามความเป็นจริง ...แต่ผลคือ ทิ้ง..วาง  ทิ้ง..วาง เห็น...ทิ้ง..วางๆ  รู้...ทิ้ง รู้...วาง  มีแต่วางๆๆ วาง ว่าง...วาง ว่าง อยู่อย่างนั้น

ยิ่งเห็นยิ่งไม่จับต้อง...ดูเอา  ยิ่งรู้ยิ่งเห็น...ยิ่งเบา...ดูเอา ... หรือยิ่งรู้ยิ่งเห็น...ยิ่งจับยิ่งต้อง ยิ่งรู้ยิ่งเห็น...ยิ่งหนักยิ่งหน่วง ยิ่งรู้ยิ่งเห็น...ยิ่งมียิ่งมียิ่งเป็น...ดูเอา

อันนั้นน่ะไม่ใช่มรรค มันเป็นแม็ก ไม่ใช่มรรค ...ยิงเป็นแม็กเลย หาอยู่นั่นน่ะจิต ให้มันได้ ให้มันเป็นอะไรสักอย่าง  แล้วก็รั้งไว้ เหนี่ยวไว้ ประคองไว้ ถือไว้

ให้รู้ไว้เลย...ถ้าเกิดลักษณะอาการนี้ ให้เตือนตัวเองไว้เลยว่า รีบทิ้งซะ รีบทิ้งลักษณะอาการอย่างนี้ซะ ...อย่าไปเอามันมาเป็นมรรคเป็นผลเลย นะ 

อย่าเข้าใจว่ายิ่งได้ยิ่งเยอะ...ยิ่งดีนะ ...ในทางกลับกัน ยิ่งไม่มีอะไร  ยิ่งทิ้ง ยิ่งปล่อย...ได้เร็ว ...อันนั้นน่ะ ใช่เลย นั่นน่ะอยู่ในวิถีแห่งมรรคแล้ว

เพราะยิ่งทำยิ่งปฏิบัติ...ยิ่งไม่มีอะไร ยิ่งอยู่ในมรรคอยู่ในศีลสมาธิปัญญา ...ยิ่งไม่ได้อะไร ...ยิ่งอยู่ในศีล ยิ่งอยู่ในสมาธิที่เป็นสัมมามากขึ้นเท่าไหร่...ยิ่งหา “เรา” ไม่เจอ

นั่น ใช่เลย ตรงตามธรรม ตรงตามพระสัทธรรม ตรงตามสัจธรรม ตรงตามมรรค ...แล้วก็จะตรงต่ออริยมรรคต่อไปเรื่อยๆ

เพราะนั้นทำสัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว สัมมาสังกัปโป อยู่ในงานที่ควรแก่งาน ...ทำสติในปัจจุบันให้มาก ทำสติและเอาสติมาระลึกรู้ แล้วก็ตั้งอยู่กับกายปัจจุบันให้ต่อเนื่อง ...แค่นั้นน่ะคืองานหลัก

พอจิตมันไพล่คิด ไพล่หา ไพล่สร้างวิธีการต่างๆ ...วางไว้ วางไว้ก่อน อย่าเปลี่ยนงาน อย่าไปเชื่อว่ามีอะไรดีกว่านี้ ให้เชื่ออันนี้อันเดียวไว้ก่อน ให้เชื่อความรู้ที่เกิดจากสุตตะและจินตาตัวนี้ไว้ก่อน

แล้วทดลองก่อน ...ถือว่าเอากาย วาจา ใจของตัวเจ้าของนั่นแหละ ลงไปพิสูจน์ทราบให้ได้ก่อน ...อย่าเพิ่งเปลี่ยนมือ อย่าเพิ่งเปลี่ยนงาน ...ผลมันจะเกิดขึ้นเป็นลำดับลำดาไป 

แม้จะรู้แบบกะปริบกะปรอยแต่ไม่ออกนอกหลักนี้ ...นี่ ผลก็เกิดแล้ว...ใจเย็นขึ้น เรื่องค้างเรื่องคาน้อยลง จิตไม่ค่อยไปหาเรื่องอะไรมาเป็นภาระ ...นี่คือผลง่ายๆ เลย 

มันจะมีความรู้สึกอย่างนี้ แล้วก็มีความรู้สึกว่าทุกข์น้อยลง...คล้ายๆ จะอย่างนั้น  ไม่ค่อยเป็นทุกข์กับอะไรมากเหมือนเดิม ...เนี่ย ให้รู้สึกไว้เลย...ผลเกิดแล้ว เพราะเดินในมรรค ตามมรรค 

เอาตัวทุกข์นี่แหละเป็นตัววัด ความรู้สึกว่าเราเป็นทุกข์นี่คือตัววัด ...ถ้าอะไรทำแล้วรู้สึกว่าเราเป็นทุกข์มากขึ้น ให้รู้ไว้เลยว่าไม่ใช่...แม้จะได้ผลที่ดูเหมือนดี รู้สึกว่าดี อะไรก็ตาม

