วันพุธที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 9/28 (1)


พระอาจารย์
9/28 (560101B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
1 มกราคม 2556
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  3  ช่วงบทความ)

โยม –  ถามพระอาจารย์เกี่ยวกับ คือถ้าอยู่ใน...ถ้าความคิดพระอาจารย์ว่าพวกผมเป็นมนุษย์อยู่ ควรจะดำรงชีวิตยังไงฮะ

พระอาจารย์ –  ดำรงชีวิตอยู่ด้วยศีลสมาธิและปัญญา


โยม –  ก็คือใช้วิธีภาวนาไปด้วยในชีวิตประจำวัน พยายามภาวนาแล้วมันจะหลุดจากคุกนี่ได้

พระอาจารย์ –  ต้องเข้าใจก่อนว่า...ภาวนาไม่ใช่นั่งหลับตา ภาวนาไม่ใช่เดินจงกรม


โยม –  ก็คือต้องคิดวิเคราะห์อย่างนี้หรือ

พระอาจารย์ –  ภาวนาไม่ใช่การคิดวิเคราะห์ ...เห็นมั้ย กว่าที่พวกเราจะเข้าใจเนื้อแท้ของคำว่าภาวนานี่ ต้องปรับความเห็นให้ดีก่อน ให้ตรงก่อน

เราพูดว่า...ศีล สมาธิ ปัญญา  ถ้าอยู่ในหลักของศีลสมาธิปัญญา เรียกว่าภาวนา นี่...ต้องมาตีความหมายตั้งแต่ศีลเลย...ศีลในแง่ที่เราว่าเป็นภาวนา ศีลที่จะเป็นเหตุของการภาวนา 

ศีลนี้คือความหมายของคำว่าปกติกาย ...ปกติกาย ตอนนี้ปกติกายอยู่เป็นยังไง


โยม –  ไม่เข้าใจ

พระอาจารย์ –  มันนั่งอยู่รึเปล่า มันเป็นปกติการนั่งอยู่ใช่มั้ย


โยม –  อ๋อ...ครับ

พระอาจารย์ –  ในการนั่งนี่ มีความรู้สึกอย่างไรในการนั่ง 

พูดถึงแต่เรื่องกายอย่างเดียว ไม่ต้องพูดถึงจิต ไม่ต้องพูดถึงอารมณ์ ไม่ต้องพูดถึงความคิด ...พูดถึงความปกติที่มันแสดงความรู้สึกของกายเดี๋ยวนี้ เป็นยังไงมั่ง


โยม –  ชาๆ

พระอาจารย์ –  อือๆ มันมีอยู่แล้วใช่มั้ย มันมีเป็นปกติธรรมดาใช่มั้ย เนี่ย


โยม –  ครับ

พระอาจารย์ –  ต้องไปทำขึ้นมามั้ย


โยม –  ไม่ต้อง

พระอาจารย์ –  มันมีอยู่แล้วใช่มั้ย ...นี่ล่ะคือความหมายของคำว่าปกติกาย เข้าใจมั้ย ... มันมีมาตั้งแต่เกิดเลยใช่มั้ย ขยับนี่รู้สึกมั้ย เห็นมั้ย


โยม –  เห็นครับ

พระอาจารย์ –  อือ มันเป็นความรู้สึกใช่มั้ย ว่าวืบๆ วืบๆ ใช่มั้ย


โยม –  ครับ

พระอาจารย์ –  มันเป็นปกติแสดงความรู้สึกอย่างนี้ใช่ไหมของกาย ไม่ได้ขึ้นกับความอยากหรือความไม่อยากใช่มั้ย  มันมีอยู่แล้ว มีตลอดเวลาใช่มั้ย ...ตัวนี้คือความหมายของคำว่า ศีล

เพราะนั้นในความหมายคือว่า...ศีลน่ะมันมีอยู่แล้ว กายนี้มันเป็นศีลของมันโดยธรรมชาติ คือมันเป็นปกติของมันอย่างนี้โดยธรรมชาติ ไม่ต้องไปเสกสรรปั้นแต่งมันหรอก มันก็มีของมันอย่างนี้จนวันตาย 

