วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 9/29 (3)


พระอาจารย์
9/29 (560101C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
1 มกราคม 2556
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 9/29  ช่วง 2

โยม –  หลวงพ่อ แล้วพวงมาลัยไหว้พระล่ะคะ   

พระอาจารย์ –  เหมือนกันน่ะ นี่ที่เรายังเข้าเป็นปุ๋ยหมดน่ะ พวงมาลัยที่เอามาไหว้กันน่ะ ...ก็ดีออก ใช่มั้ย

ทั้งหมดนี่น่ะ  คือ สีลัพพตปรามาส เข้าใจมั้ย  คือความลูบๆ คลำๆ ในวัตรและศีล ...คือการดำรงชีวิตหรือว่าความเชื่อ ที่เขาเชื่อกันมา ว่าอย่างนี้ไม่ดีนะ อย่างนั้นไม่ดีนะ อะไรอย่างนี้

ทำบุญแล้วต้องกรวดน้ำ แล้วน้ำนี่จะไปเทที่ไหนเหวี่ยงๆ ไปก็ไม่ได้ ต้องเทที่โคนต้นไม้ อะไรอย่างนี้ จะไปสาดๆ อย่างนี้ก็ไม่ได้ เดี๋ยวไม่ถึง จะต้องพินอบพิน้อมเทด้วยความสำรวม ไม่งั้นไม่ถึง อย่างเนี้ย


โยม  มันอยู่ที่เราตั้งจิตใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  เออ ถ้ากรวดน้ำแล้วเดินออกมาสาดทิ้ง คนจะมองยังไง  เห็นไหมว่านี่คือสีลัพพตปรามาส  แล้วเราจะไม่กล้าทำ เพราะกลัว ...เห็นมั้ย นี่ก็คือความยึดอีกแบบนึง


โยม –  ตอนนี้ก็มีคำถามนึงหนูจะถาม คืออย่างบางทีเราถวายของพระอย่างนี้ใช่ไหม สมมุติว่าเราใช้จิตอธิษฐานใช่ไหมคะ แต่บางคนบอกว่าไม่ได้ เสร็จแล้วคุณต้องกรวดน้ำ หนูก็ว่าก็เราตั้งจิตไปแล้ว เขาบอกไม่ได้ มันไม่ถึง ต้องกรวดน้ำ   

พระอาจารย์ –  ก็กรวดไปสิ 


โยม –  คืออย่างวันนั้นเราไม่มีสถานที่ให้กรวดน้ำ 

พระอาจารย์ –  ก็ไม่ต้องกรวด


โยม –  ก็ไม่เป็นไรใช่ไหมคะ  บุญก็คงถึงที่เราตั้งไว้ สมมุติเราจะอุทิศให้คุณแม่อย่างนี้ จิตที่เราตั้งให้ กับการที่เราไม่กรวดน้ำนี่ก็คือ เราก็คงต้องคิดว่าถึงรึเปล่า คือบางคนบอกว่าถ้าไม่กรวดน้ำ ไม่ถึง บุญนี้ไม่ถึงแม่ อะไรอย่างนี้น่ะฮ่ะ

พระอาจารย์ –  มันเอาอะไรมายืนยัน    


โยมบอกกัน –  ต้องรอไปพิสูจน์เอง   

พระอาจารย์ –  ไอ้คนพูดน่ะมันเอาอะไรมายืนยัน แล้วโยมเอาอะไรมายืนยัน     


โยม  ก็คือทำตามกันมา

พระอาจารย์ –  ก็นั่นน่ะสิ เราก็ยังไม่รู้เลยถึงรึเปล่า  


โยม –  ก็เห็นเขาบอกว่าให้กรวดน้ำ ก็กรวดน้ำ 

พระอาจารย์ –  คือมันเป็นลักษณะอาการที่ดูดี เป็นลักษณะที่ดี ถือว่าดีแล้ว ดีในปัจจุบัน ดีแล้ว ไม่ต้องคิดว่าจะถึงหรือไม่ถึง ...ถือว่าการกระทำนั้นดีแล้ว จิตส่งเป็นกุศลดีแล้ว ให้ดีอยู่แค่นี้

แต่เอาอะไรมายืนยัน ว่านี้ถึง นี้ไม่ถึง หือ มันมีสิทธิ์อะไรมายืนยัน ..เออ ถ้าเป็นพระพุทธเจ้าพูด เราจะเชื่อ แต่ในระดับอย่างนี้เอาอะไรมายืนยัน ต่อให้เป็นพระเรายังไม่เชื่อเลย

เมื่อก่อนก็มีคนเคยมาถามหลวงปู่ว่า ทำไมครูบาอาจารย์ท่านไม่พูดเรื่องพรหม เรื่องเทพ เรื่องผีอะไร  ฟังแล้วมันจะเกิดความศรัทธาเลื่อมใสได้...ว่างั้น

หลวงปู่บอก...แล้วเราจะไปจับขาเอามันมานั่งให้เห็นได้ยังไงล่ะ ถ้าเราไปพูดแล้วมันบอกว่าไหนล่ะหลวงปู่ ...พอดีท่านบอกว่า ไม่มีเชือกอะไรไปผูกแล้วดึงให้มันมาเห็นได้อย่างนี้

ท่านบอกเรื่องอย่างนี้ท่านไม่พูดซะดีกว่า ในสิ่งที่มันยืนยันไม่ได้ เข้าใจมั้ย ...มันเป็นเรื่องความรู้จำเพาะ แล้วก็รู้ได้แค่จำเพาะเท่านั้นเอง   
  
เพราะนั้น..ถึงไม่ถึง วางไว้ ทำไว้ ดีแล้ว ถือว่าดีแล้ว ...บุญหรือการอุทิศน่ะมันไม่ใช่ว่าหว่านเงินแล้วก็เหมือนกับผีเปรตมารับ มันคิดเอากันเองอย่างนั้นน่ะ แล้วถ้าไม่บอกชื่อแล้วไม่ถึง

แล้วมันถึงไม่ถึงน่ะรู้รึเปล่า แน่ใจได้ยังไงว่าถึง มันแน่ได้ยังไง เอาอะไรมาเป็นเครื่องยืนยัน มีมาตรวัดมั้ย ว่าถึงแค่ไหนกี่ขีดๆ ...ไม่มี คือมองให้เห็นน่ะอย่างนี้ 