แต่ถ้ารู้สึกว่าผลนั้นๆ พาให้เกิดทุกข์ต่อเนื่องมา ...ให้รู้ไว้เลย ไม่น่าจะเอาไว้แล้ว น่าจะเริ่มเฉไฉออกจากมรรค หรือว่าอาจจะไปติดขอบของมรรค คือขอบที่ว่าเป็นด้านสุดโต่งทั้งยินดีและยินร้าย

ก็ต้องทบทวนกายใจปัจจุบัน ...เมื่อเกิดอาการรวนเร หรือว่าลังเล หรือว่าคลาดเคลื่อน รู้สึกไม่ชัดเจนไม่แน่ใจ ...ทบทวนลงมาที่ศีลนี่ ทบทวนลงที่กายปัจจุบัน สติปัจจุบัน ...นับหนึ่ง เริ่มต้นใหม่ 

ทำความชัดเจนในกายใหม่ ยืนอยู่ในหลักนี่แหละ รับรอง ไม่ผิดพลาด จะไม่เกิดการผิดพลาด เนิ่นช้า ...ถือว่าเร็วที่สุดทำได้แค่นี้  แล้วไม่มีอะไรเร็วกว่านี้แล้ว ไม่มีอะไรลัดกว่านี้แล้ว ไม่มีอะไรตรงกว่านี้แล้ว 

แต่จิตก็ยังคิดว่ามันน่าจะมีอะไรที่ตรงกว่านี้อีก มันน่าจะมีอะไรเร็วกว่านี้อีก ...อย่าไปเชื่อมัน จิตมันจะพาหลอก พาทุกข์ พาให้ไปค้นคิด พาให้ไปหาต่อ พาให้ไปสู่ความไม่จบไม่สิ้น 

ก็ต้องฉลาดเท่าทันมัน แล้วก็ละให้ได้ ละให้เป็น วางไว้ก่อน  ก็มุ่งหน้ามุ่งตาทำงานไป ...งานภายนอกก็ทำไปตามปกติ งานภายในก็ทำคู่กันไป...มีสองงาน 

มันก็เป็นภาระขึ้นมาหน่อย เพราะแต่ก่อนมันมีงานภายนอกอย่างเดียว มันก็เลยไม่เป็นภาระ  แต่พอเริ่มงานภายในขึ้นมา คือทำไปด้วยรู้ตัวไปด้วย เนี่ย มันเริ่มรู้สึกว่าเป็นภาระ

แต่ว่างานภายในเหล่านี้ที่ทำไว้นี่ มีผลที่มีคุณค่า ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า เป็นทางอันประเสริฐ จะเกิดผลอันประเสริฐ ผลอันยิ่ง ...แล้วมีวันจบ

ไอ้งานภายนอก...ที่แต่ก่อนพวกเราว่ามันสบายใจที่จะทำงานโดยที่ไม่ต้องมาคอยสังเกตดูว่ารู้ตัวรึเปล่านี่  ...ไอ้งานเหล่านั้นน่ะ มันไม่มีวันจบ

ตาย-เกิด...เกิดใหม่ ทำใหม่ มุ่งมั่นกับงานนั้นใหม่ ...อาจจะเปลี่ยนงานไป แต่ความมุ่งมั่นในงานอย่างนั้นก็ไม่มีคำว่าจบ มันต่อเนื่องไปเป็นลูกระนาด

แต่งานภายในที่ว่าทำความรู้ตัวยืนเดินนั่งนอน...ระหว่างที่ทำงานภายนอกอะไรอยู่นี่ ...ถ้าตั้งอกตั้งใจทำความต่อเนื่องไป งานนี้มีที่จบ งานนี้มีวันหยุดวันสิ้น

แล้วพระพุทธเจ้าท่านบอกว่าถ้าทำงานอย่างนี้นะ อย่างที่พระพุทธเจ้าท่านว่าไว้...๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี ...เห็นมั้ยว่าไม่ได้ยาวไกลเลย

แต่ถ้าเทียบกับงานภายนอกนี่ เกิดอีก เกิด-ตายๆๆๆ ล้านครั้ง...ก็มีงานให้ทำล้านครั้ง ...แล้วก็ในแต่ละครั้งของการเกิด ยังมีหลายงานที่จะต้องทำ

งานเลี้ยงลูก งานเลี้ยงเพื่อน งานเลี้ยงผัว งานเลี้ยงเมีย งานเลี้ยงหมา งานเลี้ยงรถราบ้านช่อง ...เห็นมั้ย มันมีงานเยอะแยะ สะเปะสะปะไปหมด

เพราะนั้นเมื่อมันเห็นแบบหยาบด้วยจินตาแล้ว ...ก็บอกว่า เอ๊อะ วางมือตรงนั้นนิด วางมือกับการมุ่งมั่นในงานภายนอกซะก่อน ...มาเร่งมือกับงานภายในตรงนี้ซะหน่อย 

ให้มันมากขึ้นหน่อย ...แล้วก็ให้มันมากกว่าหน่อย แล้วก็ให้มันมากจนถึงที่สุด ...เพราะอะไร ...เพราะไอ้งานภายนอกนี่ไม่ต้องกลัวหรอก...เดี๋ยวตายแล้วก็เกิดมาทำใหม่ได้ 

