วันเสาร์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 9/20 (2)


พระอาจารย์
9/20 (551229A)
29 ธันวาคม 2555
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 9/20  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  แต่ของพวกเรานี่...ไอ้ตีนนี้ลอย ยังลอยอยู่ แตะมั่งลอยมั่งๆ อยู่อย่างนี้ ...คือมันยังหาความแน่นอนไม่ได้ชัดเจน 

จนให้มันได้สองตีน หมายความว่าแน่วแน่ภายใน ...คราวนี้มันก็เป็นอัตโนมัติ มันก็เป็นอัตโนมัติขึ้น ...พอเป็นอัตโนมัติปุ๊บมันก็เข้าไปสู่ความไม่หวนคืน

ก็เริ่มทิ้งขันธ์ ...คำว่าทิ้งขันธ์กับทิ้งโลกน่ะเรื่องเดียวกัน เพราะขันธ์กับโลกนี่เป็นของอันเดียวกัน ...เมื่อทิ้งขันธ์ได้เมื่อไหร่ก็หมายความว่ามันทิ้งโลก ไม่อาลัยในขันธ์ก็ไม่อาลัยในโลก 

จิตมันเริ่มไม่อาลัย เริ่มไม่เข้าไปก้าวก่ายขันธ์ ...มันทิ้งแล้ว ช่างหัวมันแล้ว เป็นของทิ้งของขว้างแล้ว ...เป็นของตายแล้ว ไม่ใช่ของเป็น

แต่ตอนนี้สำหรับพวกเรามันยังเป็นของเป็น ...ถ้าว่ามันยังเป็นของเป็น ก็หมายความว่ามันเป็น “เรา” อยู่ มันมีความมีชีวิตอยู่ มันก็เลยเป็นของเป็น 

แต่ถ้าทิ้งหมายความว่ามันตายแล้ว ...มันตายจากจิตแล้ว มันตายจากใจแล้ว หมายความว่าเป็นของตาย มันเป็นของตายแล้ว 

ของตายแล้วก็จะไปทำอะไรล่ะ ...มันก็ไม่อยากทำอะไร มันก็เริ่มไม่เห็นคุณค่าในขันธ์

ทั้งที่ว่าจริงๆ ขันธ์ก็เป็นของตาย ตายนี่ ของตาย ...ไอ้ที่เราอยู่กับกายนี่ มันก็เหมือนกับศพคนเป็นน่ะ จริงๆ ก็คือศพ ก็คือซาก ก็คือซากของวิบากขันธ์เท่านั้นเอง 

แต่ยังมีลมหายใจ มีการเคลื่อน มีการสั่งให้มันขยับนู่นขยับนี่ไปมา ...แต่จริงๆ มันก็เป็นแค่ซาก ไม่มีชีวิต ...มันไม่มีชีวิตในตัวของมันหรอก 

มีแต่ว่าจิตนั่นแหละที่เข้าไปให้ความหมาย...ให้ความเป็นเรา มันก็เลยดูเหมือนเป็นของเรา หรือเป็นชีวิตหนึ่งขึ้นมา ...กายก็เป็น life ขึ้นมา เป็น alive 

จริงๆ ความเป็น alive จริงๆ อยู่ที่ใจ...ใจหรือจิตมันเป็นตัว alive ...แต่ว่ากายไม่ใช่ alive หรอก มันเป็นซาก ซากสังขาร มันเป็นซากมหาภูตรูป 

จนกว่าปัญญามันจะเดินในองค์มรรค จนมันเห็นชัดเจน...ชัดขนาดที่มันเชื่อ ชัดขนาดที่จิตเชื่อ

ถ้ายังชัดในระดับที่ยังละล้าละลังอยู่ จิตมันไม่ยอม...ไม่ยอมเชื่อ ...คือเชื่อตอนทำ พอไม่ทำไม่เชื่อ มันเป็นอย่างนี้ 

เพราะนั้นมันต้องทำจนเรียกว่า...ไม่ทำหรือทำก็เชื่อหมด ...นี่ เขาเรียกว่าเชื่อจริง ...ก็เรียกว่าลบมิจฉาทิฏฐิออก ล้าง...ค่อยๆ ล้างออก ปอกเปลือกออก 