เพราะนั้นกายนี่ดำรงความเป็นศีลอยู่แล้ว ...แต่เมื่อกี้ถ้าเราไม่ถาม โยมจะไม่รู้ ใช่มั้ย ...โยมไม่รู้ หมายความว่าเท่าที่ผ่านมาโยมไม่เคยสนใจอาการมันเลย ใช่ป่าว 

นี่คือไม่เคยสนใจอาการของกายอย่างนี้เลยใช่ไหม ...ถ้าไม่บอก มันก็ไม่กระตุ้นต่อมปัญญาเกิดน่ะ  พอชี้แนะ อ่ะ ก็เริ่มกลับมาดู ความรู้สึก ใช่มั้ย กลับมาดูความรู้สึกของปกติที่มันมีอยู่นี้

ไอ้ตัวที่กลับมาดูความรู้สึกที่เป็นปกติของกายที่มีอยู่นี่ ท่านเรียกว่า “สติ”  รู้จักรึยัง..สติ ..คือถ้ามันไม่ระลึกแล้วก็กลับมาดูตรงนี้ รู้ความเป็นปกติของกายที่มันมีอยู่แล้วนี่

ถ้าไม่มีสติ มันก็จะไม่รู้ใช่มั้ย ว่ามันมีความปกติตรงนี้แสดงอยู่ ...เพราะนั้น ศีลน่ะมีอยู่แล้ว แต่ถ้าไม่มีสติ มันก็จะไม่เห็นว่ากายนี้เป็นศีลอย่างไร ...ก็แปลว่าผู้นั้นไม่รักษาศีล ใช่ป่าว 

ไม่รักษาศีลคือมันไม่รู้เลยว่ากายปกติเดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร ...อันนี้เราไม่ได้พูดใน level ของศีลห้า ศีลแปดนะ เราพูดถึงเลเวลของกาย เลเวลของศีลที่จะเป็นเหตุเอื้อให้เกิดสมาธิและปัญญาเพื่อความหลุดพ้น

เพราะนั้นให้รักษาศีลบ่อยๆ แค่นี้ ทำแค่นี้แหละ ไม่ต้องคิดมาก แล้วไม่ต้องบอกว่าเมื่อไหร่จะได้สมาธิ เมื่อไหร่จะได้ปัญญา ...นี่ เหมือนบันไดมันมีสามขั้นน่ะ


โยม –  ก็คือให้รักษากายปกติ

พระอาจารย์ –  ให้รู้ตัว ให้รู้ว่าเดี๋ยวนี้มันเป็นยังไงกับกายนี้...นี่คือบันไดขั้นแรก ...ซึ่งถ้าโยมอยากขึ้นชั้นสามนี่ โยมจะกระโดดขึ้นไปขั้นที่สามเลยไม่ได้

ที่ว่าสามขั้นน่ะ มันไม่ใช่ขั้นบันไดอย่างนี้หนา ...คือประเภทขั้นบันไดระดับพื้นนี่ แล้วอีกขั้นนึงนู่น กลางดอยเชียงดาว และอีกขั้นนึงโน่น ยอดดอยเชียงดาว มันไม่ใช่ว่าจะกระโดดขึ้นได้

เพราะนั้นการที่ว่า เมื่อไหร่จะได้ปัญญา เมื่อไหร่จะได้สมาธิ เมื่อไหร่จะหลุดพ้น ...ก็เหมือนกับหมาแหงนมองเครื่องบินน่ะ ฝันเอาเหอะ มันไม่มีทางได้หรอก

แล้วทำยังไง ... โยมก็ต้องปีนป่ายอยู่ที่บันไดขั้นแรกนี่ให้ได้ แล้วจากนั้นไปมันก็จะถึงก้าวที่เป็นขั้นที่สอง บันไดขั้นที่สอง ...มันก็จะไปตามลำดับขั้น มันจะไม่มีการลัดขั้นตอนเลย

