วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 9/23 (1)


พระอาจารย์
9/23(551229D)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
29 ธันวาคม 2555
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –   คำว่าฌาน ...ไม่ใช่ฌานหนึ่ง สอง สาม สี่ อย่างที่เราเข้าใจกันนะว่าฌานคือมีองค์ห้าองค์สี่องค์สามองค์สององค์หนึ่ง ที่สุดเหลือคืออุเบกขาอะไรอย่างนี้

ฌานในความหมายนี้คือความเพียรเพ่ง...เพียรเพ่งในสิ่งหนึ่ง ...ไอ้สิ่งหนึ่งของท่านสำหรับฌานที่เป็นฌานในพุทธศาสนา...คือกาย คือศีล

เพียรเพ่งอยู่ในศีล...ในกายปัจจุบัน ...อาศัยจิตที่จดจ่อและเพียรเพ่ง เรียกว่า อาตาปี ...ตรงนี้คือฌาน คือความหมายของฌานที่จะให้เกิดปัญญา

ไม่ใช่ฌานแบบโง่ๆ จมแช่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง หรือจมเพื่อให้เกิดความสงบหรือว่าที่สุดคืออุเบกขา...ไม่ใช่ ...แต่ท่านให้เพียรเพ่ง อาตาปีในกายเดียว ตรงนี้เรียกว่าเป็นฌานวิสัย

เพราะนั้นผู้ที่มีฌานจึงเป็นผู้ที่มีปัญญา ผู้ที่มีปัญญาก็คือผู้ที่มีฌาน ...เห็นมั้ย ถ้าเราไม่เข้าใจ จะไปตีความฌานนี่เป็นอีกลักษณะหนึ่ง แล้วยังจะมาต้องไล่ลำดับหนึ่งสองสามสี่

แต่ฌานจริงๆ คืออาการเพียรเพ่งอยู่ในที่เดียว ...ซึ่งที่เดียวนี่คือสิ่งที่มันมีอยู่แล้ว ไม่ต้องไปสร้าง หรือไปสร้างอุบายขึ้นมาเพียรเพ่ง เข้าใจมั้ย  ของที่มันมีอยู่แล้ว เป็นธรรมที่ปรากฏอยู่แล้ว

แล้วเอาจิตจดจ่อเพียรเพ่งอยู่ในสิ่งที่มันมีอยู่แล้ว ที่พระพุทธเจ้าบอก กรอบของฌาน กรอบของโลกุตตรฌานคือศีล...จึงเป็นกรอบที่จะให้เกิดโลกุตตระฌาน

แต่ถ้าไปเอาอันนั้นอันนี้มากำหนดอย่างนั้นอย่างนี้ขึ้นมา เป็นกสิณบ้าง แม้แต่ลมหายใจบ้าง ...ถ้าไปเพียรเพ่งด้วยความที่เรียกว่าไม่ฉลาดในอุบาย ไม่เข้าใจ มันก็จะเข้าไปในฌานฤาษีหมด

นี่คือเข้าไปในฌานที่เป็นโลกียวิสัย เป็นฌานโลกีย์ ...เพราะนั้นถ้าเข้าฌานโลกีย์แล้ว เดี๋ยวมันส์ เดี๋ยวมีของเล่น มีของให้เล่น แล้วก็มีของที่จะให้เล่นอีกเยอะ ...มันจะมีอะไรอีกเยอะแยะตามมา

แต่ถ้าเป็นฌานโลกุตตระนี่ ฌานที่เป็นฌานในพุทธะ ท่านให้เพียรเพ่งอยู่ในก้อนศีลก้อนปัจจุบัน ...มันจะยิ่งหดและสั้น ไม่มีเรื่อง หมดเรื่อง เรื่องน้อยลง แล้วก็มันจะมีจุดจบ มันจะมีคำว่าจบในตัวของมันเอง