งานภายนอกนี่ไม่ต้องกลัวเลย ไม่ต้องกลัวจะไม่ได้ทำ  เดี๋ยวตายเกิด ก็ได้มาทำเหมือนเดิม ไม่ต้องกลัว ...ถ้ายังมาเกิดนะ ยังงั้ยยังไงก็ได้ทำต่อ ใช่มั้ย ไม่ต้องกลัวเลย

แต่งานภายในตรงนี้ มันกลัวว่าถ้าทำให้ต่อเนื่อง มันจะลืม มันจะเสียเวลา ...ก็เลยไปมัวเสียเวลากับการมุ่งมั่นในงานที่ไม่มีวันจบวันสิ้น ...แต่ทุกครั้งที่มันทำ มันก็คิดว่ามีวันจบอยู่ ใช่มั้ย

ก็ไม่เห็นมันจบซะที ...มีอะไรใหม่ๆ มาให้ทำต่อเรื่อยๆ ใช่มั้ย ...หมดเคสนั้นก็มีเคสนี้ หมดเรื่องนั้นก็มีเรื่องนี้ หมดปัญหาอย่างนั้นก็มีปัญหาอย่างนี้

ถึงแก้ปัญหานั้นได้ ความสุขสบายในการแก้ปัญหาได้ก็หมดไป แล้วเดี๋ยวก็มีปัญหาใหม่ขึ้นมา ...เห็นมั้ย มันต้องมีงานให้ทำตลอด อีรุงตุงนัง

แต่ถ้างานตรงนี้...มันดูเหมือนยาก เพราะมันไม่เคยทำ ไม่คุ้นเคย ไม่ชำนาญ ...แต่พอทำไปแล้วนี่ มันง่าย เพราะเป็นงานที่มีกรอบชัดเจน

แล้วมันไม่ได้ทำแบบต้องลงทุนลงแรง เสียเหงื่อ เสียเลือด เสียเนื้อ เสียน้ำตา เสียกำลัง ใช่มั้ย ...ก็แค่รู้ ก็แค่เห็น ไม่เห็นมันจะหนักหนาสาหัสอะไร

แล้วก็อยู่ในกรอบแค่นี้...กว้างคืบ ยาววา หนาศอก ...มันก็ไม่ได้กว้างใหญ่โตเท่าดอยเชียงดาว ที่จะต้องไปค้นหาหรือว่าเดินเซาะทุกอณูถึงจะรู้โดยตลอดรู้โดยรอบเขา

นี่ ก็มีแค่ก้อนนี้ กว้างคืบ ยาววา หนาศอก มันไม่ได้ว่าใหญ่โตมโหฬารอะไร ...เห็นมั้ยว่างานที่ทำมันก็ไม่ได้ยากจนเกินกำลัง

แต่มันต้องทวนอนุสัยสัญญาเดิมเท่านั้นเอง ...คือความคุ้นเคยเดิมๆ ความเชื่อแบบเดิมๆ ที่มันจะพาโลดแล่นไปมาภายนอก

นั่นแหละ เป็นข้อสอบเบื้องต้น ข้อที่มันทำให้เกิดความขี้เกียจขี้คร้าน แล้วก็ไม่ขวนขวายภายใน ไม่ขวนขวายกับงานภายใน

เพราะมันรู้สึกว่าเวลาทำงานภายนอกแล้วไม่ได้ทำงานภายในไปด้วย ทำแบบเต็มตัว ไม่พาร์ทไทม์นะ มันรู้สึกสบายดี รู้สึกว่าคล่องแคล่วดี รู้สึกว่าปลอดโปร่ง รู้สึกว่าไม่ต้องกังวล เหมือนเป็นอิสระ 

มันจะคุ้นเคยกับลักษณะอย่างนี้ คือทำอะไรก็ได้ที่มันไม่รู้ตัว มันถือว่าอิสระ ...แต่พอรู้ตัวปุ๊บ มันจะรู้สึกว่าตึงๆ แข็งๆ หรือว่ามีอะไรหน่วงๆ เหนี่ยวๆ รั้งๆ ไว้อยู่ 

มันเลยดูเหมือนเป็นงานต้องทำสองงานพร้อมกัน เลยดูเหมือนกับเป็นเรื่องลำบากขึ้นมาหน่อย

แต่การให้คุณค่าของการงานภายในนี้ ว่า เออ ถึงจะลำบากขึ้นมาหน่อย...แต่ว่าคุณค่าหรือว่าผลที่ได้นั้นน่ะมีค่ามากกว่างานภายนอกล้านๆ เท่า

แล้วคุณค่าที่สุดก็คือการไม่กลับมาหางานทำต่อไป ทั้งภายในและภายนอก มันก็จบงาน...อันนี้จบจริงๆ

แต่ไอ้งานภายนอกนี่ไม่มีวันจบ ...เกิดมายังไงๆ มันก็ต้องทำงานเลี้ยงตัวเอง เลี้ยงคนอื่น ...อยู่ดีๆ อยู่เองโดยไม่ทำอะไรเลยไม่ได้ ...การมีชีวิต การเป็นมนุษย์นี่ มันต้องมีงานภายนอกอยู่ตลอดเวลา 