แต่ให้รู้ไว้ว่า แค่รักษาความรู้ตัว รู้ว่ากาย อิริยาบถกายปัจจุบัน มันเป็นอย่างไร ...ไม่ต้องไปทำอะไรขึ้นมาอีก ไม่ต้องไปคิดด้วย ไม่ต้องไปหาเหตุหาผลด้วย ไม่ต้องไปวิเคราะห์วิจารณ์ด้วย

แล้วก็ไม่ต้องไปสงสัยลังเลกับมันด้วย ...เอาแค่ว่า นั่งก็รู้ว่านั่ง กำลังนั่ง แล้วก็ดูความรู้สึกในอาการนั่ง แล้วเดี๋ยวจากนั่งเดี๋ยวมันจะลุก ก็ให้เห็นว่ากำลังจะลุก แล้วก็ลุก

แล้วก็ต่อเนื่องไป กำลังเดิน ก็เห็นกำลังเดิน กำลังก้าวก็เห็นการก้าว กำลังกระทบพื้นก็ให้เห็นความกระทบพื้น เหยียดๆ ยึดๆ คู้ๆ เหลียวๆ ...ให้มันเห็นพอดีกัน

ถ้าตั้งใจทำอย่างนี้ จึงเรียกว่าผู้นี้เป็นผู้ที่กำลังรักษาศีลด้วยสติ ...ซึ่งศีลนี้แลจึงเป็นบาทฐานให้เกิดสมาธิและปัญญาในภายหลังเอง นั่นมันเป็นบาทฐาน เป็นพื้นฐานน่ะ

อย่างที่เราพูดเรื่องกายเรื่องศีลนี่ โยมฟังรู้เรื่องใช่มั้ย โยมรู้เรื่องกายใช่มั้ย รู้เรื่องใช่มั้ยที่เราบอกว่าความรู้สึกกายเป็นอย่างนี้  รู้เรื่องมั้ย เข้าใจมั้ย  เห็นมั้ย


โยม –  ครับ

พระอาจารย์ –  แต่ถ้าเราบอกว่า ให้ทำจิตตั้งมั่น เป็นหนึ่ง เป็นกลาง ไม่หวั่นไหว ...รู้เรื่องมั้ย


โยม –  ไม่รู้เรื่อง

พระอาจารย์ –  ไม่รู้เรื่องแน่นอนเลย มันต้องแน่อยู่แล้ว  เพราะโยมไม่เคยเห็น เพราะโยมจะไม่เคยเจอ ...แต่พอพูดเรื่องกาย เรื่องศีลปกติ รู้ใช่มั้ย พอเข้าใจได้อยู่

แปลว่าอะไร ...แปลว่าเนี่ยคืองาน งานของพวกเรานี่คืองานนี้ ...แต่ไอ้จิตตั้งมั่นเป็นกลาง เป็นหนึ่ง เป็นเอก ไม่หวั่นไหว ยังไม่ใช่งาน ...เพราะโยมยังไม่รู้เลยว่ามันคืออะไรกันวะ

แล้วจะไปรู้ แน่ใจได้อย่างไรว่า...ถ้าอย่างนั้นมันจะใช่จิตเป็นหนึ่งรึเปล่า ...มันจะมั่วแล้ว เห็นมั้ย ไปหาตำรามายืนยันอีก เอ้า ใช่รึเปล่าๆ สงสัย ไปถามคนนั้นไปถามคนนี้ สงสัยอีก

แต่ที่รู้อยู่ตอนนี้ไม่สงสัยคือเรื่องศีล ...เพราะว่าภูมิปัญญา หรือว่าระดับของการอบรมหรือว่าสะสมรากฐาน มันต้องอยู่ในขั้นนี้ ก็ต้องทำตรงนี้เสียก่อน

แล้วจากนั้นไป ไม่ต้องกลัว ...อันไหนเรียกว่าจิตตั้งมั่น อันไหนเรียกว่าเป็นกลาง เดี๋ยวมันรู้เองน่ะ ...เมื่อใด ...ก็เมื่อศีลนี้เพียงพอ ถ้าไม่เพียงพอ...อย่าหาสมาธิ