แต่พวกนี้เป็นภาษานะ ไม่ต้องไปคิดมาก ที่พูดเพราะเราเห็นคนอื่นเขาพูดกันว่าต้องได้ฌานอย่างงั้นอย่างงี้ ต้องมีกำลังของฌาน ต้องมีความสงบในระดับที่เป็นอัปปนา จึงจะเข้าถึงมรรคสมังคี อะไรอย่างนี้

คือเผอิญว่ากูเคยทำแล้วกูยังไม่รู้เลยว่ากูเป็นมรรคสมังคีตอนไหน กูยังไม่รู้เลยมันรวมอัปปนาหรือไม่อัปปนาตอนไหน ...เพราะมันไม่มีชื่ออะไรเลย

มันก็ได้แต่ดู..รู้..เห็น ดู..รู้..เห็น ไป ไอ้นู่นวูบไอ้นี่วาบ ก็วูบๆ วาบๆ ไม่รู้ว่าชื่ออะไร ...แล้วไม่สนใจจะไปเปิดตำราดูด้วยว่าชื่ออะไร ก็เลยไม่รู้มันเรียกอะไร ก็ไม่สนใจ เข้าใจมั้ย

เพราะนั้น ลักษณะที่ว่าภาวนาไป...ดูตำราไป เอาไกดไลน์ไป กางแผนที่ไปนี่ มันไม่ไปไหนหรอก 

วนในตำรานั่นแหละ วนอยู่ในภาษา วนอยู่ในสมมุติอยู่นั่นแหละ ...ออกจากสมมุติยังไม่ได้เลย...จะไปเข้านิพพานยังไง หือ 

ถ้ายังออกจากบัญญัติไม่ได้ ยังไม่กล้าทิ้งบัญญัติ ยังไม่กล้าทิ้งสมมุติ ยังไม่ทิ้งความเชื่อความเห็นตามภาษาตามบัญญัตินี่ ไม่ต้องพูดถึงนิพพาน ไม่ต้องพูดถึงมรรคผลเลย 

มันไปไม่รอดหรอก ไปก็เดี๋ยว..."เอ ใช่รึเปล่า" ...เพราะไปติดสมมุติภาษา เพราะไปติดสัญญาความจำ

อย่างนู่น พระโปฐิละ พระใบลานเปล่า สมัยพระพุทธเจ้า เห็นมั้ย 
(เล่าเรื่องพระโปฐิละ http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=30&p=5)

ก็กลับมารู้กายเดียวใจเดียว ...กายเดียวนั่นแหละ ไม่ใช่เอาจิตนะ ไม่ใช่ความหมายว่าเอาจับจิต ท่านจับที่กาย นั่นแหละ คือก้อนนั้นน่ะ...ที่เดียว

อายตนะทั้งหมดอยู่ที่กาย ถ้าไม่มีกายไม่มีอายตนะ รูนี่รูใหญ่เป็นที่รวม ...จิตมันก็อยู่ในกายนี่ ถ้ารู้อยู่ตรงนี้ในกาย ก็จะเห็นจิตปัจจุบัน ก็จะจับจิตปัจจุบันได้

และก็พร้อมกับจับอายตนะได้ทั้งหมดด้วย ทั้งรูปเสียงกลิ่นรส ก็เนื่องด้วยตาหูจมูกลิ้น มันอยู่ที่ไหน มันอยู่ที่กายนี่แหละ ...ถ้ารู้อยู่ที่นี้ที่เดียว จะทันหมดทุกที่ 

เพราะนั้นความรู้ ความจำนี่ สมมุติและบัญญัติ...จึงเป็นตัวที่ปิดบังปรมัตถ์อย่างนึง 

แต่อีกส่วนก็เป็นตัวที่เกื้ออย่างนึง ...เมื่อปฏิบัติไปแล้ว เหล่าสมมุติบัญญัติตำรานี่ จะมาเป็นตัวรับรอง รับรองตัวจิต รับรองความรู้ความเห็น

แต่ไม่ได้รับรองเพื่อให้เกิดความยึดมั่นถือมั่น ...รับรองเพื่อทำลายความสงสัยเดิม ทำลายความรู้เดิม ทำลายความเห็นผิดและเข้าใจผิดโดยสมมุติและบัญญัติเดิมๆ