มันก็จะเหลือแต่กายล้วนๆ ...ไม่ใช่กายเราด้วย  ไม่มีกายเรา ไม่มีกายเขา ไม่มีกายสมมุติ ไม่มีกายบัญญัติ ไม่มีกายชาย กายหญิง กายคนสัตว์บุคคล 

กายก็คือกายล้วนๆ ขันธ์เปล่าๆ ...ก้อนธาตุ ก้อนทุกข์ ก้อนที่แปรปรวนไปมา ก้อนที่ไม่มีชีวิตจิตใจ ก้อนที่อาศัยเหตุปัจจัยเป็นเครื่องดำเนิน 

อะไรมากระทบมัน มันก็มีความรู้สึกอย่างนั้น หรือว่าสั่งให้มันทำอะไร มันก็มีความรู้สึกอย่างนั้น 

มันไม่ได้เป็นตัวของมันเองที่ว่ามันจะไปไหนมาไหนได้ หรือว่าจะมีความรู้สึกอย่างนู้นอย่างนี้เกิดขึ้นเพราะตัวมันเองเลือกขึ้นมา...ไม่ใช่ ...แต่มันเพราะเหตุปัจจัย

แม้แต่การเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ไม่ใช่ว่ามันอยากเจ็บไข้ได้ป่วย หรือว่ามันต้องเจ็บไข้ได้ป่วยเพราะมันอยากเจ็บไข้ได้ป่วย เพราะมันจะปฏิวัติหรือว่ามันประท้วงก็เลยเจ็บป่วยซะเลยอย่างนี้...ไม่ใช่ 

ที่มันเจ็บไข้ได้ป่วย ที่มันแปรปรวน เพราะว่าเหตุปัจจัย ...ไม่ใช่ตัวของมันมีชีวิตที่จะมาบอกว่า 'ฉันจะไม่สบายแล้วนะเพราะว่าฉันทำงานมาทั้งวัน' อะไรอย่างนี้ 

อันนี้จิตมันว่าต่างหาก จิตมันว่าเราทำงานมาทั้งวัน กายเขาไม่ได้ว่า

เพราะว่าเหตุปัจจัยมันเป็นตัวที่กำหนดให้เกิดอาการใดอาการหนึ่ง หรือเวทนาใดเวทนาหนึ่งตั้งขึ้น ...เพราะนั้นกายกับเวทนานี่มันเนื่องกัน 

เวทนาในกายกับกาย ก้อนธาตุ ก้อนเวทนานี่เป็นของคู่กัน มันแปรปรวนกันไปมาเป็นปฏิภาคกันอยู่ ...แต่ไม่มีความหมายใดๆ ในเวทนาในกาย 

มันไม่มีความเป็นสัตว์บุคคล มันไม่มีบอกว่าเพื่ออะไร เจตนาอย่างไรที่จะให้ใครเป็นสุข หรือให้ใครเป็นทุกข์ก็ตาม ...ไม่มีเจตนาใดๆ เลย 

มีแต่จิตผู้ไม่รู้นั่นแหละเข้าไปว่ามันเป็นเจตนาดีเจตนาร้าย หรือว่าเป็นคุณเป็นโทษ หรือว่าเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ...จิตมันเข้าไปหมายด้วยความไม่รู้

ถ้าจิตไม่หยุด ถ้าจิตไม่อยู่ ถ้าจิตไม่นิ่ง ถ้าจิตไม่เป็นหนึ่ง ...มันจะไม่เห็นสภาพที่แท้จริงของกาย ของขันธ์ที่แท้จริงได้เลย

เพราะมันจะมีจิตปรุงแต่ง หรือว่าความเห็น ความคิดนี่ มันคอยเข้ามากระซิบกระซาบ ให้ค่าให้ความหมาย ตามความจำ ตามความเชื่ออยู่ตลอดเวลา

เพราะนั้นไอ้ที่พวกเราต้องเน้นมากๆ ตอนนี้ ไม่ใช่ปัญญาหรอก แต่คือศีล สมาธิ เป็นหลักเลย ...ต้องมีตัวนี้เยอะๆ...ในระดับที่เราข้องแวะกับสัตว์บุคคลนี่ และก็ยังทำงานอยู่ 

ปัญญามันยังระดับเตรียมอนุบาลมั้ง อะไรอย่างนั้นน่ะ มันยังไม่สามารถจะอะไรชัดเจนได้เลย ยังละวางจางคลายอะไรไม่ชัดเจนน่ะ ...มันยังไม่เกิดความชัดเจนได้ 