ถ้าไม่เพียงพอ...อย่าหาว่ากูจะวางกิเลส ละกิเลส ออกจากกิเลสยังไง ไม่มีทาง ไม่มีทางเลย ...ก็เหมือนกับหมากับปลากระป๋อง เหมือนหมากับเครื่องบินน่ะ ไม่มีทางเลย

เพราะนั้นให้กลับมาเป็นคนเดินดิน ให้กลับมาเป็นคนก่อน อยู่ในความเป็นคนก่อน คืออยู่ในศีล ...เพราะศีลนี่คือเครื่องหมายแสดงความเป็นคน ใช่มั้ย

ถ้านั่งแล้วโยมไม่รู้สึกว่านั่ง โยมก็ไม่ใช่คน ใช่มั้ย ...เป็นคนมันต้องรู้สึกถึงการนั่งสิ ถ้าจะว่าเป็นคนน่ะ

แต่นั่งแล้ว...ตัวนี่นั่งอ่ะนะ แต่จิตไปไหนไม่รู้ อยู่กรุงเทพแล้วมั้ง บางทีก็ไปหลายรอบแล้วนี่ ไปแล้ว กระโดดไปแล้ว ...นี่ยังไม่ทันจะลุกจากกุฏิเลย ไปที่รถแล้ว จิตไปที่รถแล้ว


โยม –  (หัวเราะกัน)  

พระอาจารย์ –  เห็นมั้ย มันล้ำมั้ย มันล้ำหน้ามั้ย ...แล้วอย่างนี้จะว่าเป็นคนเหรอ ไอ้ตัวที่ไปแล้ว ...มีตัวเราที่ไปก่อนใช่มั้ย มีตัวเราไปใช่มั้ย    


โยม –  ไปอยู่ร้านอาหารแล้ว

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ ไอ้นั่นน่ะผี ไม่ใช่คนนะ ผีใช่มั้ย ...เอ้า ก็แปลว่าไม่ได้เป็นคนน่ะดิ เป็นผี อ่ะ ถ้าเป็นคนก็ต้องอยู่ตรงนี้ดิ กายมันอยู่ตรงนี้...ไอ้นี่เครื่องหมายของคนใช่มั้ย ก้อนนี้ๆ    


โยม  ครับ 

พระอาจารย์ –  เออ มันเป็นคนไม่เต็มคนน่ะ เป็นคนไม่ถึงเสี้ยว เป็นคนไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซ็นต์...ในหนึ่งวัน เอาอย่างนี้ดีกว่า ...เห็นมั้ย ว่าศีลเป็นเครื่องหมายแสดงความเป็นคน

เนี่ย เพราะนั้นนั่งยังนั่งไม่เป็นเลย นั่งไม่เป็นคน...เป็นผีบ้าง เป็นยักษ์บ้าง เป็นอสุรกายบ้าง เป็นเดรัจฉานบ้าง เป็นได้หมดเลยนะ ทั้งๆ ที่ว่าตัวจริงนี่เป็นคนใช่ป่าว เออ มันมีอะไรหลายร่างสิงสู่อยู่ในนี้ทีเดียวเลย

เพราะไม่มีศีลใช่มั้ย เพราะไม่มีสติที่รู้สึกถึงความเป็นคน คือเย็นร้อนอ่อนแข็ง ไหวนิ่งติงขยับ เนี่ย นี่คือเครื่องหมายแสดงความคนที่มันมีลักษณะอาการนี้เป็นปกติ

เพราะนั้นนั่งยังนั่งไม่เป็น ก็ต้องมาเรียนการนั่งซะใหม่ แล้วเดินก็ยังเดินไม่เป็นเลย เดินไม่เป็นคน เป็นอะไรก็ไม่รู้ เดินลอยๆ เคยมั้ย เคยเดินแบบชนนั่นชนนี่  มันไม่เป็นคนน่ะ มันเป็นผีมันถึงชนนั่นชนนี่อยู่


(ต่อแทร็ก  9/28  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น