เพราะนั้นอย่ากลัวจนเป็นทุกข์ เศร้าหมอง ...เห็นมั้ยว่า ถ้าเมื่อใดเกิดความยึดมั่นผูกในสิ่งที่ไร้สาระ คือหาสาระไม่ได้นี่ ก็เกิดความเศร้าหมอง เป็นทุกข์ ...ลึกๆ มันเป็นทุกข์เกิดขึ้นแล้ว 

แต่พอจะทิ้งก็ไม่กล้าทิ้งอีกแล้ว กลัวคำพูด กลัวเขามากระแนะกระแหน ว่าเธอทำงี้ได้ยังไง ...แค่นี้จิตวูบแล้ว หายเลย ใจหายเลย คราวนี้ก็กินไม่ได้นอนไม่หลับ

หรือว่าต้องไปทำอะไรแก้แล้ว ไม่งั้นไม่สบายใจ  พอทำแก้แล้วก็ เออ นอนหลับดีฝันดี ...มันเป็นเรื่องอะไร จิตตัวเองทั้งนั้นแหละ บอกให้


โยม –  จิตตกไปเลย

พระอาจารย์ –  แต่ถ้าเด็ดเดี่ยว...ให้เข้าใจคำว่าเด็ดเดี่ยวนี่  ถ้าเด็ดเดี่ยวที่จะละ เด็ดเดี่ยวที่จะไม่กลัว ออกจากความกลัวนั้นซะ ทีละเล็กทีละน้อยนะ

แล้วไม่ต้องไปป่าวประกาศ...เฮ้ย กูไม่กลัวโว้ย กูไม่ทำตาม พวกมึงน่ะสีลัพพตะ ...เดี๋ยวเหอะ เดี๋ยวมาเป็นระลอกเลย    


โยม  (หัวเราะกัน) มาลองของ  

พระอาจารย์ –  คือทุกอย่างทำไปด้วยความสงบสำรวมภายใน เข้าใจมั้ย การปฏิบัติธรรมน่ะเรียบร้อย สำรวม งดงาม ...การละก็ละแบบเรียบร้อย สำรวม งดงาม

ไม่ใช่ว่าอันธพาล ไปก้าวก่ายความคิดความเห็นผู้อื่น ...อะไรมันเกินไป มันรู้เองน่ะ งามกาย งามวาจา งามใจ งามเบื้องต้น งามท่ามกลาง งามที่สุด

ศีลเป็นงามเบื้องต้น สมาธิงามท่ามกลาง ปัญญางามที่สุด  ทุกอย่างเป็นไปด้วยความงดงาม ไม่เบียดเบียน ไม่กล่าวร้าย ไม่กล่าวโทษเบียดเบียนใคร ...นี่คืออริยะจิต อริยะบุคคล

การกระทำ กายวาจาใจ ไม่เบียดเบียนใคร เป็นไปด้วยความสำรวม เป็นไปเพื่อมรรคผลและนิพพาน ทั้งผู้เห็นและผู้ได้ยิน ไม่ได้เป็นไปเพื่อขัดขวางมรรคผลและนิพพาน ...นี่คือโดยลักษณะของอริยะ

ทั้งตัวเองก็เป็นไปเพื่อนิพพาน และคนเห็นรอบข้างก็เป็นไปเพื่อน้อมนำให้เข้าสู่มรรคผลและนิพพาน ...นี่จึงเรียกว่าเป็นจริยวัตร จรณสัมปันโน

พระพุทธเจ้าท่านก็บอกแล้ว จรณสัมปันโน ...จรณ คือการอยู่การไป วิถีการดำรงชีวิต ...สัมปันโน เป็นไปเพื่อเกิดญาณทัสสนะอันรู้แจ้ง

วิชชาจรณสัมปันโน...อยู่ด้วยความรู้เป็นจรณ จะไปจะมาอะไรมีความเพียบพร้อมเรียบร้อย อยู่ด้วยสติสำรวมระมัดระวัง ...นี่คือวิชชาจรณสัมปันโน พระอริยะท่านอยู่ด้วยวิชชาจรณสัมปันโน 

ไม่ได้อยู่กับความไม่รู้ ทำอะไรด้วยความไม่รู้เนื้อไม่รู้ตัว หรือพูดกระทำโดยไม่คิดหน้าคิดหลัง ทำไปตามอารมณ์ ทำไปตามความโลภความหลง ทำไปตามความเอาแต่ใจ...ไม่มี

ทำทุกอย่าง ยืนเดินนั่งนอนไปมาพูดกล่าวคิดนึกเป็นด้วยวิชชาจรณสัมปันโน คือมีวิชชา มีความรู้เข้าใจตลอดเวลา จึงไม่มีความว่าด่างพร้อย มลทิน ...โดยอัตโนมัติท่านเป็นอย่างนั้น

เพราะนั้นน่ะ การมีชีวิตอยู่ในโลกของพวกเราเนี่ย มันอยู่ด้วยสีลัพพตะร้อยเปอร์เซ็นต์ ...กว่าที่เราจะคัดกรองออก คัดแยกออกมา...ต้องคัดแยกด้วยศีลที่เป็นศีล ไม่ใช่สีลัพพตะ

แล้วมันจะเห็นเองว่าศีลคืออะไร สีลัพพตะคืออะไร ...แล้วในศีลตัวนี้เอง ก็จะเห็นสักกายกับกาย...ว่ากายจริงๆ คืออะไร และกายสักกายคืออะไร 

แล้วก็จะเห็นความชัดเจนกับสงสัย ว่าอะไรเรียกว่าชัดเจน อะไรเรียกว่าสงสัย ...เห็นมั้ยว่าแค่ศีลตัวเดียว จะเห็นสามตัวนี้หมด ว่าอันไหนจริง-อันไหนไม่จริง มันจึงละออกจากสังโยชน์สามเบื้องต้น

แต่ถ้าไม่อยู่ตรงนี้ ...มันจะแยกไม่ออกว่าอันไหนเป็นสีลัพพตะ อันไหนเป็นศีล  มันจะแยกไม่ออก อันไหนเป็นสักกาย อันไหนเป็นกายที่แท้จริง  มันจะแยกไม่ออกว่าอันไหนคือความเป็นจริง อะไรคือความสงสัย

มันก็จะสงสัยไปหมด แล้วก็ไม่รู้ว่าอะไรจริง อะไรเท็จ  เพราะกำลังสงสัยในเรื่องที่กำลังเป็นความจริง ...นั่น แม้แต่ความจริงก็ยังสงสัย เอากะมันดิ จิต

