วันศุกร์ที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 9/23 (2)


พระอาจารย์
9/23(551229D)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
29 ธันวาคม 2555
(ช่วง 2)



(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 9/23  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  แต่ถ้าเห็นจริงนี่ เห็นแจ้งแล้วนี่...อ๋อ มันเป็นอะไรอย่างหนึ่ง มันเป็นอะไรอย่างหนึ่งที่ไม่มีสัญญลักษณ์บ่งบอกแต่ประการใด

มันเป็นก้อนธาตุ มันเป็นก้อนทุกข์ มันเป็นก้อนธรรม มันเป็นก้อนแปรปรวนไปมา มันเป็นก้อนที่ไม่มีความหมายใดๆ ...นี่ มองกายให้ถึงแก่นของมัน

ก็บอกแล้วว่าถ้าผูกไว้ล่ามไว้ด้วยเชือกหรือโซ่น่ะ ...ไอ้ตัวที่ล่ามไว้ก็คือสติ ล่ามไอ้ตัวที่เป็นตัวเรานั่นแหละก็คือตัวจิต...จิตเรานั่นแหละ เอาสติมาล่ามจิตไว้กับเสาคือกาย 

แล้วคอยจดจ้องให้มันมองตรงที่นี้  เดี๋ยวมันจะเข้าใจเอง...เพราะมันมีเสาอันเดียว

ถึงมันจะว่า "เบื่อจัง ฮื้อ ไม่สวย ไม่ได้อะไร" ...เพราะมันอยากไปรู้เรื่องอื่นเหลือเกิน จิตน่ะ เพราะมันบอกว่ารู้แค่นี้ไปไหนไม่ได้ มันเชื่อของมันเอง  

แต่ถ้าแจ้งตรงนี้แล้วนี่ การเดินไปในองค์มรรคต่อจากนี้ไป...ง่าย จะเริ่มง่ายขึ้น ...คือมันเริ่มไม่สนใจเรื่องอื่นนอกตัวแล้ว 

เนี่ย ที่เราบอกว่าสองตีนมันจะเหยียบอยู่ฝั่งนี้ มันจะหยั่งอยู่ภายใน ...แล้วจะเกิดสันดานใหม่...สันดานใหม่เรียกว่านิสยปัจจโย ...ศีลสมาธิปัญญาจะเกิดนิสยปัจจโยขึ้นภายใน

เอะอะมะเทิ่งอะไรมาปุ๊บ...กลับ ไม่ได้ตั้งใจกลับ...มันกลับเอง ...อาจจะหลงเพลินด้วยโมหะเบาๆ เจือๆ จางๆ ไหลแล้วไปเจอเหตุที่เกิดขึ้นแบบฉับพลันไม่คาดฝัน...ปุ๊บ มันกลับ

จากที่ธรรมชาติของคนทั่วไปนี่...เหตุอะไรเกิดจะพุ่งออก คิด นึก  แล้วก็ตั้งท่าว่าจะปกป้องอย่างไรดี จะมีกระบวนการตอบโต้ทันทีที่มีการส่งออกเลย

แต่นี้มันจะเกิดนิสัยใหม่...พอเหตุอะไรเกิด จะดั่งคาดหรือไม่ดั่งคาด ปุ๊บ มันกลับมาเลย...รู้อยู่ที่นี่ เป็นอัตโนมัติของมันเอง ...แล้วไอ้ตัวอัตโนมัติของมันเองนี่ มันจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ จนอยู่ตัว จนอยู่กับตัว

หมายความว่าอยู่ตัวยังไง อยู่ตัวเพราะอะไร ...อยู่ตัวเพราะศีลสมาธิปัญญามันมีกำลังที่จะเลี้ยงตัวใจได้ด้วยตัวของมัน

แต่ว่าเราก็ต้องพอกพูนศีลสมาธิปัญญา จนมันมีกำลังพอที่จะเลี้ยงใจปัจจุบันจิตปัจจุบันให้อยู่ในที่ในทาง ...เรียกว่ามหาสติจึงจะเกิดขึ้น

พอถึงจุดถึงขั้นมหาสติแล้ว...ทุกอย่างง่ายหมด ไม่กลัวอะไรเลย นะ ...เจออะไรก็ได้ ไม่เจอก็ได้ แล้วทุกอย่างดีหมด ...ดียังไง ...คือกูจะได้เข้าใจ กูจะได้ละมัน

อยากเห็น ...เคยรู้สึกอย่างไร เคยมีอารมณ์อะไร อยากให้เห็นอาการของมัน จะได้ชำระๆๆ ...การเห็นทุกครั้งในมหาสตินี่คือการชำระหมดเลย เป็นการล้าง

เหมือนกับซักฟอกไอ้ที่มันห่อหุ้มน่ะ มันจะได้บาง ...ถ้ามันไม่มีอะไรมาซัก ไม่มีอะไรมากระทบ มันรู้สึกว่ามันไม่ได้ทำงาน มันเหมือนมีงาน หางานทำอยู่ตลอด หรือว่ามีงานให้ทำอยู่ตลอดยิ่งดี

