วันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 9/19 (1)


พระอาจารย์
9/19 (551219D)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
19 ธันวาคม 2555
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งโพสต์เป็น   3  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  การปฏิบัติน่ะ...ที่มันไม่ได้ไปไหนกันน่ะ เพราะจิตมันไป ...แต่ว่าศีลสมาธิปัญญามันไม่ไป 

มันเลยรู้สึกว่าปฏิบัติมาแทบตาย ยังไม่เห็นไปไหนเลย ...เพราะมันไปแต่จิต...ล่วงหน้าบ้าง ลับหลังบ้าง ...แต่ว่าศีลสมาธิปัญญานี่ไม่ได้เพิ่มเติมเลย


โยม –  อาจารย์ ...จิตมัน ธรรมชาติมันต้องไปอยู่แล้ว

พระอาจารย์ –  สันดานมันน่ะ คือความไม่รู้ ...คือธรรมชาติของจิต ต้องเข้าใจนะ ว่าธรรมชาติของจิต คือธรรมชาติของจิตผู้ไม่รู้...มันมีอาการไปมา

แต่ว่าธรรมชาติของจิตที่แท้จริงคือธรรมชาติของใจ ที่ไม่ไปไม่มา ...มันมีอยู่สองอาการ


โยม –  แต่ถ้าจะให้รู้ต้องมาฝึกใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  ต้องฝึก เหมือนเด็กน่ะ ...ถ้าคนมีลูกแล้วเลี้ยงลูกมาจะรู้  ถ้าไม่สอนมัน ถ้าไม่ด่า ไม่เตือนมัน มันจะได้ดีมั้ย

มันคงไม่ดีเองหรอก มันไม่รู้ถูกรู้ผิดหรอก มันไม่รู้จัก...อันไหนเป็นคุณ อันไหนเป็นโทษหรอก ...เพราะนั้นถึงได้ต้องมาอบรมจิต อบรมให้จิตมันอยู่ในที่ที่ควรอยู่

ที่ไหน...ที่นี้ ...ไม่ใช่ที่นั้น ไม่ใช่ที่โน้น ...แต่ไอ้ที่นั้นที่โน้นน่ะไม่ต้องอบรมหรอก มันไปเอง

นี่คือธรรมชาติของจิตผู้ไม่รู้ หรือว่าธรรมชาติของเด็กดื้อ ที่ไม่ได้อบรม ...แล้วเราขาดการอบรมมานับภพนับชาติไม่ถ้วน จิตจึงเกิดภาวะที่เรียกว่า แข็งกระด้าง ดื้อด้าน เอาแต่ใจตัวเอง

เนี่ย คืออาการของธรรมชาติของจิต  นี่ก็เรียกว่าธรรมชาติของจิต...แต่ไม่ยอมพูดให้จบว่า จิต...ผู้ไม่รู้

คนก็เอาง่ายๆ ว่าก็มันธรรมชาติของจิตอยู่แล้วน่ะ ...นี่ มันง่ายเกินไป...มันมักง่ายเกินไป ก็เลยอยู่ใต้อำนาจของมัน ใต้อำนาจของจิต เพราะว่ามันเป็นธรรมชาติของมันเอง

ธรรมชาติของเด็กดื้อเป็นไง ...อย่างที่แว้นไปแว้นกันมาอยู่ในบ้านเมืองนี่ ไม่พอใจ...ตบ ไม่พอใจ...ตีกัน มีแต่ก่อเรื่องใช่มั้ย ...มันไม่ได้อบรมน่ะ

จิตที่ไม่ได้ถูกอบรมนี่ มันก็ก่อเวรก่อกรรม ก่อทุกข์ก่อสุข ก่อร่างสร้างภพ ก่อแต่เรื่องก่อแต่ราว ...ด้วยความที่ว่าภูมิอกภูมิใจด้วยซ้ำ