ก็แค่ว่านั่ง แล้วรู้ว่านั่ง มันก็ยังสงสัยว่าแล้วทำไมต้องเป็นอย่างนี้ แน่ะ สงสัยอีกแล้ว หาเรื่องนะ จิตน่ะมันหาเรื่องได้ทุกเม็ดน่ะ เห็นมั้ย ถ้าไม่สำรวมเป็นหนึ่งไว้ 

สำรวมเป็นหนึ่งคือตั้งมั่นๆๆ รู้อย่างเดียว ...ช่างหัวมัน ก็รู้ว่านั่งๆ  มันจะหาว่าอะไรคือนั่ง นั่งมายังไง แล้วคืออะไร นั่งอย่างนี้ถูกรึเปล่า แล้วรู้อย่างนี้จะใช่นั่งจริงมั้ยหรือว่าไม่ใช่ ...นี่ เห็นมั้ย สงสัย 

ก็นั่งก็นั่ง...รู้ยังไงก็รู้ยังงั้น มากก็มาก น้อยก็น้อย ชัดก็ชัด ไม่ชัดก็ไม่ชัด  เออ อย่างนั้นเขาเรียกว่าโง่ๆ รู้โง่ๆ ไป ...นั่นแหละ มันจึงจะละความสงสัย 

แล้วก็ชัดเจนขึ้นเมื่อมันรวมขึ้นๆ เป็นหนึ่งกับกาย รู้กับกาย ต่อหน้ากับกาย ทุกอย่างจะชัดเจนหมด ...พอชัดเจนหายสงสัย ไม่สงสัยลังเลในกาย มันก็จะเห็นกายตามความเป็นจริง

นี่มันก็จะเห็นว่ากายตามความเป็นจริงคืออันนี้ กายไม่จริงคืออย่างนี้ๆ...ไอ้ความเชื่อความเห็นต่างๆ นานา ที่มันออกนอกเหนือจากความเป็นจริงนี้ มันก็ไม่เชื่อแล้ว

จะไปเชื่ออะไร เป็นเรื่องของจิตมันพ่นออกมา จับต้องไม่ได้ หาความจริงไม่เจอ หาความถูกความใช่ไม่มี ...เพราะนั้นก็จะอยู่ที่ความจริงล้วนๆ คือกายล้วนๆ ขันธ์ล้วนๆ นั่นแหละ จริงที่สุดแล้ว

แล้วก็ไม่เห็นจะมีอะไรมาลบล้างความจริงนี้ได้ ...ใครมันเก่งกล้าสามารถขนาดไหน จะมาลบล้างความเป็นจริงของกายได้ หือ ก็เห็นตายทุกราย ใช่ป่าว ต่อให้ได้อภิญญาญาณสูงสุดน่ะ

แม้แต่พระพุทธเจ้านะ ยังลบล้างขันธ์ไม่ได้เลย ยังลบล้างกายไม่ได้เลย ...ตาย สุดท้ายก็ตาย สุดท้ายก็เจ็บ ก็เสื่อม เห็นมั้ย มีอำนาจขนาดไหนเข้าไปลบล้างขันธ์ได้ล่ะ...ไม่มี

มีแต่จิตผู้ไม่รู้เท่านั้นแหละบังอาจ...เรียกว่าอหังการ คิดว่าเหนือ คิดว่าแน่ คิดว่าทำได้ ...นั่นแหละคือความเห็นหนึ่งที่เริ่มแล้วนะเนี่ย

ไอ้ความเห็นหยาบๆ เริ่มต้นแต่สีลัพพตปรามาส เขาว่ากันมา เขาทำให้ดูกันมา แล้วก็เชื่อ เป็นความเห็น ฝังไว้ๆ แล้วความเห็นมันก็แตกกระจายกระจัดไปจนถึงขั้นละเอียดลึกซึ้งเลย

จนเป็นทิฏฐิสวะ ถึงขั้นอาสวะ เข้าไปแนบแน่นอยู่ในอาสวะ เรียกว่าทิฏฐิสวะ แล้วก็ก่อรวมกันเป็นมานาสวะ ภวาสวะอยู่ภายใน

เพราะนั้นธรรมชาติของดวงจิตผู้ไม่รู้ จึง...หาตัวมันไม่เจอหรอก  แต่มันมีลักษณะคือ ค้นๆๆ แล้วก็จริงจัง แล้วก็เชื่อในสิ่งที่มันไม่น่าเชื่อ ...แต่ว่าหน้าตาของมันอยู่ที่ไหนไม่รู้

นั่นแหละ หน้าตามันคือภวาสวะ มานาสวะ ทิฏฐิสวะ กามาสวะ อยู่ภายใน ..ต่อเมื่อมันเห็นความเบาบางๆๆ ลงไป  เมื่อเห็นจริงๆ น่ะ...อวิชชาไม่มีตัวตนที่แท้จริง เป็นอะไรก็ไม่รู้

เอ้า เอาแล้ว ไป มีโอกาสก็ค่อยมา  ไปทำ...ทำจนกว่ามันจะตั้งหลักขึ้นมาได้


.................................



วันอาทิตย์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 9/29 (2)


พระอาจารย์
9/29 (560101C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
1 มกราคม 2556
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก  9/29  ช่วง 1

โยม  เวลาจิตส่งออก เหมือนกับว่าจิตออกไป แล้วเราต้องใช้ใจดึงกลับมา   

พระอาจารย์ –  ใช้ “สติ” ไม่ใช่ใช้ใจ ...ใจไม่มีทำหน้าที่อะไรได้เลย เขาอยู่ของเขาเฉยๆ แต่สติน่ะเป็นตัวดึงกลับ เหมือนกับระลึก...แล้วมันจะหยุด

ระลึกแล้วมันจะขาด ขาดจากจิต จิตมันจะหยุด พอหยุดปุ๊บ ใจก็ปรากฏ เป็นดวงผู้รู้ เป็นผู้รู้ที่อยู่เฉยๆ คือทำหน้าที่รู้และเห็นตลอดเวลา

แต่ทุกครั้งที่มีอาการของจิต จิตมันจะหมุนวน แล้วก็ครอบ ปิดบังใจ ...แต่พอมีสติระลึกทันปุ๊บ ไม่ต่อเนื่อง ไม่สืบเนื่อง ไม่ต่อเนื่อง ไม่ให้กำลังของจิต ไม่ให้เรื่องราวตามจิตออกไป

จิตมันจะเสื่อมแล้วก็หมด  พอหมด ก็เหมือนเมฆที่หุ้มสลาย ก็ปรากฏใจผู้รู้อยู่ เพราะนั้นใจไม่ได้ทำอะไรเลยนะ ก็แค่รู้อยู่ที่นั้นน่ะ 