ซึ่งแต่ก่อน ไม่อยากเจอเรื่อง ไม่อยากมีเรื่อง ไม่อยากให้จิตมีอารมณ์ ไม่อยากให้จิตเกิดอะไรอย่างนี้ ...แต่ตอนนี้อะไรก็ได้มาเถอะ มันหมุนเป็นจักรผันเลย

เพราะอะไร ...เพราะยิ่งไว ยิ่งเร็ว ยิ่งหมดภาระได้เร็ว ยิ่งล้างตัวมันเองออก ล้างตัวที่ครอบงำใจได้เร็วขึ้น ...เพราะนั้นจะไม่กลัวอะไรเลย เผชิญกับทุกสิ่งด้วยความตั้งมั่น องอาจ อาจหาญ เป็นกลาง

ตั้งมั่นสู้ด้วยความเป็นกลาง...ไม่ได้สู้ด้วยการเอาชนะอะไรเลย ...เป็นกลางอยู่กับมัน ด้วยความไม่หวั่นไหว แล้วทุกอย่างก็เป็นไปตามธรรมโดยสมควรแก่ธรรม จนที่สุดของธรรม นั่นแหละแจ้ง...โลกวิทู คือแจ้งหมด

เพราะนั้นว่าพวกเรานี่ ที่ขาดคือศีลกับสมาธิ  ปัญญามีเล็กๆ น้อยๆ พอกระเส็นกระสาย ...อย่าไปมุ่งกับมันมาก แล้วมันจะมากขึ้นมาเองเมื่อศีลเรามาก..สมาธิเรามาก

ถ้ารู้ตัวได้นาน รู้ตัวได้ต่อเนื่อง ให้สังเกตดู จิตจะผ่องใส ทุกอย่างจะชัดเจน การไปการมาโดยที่ไม่อาลัยอาวรณ์ ...ตรงนั้นน่ะปัญญาเกิดขึ้นแล้ว เพราะมันชัดเจนในความไม่มีตัวตนของสิ่งนั้นๆ

เพราะนั้นมันจะเห็นความเป็นไตรลักษณ์ และยอมรับความเป็นไตรลักษณ์ในตัวของมันพร้อมกันเลย ...โดยที่ไม่ได้บอกด้วยซ้ำว่าเป็นไตรลักษณ์

เพราะไอ้ของต่างๆ ที่มันเกิดมันดับ มันก็ไม่เคยพูดว่า กูเป็นไตรลักษณ์นะ กูเที่ยง กูไม่เที่ยง กูไม่มีตัวตน ...ไม่มี มันไม่ได้บอกเลยนะ

แต่เมื่อมีความชัดเจนแล้ว ทุกอย่างมันผ่านแบบเร็วมาก และรู้สึกเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย ...นั่นแหละ แปลว่าจิตมันเห็นไตรลักษณ์แล้วเชื่อในไตรลักษณ์ในตัวของมัน โดยไม่มีภาษา

นั่นแหละปัญญาเกิดขึ้นแล้ว อะไรก็ง่าย เงื่อนไขน้อย แล้วก็ไม่มีท็อกซิทหรืออาการตกค้าง...คือสัญญา

เพราะนั้นยิ่งเจริญความรู้ตัว สติกับกายปัจจุบันไป ให้สังเกตดูว่า ผลมันจะเกิดเป็นอย่างนี้ ...เพราะนั้นผลของการปฏิบัติคือทุกข์น้อยลง...คือทุกข์อุปาทานนั้นน้อยลง

แต่ทุกขสัจชัดขึ้น เย็นร้อนอ่อนแข็งนี่ชัดขึ้น การเห็นการได้ยินชัดขึ้น แต่อุปาทานน้อยลง ...ทุกข์อุปาทาน ความอึดอัดคับข้องกับไอ้สิ่งนั้นที่มันชัดขึ้นนี่น้อยลง

ซึ่งแต่ก่อนเราจะพยายามให้ไม่ชัด หรือแกล้งปิดบัง ไม่ยอม ...เพราะอะไร ...เพราะกลัวอุปาทาน กลัวทุกข์อุปาทาน ...ตอนนี้ไม่กลัว ทุกอย่างชัด อุปาทานน้อย

เออ มันเป็นปฏิภาคกัน ปัญญามันจะเป็นอย่างนี้  เพราะนั้นจะไม่กลัว...ไม่กลัวสิ่งที่ปรากฏในปัจจุบัน แล้วก็ไม่กังวลกับสิ่งที่ยังไม่ปรากฏในปัจจุบัน เพราะนั้นจิตก็จะไม่ไปจมแช่อยู่ในอดีตและอนาคต 

ที่มันไปจมแช่อยู่ในอดีตอนาคตเพราะมันกลัว...กลัวว่าพรุ่งนี้จะเป็นยังไง พรุ่งนี้เราไปทำงานแล้วเราจะเจออะไร ...ถ้ามันไม่คิดไว้ก่อนมันอยู่ไม่ได้ มันทำไม่ได้ ...นี่ มันกลัว 

พอมาถึงตรงนี้มันก็ไม่กลัว ...เพราะอะไร ...เพราะมันรู้สึก...เออ อะไรก็แก้ในปัจจุบัน ขอให้เกิดเถอะ  