เด็กตีกันน่ะมันภูมิใจนะ ใครตีกันมากกว่ากันนี่มันยกย่องกันน่ะ นั่นน่ะด้วยความเห็นผิดใช่มั้ย ...ไอ้เราเข้าใจแล้วน่ะ ก็โตแล้วก็รู้น่ะว่ามันไม่ถูก ไอ้เด็กมันคิดอย่างนี้มันคิดผิดมันเห็นผิด

แต่ไอ้เด็กตอนนั้นมันบอกว่ามันถูกอ่ะ แล้วก็ได้รับการยกย่องสรรเสริญในหมู่กันเอง มันก็เกิดความเชื่ออย่างนั้นขึ้นมา แล้วมันก็ไม่ออกจากสันดานนั้น ...เห็นมั้ยว่าธรรมชาติของจิตที่ไม่จริงนี่

แต่ว่าธรรมชาติของจิตที่แท้จริงนี่ คือไม่ไปไม่มา ...นั่นแหละใจ ใจนั่นแหละเป็นโคตร เป็นที่ตั้ง เป็นฐาน ใจนี้เป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ทุกอย่างสำเร็จด้วยใจ

แต่ถ้าเราไม่เรียนรู้ ถ้าไม่ฝึกจิต จะไม่เห็นใจ จะไม่เข้าถึงใจ ...เพราะนั้นการที่จะเข้าถึงใจนี่ พูดน่ะมันง่าย นึกๆ คิดๆ ก็เออ ก็แค่รู้ก็แค่เห็น ก็ง่ายดี

แต่เวลามาลงภาคปฏิบัติ มันเข้าไม่ถึงได้ง่ายๆ อย่างนั้น ...โอ้ย ถ้ามันเข้าถึงใจได้ง่ายๆ อย่างนั้น พระโสดาบันนี่เต็มโลกแล้ว ...เห็นแต่ตะบันกันไปก็ตะบันกันมาอยู่นี่


โยม –  แต่สมัยพุทธกาล ฟังเทศน์ของพระพุทธเจ้าแล้ว เขาบอกว่าหลายๆๆ เลย

พระอาจารย์ –  ก็ใช่ ก็เขามีปัญญา เขาไม่คิดมาก เขาไม่สงสัยมาก เขาไม่ถามมาก เขาไม่อ่านมาก เขาไม่รู้มาก เขาไม่เกิน เข้าใจมั้ย

เดี๋ยวนี้มันรู้มาก อ่านมาก ปฏิบัติก็มากด้วย...แต่ผิด ผิดหมดเลย ...มันก็เลยฟังแล้วก็ฟังอีกๆ กูยังไม่สำเร็จซะที (โยมหัวเราะกัน)


โยม –  เขาบอกอันโน้นแบบนี้ อันนี้แบบนี้ มันมีหลายแบบ

พระอาจารย์ –  ใช่มั้ย สงสัยมั้ย


โยม – (หัวเราะ) ก็เลยไม่รู้แบบไหนมันถูกต้อง

พระอาจารย์ –  ฟังมาก สงสัยใช่มั้ย  ปฏิบัติหลายแบบ สงสัยมั้ย

มันก็คงไม่ได้นิพพานหรอกด้วยการฟัง ...เพราะว่ามันคาแค่ความสงสัย แล้วออกจากความสงสัยไม่ได้ ออกจากความรู้ที่เคยรู้ไม่ได้ ออกจากความเห็นที่เคยมีความเห็นเหล่านั้นไม่ได้

ถ้าไปเทียบกับสมัยพุทธกาลน่ะเอ้า พระไตรปิฎกก็ไม่มี ซีดี-เทปก็ไม่มี  เขียนยังไม่เป็น อ่านก็ไม่ออก  เขาชวนให้ไป ว่าไปฟังธรรมกัน ก็เฮโลกันไป ไม่ได้รู้เลยอะไรเป็นอะไร