โยม –  แค่เป็นตัวรู้

พระอาจารย์ –  รู้อยู่อย่างนั้น เพราะนั้นใจก็สร้างขึ้นไม่ได้ ...แต่ว่าที่เหมือนเราสร้างขึ้นได้ เพราะสติมันทำงาน  


โยม –  สติเป็นตัวทำ  

พระอาจารย์ –  ใช่ สติมันเท่าทัน ...พอเท่าทันปุ๊บ ใจก็อยู่เฉยๆ มันก็ปรากฏขึ้น เหมือนกับสติสมาธิปัญญาเป็นตัวขัดล้าง ซักฟอก ชำระ สิ่งที่ครอบคลุมใจ

ใจเขาก็อยู่อย่างนั้น เหมือนเพชรน่ะ เหมือนเพชรในตมน่ะ ถามว่าเพชรในตมมีความสว่างอยู่ในตมมั้ย...มี ไม่มีอะไรเข้าไปแทรกซึมในเพชรเลยนะ

แล้วใครเป็นคนขัด ไอ้นั่นแหละศีลสมาธิปัญญา...อ้อ แท้ที่จริงมันสว่าง ต่อให้อยู่ในตมมันก็สว่าง แต่ไม่เห็นความสว่างนั้น ...นี่คือความบริสุทธิ์ของใจ


โยม  อือม์ 

พระอาจารย์ –  ใจเป็นอย่างนี้ ไม่มีใครทำให้ใจบริสุทธิ์ได้ ไม่มีใครทำให้ใจไม่บริสุทธิ์ได้  ทำให้บริสุทธิ์ก็ไม่ได้ ทำให้ไม่บริสุทธิ์ก็ไม่ได้

เพราะธรรมชาติของใจเป็นอมตะ เข้าใจมั้ย ไม่มีคำว่าเกิดดับ มากน้อย นอกใน เพราะไม่มีที่ตั้ง ไม่มีตัวตน ...เออ ไอ้นี่ขั้นแอดวานซ์แล้ว ยังไม่ถึง...ไม่ไป (โยมหัวเราะกัน)
 

โยม –  ตอนนี้คอมพิวเตอร์ไปแอดวานซ์ 

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นว่าทำหน้าที่ให้ตรงต่องาน ตรงแค่ว่า อยู่อย่างนี้ ...แล้วใจมันจะชัดขึ้นเอง เขาจะชัดขึ้นมาเรื่อยๆ ดวงจิตผู้รู้นี่

เพราะนั้นตัวดวงจิตผู้รู้ก็ยังไม่ใช่ใจ บอกให้เลย ยังมีแอดวานซ์กว่านั้น ...แต่ว่าถ้าไม่อาศัยดวงจิตผู้รู้ จะเข้าไม่ถึงใจเลย บอกแล้วว่ามันเป็นไปตามลำดับ

แต่ตอนนี้หาใจให้เจอ ไม่ใช่วิธีค้นหา...หาด้วยศีล หาด้วยสติ นั่นแหละจึงเรียกว่าใจจึงจะปรากฏ  
 

โยม –  ไปหามาให้เจอ 

พระอาจารย์ –  อือ มันก็ปรากฏขึ้น ชัดเจนขึ้น ว่า..อ๋อ ตั้งมั่น อ๋อ สัมมาสมาธิ อ๋อ จิตหนึ่ง อ๋อ มีเหลือแค่รู้ เนี่ย มันจะชัดในแง่นี้ ...หมายความว่าขณะนั้นจิตเริ่มรวมแล้ว จิตเริ่มรวมศูนย์แล้ว


โยม  พอดีวันนั้นที่ดูรายการทีวี หนูก็ยังสงสัยว่า มีคนเขาไปที่จ.ลพบุรี แล้วเขาก็มีผีเข้ามา หนูก็เลยคิดว่าไอ้สิ่งนี้ แล้วเขาก็มาออกรายการหนึ่ง เขาก็เข้าๆ ออกๆ คือหนูก็เลยสงสัยว่า..เอ๊ แล้วเขาทำไมคุมตัวเองไม่ได้ถึงขนาดนั้นเลยคะหลวงพ่อ

พระอาจารย์ –  ผีตัวเอง


โยม –  หนูก็ว่าอย่างนั้นนะ   

พระอาจารย์ –  จิตตัวเองน่ะหลอก     


โยม –  ไม่ใช่แบบวิญญาณอื่นมาเข้าสิงใช่ไหม

พระอาจารย์ –  อย่าไปคิดมาก อย่าไปฟุ้งซ่าน   


โยม  ก็พอดูรายการพวกนี้ หนูก็ว่ามันเป็นไปได้ยังไง

พระอาจารย์ –  ทำไม รู้แล้วทำไม 


โยม –  ไม่ คือหนูงงว่า..   

พระอาจารย์ –  งงแล้วทำไม   


โยม –  มีข้อสงสัยไงคะ  

พระอาจารย์ –  แล้วมันจะเข้านิพพานได้มั้ย 


โยม  ไม่ได้ (หัวเราะ) - (โยมคนอื่นบอกว่า – ก็ตัดซะ)  

พระอาจารย์ –  เออ อะไรที่มันรู้ แล้วหายสงสัยกับมัน..แล้วมันเข้านิพพานได้..รู้ไป

แต่ว่าถ้ามันนอกเหนือจากนี่ ...มันไม่เป็นเหตุเอื้อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องมรรคผลและนิพพาน  ไม่ต้องไปใส่ใจใยดีกับมัน เข้าใจมั้ย  จะเก็บมาเป็นธุระทำไม


โยม –  ไม่ค่ะ คือบางทีเจอเข้าล็อค อย่างน้องสาวเขาไปที่นึง เขาไปดูเรื่องเจ้ากรรมนายเวร เขาบอกว่ามีคนที่รู้เจ้ากรรมนายเวรมีไม่กี่องค์ แล้วกรรมที่เราทำ เราอยากจะรู้ว่าเราทำอะไรผิดหรืออะไรอย่างนี้ ก็คือต้องให้ไปดูกับคนนี้ ต้องให้เขาเปิดว่าเราเคยทำกรรมอะไรเมื่อชาติที่แล้ว เขาก็เลยจะพาเราไปดู  เราก็เลยบอกว่าเราไม่สะดวก