เพราะมันประเมินกำลังของตัวมันเองว่า...กูสู้ได้ ตั้งมั่นได้ อะไรก็ได้...ต่อให้ความตายมาอยู่ต่อหน้ากูก็รู้ได้ ตั้งได้ กูไม่กลัว 

นี่ ต้องฝึกกันอยู่กับปัจจุบัน เอาปัจจุบันนั่นแหละเป็นหลัก คือเอากายปัจจุบัน ...เพราะนั้นคำว่าปัจจุบันเป็นหลักนี่ บางทีมันก็ไม่รู้ว่าอะไรเป็นปัจจุบันวะ ...ก็กายนี่แหละชัดที่สุด

แล้วคือปัจจุบันและกายไหน ...ไม่ใช่กายข้างหน้า ไม่ใช่กายข้างหลัง ไม่ใช่กายคนอื่น ...กายนี้ คือกายความรู้สึกนี้ กายที่เป็นก้อนความรู้สึกนี่ เป็นปัจจุบันที่ชัดเจนที่สุดแล้ว

พออยู่ในหลักของกายปัจจุบันแล้วนี่ ศีลสมาธิปัญญาอยู่กับมือแล้ว ...ไม่ต้องไปนึกแล้ว ไม่ต้องไปเติมแล้ว ไม่ต้องไปสมาทานศีลใหม่แล้ว ไม่ต้องไปเข้าวัดไม่ต้องปฏิบัติด้วยเออ

มันอยากปฏิบัติก็ไม่ปฏิบัติ กูรู้ตัวอย่างเดียว แน่ะ อยู่ตรงนี้ดิจบ...จบ ให้มันจบอยู่ตรงนี้ ต้องให้มันจบอยู่เดี๋ยวนี้ อย่าให้มันไปจบข้างหน้า อย่าให้มันรอไปจบข้างหน้า

อย่าให้มันว่า...ให้ทำอย่างนี้ก่อนค่อยจบ ให้ไม่ทำอย่างนี้ก่อนค่อยจบ ให้จบตรงนี้ จบตรงที่รู้ว่านั่ง ...ให้มันจบอยู่ในที่เดียว ให้จิตมันจบอยู่ตรงนี้...จบอยู่ที่รู้

อึดอัดหน่อย แรกๆ อึดอัดหน่อย ...ทวนๆๆๆ อย่าบ้าเห่อ เหิมเกริม อย่าให้มันทะเยอทะยานไปตามอาการที่มันเสกสรรปั้นแต่งอะไรขึ้นมา

เดี๋ยวมันก็จะปรุงส้มตำจานรสชาตินี้นั้นขึ้นมา เอ้า อันนี้ไม่ได้ใส่ปูปลาร้า อ้อ อันนี้ใส่ปูเติมปลาร้าด้วย นั่น มันก็จะเสนอแนะแล้วสัญญามาว่ารสชาติอย่างนี้ๆ ถ้าอย่างนี้จะได้อย่างนี้ 

มันเริ่มแล้ว เสนอมาแล้ว ...เอาแหละ ถ้าตั้งมั่นไม่พอเดี๋ยวก็ไปแล้ว เสียเงิน กินเข้าไปก็เสาะท้อง เพราะอย่างนี้ร่างกายไม่แข็งแรง ...เราก็คอยหวั่นไหวไปกับเวทนาต่างๆ นานา เกิดความยินดียินร้าย

แล้วมันก็จะเกิดความไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักเต็ม ...พอมันเกิดยินดี เกิดยินร้าย มันก็จะยิ่งหามากขึ้น ก็จะมาแก้ยินดีแก้ยินร้ายเพื่อให้ได้รสชาติใหม่มากลบเกลื่อนรสชาติเก่า

มันก็ยิ่งไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักว่าอะไรมาแก้ ...มันงง มันหยุดไม่เป็นแล้ว ...พอถึงจุดนั้นเขาเรียกว่าฟุ้งซ่านเต็มลำดับแล้ว

สลัดทิ้งทันที พอรู้ตัวปุ๊บ สลัดทิ้งเลย ไม่อาลัยอาวรณ์ รู้ตัวทันที กลับมายืนหยัดตั้งมั่นให้ได้...ว่ากูกำลังยืนฟุ้งซ่านอยู่โว้ย กูกำลังยืนฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่ายืนฟุ้งซ่าน นั่งฟุ้งซ่าน หรือนอนฟุ้งซ่าน

ก็ให้รู้อาการตรงกายเป็นฐานเลย ...สลัดทิ้ง อย่าไปฟุ้งซ่านกับมัน อย่าไปหารสชาติอะไรมากลบเกลื่อน อย่าไปหารสชาติใหม่มาแก้ หรือวิธีการใหม่ให้เกิดรสชาติอันนั้นอันนี้...ไม่เอา 

เดี๋ยวจะติดกับดัก ติดหล่มสังขารจิต ติดหล่มอดีต ติดหล่มอนาคต ติดหล่มบัญญัติ ติดหล่มความเห็น ติดหล่มความเห็นคนอื่น ...ก็ตายอยู่กับความเห็นคนอื่น แล้วคนอื่นก็พาไปตาย เขาไปตายไหนก็ไม่รู้