แม้กระทั่งขันธ์ของตัวเองก็ต้องล้างก็ต้องเช็ด...กายนี่ เห็นมั้ย ไม่ทำงานไม่ได้ มันหยุดไม่ได้เลย ...มันไม่มีที่จบด้วย เกิดมาทุกครั้งก็จะต้องทำงานซ้ำๆ ซากๆ เหมือนเดิมเช่นนี้ 

เดี๋ยวก็หิว เดี๋ยวก็ต้องพามันไปกิน เดี๋ยวก็ต้องกินแล้วก็ต้องพามันไปถ่าย พามันไปถ่ายแล้วก็ต้องอาบน้ำ ...เห็นมั้ย แค่จำเพาะงานในขันธ์ภายในกายนี้มันก็ต้องดูแล ต้องทำ ต้องทะนุถนอม ต้องประคับประคอง

แล้วถ้ามาเกิดทุกครั้ง...ก็ต้องทำงานอย่างนี้ทุกครั้ง  แล้วยังต้องไปแสวงหาอะไรมาเพื่อเลี้ยงมัน ...ก็ต้องทำงานภายนอก ต้องติดต่อกับสัตว์บุคคล ต้องมีการข้องแวะ

ต้องข้องแวะ ต้องรับอารมณ์ ต้องรู้อารมณ์ ต้องสัมผัสกับอารมณ์ ต้องมีกิเลส ต้องสัมผัสกับกิเลสคน ...เป็นงานที่...ถ้ากิเลสขึ้นมานี่มันไม่มีคำว่าจบหรอก

เพราะความเห็นความเชื่อของมนุษย์นี่ มันเปลี่ยนได้ทุกขณะจิต  เพราะนั้นมันก็จะมีปัญหาได้ทุกขณะจิต...เหมือนกันกับเรา และเราก็พร้อมที่จะมีปัญหาทุกขณะจิตกับเขา ...เพราะนั้นมันจะไม่มีคำว่าจบ

เพราะฉะนั้น ก็หางาน ทำงานที่มันมีวันจบ ... ความรู้...รู้เดียวนั่นแหละเป็นความรู้ที่จะเข้าสู่ความจบและสิ้น เป็นความหมดจดงดงามภายในใจ

(ถามโยม) เนี่ย คราวนี้ฟังเข้าใจมั้ย


โยม –  เข้าใจตอนแรกๆ ครับ

พระอาจารย์ – (หัวเราะ) บอกแล้วว่าเข้าใจอย่างไร ทำตรงนั้น แค่นั้นแหละ ทำตามที่เราเข้าใจ จะไม่ลัดขั้นตอน


...................................




วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 9/26 (1)


พระอาจารย์
9/26 (551231C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
31 ธันวาคม 2555
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  แต่ถ้ายืนอยู่ในหลักปัจจุบัน หลักกายปัจจุบันแล้วนี่ ความเป็นผู้รู้ก็จะอยู่คู่กันกับกาย ...นั่นแหละจึงจะเป็นเหตุให้เกิดสัมมาสมาธิ จิตตั้งมั่น จิตเป็นหนึ่งและเป็นกลาง

เมื่อรู้สึก หรือสัมผัส หรือทราบเข้าไปถึงสภาวะที่ว่าจิตหนึ่ง จิตตั้งมั่น จิตเป็นกลางแล้ว ...นั่นแหละ จึงจะดำเนินขั้นปัญญาเต็มตัว

มันจะเกิดความโยนิโสในธรรมเบื้องหน้า หรือธรรมจำเพาะหน้าขึ้นได้ โดยปราศจากความคลาดเคลื่อน...ด้วยความคิด ด้วยความจำ ด้วยสมมุติ ด้วยบัญญัติ

เพราะฉะนั้น ความรู้ที่เกิดขึ้นตรงนั้นจึงเรียกว่าความรู้ตรง เรียกว่ารู้ตรง

อาศัยการรู้ตรงนั้นแหละ ความรู้ที่ตรงนั่นแหละ จึงจะเกิดความรู้แจ้ง

อาศัยความรู้ตรงรู้แจ้งนั่น มันถึงจะเรียกว่ารู้โดยตลอด โดยไม่สงสัยลังเล

อาศัยรู้แจ้ง รู้ตลอด รู้โดยไม่สงสัยในอาการที่ปรากฏเบื้องหน้ามันตลอดเวลา นี่ รู้นั้นน่ะ จึงจะเกิดเป็นวิสุทธิ แล้วก็เป็นวิมุตติ คือหลุดพ้นจากปัจจุบัน...ต่อหน้านี้

ไม่คา ไม่ข้อง ไม่ติด ไม่อัด ไม่อั้น ไม่เหนี่ยว ไม่รั้ง ไม่หน่วง ...มันก็ผ่าน ทะลุ  เรียกว่าแทงตลอด ...จิตผู้รู้ดวงนี้จะแทงตลอดทุกปัจจุบันไป ไม่มีอะไรมาขวางกั้น

แม้ว่าปัจจุบันธรรมนั้นจะดูเหมือนยิ่งใหญ่ มากมาย มีคุณค่า ละเอียดขนาดไหน ดูดีขนาดไหน ...ดวงจิตผู้รู้ที่กอปรด้วยสัมมาสมาธิและญาณทัสสนะที่เป็นญาณวิสุทธิ แทงตลอดหมด ไม่คาไม่ข้องเลย ทะลุ