พระอาจารย์ –  คือตัวเองโง่คนเดียวยังไม่พออีกเหรอ ยังจะพาให้คนอื่นมาเติมความโง่ให้เราอีกหรือ ...ทั้งหมดน่ะเป็นเรื่องของจิตหลอกหมด บอกให้

ทั้งหมดนั้นท่านเรียกว่า สีลัพพตปรามาส เป็นความเชื่อแบบลอยๆ เป็นความเชื่อตามประเพณี เป็นความเชื่อตามอย่างที่คนในโลกเขาเชื่อกัน ...แต่ไม่ใช่ความจริง

ให้เชื่อในสิ่งที่มีจริง ปรากฏจริง เกิดอยู่จริง ตั้งอยู่จริง แล้วดับไปจริง ตรงนี้ถึงจะเรียกว่าเป็นความเชื่อที่แท้จริง ...ก็ทำให้เกิดความเชื่ออย่างนี้บ่อยๆ แล้วจะเกิดความเชื่อความเห็นที่เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ

ไม่ใช่ไปเชื่อบ้าๆ บอๆ นอกเหนือจากความเป็นจริงที่ปรากฏ เรื่องมันจะเยอะ..ขยะ เข้าใจคำว่าขยะมั้ย เป็นขยะที่มันซ่องสุม...มือหนึ่งก็ปัดออก อีกมือหนึ่งก็โกยเข้ามา ถามว่ามันจะหมดมั้ย

มือซ้ายปัดออก...มือขวาใส่  ขวาใส่ไม่พอ ปากคาบเข้ามาใส่ ตีนก็โกยเข้ามาอีก ...แต่มือซ้ายนี่ปัดออก นิดๆ นิด..นิ๊ดด (โยมหัวเราะกัน) ...มันก็คงหมดชาตินี้ล่ะมั้ง หือ


โยม –  น้องเขาชอบชวน น้องเขาจะชวนไป แต่เรายังปฏิเสธอยู่  

พระอาจารย์ –  ใจแข็งๆ นะ อย่าให้โง่กว่านี้ ...เพราะโง่เท่านี้ก็เหลือทนแล้ว     


โยม –  เหลือทนแล้ว    

พระอาจารย์ –  คือการเกิดมามันโง่อยู่แล้วนะ..ทุกคนน่ะ เราก็โง่ ...แต่จะมาเกิดเพื่อสะสมความโง่ หรือว่าเกิดเพื่อมาลบล้างความโง่ออกไป

เพราะนั้นถ้าเชื่อพุทธะ เชื่อธรรมะ เชื่อสังฆะ...จะฉลาดขึ้น ...ถึงบอกว่าเข้าถึงไตรสรณคมน์ อาศัยไตรสรณคมน์เป็นที่พึ่ง ...ไม่ใช่ไหว้พระแล้วผีไม่เข้า..ไม่ใช่ ไอ้นั่นก็เป็นสีลัพพตะอีกแบบหนึ่ง

ที่ห้อยพระกันเต็มไปหมด เพราะกลัวผี ว่าเข้าถึงพุทธะ เอาพุทธะเป็นที่พึ่ง..บ้ารึเปล่า ...เมื่อวานเราก็พูดแล้วเรื่องพุทธะ ธรรมะ สังฆะ คืออะไร นั่นแหละที่พึ่งแท้จริงคืออย่างนั้น แล้วไม่กลัวตาย  


โยม  หนูก็เชื่ออย่างนั้น  

พระอาจารย์ –  ให้เชื่อให้มากกว่านี้   


โยม –  (หัวเราะ) คือหนูเป็นคนที่ว่า ขี้สงสัย ขี้สงสัยเยอะ 

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ คือบอกแล้วไอ้ความเชื่อที่เป็นสัมมานี่ มันเท่าปลายเข็มน่ะ เข้าใจมั้ย ...ถ้าไม่เพิ่มกับมันเยอะๆ แล้วมันจะมากขึ้นมั้ยล่ะ

ก็บอกแล้วว่า มือหนึ่งน่ะปัดออก อีกมือหนึ่งนี่โกยแล้วโกยเล่า โกยแล้วโกยอีก  หูตานี่สาดส่องว่ามีใครจะชวนกูไปดูหมอที่ไหน โหงวเฮ้งมันอยู่ตรงไหน ดูอนาคตให้ แล้วเราจะมีมงคลเพราะทำอย่างนั้น   

อะไรอย่างนี้...เสียเวลา แล้วก็เสียค่าโง่ แล้วก็ได้ความโง่กลับคืนมาทับถม ...คราวนี้พอจะเอาออกก็ติดล่ะ ซ้ายก็ติด ขวาก็ติด หน้าก็ติด ออกไม่ได้แล้ว   


โยม –  มันแกะไม่ออก 

พระอาจารย์ –  กลัว เกิดความกลัว เกิดความกลัวว่า เดี๋ยวจะอย่างนั้นมั้ย เดี๋ยวจะอย่างนี้มั้ย    


โยม  ใช่

พระอาจารย์ –  ลองบอกดิ ให้กลับบ้านแล้วเอาเครื่องรางของขลังทิ้งออกนอกบ้านให้หมด ทิ้งลงน้ำให้หมด กล้ามั้ยล่ะ


โยม –  ไม่กล้า  

พระอาจารย์ –  เออ แต่เราก็ไม่บอกให้ทำหรอก เข้าใจมั้ย ...คือเราเปรียบเทียบให้ฟังว่า..เมื่อพวกเราไปให้ค่าอะไรมากแล้วนี่ เวลาจะสละออกนี่...กลัว ด้วยซ้ำ  


โยม –  ยากด้วย

พระอาจารย์ –  ก็ของดีอ่ะ ทิ้งไม่ได้ ไม่กล้าทิ้ง ใช่มั้ย ก็มันติด ...ไปไหนไม่ได้ ก็มันติดดีนี่แหละ  


โยม  แต่หลวงพ่อครับ เอาความกลัวนี่...สละให้คนอื่นได้นะ (หัวเราะกัน)

พระอาจารย์ –  อือ ก็เหมือนกับไม้ผลัดน่ะ


โยม –  หลวงพ่อคะ แล้วอย่างที่เป็นรูปเหมือนรูปที่ควรบูชานี่ บางทีเป็นรูป...อย่างปฏิทินนี่

พระอาจารย์ –  ก็เผาทิ้งไปเถอะ 


โยม –  ถ้าเราก็คิดว่า เออ มันเป็นกระดาษนี่ ก็ลงไปเลย 

พระอาจารย์ –  อย่าไปคิดมาก ...คือตั้งแต่หลวงปู่มั่น ตั้งแต่หลวงตาบัวแล้ว เข้าใจมั้ย บางคนก็กลัวนะ ถ้ามาเผา ...นั่น เราก็เผาด้วยความเคารพสิ