แต่ตัวเราก็ไปติดหล่มความเห็นเขา ...เขาพูดเขาจบไปแล้ว ดับไปแล้ว ไปไหนแล้วก็ไม่รู้ หรือตัวคนพูดตายไปแล้วก็ไม่รู้ แต่เรายังติดหล่มความเห็นเขาอยู่นั่น ...นี่ มันไปไหนไม่รอด กับดัก

เพราะนัั้น ด้วยศีลสมาธิปัญญาจึงเป็นตัวกลั่นกรองจิต ให้มันเหลือแต่จิตหนึ่ง ซึ่งเป็นจิตที่ควร จิตที่มีค่า จิตที่สมควรแก่งาน ...ด้วยจิตหนึ่งน่ะจึงเป็นจิตที่ควรแก่งาน ถ้าไม่หนึ่งแล้วไม่ควรแก่งาน

และตัวที่จะกลั่นกรองจิตหนึ่งได้ ก็คือศีลกับสติเท่านั้น ไม่มีตัวอื่นเลย ไม่มีอุบายอื่นเลย ...นอกนั้นมันเป็นกุศโลบาย เดี๋ยวก็กุศโลบายนั้น กุศโลบายนี้

แต่ว่าศีลกับสตินี่มันเป็นหลัก ที่กลั่นกรองให้เกิดภาวะจิตหนึ่งหรือจิตผู้รู้ เกิดความเป็นสภาพจิตผู้รู้จิตผู้เห็น ...รู้จริงเห็นจริง

จะไปเอาวิธีการอื่น จะเอาสถานที่อื่น จะเอาเวลานั้นเวลานี้ มาเป็นตัวกลั่นกรอง ไม่เกี่ยวเลย จะไม่เกี่ยวเลย ...เกี่ยวที่ว่ามีสติในปัจจุบันนี้

เพราะนั้นปัจจุบันนี้คือกาย แค่นั้นแหละ แล้วทุกอย่างก็จะเริ่มสงเคราะห์ลงในองค์มรรค แล้วก็จะเข้าใจว่า อ๋อ กายใจนี่แหละคือมรรค ...มรรคไม่ได้อยู่ที่อื่น

เมื่อใดที่ไม่มีกาย เมื่อใดที่ไม่มีรู้กาย เมื่อนั้นออกนอกมรรค ...นี่ จิตมันก็จะเชื่อ เกิดความเชื่อนี้ขึ้นมามากขึ้นๆๆ 

แล้วมันก็จะปล่อยปละละเลยกายใจน้อยลง ไม่ประมาทเผลอเพลิน หรือไม่ไปใส่ใจหรือไปมุ่งมั่นเอางานภายนอกเป็นหลัก ...แต่มันจะเอากายใจนี้เป็นหลักแทน 

แล้วทุกอย่างก็จะเปลี่ยนไป ความเห็นก็จะค่อยๆ เปลี่ยนไป ...ความทุกข์ก็จะเปลี่ยนไป ในแง่ลดลง ความเชื่อมั่นในองค์มรรค ความเชื่อมั่นในไตรสิกขา ความเชื่อมั่นในพุทธะ ธรรมะ สังฆะ ก็จะเกิดขึ้นมากขึ้น

เพราะทั้งหมดนี่คือที่เดียวกันหมด...กายใจนี่แหละ ...พระพุทธเจ้าก็อยู่ที่นี่ พระพุทธเจ้าคือพุทธะ พุทธะคือผู้รู้ พุทธะคือผู้ตื่น ธรรมะคือสิ่งที่ปรากฏขึ้นในปัจจุบัน ก็คือกาย

พุทธะก็มี ธรรมะก็มี ...แล้วผู้ที่ทำความรู้อยู่เห็นอยู่ในธรรมะกับพุทธะคู่กันนี้ จึงเรียกว่าเป็นผู้ที่กระทำเพื่อความเป็นสังฆะ ..พระสงฆ์ก็อยู่ที่นี้ ก็อยู่ที่ตัวคนนั้นแหละ กำลังทำความเป็นสงฆ์อยู่

เห็นมั้ย พุทธะ ธรรมะ สังฆะ ก็อยู่ในที่เดียวกันนี่...ที่ปัจจุบัน ไม่ได้อยู่ที่อื่น ..ไม่ได้อยู่บนโต๊ะหมู่บูชา ไม่ได้อยู่เมื่อสองพันห้าร้อยปีก่อน ไม่ได้อยู่ที่พระครูบาอาจารย์

อยู่ที่นี้...เรียกว่าเป็นผู้เข้าถึงไตรสรณคมน์ ...ไม่ได้เข้าถึงแค่ปาก แค่ความเห็น หรือแค่ความเชื่อ ...แต่มันเข้าถึงด้วยการปฏิบัติที่ตรงต่อองค์มรรค

แล้วก็จะตรงไปเรื่อยๆ ...ความเป็นพุทธะก็ชัดขึ้น ความเป็นธรรมะก็ชัดขึ้น ความเป็นสังฆะก็ชัดขึ้น 

คือกิเลสน้อยลง ความอยากน้อยลง ความทะเยอทะยานน้อยลง ความเป็นเรา ความยึดมั่นถือมั่นในเราของเราก็น้อยลง 

นั่น ความเป็นสังฆะก็เข้มข้นขึ้น เข้มจนถึงระดับที่ว่าอริยสังฆะเกิดขึ้นไปเรื่อยๆ เรื่อยๆ

ก็เพราะอะไร ...ก็เพราะเข้าถึงไตรสรณคมน์อยู่เสมอ ด้วยมรรค ด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา...ที่เป็นสัมมา


……………………….




วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 9/23 (1)


พระอาจารย์
9/23(551229D)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
29 ธันวาคม 2555
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –   คำว่าฌาน ...ไม่ใช่ฌานหนึ่ง สอง สาม สี่ อย่างที่เราเข้าใจกันนะว่าฌานคือมีองค์ห้าองค์สี่องค์สามองค์สององค์หนึ่ง ที่สุดเหลือคืออุเบกขาอะไรอย่างนี้

ฌานในความหมายนี้คือความเพียรเพ่ง...เพียรเพ่งในสิ่งหนึ่ง ...ไอ้สิ่งหนึ่งของท่านสำหรับฌานที่เป็นฌานในพุทธศาสนา...คือกาย คือศีล

เพียรเพ่งอยู่ในศีล...ในกายปัจจุบัน ...อาศัยจิตที่จดจ่อและเพียรเพ่ง เรียกว่า อาตาปี ...ตรงนี้คือฌาน คือความหมายของฌานที่จะให้เกิดปัญญา

ไม่ใช่ฌานแบบโง่ๆ จมแช่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง หรือจมเพื่อให้เกิดความสงบหรือว่าที่สุดคืออุเบกขา...ไม่ใช่ ...แต่ท่านให้เพียรเพ่ง อาตาปีในกายเดียว ตรงนี้เรียกว่าเป็นฌานวิสัย

เพราะนั้นผู้ที่มีฌานจึงเป็นผู้ที่มีปัญญา ผู้ที่มีปัญญาก็คือผู้ที่มีฌาน ...เห็นมั้ย ถ้าเราไม่เข้าใจ จะไปตีความฌานนี่เป็นอีกลักษณะหนึ่ง แล้วยังจะมาต้องไล่ลำดับหนึ่งสองสามสี่

แต่ฌานจริงๆ คืออาการเพียรเพ่งอยู่ในที่เดียว ...ซึ่งที่เดียวนี่คือสิ่งที่มันมีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปสร้าง หรือไปสร้างอุบายขึ้นมาเพียรเพ่ง เข้าใจมั้ย  ของที่มันมีอยู่แล้ว เป็นธรรมที่ปรากฏอยู่แล้ว

แล้วเอาจิตจดจ่อเพียรเพ่งอยู่ในสิ่งที่มันมีอยู่แล้ว ที่พระพุทธเจ้าบอก กรอบของฌาน กรอบของโลกุตตรฌานคือศีล...จึงเป็นกรอบที่จะให้เกิดโลกุตตระฌาน

แต่ถ้าไปเอาอันนั้นอันนี้มากำหนดอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมา เป็นกสิณบ้าง แม้แต่ลมหายใจบ้าง ...ถ้าไปเพียรเพ่งด้วยความที่เรียกว่าไม่ฉลาดในอุบาย ไม่เข้าใจ มันก็จะเข้าไปในฌานฤาษีหมด

นี่คือเข้าไปในฌานที่เป็นโลกียวิสัย เป็นฌานโลกีย์ ...เพราะนั้นถ้าเข้าฌานโลกีย์แล้ว เดี๋ยวมันส์ เดี๋ยวมีของเล่น มีของให้เล่น แล้วก็มีของที่จะให้เล่นอีกเยอะ ...มันจะมีอะไรอีกเยอะแยะตามมา

แต่ถ้าเป็นฌานโลกุตตระนี่ ฌานที่เป็นฌานในพุทธะ ท่านให้เพียรเพ่งอยู่ในก้อนศีลก้อนปัจจุบัน ...มันจะยิ่งหดและสั้น ไม่มีเรื่อง หมดเรื่อง เรื่องน้อยลง แล้วก็มันจะมีจุดจบ มันจะมีคำว่าจบในตัวของมันเอง

แต่พวกนี้เป็นภาษานะ ไม่ต้องไปคิดมาก ที่พูดเพราะเราเห็นคนอื่นเขาพูดกันว่าต้องได้ฌานอย่างงั้นอย่างงี้ ต้องมีกำลังของฌาน ต้องมีความสงบในระดับที่เป็นอัปปนา จึงจะเข้าถึงมรรคสมังคี อะไรอย่างนี้

คือเผอิญว่ากูเคยทำแล้วกูยังไม่รู้เลยว่ากูเป็นมรรคสมังคีตอนไหน กูยังไม่รู้เลยมันรวมอัปปนาหรือไม่อัปปนาตอนไหน ...เพราะมันไม่มีชื่ออะไรเลย