อย่าไปละล้าละลังว่า...เอ เมื่อไหร่มันจะละได้หรือละไม่ได้ ...ตราบใดที่ไม่มีศีล ไม่มีสมาธิ ไม่มีทางละได้หรอก ปัญญาจะไม่เกิดได้ง่ายๆ เลย

เพราะนั้นน่ะ ศีลสมาธิปัญญานี่ มันต้องเป็นไปตามลำดับขั้นของมัน ...ท่านถึงเปรียบว่าศีลสมาธิปัญญานี่ เหมือนก้อนเส้า 

รู้จักก้อนเส้ารึเปล่า เวลาเราไปตั้งแคมป์ไฟน่ะ ไปต้มข้าวต้มแกง มันต้องเอาหินมาวาง 3 ก้อน มันถึงจะวางหม้อข้าวหม้อแกงหรือกระทะได้ 

วางก้อนเดียวได้มั้ย...ไม่ได้  สองก้อน...ไม่ได้  เห็นมั้ย ข้าวหกหมดน่ะ ...มันต้องมีสาม...ศีล สมาธิ ปัญญา เหมือนไตรสิกขา ต้องมีสาม

แต่ในขณะนี้ของพวกเรา มีสามก้อนก็จริง ...ไอ้ก้อนปัญญานี่ก็มี แต่มันมีระดับต่ำเตี้ยติดดิน ...มันเอียงกะเท่เร่ เข้าใจรึเปล่า 

ตราบใดที่ศีล...สมาธินี่ยังไม่มั่นคง ยังไม่แข็งแรง  ปัญญามันก็จะไม่เกิด...ไม่เกิดขึ้นมาทัดเทียมกันหรือสมดุลกัน 

แล้วก็จะไปพยายามหาปัญญาจากที่ไหน...ไม่มีหรอก ...ก็ต้องทำศีลสมาธินี่ให้มาก ปัญญามันก็จะค่อยๆ พัฒนาขึ้น สูงขึ้นๆ จนสมดุล ...พอสมดุลแล้วหมายความว่าหม้อนี่ไม่เอียง

แต่ตอนนี้มันเอียง เพราะนั้นถ้าเอียงก็หมายความว่า กินข้าวสามกษัตริย์ สุกครึ่งดิบครึ่ง สุกๆ ดิบๆ สุกครึ่งดิบอีกครึ่ง อะไรอย่างนี้ 

แต่ก็ยังดีน่ะ คนทั่วไปมันไม่ได้กินอะไรเลย ไม่อิ่มในธรรม คือไม่รู้ธรรม ไม่รู้จักเลย ...แต่ว่าผู้เริ่มปฏิบัตินี่มันจะเป็นสามกษัตริย์อยู่ ...เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย 

บทจะดีก็ดี บทจะวางก็วาง บทจะไม่เอาก็ไม่เอา บทจะร้ายก็...เหมือนเดิมเลย คล้ายๆ อย่างนี้ คือมันยังไม่ได้ล้างสันดานอะไรได้เลย ...เนี่ย มันจะรู้สึกอย่างนั้น

อย่าท้อ ...ก็ให้รู้ว่า ศีลกับสมาธิเรายังน้อย ปัญญาตามไม่ทัน ...ปัญญามันยังไม่ยกระดับขึ้นมาให้เป็นก้อนเส้าที่สมดุลกัน เพราะนั้นถ้ามันสมดุลกันเมื่อไหร่ ก็หมายความว่า มรรคสมังคี ...มันพอดีกัน 

ถ้ามันพอดีกัน หมายความว่า ต้มข้าวต้มแกงอะไรก็ได้ ปรุงอาหารอะไรก็สำเร็จ อร่อย กินอิ่มไม่เสาะท้อง เป็นอย่างนั้น เป็นมรรคสมังคี...ศีลสมาธิปัญญาก็รวมเป็นหนึ่ง

ถ้ามันเป็นมรรคสมังคีก็หมายความว่า ขณะนั้นน่ะ ไม่ต้องไปถามเลยว่า ศีลอยู่ไหน สมาธิอยู่ไหน ปัญญาอยู่ไหน คือมันพร้อมกันเป็นหนึ่ง...เป็นหนึ่งในปัจจุบัน 