นั่นน่ะเขาเรียกว่ารู้แจ้งแทงตลอดทุกปัจจุบัน ตลอดทุกๆ ปัจจุบันธรรมที่ปรากฏต่อหน้า ...จึงเรียกว่าแทงตลอดทุกปัจจุบันขณะ

ไม่มีธรรมไหนมาขวาง มากั้น มาคา หรือมาปิด มามี หรือมาเป็นได้เลย ทะลุหมด ...นั่น นัตถิ ปัญญา สมา อาภา ไม่มีอะไรสว่างเกินปัญญา แสงสว่างของปัญญาแทงตลอด

แล้วก็จะเปิด...ไล่เปิดตั้งแต่ขันธ์ห้านี้ออกไปยันสามโลกธาตุ แทงตลอดทุกปัจจุบัน ...ไม่มีอะไรมาขวางกั้น ไม่มีมาเหนียวแน่นเกินความคมกล้าของปัญญา

นี่ ไม่มีอะไรมาคมกล้ากว่าปัญญาที่ แทง ผ่าน ...นี่กระจัดกระจายหมด หาความเป็นตัวเป็นตน ของใคร ของสัตว์บุคคลใด ของตัวใครคนหนึ่งไม่ได้เลย

หาความคงอยู่ หาความเที่ยง หาความปรากฏขึ้นเป็นภพเป็นชาติ เป็นการก่อรวมที่ไม่สูญไม่สลาย...ไม่มี ...นี่ แทงทะลุ  ไร้ซึ่งสภาวะตัว ไร้ซึ่งสภาวะตนของใครคนใดคนหนึ่ง

จึงเรียกว่าหมดสิ้นซึ่งความสงสัยลังเลในที่ทั้งปวง ว่ามันมีอยู่มั้ย ยังมีอยู่อีกมั้ย ...ไม่มีอะไรมีอยู่อีกแล้ว จะไม่มีอะไรมีอีกแล้ว ...แทงหมด ทะลุหมด ไม่มีตัวตนหมด 

นี่ ไม่มีตัวตนที่แท้จริงหมด ตลอด...จนหมด จนสิ้น ...นั่นเรียกว่าเข้าสู่ความหมดจด บริบูรณ์ของปัญญา  เป็นปัญญาขั้นหมดจด เป็นวิมุตติ ...เป็นวิสุทธิก่อน แล้วจึงจะเป็นวิมุตติ

คือเป็นความบริสุทธิ์ล้วนๆ ยังคงไว้แค่ความบริสุทธิ์ล้วนๆ บริสุทธิ์กาย บริสุทธิ์ใจ บริสุทธิ์โลก บริสุทธิ์ธรรม เรียกว่าวิสุทธิธรรม วิสุทธิขันธ์ วิสุทธิจิต ...พอดีกัน

เพราะนั้นงานขั้นวิสุทธิขันธ์ วิสุทธิจิต และวิสุทธิโลก วิสุทธิธรรมนี่ เป็นงานขั้นระดับมาสเตอร์พีซน่ะ ระดับไมเคิล แอนเจโลทำนะ ไม่ใช่ตาสีตาสาแล้วนะ ...เป็นความประณีตอย่างยิ่ง

แล้วความประณีตมันจะได้มาจากไหน ...มันก็ต้องสั่งสมประสบการณ์ตามลำดับมา ตั้งแต่ ก.ไก่ ก.กา  ก.ไก่ ข.ไข่ ข.ขวด จนถึงชั้นอนุบาลหนึ่งอนุบาลสอง ป.หนึ่ง ป.สอง มัธยม

เห็นมั้ย มันเรียงมาตามลำดับ มันถึงจะพอกพูนความคมกล้าของมรรค ของศีล ของสมาธิ ของปัญญาขึ้นมาได้  

แล้วพอมาถึงขั้นนี้น่ะ เหมือนงานขั้นปริญญาเอก ...นี่ ให้เด็กอนุบาลมาวิจัยหรือทำ ความรู้มันไม่เข้าใจ จะไม่เข้าใจเลย เข้าไม่ถึงเลย ...มันคนละระดับกัน

แต่ว่ากว่าจะเป็นปริญญาเอก ก็...ปริญญาเอกนั้นก็เริ่มต้นเรียนมาจากอนุบาลเหมือนกัน ...เริ่มต้นที่เดียวกัน แต่ว่าไม่หยุดยั้งในการดำเนินไปในองค์มรรค

นี่คือการสั่งสม ที่เราบอกว่าสะสมพลังของศีล สะสมพลังของสมาธิ สะสมพลังของปัญญา ...เพราะนั้นการทำความรู้ตัวแต่ละครั้ง แต่ละขณะ...ไม่สูญเปล่านะ ...ไม่มีอะไรทำแล้วไม่ได้ผล

กุศล...ก็ได้ผลของกุศล  อกุศล...ก็ได้ผลของอกุศล  ศีลสมาธิปัญญากระทำ...ก็ได้ผลของศีลสมาธิปัญญา ...ทุกอย่างทำแล้วต้องมีผล ไม่มีอะไรทำแล้วสูญเปล่า