มันก็ได้แต่ดู..รู้..เห็น ดู..รู้..เห็น ไป ไอ้นู่นวูบไอ้นี่วาบ ก็วูบๆ วาบๆ ไม่รู้ว่าชื่ออะไร ...แล้วไม่สนใจจะไปเปิดตำราดูด้วยว่าชื่ออะไร ก็เลยไม่รู้มันเรียกอะไร ก็ไม่สนใจ เข้าใจมั้ย

เพราะนั้น ลักษณะที่ว่าภาวนาไป...ดูตำราไป เอาไกดไลน์ไป กางแผนที่ไปนี่ มันไม่ไปไหนหรอก 

วนในตำรานั่นแหละ วนอยู่ในภาษา วนอยู่ในสมมุติอยู่นั่นแหละ ...ออกจากสมมุติยังไม่ได้เลย...จะไปเข้านิพพานยังไง หือ 

ถ้ายังออกจากบัญญัติไม่ได้ ยังไม่กล้าทิ้งบัญญัติ ยังไม่กล้าทิ้งสมมุติ ยังไม่ทิ้งความเชื่อความเห็นตามภาษาตามบัญญัตินี่ ไม่ต้องพูดถึงนิพพาน ไม่ต้องพูดถึงมรรคผลเลย 

มันไปไม่รอดหรอก ไปก็เดี๋ยว..."เอ ใช่รึเปล่า" ...เพราะไปติดสมมุติภาษา เพราะไปติดสัญญาความจำ

อย่างนู่น พระโปฐิละ พระใบลานเปล่า สมัยพระพุทธเจ้า เห็นมั้ย 
(เล่าเรื่องพระโปฐิละ http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=30&p=5)

ก็กลับมารู้กายเดียวใจเดียว ...กายเดียวนั่นแหละ ไม่ใช่เอาจิตนะ ไม่ใช่ความหมายว่าเอาจับจิต ท่านจับที่กาย นั่นแหละ คือก้อนนั้นน่ะ...ที่เดียว

อายตนะทั้งหมดอยู่ที่กาย ถ้าไม่มีกายไม่มีอายตนะ รูนี่รูใหญ่เป็นที่รวม ...จิตมันก็อยู่ในกายนี่ ถ้ารู้อยู่ตรงนี้ในกาย ก็จะเห็นจิตปัจจุบัน ก็จะจับจิตปัจจุบันได้

และก็พร้อมกับจับอายตนะได้ทั้งหมดด้วย ทั้งรูปเสียงกลิ่นรส ก็เนื่องด้วยตาหูจมูกลิ้น มันอยู่ที่ไหน มันอยู่ที่กายนี่แหละ ...ถ้ารู้อยู่ที่นี้ที่เดียว จะทันหมดทุกที่ 

เพราะนั้นความรู้ ความจำนี่ สมมุติและบัญญัติ...จึงเป็นตัวที่ปิดบังปรมัตถ์อย่างนึง 

แต่อีกส่วนก็เป็นตัวที่เกื้ออย่างนึง ...เมื่อปฏิบัติไปแล้ว เหล่าสมมุติบัญญัติตำรานี่ จะมาเป็นตัวรับรอง รับรองตัวจิต รับรองความรู้ความเห็น

แต่ไม่ได้รับรองเพื่อให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น ...รับรองเพื่อทำลายความสงสัยเดิม ทำลายความรู้เดิม ทำลายความเห็นผิดและเข้าใจผิดโดยสมมุติและบัญญัติเดิมๆ

แล้วมันก็ทิ้งๆ ทิ้งขว้างไป ทิ้งตำราไป ทิ้งความรู้ความเห็นความจำ เคยคิด เคยเข้าใจอย่างไร ทิ้งหมดเลย และก็มายืนยันว่าตรงตามที่บัญญัติว่า ในแง่ของจิตยังไง ในแง่ของธรรมยังไง

มันไม่เหมือนกันเลย มันคนละมิติกันเลย ความรู้ในปัจจัตตังกับความรู้ตามบัญญัติสมมุติ ...ความเข้าใจตามความเป็นจริงกับความเข้าใจตามสมมุติบัญญัติ มันคนละมิติกันเลย

แต่ว่าอาศัยสมมุตินั่นมันกลับมายืนยันอีกที ...แต่ไม่ได้ยึดในภาษาสมมุตินั่น

แล้วพอเข้าใจถึงตัวนี้ปุ๊บนี่ จะหยิบบัญญัติไหนก็ได้ สมมุติไหนก็ได้ จะจับแพะชนแกะ  จับแกะผสมแพะ ออกมาเป็นนิพพานได้ ...นี่เป็นผู้ฉลาดในการใช้สมมุติและบัญญัติอีกทอดหนึ่งด้วยซ้ำ

แต่เบื้องต้นทิ้งหมดเลย ต้องทิ้งก่อน ต้องวาง วางความคิด วางความจำ วางความเชื่อ วางความเห็น ...โนคอมเมนท์ (no comment) ท่องเข้าไว้ โนคอมเมนท์