แยกไม่ออกเลย มันจะแยกไม่ออก ไม่มีขาดตัวใดตัวหนึ่งเลย  แล้วก็ไม่มีอะไรมาก ไม่มีอะไรน้อยไปกว่ากัน ...มันก็เกิดความชัดเจน

เมื่อมันชัดเจน ...ไอ้คำว่าชัดเจนนี่มันรวมหมด รวมหมดว่าเข้าใจ...แล้วก็วาง พร้อมกัน ...อย่างนั้นน่ะชัดเจน 

ไม่ต้องเอ๊ะ ไม่ต้องอ๊ะ ยังสงสัยนั่น ยังสงสัยนี่ ยังลังเล เอ๊ะ ตำรานั้น หรือว่าอาจารย์องค์นั้นว่ารึเปล่า เคยได้ยินมา ...ไอ้อย่างนี้เขาเรียกว่าไม่สมดุล มันยังไม่ชัดเจน 

เพราะนั้นถ้ามันไม่ชัดเจนก็หมายความว่ามันสุกๆ ดิบๆ ...มันก็ยังมีติดลังเล ติดสงสัย ติดนิวรณ์อยู่ ยังมีนิวรณ์คาค้าง ไม่เบ็ดเสร็จ ...เหมือนกับยังไม่กล้าวาง ยังไม่กล้าละ อะไรอย่างนี้

แต่ถ้ามันชัดเจนเมื่อไหร่นี่ หมายความว่า มันรู้พร้อมกับละ...ไม่ว่าอะไร เมื่อรู้แล้วละเลย ไม่ลังเล ...จะไม่ลังเลในการละเลย นั่นน่ะเรียกว่าสมังคีกันดี 

แต่ถ้ายังขาดตกบกพร่องอยู่ มันก็ยังกึ่งๆ ละครึ่งนึง เอาไว้ครึ่งนึง ...เสียดาย ยังเสียดาย ยังอาวรณ์อยู่ 

ยังอาลัย ความจำ ความรู้ที่เคยรู้ ที่เคยผ่านมา หรือว่ายังมีเป้าประสงค์แล้วยังไม่ถึงเป้าประสงค์ อะไรอย่างนี้ ...อนาคตอุปาทานยังมีอยู่

ก็พยายามอดทน แล้วก็กลับมาอยู่ที่หลักของศีลสมาธิ ...ศีลคือกาย สมาธิคือจิตที่รู้อยู่กับกาย เป็นหนึ่งอยู่กับกาย อย่าเป็นหนึ่งกับที่อื่น อย่าเป็นหนึ่งกับความสงสัย 

อย่าไปค้น อย่าไปหา อย่าไปทบทวนอดีตอนาคต อย่าไปเปิดตำรา อย่าไปควานหาความเป็นจริงข้างหน้าข้างหลัง อย่าไปวิเคราะห์วิจารณ์คำพูด ความเห็นของคนอื่น คนนู้นคนนี้พวกนี้ 

ให้เป็นหนึ่งอยู่กับกาย หนึ่งไว้ โง่เข้าไว้  มันเหมือนโง่เข้าไว้ ไม่รู้อะไรเลย ...รู้เดียวๆ ให้มันเหลือรู้อันเดียว กับสิ่งที่มันถูกรู้อันเดียวคือกาย

เพราะนั้นกายก็คือศีลนั่นแหละ ..นั่นแหละเรียกว่าเจริญสติกับกาย ก็เรียกว่าศีลกับสมาธิมันเดินอยู่คู่กัน 

และขณะนี้ ขณะที่มันดูเหมือนไม่รู้อะไรเลยนี่ รู้แค่กายอย่างเดียวนี่แหละ ปัญญามันจะค่อยๆ พัฒนาในตัวของมัน...โดยที่ไม่รู้ตัวเลยนะว่ามีปัญญาเกิดขึ้นแล้ว เข้าใจป่าว

แล้วไม่ต้องไป ...เอ๊ะ ได้รึยังนะ เห็นกายตามความเป็นจริงรึยัง ...เออ ดูเข้าไปเถอะ แล้วมันจะเห็นเป็น shot…shot ไป บางครั้งก็เห็น...เหมือนลืมไปเลย เฮ้ย “เรา” อยู่ไหนวะ อะไรอย่างนี้ 

ดูไปดูมา นั่งจดจ่ออยู่กับความรู้สึกในกายนี่ เอ๊ะ ลืมไปเลยว่ามี “เรา” อยู่ตรงไหนในโลกนี้ ...นั่น คล้ายๆ อย่างนั้นน่ะ 