พอพระพุทธเจ้าสอนอะไร ก็ด้วยความไม่รู้อะไร...ก็ฟังตาม พิจารณาตาม แล้วก็ทำตามตรงนั้น มันก็จบตรงนั้น มันไม่ได้เยิ่นเย้ออะไรนี่

ของพวกเรามันไม่อย่างนั้นน่ะ ฟังแล้วยังคิด คิดไปคิดมา ตอนนี้ก็ยังคิดเลย เปรียบเทียบ หานั่น หานี่ ..."ใช่รึเปล่านะ อย่างนั้นรึเปล่านะ เคยได้ยินมาน่ะ"

นั่น ตายแล้ว ...ตายกับจิตแล้ว ตายกับความสงสัย ตายกับความลังเลแล้ว ...หวั่นไหวไปมา ด้วยตัวของตัวเองนั่นแหละ

ต้องฝึกไง ...มันถึงต้องผ่านร้อนผ่านหนาว เคี่ยวกรำ อบรม บ่มศีล บ่มสมาธิ บ่มปัญญา บ่มอินทรีย์ ...มันก็ต้องกินเวลาหน่อย เพราะปฏิบัติอยู่ท่ามกลางความโง่มานาน

โทษใครไม่ได้เลย อยากมาเกิดเมื่อ พ.ศ. 2500 กว่าทำไม (โยมหัวเราะกัน)


โยม –  ถ้าเป็นยุคพุทธกาล ไปนิพพานหมดแล้ว

พระอาจารย์ –  ก็ไม่แน่นะ เราจะไปเชื่อความคิดเองไม่ได้ ...นี่แค่สองพันห้าร้อยนะ ถ้าไปเกิด พ.ศ.4890 ล่ะ


โยม – (หัวเราะ) เกือบจะหมดยุค

พระอาจารย์ –  เอ้า ถ้าไปเกิด พ.ศ.นั้น จะทำยังไง


โยม –  โอ้โห หนักกว่านี้อีกใช่ไหม มันจะยิ่งอะไรไม่รู้อะไร

พระอาจารย์ –  ขนาดว่าปีสองพันห้าร้อยนี่ ยังงงไปงงมาอยู่นี่ ...เพราะมันหลายอาจารย์เหลือเกิน ธรรมะก็หลายแขนง

เดี๋ยวก็หนอบ้าง เดี๋ยวก็ดวงแก้ว เดี๋ยวก็พุทโธ เดี๋ยวก็อสุภะ เดี๋ยวก็มหาสติ เดี๋ยวก็สัมมาอรหัง เดี๋ยวก็ไปนะมะพะธะ เดี๋ยวก็ถือธุดงค์


โยม –  ก็นั่นสิคะ คนก็เลยงงกันไปหมด

พระอาจารย์ –  ก็บอกแล้ว อยากมาเกิดสองพันห้าร้อยปีทำไม (หัวเราะกัน) ...เพราะฉะนั้นน่ะ มันก็ต้องอาศัยการอบรมมากๆ เราถึงมานั่งพูดจนปากเปียกหูห้อยนี่ (โยมหัวเราะว่า “สาธุ”)

เพราะอะไร ...เพื่อชี้แจงความหมายของคำว่า ศีลคืออะไร สมาธิคืออะไร ปัญญาคืออะไร...ให้เข้าใจก่อน ...มันจะได้เกิดความปฏิบัติดี ปฏิบัติตรง และปฏิบัติชอบ

ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็มาตาม ...เอ้า เขาให้นั่งก็นั่ง เขาให้นั่งนานๆ ก็นั่งนานๆ ...เราถามว่านั่งทำอะไรวะ มันยังตอบไม่ได้เลย ...อย่าว่าแต่เราถาม ตัวเองมันยังตอบตัวมันเองไม่ได้เลยว่านั่งทำไม แล้วจะได้อะไร

