วันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2558

แทร็ก 9/18 (2)


พระอาจารย์
9/18 (551219C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
19 ธันวาคม 2555
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 9/18  ช่วง 1


โยม –
  ถ้างั้นปัจจุบันดี โอเค ทุกอย่างจบ ก็ดีใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  มันก็ไม่ดีหรอก ดูไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็รู้เองว่ามันดีรึเปล่า ...ถ้าดีมันก็ยังอยู่ในปัจจุบัน ถ้าไม่ดีปัจจุบันมันก็ไม่อยู่  

แต่ตอนนี้ให้เห็นว่าปัจจุบันดีไว้ก่อน แล้วก็อยู่กับปัจจุบันไป ดูปัจจุบันไป  เดี๋ยวมันก็เห็นเองน่ะว่าปัจจุบันมันน่าอยู่มั้ย ...โยมว่าปัจจุบันนี่น่าอยู่มั้ย


โยม –  ค่ะ 

พระอาจารย์ –  น่าอยู่เหรอ มันเป็นทุกข์มั้ย


โยม –  ก็ถ้าจิตคิดไปก็เป็นทุกข์นะคะ ถ้าจิตหยุดมันก็ไม่เป็นทุกข์น่ะค่ะ

พระอาจารย์ –  ตราบใดที่โยมยังเห็นว่าปัจจุบันน่าอยู่ โยมก็ยังเกิด กลับมาเกิดอยู่กับปัจจุบัน ...เอาเหอะ ดูไปเหอะ แล้วมันจะเห็นว่าปัจจุบันก็ไม่น่าอยู่เองแหละ 

เมื่อใดที่มันเห็นว่าปัจจุบันก็ไม่น่าอยู่  ก็..เออ กูจะมาเกิดทำไม ...เราก็ถึงถามว่าปัจจุบันมันน่าอยู่หรือนี่ สภาพแวดล้อมอย่างนี้


โยม –  ไม่รู้ ก็อาจารย์ว่ามันอยู่

พระอาจารย์ –  เนี่ย เห็นไหมว่าจิตมันยังพอใจ มันยังมีความพอใจในที่ใดที่หนึ่ง หมายความว่าจิตมันไปแปะหนึบไว้ เขาเรียกว่าเกิดความโสมนัส จิตมีโสมนัสในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง 

และในขณะที่มันมีโสมนัส มันก็มีโทมนัส มันจะคู่กัน ...เมื่อมีโสมนัสโทมนัสปุ๊บ มันจะมีอภิชฌา คือการเพียรจดจ่อเพ่ง หมาย ในที่นั้นๆ


โยม –  ถ้าจิตอยู่กับปัจจุบัน ถ้างั้นการมุ่งปฏิบัติที่หนักเกินไปก็ไม่จำเป็นใช่มั้ยคะ

พระอาจารย์ –  ยังไงที่เรียกว่าหนักล่ะ ต้องถามก่อน


โยม –  บางคนจะเพียร เพียรจริงๆ อย่างนี้ค่ะ

พระอาจารย์ –  เพียรยังไง


โยม –  อย่างสมมุติ เพียรเดินจงกรม เพียรนั่งสมาธิ 5 – 6 ชั่วโมงอะไรอย่างนี้น่ะค่ะ

พระอาจารย์ –  แล้วมันนั่งยังไง มันเดินยังไงล่ะ


โยม –  ก็เป้าหมายอาจจะมุ่งว่าที่นั่งมาก ที่เดินมาก อาจจะบรรลุเร็วขึ้นอะไรทำนองนี้น่ะค่ะ

พระอาจารย์ –  คือเรามองภายนอกนี่ เราจะไปตัดสินอะไรไม่ได้หรอก


โยม –  มันแล้วแต่จริตของแต่ละคนหรือ

พระอาจารย์ –  ไม่ใช่ มันแล้วแต่ว่าภูมิปัญญาของสัตว์บุคคลนั้น เขาเพียรอย่างไร


โยม –  ก็เห็นมีคนบอกว่าถ้าต้องการได้นิพพานเร็วขึ้น ก็ปฏิบัติให้มาก ทำให้มาก

พระอาจารย์ –  อือ ก็ต้องถามว่ามันมากยังไง ...เพราะบอกแล้วว่าคำพูด หรือการปฏิบัติของแต่ละคนไม่เหมือนกัน 