จริงๆ น่ะมันมีปัญญาเกิดขึ้นในขณะนั้นแล้วนะ แต่ว่ามาเป็นระยะ พอให้เห็น แล้วพอสะดุ้งรู้ตัวเข้า เอ้า เดี๋ยว “เรา” มาอีกแล้ว อะไรอย่างนี้ ...อย่าท้อ รู้ไปๆๆ มันเกิดขึ้นอยู่ตรงนั้นแหละ...ปัญญา

ไม่ต้องไปสร้างปัญญาขึ้นมาหรอก มันกำลังพัฒนาอยู่ในตัวของมัน เราก็รักษาความรู้สึกตัวไป เดี๋ยวมันก็หายไปเอง...“เรา” ก็หายไป เราปัจจุบันก็หายไป 

คือในขณะที่รู้ถึงการนั่ง รู้ถึงการยืน รู้ถึงความรู้สึกในการนั่งนอนยืนเดิน เคลื่อนไหวเหยียดคู้ อะไรนี่ ในขณะนั้นน่ะมันไม่มี “เรา” ในอดีตอนาคตแล้ว ...เราในอดีตอนาคตมันไม่มีแล้ว 

ถึงแม้จะเป็น “เรา” กำลังทำตรงนี้อยู่ก็ตาม ถือว่าเป็น “เรา” เดียว...คือ “เรา” ปัจจุบัน ...อยู่ตรงนั้นไป ดูไปเรื่อยๆ เดี๋ยวสักพักหนึ่ง สักระยะหนึ่ง บางทีก็ลืมไปเลยว่ามี “เรา” อยู่ ...มันจะรู้สึกอย่างนั้น

ให้มันรู้สึกอย่างนั้นบ่อยๆ เนี่ย นี่คืออารมณ์ของพระโสดาบัน แต่ยังไม่โสดาบัน เข้าใจมั้ย เป็นอารมณ์ แว้บๆ มาให้ล้อเล่น...ให้เป็น road map … guide line เข้าใจป่าว 

ก็อยู่อย่างนี้ไป ให้เชื่อมั่นในศีลสมาธิ...แล้วไม่ต้องกลัวไม่เกิดปัญญา

แต่เดี๋ยวๆ สักพักไอ้ความลังเลสงสัยมาแล้ว ...'เอ๊ กูจะทำตามอย่างนั้นดีมั้ย อาจารย์องค์นั้นก็ว่าอย่างนั้นเร็วนะ อาจารย์องค์นี้ก็ว่าดูจิตนะ มันไว มันง่าย' 

เอาแล้ว เริ่ม เริ่มแล้ว เริ่มแตกตัวแล้วนะ จิตเริ่มแตกตัวจากหนึ่งเป็นสองแล้ว จากสองเดี๋ยวจะเป็นสามสี่ห้า ...เดี๋ยวมันจะมีหลากหลายวิธีมาแล้ว 

ทั้งหมดนี่ เขาเรียกว่าเป็นเหตุแรกของความฟุ้งซ่าน นี่เขาเรียกว่าฟุ้งซ่านในธรรม ทั้งหมดนี่เป็นสังขารธรรม อาจารย์องค์นั้นอาจารย์องค์นี้ใช่เลย 

คือแต่ละคนก็มีจริตนิสัยไม่เหมือนกัน การทำ ใช่มั้ย ...ไอ้ถ้าเราล่ะก้อ เราเน้นกาย...เป็นหลักก่อน ไม่ทิ้งกายไปเอาแต่ดูจิตนะ 

มันเหมือนดูจิตง่ายนะ ...คือมันมีให้ดูทั้งวันน่ะ ว้อบแว้บๆ แล้วก็หาย...ว้อบแว้บๆ แล้วก็หาย ...กูก็หาย รู้ก็หาย...หายไปพร้อมกับจิตนั่นแหละ (หัวเราะกัน) 

มันก็รู้แล้วก็หลงๆ แต่มันไม่รู้อะไรน่ะ มันก็แค่พอรู้ว่า...เออ ได้รู้ว่าจิตเกิดขึ้นนะ มีอารมณ์เกิดขึ้นนะ แต่ถามว่า...สักกาย...อยู่ไหนล่ะ ฮึ


(ต่อแทร็ก 9/21)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น