แม้แต่ตัวมันจะคอมเมนท์ตัวมันเอง...ก็โนคอมเมนท์ ...อย่าว่าแต่คอมเมนท์คนอื่นเลย ตัวมันคอมเมนท์วิธีการปฏิบัติอย่างนั้นอย่างนี้...ไม่ต้อง

เอาแค่ว่า ศีลตัวเดียว กายตัวเดียว รู้อันเดียว จิตตัวเดียว คือจิตรู้จิตเห็น นั่นน่ะคือจิตหนึ่ง ...จิตหลายดวงไม่ต้องไปดูมันหรอก ช่างหัวมัน เอาจิตดวงเดียวคือจิตหนึ่ง คือจิตรู้

และอาศัยจิตรู้นั่นแหละ มันจึงจะเกิดจิตเห็น ...เมื่อมีจิตทั้งรู้และเห็นนั่นแหละคือปัญญา...ปัญญาญาณ เพราะมันมีแค่รู้และเห็น ไม่มีความคิดไม่มีความจำแทรกซึมขึ้นมา ...นั่นแหละคือว่าทั้งรู้และเห็น 

คราวนี้ตอนที่มันตั้งมั่นดีแล้วนี่ มันไม่เห็นจำเพาะกายหรอก จิตมันก็เห็น ธัมมารมณ์ก็เห็น อายตนะก็เห็น การไปการมาก็เห็น ของภายนอก มันจะเห็นพร้อมกัน ...ก็เรียกว่ารู้รอบ รู้ทั่ว เกิดสัมปชัญญะขึ้น

แต่พอมันไม่มีอะไร มันก็จะจ้องจดจ่ออยู่ที่กายเดียว...เป็นฐาน อยู่ที่นั่นที่เดียว ...แต่ในขณะนั้นไม่ใช่ว่าไม่มีจิต...มี อารมณ์ก็มี มีให้เห็นหมดน่ะ ไม่ได้หายไปไหน

แต่มันเห็นแบบไม่เอาเรื่อง ไม่เป็นแบบอ่านเอาเรื่อง แล้วก็ไม่ไปอ่านจนจบ ไม่ไปดูมันจนจบ...ไม่สน ...อยู่อย่างนั้น มรรคจึงเจริญ

เดินด้วยการอยู่ที่หนึ่งเดียว จึงเรียกว่ามรรคเดิน ...ไม่ใช่ไปเดินหามรรค หรือไม่ได้เดินตามความคิด หรือไม่ได้เดินตามจิต ...ไม่ไปไหน มันหยุด...อยู่ที่เดียว

แล้วทุกอย่างจะชัดเจน เขามาแสดงให้เห็นเอง ไม่ว่าอะไร ขันธ์แสดงเอง โลกแสดงให้เอง ...แล้วเราก็นั่งอยู่บนภูดูเสือกัดกัน หรือเสือไม่กัดกัน หรือเสือเล่นกัน หรือเสือเดินผ่านไปมา ...ดูเฉยๆ

แต่เนี่ย เดี๋ยวกูจะเป็นเสืออยู่เรื่อยน่ะ คือจะไปกัดกับเขา ...ไอ้อย่างนั้นน่ะมันไม่ใช่ว่าจิตหนึ่ง เข้าใจมั้ย ...ถ้าจิตหนึ่งก็นั่งอยู่บนเก้าอี้ อยากไปก็ไป อยากมาก็มา ไม่ใช่แค่กาย อะไรก็ได้ มันจะหนึ่งได้

นี่เขาเรียกว่าถ้าจิตตั้งมั่นดีแล้ว ทุกอย่างง่ายหมด ...แต่ถ้าไม่ตั้งมั่นนี่ก็คอยแต่เขยิบ ชะเง้อ  พอเริ่มชะเง้อนี่คือใส่เกียร์แล้ว หนึ่งดีมั้ง เดี๋ยวก็...ไม่ทันใจ เกียร์สี่ดีกว่า นั่น กระโดดพรวดๆๆ ออกไปเลย

เพราะอะไร ก็ไอ้เริ่มชะแง้ๆ อยากดู อยากเห็น อยากดูมัน ...เมื่อไหร่มันจะดับวะ เมื่อไหร่มันจะมาอีก มันมาทำไม ทำไมมันถึงไม่ดับ มันไม่ดับเพราะอะไร ...เอาแล้ววุ้ย นั่น นั่งไม่ติดที่แล้ว

อยู่กับที่ อดทนเอาไว้ ...มันอยากไปก็ไม่ไป มันอยากหาก็ไม่หา มันอยากวิเคราะห์วิจารณ์ด้วยความคิดความจำก็ไม่เอา มันอยากเอาเร็วเอาช้าก็ไม่ไป ไม่เชื่ออะไรสักอย่าง

นั่งอยู่เฉยๆ อยู่ที่จิตรู้จิตเห็น โดยเอากายเป็นหัวเสา เป็นเสา ...ผูกไว้ เอาเชือกผูกไว้ แล้วก็สต๊าฟคอไว้ ให้มันหันตรงหน้าเสานี่  เดี๋ยวมันก็...ตาคอยกลอกส่ายอย่างนี้ ก็ตบหัวมัน ลูกกะตาก็ห้ามกลอก 