มีแต่จิตเท่านั้นน่ะที่มันไปเชื่อในสิ่งที่มันคิดเอาเองว่า...ไม่ได้อะไรเลย ไม่มีประโยชน์ที่จะมานั่งรู้ตัวเฉยๆ เสียเวลา ...เนี่ย จิตน่ะเป็นตัวขวางกั้นองค์มรรค...จิตผู้ไม่รู้นะ

ถ้าจิตผู้รู้นะเป็นตัวสนับสนุน ...แต่จิตผู้ไม่รู้หรือจิตอวิชชานี่ มันจะสร้างเงื่อนไขมาขวางกั้นปิดบังมรรค แล้วจะให้ไปทำอะไรๆ ที่มันนอกเหนือจากมรรค

โดยมันเข้าใจว่าอะไรๆ ที่มันทำนั้นน่ะ จะได้ผลมากกว่าการรู้ตัวอย่างนี้ ...จึงเรียกว่าจิตนั้นแหละเป็นตัวรั้ง ตัวขวางมรรค หรือการปฏิบัติอยู่ในองค์มรรค

เราถึงบอกว่าอย่าไปแตะเชียว...จิตนี่  อย่าไปเชื่อเชียว อย่าไปดู อย่าไปจดจ้อง อย่าไปเอาจริงเอาจังกับมัน ...วางไว้ เอาวางไว้ก่อน ถึงละไม่ได้ก็วางไว้ก่อน อย่าไปยุ่ง

ไอ้ที่ต้องยุ่งคืออันนี้ ก้อนนี้ ตัวนี้ ...ต้องยุ่ง ต้องดู ต้องจดจ้อง ต้องจดจ่อ ...เพราะนั้นไอ้ตัวที่จดจ้องจดจ่ออยู่ในกายนี่ ท่านเรียกว่า อาตาปี

ไอ้ตัวอาตาปีหรือว่าความเพียรเพ่งนี่ คือความหมายของคำว่าฌาน  และไอ้คำว่าฌานที่เราว่าฌานๆ กันน่ะ อาตาปี นี่เขาเรียกว่าฌานที่เป็นโลกุตระฌาน

มันจะเป็นเหตุให้เกิดความเข้าไปเรียนรู้ธรรม โลกุตรธรรม...คือธรรมที่อยู่เหนือโลก ไม่ใช่ธรรมที่อยู่ในโลก หรือที่อยู่ตามสมมุติ ตามบัญญัติ

แต่การเพียรเพ่งอยู่ในกายนี่ จะเป็นเหตุให้เกิดโลกุตระฌาน ...ไม่ใช่เพ่งแล้วให้เกิดโลกียฌานนะ เพ่งไปแล้วติดข้อง หรือว่าเกิดความรู้ ความมี ความเป็น ในเรื่องราวที่เป็นในสมมุติและบัญญัติ

แต่มันจะเป็นการเพียรเพ่งเพื่อให้เกิดความรู้แจ้ง ว่ากายนี้คือใคร กายนี้เป็นอะไร กายนี้เป็นของใคร หรือไม่ได้เป็นของใคร ...จึงเรียกว่าเป็นโลกุตระฌาน

เพราะนั้นถ้าผู้ใดไม่มีการเพียรเพ่งอยู่ในกาย สัมมาสมาธิจะไม่เกิด ...เมื่อสัมมาสมาธิไม่เกิด ปัญญาญาณก็ไม่เกิด ...จึงเรียกว่าผู้มีปัญญาต้องอยู่ด้วยความเพียรเพ่ง

และผู้ที่มีความเพียรเพ่งก็จะได้ผลคือปัญญา เรียกว่า สติมา อาตาปี สัมปชาโน นั่นเอง นี้แหละคือองค์ฌาน โลกุตระฌาน...จะมีองค์สามคือ สติมา อาตาปี สัมปชาโน

ซึ่งต่างจากองค์ฌานของโลกียฌาน มีองค์ห้า มีวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา อุเบกขา นั่นโลกียฌาน ...แต่ถ้าโลกุตระฌานนี่โดยรวมมีสาม...สติ อาตาปี สัมปชาโน

เพราะนั้นอย่าไปกลัวการเพ่ง เพ่งกาย...กายปกติ กายปัจจุบัน ...ต้องจดจ่อไว้ อยู่ในกายเดียว  ถ้าไม่จดจ่อ ถ้าไม่เพียรเพ่งอยู่ในกายเดียวนะ สมาธิมันจะตั้งได้อย่างไร จิตมันจะตั้งไม่ล้มได้อย่างไร

ก็ถ้ามันตั้งแล้วมีกายนี่คอยยึด คอยเหนี่ยว คอยประคอง ให้รู้อยู่ๆ ...มันก็ตั้งรู้ตั้งเห็นอยู่ได้ มันไม่ล้ม

แต่ถ้าไม่มีกายให้มันจดจ่อไว้เป็นหนึ่ง เป็นที่หมายของมัน มันจะล้ม ใจรู้ก็ล้ม ...ล้มก็คือหลง ล้มก็คือหาย ล้มก็คือลืม ล้มก็ลืมไปเรื่อยยย