แล้วมันก็ทิ้งๆ ทิ้งขว้างไป ทิ้งตำราไป ทิ้งความรู้ความเห็นความจำ เคยคิด เคยเข้าใจอย่างไร ทิ้งหมดเลย และก็มายืนยันว่าตรงตามที่บัญญัติว่า ในแง่ของจิตยังไง ในแง่ของธรรมยังไง

มันไม่เหมือนกันเลย มันคนละมิติกันเลย ความรู้ในปัจจัตตังกับความรู้ตามบัญญัติสมมุติ ...ความเข้าใจตามความเป็นจริงกับความเข้าใจตามสมมุติบัญญัติ มันคนละมิติกันเลย

แต่ว่าอาศัยสมมุตินั่นมันกลับมายืนยันอีกที ...แต่ไม่ได้ยึดในภาษาสมมุตินั่น

แล้วพอเข้าใจถึงตัวนี้ปุ๊บนี่ จะหยิบบัญญัติไหนก็ได้ สมมุติไหนก็ได้ จะจับแพะชนแกะ  จับแกะผสมแพะ ออกมาเป็นนิพพานได้ ...นี่เป็นผู้ฉลาดในการใช้สมมุติและบัญญัติอีกทอดหนึ่งด้วยซ้ำ

แต่เบื้องต้นทิ้งหมดเลย ต้องทิ้งก่อน ต้องวาง วางความคิด วางความจำ วางความเชื่อ วางความเห็น ...โนคอมเมนท์ (no comment) ท่องเข้าไว้ โนคอมเมนท์

แม้แต่ตัวมันจะคอมเมนท์ตัวมันเอง...ก็โนคอมเมนท์ ...อย่าว่าแต่คอมเมนท์คนอื่นเลย ตัวมันคอมเมนท์วิธีการปฏิบัติอย่างนั้นอย่างนี้...ไม่ต้อง

เอาแค่ว่า ศีลตัวเดียว กายตัวเดียว รู้อันเดียว จิตตัวเดียว คือจิตรู้จิตเห็น นั่นน่ะคือจิตหนึ่ง ...จิตหลายดวงไม่ต้องไปดูมันหรอก ช่างหัวมัน เอาจิตดวงเดียวคือจิตหนึ่ง คือจิตรู้

และอาศัยจิตรู้นั่นแหละ มันจึงจะเกิดจิตเห็น ...เมื่อมีจิตทั้งรู้และเห็นนั่นแหละคือปัญญา...ปัญญาญาณ เพราะมันมีแค่รู้และเห็น ไม่มีความคิดไม่มีความจำแทรกซึมขึ้นมา ...นั่นแหละคือว่าทั้งรู้และเห็น 

คราวนี้ตอนที่มันตั้งมั่นดีแล้วนี่ มันไม่เห็นจำเพาะกายหรอก จิตมันก็เห็น ธัมมารมณ์ก็เห็น อายตนะก็เห็น การไปการมาก็เห็น ของภายนอก มันจะเห็นพร้อมกัน ...ก็เรียกว่ารู้รอบ รู้ทั่ว เกิดสัมปชัญญะขึ้น

แต่พอมันไม่มีอะไร มันก็จะจ้องจดจ่ออยู่ที่กายเดียว...เป็นฐาน อยู่ที่นั่นที่เดียว ...แต่ในขณะนั้นไม่ใช่ว่าไม่มีจิต...มี อารมณ์ก็มี มีให้เห็นหมดน่ะ ไม่ได้หายไปไหน

แต่มันเห็นแบบไม่เอาเรื่อง ไม่เป็นแบบอ่านเอาเรื่อง แล้วก็ไม่ไปอ่านจนจบ ไม่ไปดูมันจนจบ...ไม่สน ...อยู่อย่างนั้น มรรคจึงเจริญ