แต่การที่ตามองเสามันก็เห็นอยู่ใช่มั้ย ถึงว่าอยากหันก็เถอะ ...ก็มองตรงหน้าแล้วมันเห็นเสา มันก็เห็นว่าอะไรเป็นอะไร ...กูอยู่กับเสานี่มาตั้งแต่เกิด กูเพิ่งรู้ว่าเสานี่เป็นไม้ กูนึกว่าเป็นเหล็ก 

นั่น เพราะกูไม่เคยดูเลย เข้าใจรึเปล่า โอ้ย กูอยู่มาแทบตาย เพิ่งรู้ว่าเป็นไม้ เอ้า ไม่เคยดู นึกว่าเป็นเหล็กฝังเพชรด้วย นึกว่าเป็นเสาผุๆ ไม่ใช่ ไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว ...นั่นเพราะมันดูไม่เห็น ไม่เคยตั้งใจดู ดูไม่จริง

แต่พอดูจริงๆ มันก็เริ่มไปไหนไม่ได้ จะเหลียวไปไหนก็ไม่ได้  มันก็หนึ่ง...หนึ่งคือเสา คืออยู่กับกายปัจจุบัน มันก็เห็นรายละเอียดของกายอยู่ในนี้หมดเลย...ความเป็นจริงคืออย่างนี้

อ๋อ อยู่กันมาหลายสิบปี กูนึกว่ากายกูเป็นผู้ชาย เอ้า กายกูเป็นก้อนอะไรก็ไม่รู้ เพิ่งเห็นนะนี่

ก็มันไม่เคยดู มันจะเห็นได้ยังไง เรียกว่าจิตมันไม่อยู่ในที่ที่ควรอยู่ไง ...เมื่อมาอยู่ในที่ควรอยู่ก็...อ๋อ มันเป็นอย่างงี้นี่เอง ...นี่ ปัจจัตตัง ...คำว่าปัจจัตตัง เพราะมันเห็นตามความเป็นจริง 

ซึ่งแต่ก่อนมันเห็นยังไม่จริง แล้วมันก็เชื่อแบบโง่ๆ ดื้อๆ ว่าเป็นผู้ชายผู้หญิง ก็ว่าใช่แล้ว เออ เป็นผู้ชายเป็นผู้หญิง ก็เชื่อแล้วว่าเป็นผู้ชายผู้หญิงจริงๆ มันเชื่อแบบลวกๆ ยังไม่ได้ถี่ถ้วน

เพราะอะไร ...เพราะเวลาทั้งหมดกูไปดูเรื่องอื่นหมด  จิตน่ะส่ายแส่สอดส่องนู่นนี่ บางทีทั้งวันนี่ ไม่รู้เลยว่ามีกายนี้อยู่ในโลก ...มันอยู่ได้ยังไง

เนี่ย ไม่รู้เลยว่ามีกายนี้อยู่ในโลก มันกลับใช้ชีวิตอยู่ได้ ...แปลว่าอะไร แปลว่ามันละเลยมาก ละเลยมรรค ละเลยศีล ...นี่คือศีล หลักนี่คือศีล กายนี่คือศีล

แต่ออกนอกศีล ก้าวล่วงศีล ก้าวข้ามศีลอยู่ตลอดเวลา ...แล้วก็นึกในใจด้วยนะว่า กูถือศีลห้าอยู่ แน่ะ มีศีลห้านะ ไม่ได้ละเมิดศีลเลยวันนี้ กูสบาย ผ่องใส เพราะไม่ได้โกหกใครเลย แน่ะ

ทั้งๆ ที่ตลอดวันนี่ละเมิดกายปัจจุบัน นั่นน่ะก้าวล่วงศีลตลอดเวลา  ไม่รู้กาย ไม่รู้ตัว ไม่เห็นว่ากายนี้คืออะไร กายมันกำลังทำอะไร กายมันมีปฏิกิริยาอาการอย่างไรเมื่อมีสิ่งนี้สิ่งนั้นมากระทบ

เนี่ย ความเป็นจริงอยู่ที่นี่...ต่อหน้าต่อตาแท้ๆ เนี่ย ไม่รู้จักมันได้ยัง ...แล้วมันจะเกิดมาทำไม หือ แล้วเวลามันหมดไปกับอะไร มัวแต่ไปรู้เรื่องอะไรอยู่ ของที่อยู่ต่อหน้าแท้ๆ มันยังไม่เข้าใจเลย

ก็เข้าใจเอาแบบง่ายๆ ลวกๆ หรือเขาบอกว่าเป็นผู้ชายผู้หญิงก็เป็นผู้ชายผู้หญิง หรือเขาบอกว่าสวยก็เชื่อ อย่าบอกว่าไม่สวยนะ กูโกรธ แน่ะ เชื่อจริงเชื่อจัง ...แล้วเชื่อแต่ละครั้งก็ทุกข์ทุกครั้ง ใช่มั้ย 


(ต่อแทร็ก 9/23  ช่วง 2)