การวางจิตไม่เหมือนกัน การถือเป้าหมายไม่เหมือนกัน การมุ่งหวังก็ไม่เหมือนกัน ...ศีลยังไม่เหมือนกันเลย สมาธิก็ไม่เหมือนกัน ปัญญาก็ไม่เหมือนกัน 

ถ้าอย่างนี้เราจะมาตัดสินไม่ได้หรอกว่า นั่งห้าชั่วโมง เดินสิบชั่วโมง หรือไม่ทำอะไรเลยเช่นไม่ได้เดินจงกรมนั่งสมาธิอย่างนี้ มันต่างกันไม่ได้ หรือว่าคนที่เข้าใจแล้วจะเดินห้าชั่วโมง สิบชั่วโมง ก็ไม่แตกต่างเลย 

บอกแล้วว่าถ้ามันตรงแล้วนี่ ทุกอย่างตรงหมด เมื่อไม่อยู่ในท่าทางไหนเป็นภาวนา ...คราวนี้ก็อยู่ที่จริตนิสัยแล้ว จะเดินจงกรมทั้งวันก็เดินได้ ก็ดี  ถึงไม่เดินจงกรมเลย ก็ดี ...คือมันจะมาเป็นตัวตัดสินไม่ได้


โยม –  แล้วแต่จริตของคน

พระอาจารย์ –  มันสำคัญว่าเข้าใจองค์มรรคหรือยัง เข้าใจมรรครึยัง เข้าใจศีลสมาธิปัญญาหรือยัง ถ้ามันเข้าใจแล้วนี่ รูปแบบภายนอกนี่ไม่สำคัญ จะทำก็ได้ จะทำแบบเอาเป็นเอาตายก็ยิ่งดีเลย 

แต่ถ้ายังไม่เข้าใจมรรค แล้วไปทำแบบเอาเป็นเอาตายนี่ ...ไม่มีประโยชน์ กลับเป็นการไม่มีประโยชน์ไปด้วยซ้ำ 

มันอยู่ที่ว่าเข้าใจมั้ยว่ามรรคคืออะไร มันจริงรึยัง ปฏิบัติลงในองค์มรรคจริงมั้ย เป็นความเพียรหรือเป็นความอยากกันแน่ ...ยังแยกไม่ออกเลย 

ถ้ายังแยกไม่ออกระหว่างความเพียรกับความอยากนี่ ต่อให้นั่งข้ามวันข้ามคืนก็ตาม มรรคก็ไม่เกิด ...อยากนั่งข้ามคืนก็ไปดูนู่น ฮินดู เคยเห็นฤาษีไหม เก่งกว่าพระอีก


โยม –  แต่นั่นเขาได้เฉพาะฌานใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  แล้วรู้ได้ยังไง ไอ้คนที่เดินจงกรม นั่งสมาธิ มันจะไม่ทำฌานอยู่ ...บอกแล้ว ถ้ามันยังไม่แจ้งในเรื่องมรรคนี่ มันไม่ต่างอะไรกับฤาษีหรอก 

คือเราไม่ได้ปฏิเสธการเดินจงกรม การนั่งสมาธินานๆ นะ เราสนับสนุนด้วยซ้ำ ...แต่ว่าต้องเข้าใจว่านั่งอย่างไร นั่งเพื่ออะไร เจริญมรรคหรือเจริญความอยาก เจริญการระลึกอยู่กับทุกข์ รู้กับทุกข์ หรือเจริญสมุทัย 

ถ้ายังไม่เข้าใจมรรคก็ไม่เข้าใจอริยสัจสี่ ถ้าไม่เข้าใจอริยสัจสี่ ไม่เข้าใจมรรค ก็ไม่เข้าใจศีลสมาธิปัญญาที่เป็นสัมมา ที่เป็นอธิศีล อธิสมาธิ อธิปัญญา 