เพราะนั้นถ้าจดจ่ออยู่ในกายอย่างนี้...ที่เรียกว่าเพียรเพ่งอยู่ในกายเดียวหรืออาตาปีนี่  ใจมันก็จะรู้ตั้งขึ้นมา

ไอ้การที่รู้ตั้งได้ต่อเนื่องยาวนานขึ้นเป็นพีเรียด เป็นหลายนาที เป็นหลายชั่วโมง เป็นหลายขณะ โดยไม่ขาด โดยไม่ล้มนี่ ...ตรงนี้จึงเรียกว่าสมาธิ จิตตั้งมั่น

แล้วมันตั้งมั่นอยู่กับหนึ่ง...หนึ่งกับกาย กายคือศีล ก็อยู่ในองค์ของมรรคโดยตรงอยู่แล้ว ...เพราะนั้นสิ่งที่มันรู้และเห็นตามมา จากผลของการที่มันตั้งมั่นอยู่กับศีล ตั้งมั่นอยู่กับกาย นั่นเรียกว่าญาณทัสสนะ

เมื่อมันตั้งมั่นดีแล้วนี่ มันไม่จำเพาะแค่กายหรอก  จิตก็เห็น ธรรมก็เห็น อารมณ์ก็เห็น ผัสสะก็เห็น เห็นหมด ...แต่เห็นแบบงั้นๆ เฉยๆ เป็นกลาง

มันเห็นด้วยความเป็นกลาง ไม่เอาอะไร ไม่หาอะไรกับมัน ไม่ยุ่ง ...อย่างนี้ จึงเรียกว่า ดูกายเห็นจิต แต่ดูจิตน่ะไม่เห็นกายนะ

แต่ถ้าดูกาย เห็นทั้งกายและเห็นทั้งจิต ...และไม่ได้แค่เห็นทั้งกายเห็นทั้งจิต แต่เห็นในสติปัฏฐานสี่เลย พร้อมกันเลย ...เรียกว่าเกิดความรู้ตัวทั่วพร้อม รู้ตลอดเห็นตลอด

แต่ถ้าดูจิตจดจ่อนี่ จะไม่เห็น...เบื้องต้นเลยที่ไม่เห็นเลยคือกาย ...ซึ่งถ้าไม่เห็นกายแล้ว...ปิดฉาก จบ จบเลยนะ จบที่ศีลแล้ว ...ถ้าศีลไม่มี ไม่มีศีล...ไม่ต้องถามมรรคผลและนิพพานนะ

เป็นไปไม่ได้เลย จบแค่นั้นแหละ ...ก็ได้แค่วูบๆ วาบๆ ...วูบๆ วาบๆ อยู่แค่นั้นแหละ ไม่รู้อะไรหรอกนอกนั้นน่ะ มีความรู้อยู่แค่นั้นแหละ

อะไรเป็นสักกาย อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ อะไรเป็นเหตุให้ดับทุกข์ ...ทุกขสัจคืออะไร ทุกข์อุปาทานคืออะไร ไม่รู้หรอก ...ก็รู้แค่นี้ว่าจิตเกิดๆ ดับๆ  อารมณ์เกิดๆ ดับๆ

ทัสสนะอยู่ที่ไหน ความรู้ชัดเห็นชัดในกองขันธ์อยู่ที่ไหน ความรู้ชัดเห็นชัดในกองโลกอยู่ที่ไหน ความรู้ชัดเห็นชัดในกองสามโลกธาตุอยู่ที่ไหน ความรู้ชัดเห็นชัดในอริยสัจสี่อยู่ที่ไหน

มันไม่เกิดความรู้รอบเห็นรอบ มันไม่สามารถจะวิจยธรรมหรือประมวลธรรมได้ ...เพราะนั้นมันก็ขาดซึ่งโพธิปักขิยธรรมทั้งหมดเลย ซึ่งเป็นองค์ธรรมแห่งการตรัสรู้

แต่ถ้าไปตามลำดับ บอกให้เลย ทุกอย่าง...เถียงไม่ได้เลย  จิตตอบได้หมดเลย ไม่ผิดเลยแม้แต่กระเบียดนิ้วหนึ่งตามปริยัติที่พระพุทธเจ้าตรัสในหลักหัวข้อธรรมเหล่านี้

ทั้งในแง่ของมหาสติปัฏฐาน ทั้งในแง่ของไตรสิกขา ทั้งในแง่ของโพธิปักขิย ทั้งในแง่ของอริยสัจสี่ ทั้งในแง่ของมรรคมีองค์แปด ทั้งในแง่ของมัชฌิมาปฏิปทา ทั้งในแง่ของการที่ว่าสุดโต่งในข้างใดข้างหนึ่ง

มันไม่มีอะไรผิดเพี้ยน หรือว่าคัดง้าง หรือขัดแย้งได้เลย  มันจะสงเคราะห์กันเป็นลูกระนาดกันเลย ...นี่ มันเข้าใจๆ ด้วยตัวของมัน เป็นปัจจัตตังเลย เถียงไม่ได้เลย