เดินด้วยการอยู่ที่หนึ่งเดียว จึงเรียกว่ามรรคเดิน ...ไม่ใช่ไปเดินหามรรค หรือไม่ได้เดินตามความคิด หรือไม่ได้เดินตามจิต ...ไม่ไปไหน มันหยุด...อยู่ที่เดียว

แล้วทุกอย่างจะชัดเจน เขามาแสดงให้เห็นเอง ไม่ว่าอะไร ขันธ์แสดงเอง โลกแสดงให้เอง ...แล้วเราก็นั่งอยู่บนภูดูเสือกัดกัน หรือเสือไม่กัดกัน หรือเสือเล่นกัน หรือเสือเดินผ่านไปมา ...ดูเฉยๆ

แต่เนี่ย เดี๋ยวกูจะเป็นเสืออยู่เรื่อยน่ะ คือจะไปกัดกับเขา ...ไอ้อย่างนั้นน่ะมันไม่ใช่ว่าจิตหนึ่ง เข้าใจมั้ย ...ถ้าจิตหนึ่งก็นั่งอยู่บนเก้าอี้ อยากไปก็ไป อยากมาก็มา ไม่ใช่แค่กาย อะไรก็ได้ มันจะหนึ่งได้

นี่เขาเรียกว่าถ้าจิตตั้งมั่นดีแล้ว ทุกอย่างง่ายหมด ...แต่ถ้าไม่ตั้งมั่นนี่ก็คอยแต่เขยิบ ชะเง้อ  พอเริ่มชะเง้อนี่คือใส่เกียร์แล้ว หนึ่งดีมั้ง เดี๋ยวก็...ไม่ทันใจ เกียร์สี่ดีกว่า นั่น กระโดดพรวดๆๆ ออกไปเลย

เพราะอะไร ก็ไอ้เริ่มชะแง้ๆ อยากดู อยากเห็น อยากดูมัน ...เมื่อไหร่มันจะดับวะ เมื่อไหร่มันจะมาอีก มันมาทำไม ทำไมมันถึงไม่ดับ มันไม่ดับเพราะอะไร ...เอาแล้ววุ้ย นั่น นั่งไม่ติดที่แล้ว

อยู่กับที่ อดทนเอาไว้ ...มันอยากไปก็ไม่ไป มันอยากหาก็ไม่หา มันอยากวิเคราะห์วิจารณ์ด้วยความคิดความจำก็ไม่เอา มันอยากเอาเร็วเอาช้าก็ไม่ไป ไม่เชื่ออะไรสักอย่าง

นั่งอยู่เฉยๆ อยู่ที่จิตรู้จิตเห็น โดยเอากายเป็นหัวเสา เป็นเสา ...ผูกไว้ เอาเชือกผูกไว้ แล้วก็สต๊าฟคอไว้ ให้มันหันตรงหน้าเสานี่  เดี๋ยวมันก็...ตาคอยกลอกส่ายอย่างนี้ ก็ตบหัวมัน ลูกกะตาก็ห้ามกลอก 

แต่การที่ตามองเสามันก็เห็นอยู่ใช่มั้ย ถึงว่าอยากหันก็เถอะ ...ก็มองตรงหน้าแล้วมันเห็นเสา มันก็เห็นว่าอะไรเป็นอะไร ...กูอยู่กับเสานี่มาตั้งแต่เกิด กูเพิ่งรู้ว่าเสานี่เป็นไม้ กูนึกว่าเป็นเหล็ก 

นั่น เพราะกูไม่เคยดูเลย เข้าใจรึเปล่า โอ้ย กูอยู่มาแทบตาย เพิ่งรู้ว่าเป็นไม้ เอ้า ไม่เคยดู นึกว่าเป็นเหล็กฝังเพชรด้วย นึกว่าเป็นเสาผุๆ ไม่ใช่ ไม่ใช่อย่างนั้นแล้ว ...นั่นเพราะมันดูไม่เห็น ไม่เคยตั้งใจดู ดูไม่จริง