ต่อให้เดินจงกรม ไม่พูดไม่จากับใครหนึ่งปี หนึ่งพรรษา มันก็ไม่ต่างกับตอไม้ ไม่รู้อะไร ก็ได้แต่ไม่รู้อะไร ละอะไรก็ไม่ได้ เข้าใจอะไรก็ไม่เข้าใจ ...ก็เหมือนกับตอไม้อ่ะ 

ครูบาอาจารย์ท่านถึงเรียกว่าสมาธิหัวตออ่ะ เหมือนทำแบบหัวตอ


โยม –  มันไม่เกิดปัญญา ...หินทับหญ้า  พอยกออกหญ้ามันก็ขึ้นใหม่

พระอาจารย์ –  คือพวกเราฟังกันแต่คำพูดมานี่ แต่เวลาเราเอามาพากเพียรปฏิบัติจริง เราไม่เข้าใจความหมายนี้หรอก 

เราก็นึกได้พูดได้ว่ามันเป็นอย่างนั้น ...แต่จิตเรายังไม่เข้าใจจริงๆ ว่าสมาธิหัวตอ หรือการปฏิบัติแบบหัวตอนี่เป็นยังไง

แต่เมื่อใดที่เข้าใจมรรคแล้วนี่ เข้าใจศีลโดยถ่องแท้แล้วนี่ ชัดเจนในมรรค ชัดเจนในไตรสิกขาแล้วนี่ ...การปฏิบัติทุกอย่างนี่มันจะเป็นไปเพื่อสงเคราะห์ทั้งสิ้น 

ทุกลมหายใจเข้าออก มันจะเป็นเหตุสงเคราะห์องค์มรรคหมด มันจะเป็นเหตุของศีลสมาธิปัญญาหมด ...และยิ่งถ้าประกอบด้วยรูปแบบของการปฏิบัติ ยิ่งมาสนับสนุนโดยตรงเลย

เพราะนั้นตอนนี้เราจะมาพูดไม่ได้ว่าให้คนที่นั่งได้ 5 ชั่วโมง เดินจงกรมได้ทั้งวันทั้งคืนน่ะ คือผู้ปฏิบัติที่ดี หรือว่าถึงแล้วหรือว่าเก่งแล้ว ...เราก็ยังไม่เรียกว่าอย่างนั้น


โยม –  ก็ต้องประกอบด้วยปัญญาด้วย

พระอาจารย์ –  เมื่อใดที่ทำความรู้ตัวอยู่ เราถึงบอก...เมื่อกี้ก็พูดว่า... 

ผู้ใดที่รู้ว่านั่ง ผู้ใดที่รู้ว่ากำลังเดิน ผู้ใดที่รู้อยู่ว่ากำลังยืน  แล้วก็เห็นอาการยืน อาการนั่ง อาการเดิน อาการขยับที่เกิดขึ้นในกายปัจจุบันแล้ว ผู้นั้นเรียกว่าเป็นผู้ที่มีปัญญา 

แล้วเราก็ถามอีกว่า ที่ไหนไม่มีกาย ...เพราะนั้นเมื่อใดที่มันมีกาย หรือความเป็นจริงกายมันมีอยู่ตลอดเวลา แล้วมีผู้ที่รู้อาการของกายอยู่ตลอดเวลา ...ผู้นั้นแหละคือผู้ที่ทำความเพียร ...ไม่มีคำว่าเวลาไหน 

เพราะนั้นผู้ปฏิบัติที่แท้จริง คือเป็นผู้ที่ไม่มีเวลาปฏิบัติ เป็นผู้ที่ไม่มีสถานที่ปฏิบัติ เป็นผู้ที่มีแต่จิตเดียวในปัจจุบัน กับกายเดียวในปัจจุบัน 

ไม่รู้ว่ากายไหน ไม่รู้ว่าที่ไหน ไม่รู้ว่ากายทำอย่างไร หรือว่าต้องให้กายทำอะไรก่อน ...ถ้าทำอย่างนี้ ฝึกอยู่แค่นี้ จึงเรียกว่าเป็นผู้ที่มีการภาวนาอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก 

ไม่ต้องถามมรรคผลนิพพานเลย ...ถ้าทำได้ระดับนี้ ถ้าทำได้ทุกลมหายใจเข้าออกอย่างนี้ ไม่ต้องพูดถึงมรรคผลนิพพานเลย ...พูดก่อนว่าทำอย่างนี้ได้รึเปล่า แค่นั้น 