โยม  สาธุค่ะ 

พระอาจารย์ –  ก็ถ้าไม่เผาแล้วเกิดไปเป็นขยะ จะถูกเหยียบด้วยซ้ำนะ ใช่มั้ย ...ก็เผาด้วยความเคารพซะเลย เผาซะจะดีกว่าให้คนมาเหยียบย่ำ ถ้าเขาไม่นับถือ

แม้จะเป็นรูปพระรูปอะไรก็เถอะ เวลาเผาแล้วถือว่าเราเผาด้วยความเคารพ ไม่ได้เผาเพราะดูหมิ่นหรือว่าเผาเพราะอย่างอื่น 

คือจิตน่ะมันชอบหาเรื่องอยู่แล้ว เข้าใจมั้ย หาเรื่องบุญ หาเรื่องบาปใส่ตัวเองอยู่แล้ว ...แต่ถ้าไม่คิดด้วยอุบายอะไร เผาคือเผา..จบ ไม่รู้สึกอะไรเลยแต่ประการใด คือนั่นแหละจิตหนึ่ง...มีแต่พระอรหันต์น่ะทำได้ 


โยม –  โยมก็คิดว่า เออ ก็เป็นของที่ใช้แล้ว 

พระอาจารย์ –  ดีกว่าเป็นขยะ เข้าใจมั้ย  อย่าให้เป็นขยะ ถ้าเป็นขยะแล้วมันจะถูกเหยียบย่ำ แล้วตัวเองก็จะมีความรู้สึกผิดด้วย เพราะว่าเรายังวางไม่ลง มันจะวางไม่ลง  เพราะนั้น เผาซะ..ด้วยความเคารพ  


(ต่อแทร็ก 9/29  ช่วง 3)



วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 9/29 (1)


พระอาจารย์
9/29 (560101C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
1 มกราคม 2556
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  3  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  พวกเด็กๆ ฟังกันไป เหมือนกับหว่านพืช เราไม่หวังผลอะไรหรอก   


โยม –   หนูก็ไม่เด็กแล้วนะคะ นี่หนูก็จะปาเข้าไป...ครึ่งทางแล้วค่ะ 

พระอาจารย์ –  คือเมล็ดพันธุ์นี่ ธรรมะที่ได้ยินได้ฟังเราไปนี่คือเมล็ดพันธุ์ เหมือนข้าวพันธุ์ดี เป็นข้าวที่ไม่ลีบไม่เล็ก แล้วก็ไม่แคระแกน ไม่มีโรคมีภัย ...เพราะเป็นสัจจะ

เพราะนั้นเมื่อเป็นเชื้อพันธุ์ที่ดี มันหว่านเข้าไป...ผ่านหู ลงไปที่ใจ ลงไปที่จิตแล้วนี่ จะงอกหรือไม่งอก ไม่ได้อยู่ที่เมล็ด...เมล็ดน่ะไม่ตายอยู่แล้ว เพราะเมล็ดนี่พันธุ์ดี

นั่น มันอยู่ที่เนื้อนา ที่ดิน กายใจของตัวเอง เราหว่านเราไถ เราปรับปรุงคุณภาพดีขึ้นมั้ย

เพราะนั้นตัวอุปกรณ์ที่จะหว่านไถทำเนื้อดินให้รองรับกับเมล็ดกล้าที่ให้เติบโตมาเป็นผล คือศีลสมาธิปัญญา คือการทำนาบุญของตัวเอง ...ตัวกายใจนี่คือเนื้อนาบุญ

แต่ว่าถ้ามันเป็นเนื้อนาที่ไม่ดี เป็นเนื้อนาที่เลว หว่านไว้เมล็ดไม่ตาย แต่ไม่งอก ถึงงอกก็แกร็น ไม่โต เพราะนั้นว่า จะไปโทษเมล็ดไม่ได้ ...โทษที่นาไม่ดี


โยม  แต่คนมักจะไปคิดว่าเป็นที่เมล็ด

พระอาจารย์ –  ใช่ มันก็เป็นอย่างงั้นกัน ...ก็คือธรรมทั้งหลายทั้งปวงดีอยู่แล้ว เป็นสัจจะ  แต่ว่ามันดูแลไม่เป็นเอง แล้วก็ไปโทษนั่นโทษนี่ ...ดีไม่ดีโทษครูบาอาจารย์ไปอีก  


โยม –  ใช่ 

พระอาจารย์ –  แต่ถ้าเรากลับมาสำรวจตัวเองว่า ศีลมีมั้ย พอดีกันมั้ย น้ำดีน้ำชุ่ม อากาศดี มันสัปปายะ ภายในพอดีกันมั้ย  หรือมันขาดมั้ย มันแห้งแตกระแหงเพราะอะไร

ก็ดูไปสิ ศีลมีมั้ย สมาธิมีมั้ย ปัญญามีอยู่มั้ย เพราะนั้นดูตั้งแต่เบื้องต้นกันนี่...เราดูแล้วไม่เจอใครมีศีลเลย เพราะนั้นเราก็ต้องพูดซ้ำซากๆ ถึงการรู้ตัวที่เดียว

ถ้าไม่มีการรู้ตัวที่เดียวนี่ มันแข็งกระด้าง เหมือนดินนี่แข็งกระด้าง ...เมื่อมันกระด้างแล้วนี่ จะเอาอะไรหว่านโปรย มันก็ไม่งอก ...มันแล้ง มันแข็ง

แต่ว่าพอดินอ่อนดินชุ่ม เพราะขันน้ำเข้า ...นี่ปรับพื้นดินนะ คือศีลน่ะ คือรากฐานเลย ใส่น้ำลงไปๆๆ พอดินดี ดินนุ่ม นุ่มแล้วเดี๋ยวก็จะแห้ง    
   

โยม –  ต้องเติมปุ๋ย

พระอาจารย์ –  ยัง ต้องย่ำเทือก...ให้ดินมันเละ ให้มันเป็นโคลน ให้มันอ่อนนุ่มจนที่ว่าปักดำได้...ให้ทั่วเลย ให้ทั่วผืนนา ทั่วแปลงก่อน จึงจะปักกล้า ปลูกกล้าได้