แต่พอดูจริงๆ มันก็เริ่มไปไหนไม่ได้ จะเหลียวไปไหนก็ไม่ได้  มันก็หนึ่ง...หนึ่งคือเสา คืออยู่กับกายปัจจุบัน มันก็เห็นรายละเอียดของกายอยู่ในนี้หมดเลย...ความเป็นจริงคืออย่างนี้

อ๋อ อยู่กันมาหลายสิบปี กูนึกว่ากายกูเป็นผู้ชาย เอ้า กายกูเป็นก้อนอะไรก็ไม่รู้ เพิ่งเห็นนะนี่

ก็มันไม่เคยดู มันจะเห็นได้ยังไง เรียกว่าจิตมันไม่อยู่ในที่ที่ควรอยู่ไง ...เมื่อมาอยู่ในที่ควรอยู่ก็...อ๋อ มันเป็นอย่างงี้นี่เอง ...นี่ ปัจจัตตัง ...คำว่าปัจจัตตัง เพราะมันเห็นตามความเป็นจริง 

ซึ่งแต่ก่อนมันเห็นยังไม่จริง แล้วมันก็เชื่อแบบโง่ๆ ดื้อๆ ว่าเป็นผู้ชายผู้หญิง ก็ว่าใช่แล้ว เออ เป็นผู้ชายเป็นผู้หญิง ก็เชื่อแล้วว่าเป็นผู้ชายผู้หญิงจริงๆ มันเชื่อแบบลวกๆ ยังไม่ได้ถี่ถ้วน

เพราะอะไร ...เพราะเวลาทั้งหมดกูไปดูเรื่องอื่นหมด  จิตน่ะส่ายแส่สอดส่องนู่นนี่ บางทีทั้งวันนี่ ไม่รู้เลยว่ามีกายนี้อยู่ในโลก ...มันอยู่ได้ยังไง

เนี่ย ไม่รู้เลยว่ามีกายนี้อยู่ในโลก มันกลับใช้ชีวิตอยู่ได้ ...แปลว่าอะไร แปลว่ามันละเลยมาก ละเลยมรรค ละเลยศีล ...นี่คือศีล หลักนี่คือศีล กายนี่คือศีล

แต่ออกนอกศีล ก้าวล่วงศีล ก้าวข้ามศีลอยู่ตลอดเวลา ...แล้วก็นึกในใจด้วยนะว่า กูถือศีลห้าอยู่ แน่ะ มีศีลห้านะ ไม่ได้ละเมิดศีลเลยวันนี้ กูสบาย ผ่องใส เพราะไม่ได้โกหกใครเลย แน่ะ

ทั้งๆ ที่ตลอดวันนี่ละเมิดกายปัจจุบัน นั่นน่ะก้าวล่วงศีลตลอดเวลา  ไม่รู้กาย ไม่รู้ตัว ไม่เห็นว่ากายนี้คืออะไร กายมันกำลังทำอะไร กายมันมีปฏิกิริยาอาการอย่างไรเมื่อมีสิ่งนี้สิ่งนั้นมากระทบ

เนี่ย ความเป็นจริงอยู่ที่นี่...ต่อหน้าต่อตาแท้ๆ เนี่ย ไม่รู้จักมันได้ยัง ...แล้วมันจะเกิดมาทำไม หือ แล้วเวลามันหมดไปกับอะไร มัวแต่ไปรู้เรื่องอะไรอยู่ ของที่อยู่ต่อหน้าแท้ๆ มันยังไม่เข้าใจเลย

ก็เข้าใจเอาแบบง่ายๆ ลวกๆ หรือเขาบอกว่าเป็นผู้ชายผู้หญิงก็เป็นผู้ชายผู้หญิง หรือเขาบอกว่าสวยก็เชื่อ อย่าบอกว่าไม่สวยนะ กูโกรธ แน่ะ เชื่อจริงเชื่อจัง ...แล้วเชื่อแต่ละครั้งก็ทุกข์ทุกครั้ง ใช่มั้ย 


(ต่อแทร็ก 9/23  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น