เพราะมรรคหรือผล จะเกิดขึ้นด้วยการประกอบเหตุ...ประกอบเหตุอย่างไร ...ต้องถามก่อนว่า ประกอบเหตุควรแก่เหตุไหม จะไม่ถามผล จะไม่ถามหานิพพาน ...แต่จะถามว่าประกอบเหตุควรไหม 

ประกอบเหตุแห่งศีลควรรึยัง ประกอบเหตุแห่งสมาธิพอรึยัง ประกอบเหตุแห่งปัญญาพอรึยัง ...ถามอันนี้มากกว่า ควรจะถามอย่างนี้กันมากกว่า 

อย่ามาถามว่าเมื่อไหร่ได้ เธอได้อะไร ฉันจะได้อะไร ทำยังไงถึงจะได้ ทำยังไงถึงจะนิพพาน อย่าถามดีกว่า ...ฟุ้งซ่าน นี่เรียกว่าฟุ้งซ่าน จิตปรุงแต่ง

ประกอบเหตุเยอะๆ ...รู้ตัว กายคือศีล กายปกติกาย กายปัจจุบันนี่แหละ รู้ลงไป ...อย่าออกนอกกาย อย่าลืมกาย อย่าหลง อย่าเพลิน อย่าหาย อย่าขาด อย่าห่าง

รู้เข้าไป ไม่ต้องไปคิดอะไร ...อย่าเชื่อความคิด อย่าตามความคิด อย่าหลงไปกับความคิด  อย่าเชื่ออารมณ์ อย่าตามอารมณ์ อย่าหลงกับอารมณ์ 

อย่าเชื่อความรู้สึก อย่าตามความรู้สึก อย่าตามความอยาก อย่าเชื่อความอยาก อย่าตามความไม่อยาก อย่าเชื่อความไม่อยาก แค่เนี้ย อย่าลืม อย่าหาย ทำได้ไหม 

นี่ ประกอบเหตุแห่งมรรค ถ้าทำอย่างนี้เรียกว่ากำลังประกอบเหตุแห่งมรรค ประกอบเหตุแห่งไตรสิกขาอยู่ 

แล้วพอมันเริ่มคิดเริ่มค้นว่านิพพานอยู่ไหน รีบละ รีบถอน ออกจากความคิดนั้นๆ ออกจากอารมณ์นั้นๆ ความอยากนั้นๆ ความหมายมั่นไปในนิพพานนั้นๆ ...เพราะไม่จริง ...ไม่ใช่

ทำไมถึงว่า...ไม่ใช่ ไม่จริง ...เพราะว่าไม่ได้อยู่ที่การประกอบเหตุแห่งศีลสมาธิและปัญญา เป็นเรื่องของความอยากล้วนๆ เป็นเรื่องของความหลง ความเพลิน ความเผลอ ความไม่รู้ปัจจุบัน 

ความไม่รู้ปัจจุบันน่ะคือหลงนึงแล้ว ...แต่จะไปรู้อดีตอนาคต โดยไปสำคัญว่าอดีตอนาคตเป็นจริงเป็นจังก็หลง ...ก็ต้องออกจากความหลงด้วยการรู้ในปัจจุบัน ...ศีลก็บังเกิดขึ้น ปรากฏขึ้น 

เหตุแห่งกายปรากฏ...ศีลก็ปรากฏ สติก็เป็นผู้เข้าไประวังรักษาศีล คือการปรากฏขึ้นแห่งกาย จิตก็เกิดความตั้งมั่นขึ้นเป็นหนึ่งเดียวกับกาย ...กายหนึ่ง จิตหนึ่ง เป็นหนึ่งซึ่งกันและกัน 

ทำให้มาก ...อย่าไปติ อย่าไปคิดว่ามันมากเกินไปแล้วมั้ง แล้วอย่าปล่อยให้มันคิดต่อ  เพราะไม่ได้คิดมานานแล้ว กลัวมันจะคิดไม่เป็น ...ไม่ต้องกลัว 