ตรงนั้นน่ะ...พอดี เกิดความพอดีของศีลแล้ว เกิดความเต็มพร้อมของศีล


โยม  แต่เดี๋ยวนี้การศึกษามันทำให้เด็กไม่มีตรงนี้เยอะ เพราะเหมือนแข่งกันเรียน แข่งกันอะไร จนรู้สึกว่าปัจจุบันทำไมมันถึงได้ขนาดนี้  

พระอาจารย์ –  มันเป็นวัฏฏะ มันเป็นวัฏจักร มันเป็นความขึ้นลง เสื่อมขึ้น-ดีลง ดีขึ้น-เสื่อมลง

แต่ก่อน สมัยก่อน ในโลก...อย่าว่าแต่พวกเรายุคเราดีกว่า ยุคก่อนนู้นดีกว่านี้เยอะก็มี ดีกว่ายุคเราด้วย  แล้วก็เสื่อมลงมา แล้วเดี๋ยวก็จะดีขึ้นมาใหม่ ...นี่คือวัฏจักร

พระอาทิตย์ก่อนที่จะเที่ยงวัน มันมายังไง มันมาจากความมืดก่อน แล้วก็ค่อยขึ้นมา ฉายแสง ทอแสง พอเริ่มจะทอแสง แล้วก็จะเริ่มส่องสว่างเต็มที่เต็มกำลัง แต่ว่าสุดท้ายนั้นก็โรยแสง โรยราลง

อันนี้เป็นวัฏจักร อันนี้คือกฎธรรมชาติ ที่ไม่มีใครบังอาจไปเปลี่ยนแปลงได้ ไม่มีใครบังอาจไปฉุดรั้งได้ ไม่มีใครบังอาจไปควบคุม เหนือกว่ามันได้ 

มีบังอาจอยู่ตัวเดียวคือจิตผู้ไม่รู้ บังอาจ ...เพราะมันบังอาจ มันจึงทุกข์ มันไม่น้อม มันไม่ยอมรับ มันไม่อ่อนน้อมต่อธรรม จิตมันอหังการ อวดดี อหังการ

แต่ถ้าอ่อนน้อมต่อธรรม นอบน้อมต่อธรรม...ร่มเย็น ยอมรับแต่โดยดี จงยอมรับทุกสิ่งทุกอย่างแต่โดยดี โดยไม่มีปากไม่มีเสียง ไม่มีหือ ไม่มีอือ

จิตน่ะมันคอยแต่จะหืออืออยู่เรื่อย แนะเป็นภาษา เป็นคำพูด เป็นวลี ใช้อาศัยสมมุติน่ะมาเป็นความเห็น บัญญัติขึ้นว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ปุ๊บเลย

เห็นอะไรได้ยินอะไร ปุ๊บเลย จิตน่ะมันปั๊บๆๆๆ วิจารณ์เลย ให้ค่าปั๊บๆๆ เป็นสมมุติภาษาเลย แล้วแต่ว่าจะเอาถูกเอาผิด ก็สมมุติว่าถูก สมมุติว่าผิดขึ้นมาแล้ว

บอกแล้วว่า...สมมุติว่าถูก สมมุติว่าผิด ก็ชื่อก็บอกแล้วว่าสมมุติขึ้นมาว่าถูก ...ก็ถ้าไม่อาศัยสมมุติภาษา มันก็ไม่มีสมมุติถูก ก็ไม่มีสมมุติผิด

แต่ก็กว่าที่มันจะเห็นรายละเอียดเหล่านี้ได้ บอกแล้วว่าต้องย่ำเทือก


โยม –  ย่ำเทือก?

พระอาจารย์ –  รู้อยู่ที่นี้ที่เดียว...ที่นี้ที่เดียว ซ้ำๆ นี่เรียกว่าย่ำเทือกมั้ยล่ะ ...ไม่ต้องไปหาที่อื่น ไม่ต้องไปทำที่อื่น ลงแปลงเดียว นามีคนละหนึ่งกระบิ คือหนึ่งกว้างคืบยาววาหนาศอก

นี่คือที่นา ย่ำมันเทือก ให้มันทั่วเลย  นั่นแหละมันจึงจะเห็นรายละเอียดที่มันลึกลับซับซ้อนจนดูเหมือนกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน  มันก็จะเห็นเลยว่า...ไม่ใช่  คนละเนื้อกัน มันเป็นส่วนๆ

นามส่วนนาม รูปส่วนรูป เวทนาส่วนเวทนา ขันธ์ส่วนขันธ์ จิตส่วนจิต ใจส่วนใจ อารมณ์ส่วนอารมณ์ กิเลสส่วนกิเลส เสียงส่วนเสียง กลิ่นส่วนกลิ่น ...คนละเรื่องกันหมดเลย ไม่ใช่อันเดียวกัน

นี่ มันแยก เกิดการจำแนกออก เพราะรายละเอียดที่มันย่ำเทือก มันละเอียดอยู่ภายใน เกิดความละเอียดรอบคอบ ถี่ถ้วน มนสิการ มีความแยบคายขั้นลึกซึ้ง อย่างลึกซึ้ง

เพราะนั้นในปัญญาขั้นแรกๆ เรียกว่าปัญญาขั้นหยาบๆ นี่ หยาบขนาดไหน ขนาดที่ว่า...นั่งแล้วรู้ว่านั่งนี่ถือว่าหยาบที่สุดแล้ว แต่ว่าเป็นต้นทางของปัญญา

บอกแล้วไงว่าแค่รู้ตัว ปัญญาก็เกิดพร้อมอยู่แล้ว แต่ว่าเป็นปัญญาขั้นหยาบๆ

แต่ถ้าย่ำๆๆ ปุ๊บนี่ ปัญญาละเอียดขึ้นตาม ยกระดับของปัญญาขึ้นมาๆๆ ถึงขั้นถอดรูปถอดกาย ถอดจิตถอดใจ ถอดออกจากกัน ไม่ปนเปื้อนกัน


โยม –  กายานุสติ ให้มาดูกาย ...แต่คงยังก้าวไม่ถึงขนาดนั้น ต้องรู้ตัวเองให้มากกว่านี้ก่อน ต้องย่ำวันนี้ก่อน   

พระอาจารย์ –  เราบอกให้อย่างว่า...กายเดียว  มีกายเดียว ไม่มีกายที่คิด  กายเดียว...กายปัจจุบัน เอาแค่กายเดียว ...อย่านึก    