ไม่มีช่องทางให้จิตนี่มันเถียง หรือว่ามีเงื่อนไขหรือว่ารับไม่ได้ในธรรมที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสท่านบอกเลย ...เป็นธรรมที่พระพุทธเจ้าท่านแจงดีแล้วจริงๆ เป็นสวากขาตธรรมจริงๆ

มีแต่ไอ้คนทำน่ะมันไม่จริง ...เพราะทำผิดที่ มันเข้าไปทำผิดที่...ผิดจากที่ที่พระพุทธเจ้าท่านบอกให้ทำ

แล้วตัวที่พาให้ไปทำผิดที่ไหนน่ะตัวไหน ... ก็ตัวเรา...คือตัวเราเองนั่นแหละ ...ตราบใดที่ยังเอา “ตัวเรา” เป็นผู้พากระทำน่ะ เคลื่อนหมด

เพราะนั้นผู้ที่เข้าไปรักษาศีลก็คือ “สติ” ไม่ใช่ “เรา” 

สติเป็นผู้รักษาศีลให้เรา เพราะยังมี “เรา” อยู่ สติก็ไปรักษาศีลให้ "เรา" ให้เรารู้ว่ามีศีล

เพราะยังงั้ยยังไงมันต้องมี “เรา” อยู่แล้ว เพราะมันยังแยกไม่ออกระหว่าง “เรา” กับ “กาย”

และอาศัยสติที่เข้าไปรักษาให้ต่อเนื่อง นั่นแหละสมาธิเกิด ตรงนี้แหละ มันจะเข้ามาทำลายความเห็นผิดในกาย มันจะแยกออก นี่ ...เกิดวิจยะธรรม

ไม่ใช่คิดนะ ธัมมวิจยะนี่ไม่ใช่อาการคิดค้นนะ ...มันจำแนกธรรม จิตมันจะจำแนกธรรมด้วยความสังเกต ถี่ถ้วน ละเอียด รอบคอบ ลักษณะที่กลั่นกรอง ด้วยโยนิโสมนสิการ มีความแยบคาย

ตัวนี้คือวิจยะธรรม  มันก็จะกลั่นออกเป็นเลเวลๆ มันคนละตัวกันอย่างไร ...เรียกว่าแยกธาตุ แยกขันธ์ แยกอายตนะ แยกผัสสะ แยกกาย แยกใจ แยกจิต 

แยกๆๆๆ แยกอยู่ตลอด จนมันชัดเจนว่าอันไหนจริง อันไหนเท็จ  อันไหนมีอยู่จริง อันไหนมีขึ้นด้วยอำนาจของความไม่รู้ หรืออันไหนปรุงแต่งขึ้นมาเอง ...และอันไหนที่ยังไงๆ จะปรุงคิดหรือไม่คิดมันก็มี

มันก็จะเหลือแต่ที่เป็นอันจริง กายจริงก็คือกายทุกขสัจ...อันนี้จริง ...จะคิดก็มี ไม่คิดก็มี จะอยากก็มี ไม่อยากก็มี ...เออ มันไม่เหมือนไอ้สักกาย

ไอ้กายที่เป็นสักกายนี่ ...ไอ้นี่ต้องคิด ไอ้นี่ต้องใช้จิตปรุง ไอ้นี่ต้องมีความเห็น ไอ้นี่ต้องเคลื่อนออกไป หรือว่าต้องมีการหน่วง หรือว่าเจตนา หรือว่าจงใจสร้าง กำหนด ...ลึกๆ มันต้องมี

พอไอ้ตัวนี้หยุดนะ พวกนี้หายหมด ...แต่ไอ้ที่ไม่หายเลยคือ เย็นร้อนอ่อนแข็งเนี่ย ไหวนิ่งติงขยับ นี่...ยังอยู่  จะคิดก็ตาม ไม่คิดก็ตาม จะอยากหรือไม่มีความอยาก มันก็ยังมีอยู่

เนี่ย เริ่มแล้ว เริ่มชัดเจนขึ้น ในสักกายกับกายจริง มันเห็นชัดเจนขึ้น ...แล้วมันจะเชื่อกายจริงนี้มากขึ้นๆๆ ยอมรับแต่เพียงกายนี้กายเดียวมากขึ้นๆ เรื่อยๆ

มันไม่ยอมรับกายสักกายแล้ว ไม่เชื่อกายสักกาย กายปรุงแต่ง กายอดีตอนาคต กายคนอื่น ...มันเห็น นั่นมันเป็นกายแค่หลวมๆ อาการของจิตน่ะ

เหมือนกับเมฆที่ลอยไปลอยมาอย่างนี้ มันจับอะไรไม่ได้ ไม่มีสาระ ...ก็เห็นความไม่มีสาระของมันมากกว่าเดิม ...ซึ่งแต่ก่อนนี่สาระอยู่ที่มันเลยร้อยเปอร์เซ็นต์

แต่เดี๋ยวนี้เริ่มเห็นมันไม่มีสาระแล้ว เหมือนเมฆแล้ว ...ตอนแรกเหมือนดอยเชียงดาว อ้าว ที่จริงไม่ใช่ดอยเชียงดาวเว้ย มันเป็นแค่เมฆ...นี่ คนละเรื่องกันเลย


(ต่อแทร็ก 9/26  ช่วง 2)