ไม่ต้องกลัวว่ามันจะคิดไม่เป็น มันจะทำงานข้างหน้าข้างหลังไม่ได้ผล ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องคิดล่วงหน้าไปก่อนว่าจะทำยังไง จะเตรียมการยังไง ...ไม่ต้องกลัว 

กล้าๆ ไว้ ให้มันกล้าหาญ กล้าหาญเด็ดเดี่ยวที่จะเผชิญกับอะไรก็ได้ที่จะเกิดหรือไม่เกิด นั่นแหละ ในปัจจุบันที่มันจะมาถึงในข้างหน้า 

เนี่ย เขาเรียกว่ากล้าหาญเด็ดเดี่ยวที่จะยอมรู้ยอมเห็นแค่ปัจจุบัน ...ถ้าจิตไม่กล้าหาญเด็ดเดี่ยว มันอดไม่ได้ที่จะต้องคิดไปล่วงหน้า ไปคาด ไปหมาย ไปหวังกับอะไร กับการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งเหล่านี้

นี่ จิตมันก็จะมั่นคงขึ้น ตั้งมั่นขึ้น เด็ดเดี่ยวขึ้น กล้าหาญขึ้น  เผชิญได้กับทุกสิ่ง...ที่ดั่งใจและไม่ดั่งใจ 

แล้วมันจะแก้ปัญหาได้หมดเองแหละ ณ ปัจจุบันนั้นๆ ...ไม่ต้องแก้ล่วงหน้า ไม่ต้องแก้ข้างหลัง ...การปฏิบัติก็แก้ลงในปัจจุบันที่เดียว 

จะทำถูก-จะทำผิด เขาจะทำถูก-เขาจะทำผิด แล้วต้องไปเจอกันโดยเราไม่ได้คิดมาไว้ล่วงหน้า แล้วมันเกิดอาการผิดพลาดอะไรขึ้นมา ณ ตรงนั้นขณะนั้น ...มันก็แก้ได้ 

แก้ด้วยศีล แก้ด้วยสมาธิ แก้ด้วยปัญญา ...ไม่ได้แก้ด้วยอารมณ์ ไม่ได้แก้ด้วยกิเลส ไม่ได้แก้ด้วยความพอใจหรือความไม่พอใจ ...แต่จะแก้ด้วยความตั้งมั่น เป็นกลาง และปล่อยวาง 

นี่คือวิถีแห่งพุทธะ นี่เรียกว่าวิถีแห่งมรรค ให้แก้ด้วยวิธีนี้ ...อย่าแก้ด้วยความคิด อย่าแก้ด้วยความอยาก อย่าแก้ด้วยอารมณ์

อดทน อดกลั้น ...ใครจะดี ใครจะร้าย ใครจะดั่งใจ ใครจะไม่ดั่งใจ อดทน ...แล้วก็จะเห็นเองว่าที่สุดของความอดทนคืออะไร ...ทุกอย่างมีความดับไปเองเป็นธรรมดา ไม่มีอะไรเกิดแล้วไม่ดับ 

และก็ในทำนองเดียวกัน ไม่มีอะไรดับแล้วจะไม่เกิด...ตราบใดที่ยังเป็นเรื่องของโลก  แล้วมันก็ผ่านไป แล้วเดี๋ยวมันก็ผ่านมาอีก แล้วเดี๋ยวมันก็ผ่านไปอีก 

แค่นั้นแหละ ...จิตมันจะเห็นซ้ำซากอยู่แค่นี้ ความจริงมีอยู่แค่นี้ 

แต่เรายังเห็นความจริงเหล่านี้เพียงแค่ผิวเผินและเล็กน้อย หรือเห็นความเป็นจริงเหล่านี้เพียงแค่อ่านมาฟังมา ...จิตมันบอกว่า แค่นั้นกูไม่เชื่อ

จิตมันไม่เชื่อว่า...โลกเป็นอย่างนี้ ไม่เชื่อหรอกว่า...ความเป็นจริงเป็นอย่างนี้ ...มันก็เข้าไปลบล้างความเห็นผิดหรือว่ามิจฉาทิฏฐิไม่ได้ด้วยอาการรู้แค่ผิวๆ เผินๆ อย่างนี้


(ต่อแทร็ก 9/19)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น