โยม –  ไม่ค่ะ ไม่นึก  

พระอาจารย์ –  อย่าเอามานึก เดี๋ยวจะสับสนในกาย ...ถ้าหลายกายขึ้นมาแล้วมันจะเกิดการเปรียบเทียบกาย แล้วมันจะเกิดวิธีการ แล้วก็หลากผลขึ้นมา มันจะมีผลที่แตกต่างขึ้นมา

แล้วมันจะเกิดการเปรียบเทียบ แล้วมันจะเลือกและก็ไม่เลือก แล้วมันจะเกิดการให้ค่า แล้วก็ว่าถูก แล้วก็ว่าผิด แล้วก็ว่าควร แล้วก็ว่าไม่ควร แล้วก็ว่าใช่ แล้วก็ว่าไม่ใช่

เอาให้เหลือกายเดียว ไม่ต้องไปเลือก อย่าให้มีตัวเลือก ...ตัวเลือกที่มันขึ้นมาน่ะ จิตสร้างขึ้นทั้งนั้น  แม้จะเป็นอสุภะ ก็จิตสร้างอสุภะขึ้น ...ในความเป็นจริงตรงนี้เห็นมั้ยอสุภะ เห็นแต่ความรู้สึกในกายใช่มั้ย  


โยม  ใช่   

พระอาจารย์ –  นั่นแหละคือกายเดียว มันมีจริงๆ กายเดียวนี้เท่านั้น

แล้วการรับรู้ต่อกายเดียวนี้ ก็รับรู้ในลักษณะสามัญธรรมดา ไม่ลึกซึ้งกว่านี้ๆ  ไม่ลึกกว่านี้ แล้วก็ไม่ตื้นกว่านี้  ตรงนี้จึงเรียกว่า...พอดี พอดีกาย พอดีจิต พอดีกาย พอดีรู้

แต่ถ้าบีบ ถ้าคั้น ก็จะไปถึงอสุภะได้ เพราะนั้นการจะเข้าไปเห็นอสุภะ อย่างที่เห็นตามภาพ มันจะต้องบีบคั้นจิต ให้มันสร้างรูปอสุภะขึ้นมาทาบตัวนี้อีก

แต่เป็นกายที่เกิดจากจิตบีบคั้นหรือปรุงแต่งให้เกิดรูปนิมิตหรือกายนิมิตนี้ขึ้นมา โดยเข้าใจและหมายมั่นว่ากายนิมิตนี้ จะทำให้ราคะนั้นหาย หรือไม่กำเริบ หรืออาจจะเข้าใจว่ากายที่แท้จริงคืออะไรได้มากขึ้น

นี่ มันจะมีการหมายผลนั้นแล้ว ใช่มั้ย ...ซึ่งจริงๆ น่ะเราไม่ปฏิเสธหรอก กายอสุภะนี่ไปดูเอาเหอะ..ถ้าเป็นเมื่อร้อยปีก่อนน่ะดูไป แต่เดี๋ยวนี้อย่าดูเลย เดี๋ยวจะสับสน

เพราะกำลังจิตของพวกเรานี่ ไม่ใช่ระดับหลวงตาหลวงปู่ครูบาอาจารย์ ไม่ใช่ระดับคนในยุคห้าสิบ-ร้อยปีก่อน ...มันแทบจะคนละโลกแล้ว มันคนละโลกกันแล้ว

จิตสมาธิ จิตสมถะ จิตตั้งมั่นของพวกเรานี่ ไม่มีทางที่จะบีบคั้นจนถึงอสุภะได้ต่อเนื่อง มันจะได้แค่แวบๆ หาย...แวบๆ หาย แล้วจะท้อ นั่น พอท้อแล้วจะเบื่อ

แล้วก็จะปรามาสธรรมแล้ว จะเกิดการปรามาสธรรม ปรามาสสิ่งที่ท่านพูดแล้ว ...ซึ่งจริงๆ ตัวเองทำไม่ถึงเอง ทำไม่ได้เองน่ะ  เพราะมันคนละโลก เหตุปัจจัยสมัยนี้ไม่เอื้อ มันไม่เอื้อ

เอากายเดียว ใครจะว่าโง่ ใครจะว่าไปไม่ถึง ใครจะว่าละราคะไม่ได้ ใครจะว่าไม่เข้าถึงที่สุดของกาย ...อย่าฟัง อย่าเอาจิตออกมาฟัง อย่าเอาจิตออกมาจำ ไอ้ที่เคยจำก็ล้างออก


โยม –  มันไม่ออก    

พระอาจารย์ –  ไม่ออกก็เฉยๆ ไม่สนใจ ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ เขาเรียกว่า “วางเฉย” ซะ วางเป็นกลางๆ ซะ      


โยม –  หลวงพ่อครับ จิตที่นึกหรือสติที่นึก 

พระอาจารย์ –  สติก็คือจิตตัวหนึ่ง เจตสิก  ความคิดก็คือจิตตัวหนึ่ง ก็เรียกว่าเจตสิก  สมาธิก็คือจิตอย่างหนึ่ง ก็เรียกว่าเจตสิก ...ทั้งหมดนี่คืออาการของจิตหมด แต่อาการของจิตมีทั้ง กุศลจิต อกุศลจิต อัพยากฤต

จิตที่เป็นลักษณะที่เรียกสมมุติว่า “สติ”  จิตที่เป็นลักษณะที่เรียกสมมุติว่า “สมาธิ”  จิตที่เป็นลักษณะที่เรียกสมมุติว่า “ปัญญา” ก็คือเจตสิกที่เป็นกุศล มหากุศล แล้วมีหน้าที่ในการทำความรู้ความเห็นตามความเป็นจริง

แต่เจตสิกส่วนที่เป็นอกุศล เจตสิกตัวที่เป็นความฟุ้งซ่าน โลดแล่นออกไป นอกเหนือก้อนนี้กายนี้ปัจจุบันนี้ ...เจตสิกเหล่านั้น เป็นเหตุให้เกิดความหมุนวน ไม่จบและสิ้น

ก็คือเจตสิกเหมือนกัน กลุ่มเดียวกันหมด แต่ว่าทำงานคนละหน้าที่ ...โดยจิตทั้งหลายทั้งปวงนี้ ออกมาจากใจผู้รู้...ที่เป็นประธาน เป็นฐาน

เพราะนั้นที่เราพูดนี่ เราจะแยกไม่เหมือนกันระหว่าง..จิตกับใจ ... จิต-ไปมา..เคลื่อน  ใจ-อยู่ รู้...ไม่เคลื่อน ...นี่ ไม่เหมือนกัน


(ต่อแทร็ก 9/29  ช่วง 2)