ศีลอยู่ไหน...ไม่รู้  สมาธิล่ะคืออะไร...ไม่ทราบค่ะ  ปัญญาล่ะ...เดี๋ยวรอไปเดี๋ยวมันคงเกิดเอง อย่างเนี้ย 

อยากมาเกิด 2500 ปีทำไม ...เพราะนั้นมันจะต้องเจอสภาพนี้อยู่แล้ว เลี่ยงไม่ได้ ...ไม่มีใครเก่งกว่าใครหรอก เจอกันอย่างนี้ทุกคนแหละ 

เรายังเจอเลย เราก็เป็น ไม่ใช่ไม่เป็น ...ก็ถึงมาบอกไง เพราะเคยเป็นมาแล้ว ก็มาเตือน มาบอกว่า...การปฏิบัติที่แท้จริงคืออะไร ... วิธีการปฏิบัติน่ะ...ไม่มี ...มีแต่หลัก


โยม –  ก็ขอหลักของท่านอาจารย์

พระอาจารย์ –  ก็พูดอยู่เนี่ย


โยม – (หัวเราะกัน) ศีลสมาธิปัญญา

พระอาจารย์ –  ก็หลักศีลสมาธิปัญญา ...ก็บอกแล้วว่าศีลก็คือกาย ปัจจุบันกายก็คือศีล ปกติกายก็คือปกติศีล ก็แค่เนี้ย

แล้วใครล่ะรักษาศีลน่ะ ก็สติไง ...ก็ถ้าไม่มีสติ จะมีกายปัจจุบันมั้ย  เพราะนั้นถ้าไม่มีสติก็ไม่มีผู้เข้าไปรักษาศีล ...เพราะนั้นสติจึงเป็นผู้เข้าไปทำศีลให้งอกงามขึ้น

เพราะนั้นถ้าประกอบเหตุแห่งศีลให้งอกงาม สมาธิก็งอกงามตาม ...เพราะศีลนี้เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดสมาธิ และสมาธิจึงจะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดปัญญา

เพราะนั้นถ้าอยากได้ปัญญาก็ต้องถามว่า มีศีลรึยัง ...ถ้าอยากได้ปัญญาก็ต้องถามว่าตัวเองน่ะอยู่ในองค์ศีลมั้ย

ถ้าเป็นคนมักน้อยที่ว่ายังไม่เอาปัญญา ถามว่าสมาธิมีรึยัง ...ก็ต้องถามว่าศีลมีรึยังอีกเหมือนกัน ไม่เป็นอื่น เพราะสมาธิหรือปัญญามันต้องเนื่องด้วยศีล


โยม –  ศีลนี่ทำให้สงบใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  ศีลเป็นเหตุให้เกิดสมาธิ สัมมาสมาธิ ...เราไม่ได้พูดว่า “สงบ” นะ ...เห็นมั้ย ขนาดฟังมันยังเอาไปผิดเลย


โยม – (หัวเราะ) คาบเกี่ยวต่อเนื่องกันรึเปล่าคะ

พระอาจารย์ –  ไม่เกี่ยว ก็บอกแล้ว...ฟังนะ "สมาธิหรือจิตตั้งมั่น" ...เราไม่ได้บอกว่าศีลเป็นเหตุให้เกิดความสงบนะ

เนี่ย เพราะมาเกิดสองพันห้าร้อยปี (โยมหัวเราะกัน) ...ขนาดฟังกับหูเนี่ย จิตมันยังเคลื่อนออกไปด้วยความจำว่า “สงบ” เลย

เห็นมั้ย แค่ผิดแค่สมมุติบัญญัตินึงนี่ ความเห็นคลาดเคลื่อนหมดเลย...เกิดความคลาดเคลื่อน แล้วจะน้อมนำให้การปฏิบัติในองค์มรรคนี่เคลื่อนออกไปเลย บอกให้


(ต่อแทร็ก 9/19  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น