วันพฤหัสบดีที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 9/28 (2)


พระอาจารย์
9/28 (560101B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
1 มกราคม 2556
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก  9/28  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  นั่นน่ะใจลอย เลื่อนลอย เดินก็เดินไม่เป็น นั่งก็นั่งไม่เป็น นอนก็ยังนอนคิดนั่นคิดนี่คิดนู่น คิดไปนู้น วันพรุ่งนี้จะทำยังไงดี กูทำเรื่องไว้เยอะ มันจะเอากูคืน อย่างนู้นอย่างนี้ (โยมหัวเราะกัน) 

คน..อยู่ไหน เฮอะ คนอยู่บนเตียง คนมันกำลังนอนอยู่บนเตียง แล้ว “กู” อยู่ไหนล่ะ..ไม่รู้ ...เข้าใจรึยังว่ามันไม่รู้ ไม่รู้อยู่ที่ไหน นี่แหละเขาเรียกว่าหลง มันไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน

ก็หาที่ให้มันรู้อยู่ซะ ...เอาศีลน่ะเป็นเครื่องอยู่ เห็นมั้ย นี่เขาเรียกว่าอยู่กับศีล นี่เรียกว่ารักษาศีล ...เพราะนั้นในคำพูดว่ารักษาศีล กับคำว่ารักษากาย...คือความหมายเดียวกัน

คือความหมายเดียวกันกับสติในกาย...ความหมายเดียวกัน  คือความหมายเดียวกันกับกายานุสติปัฏฐาน...ความหมายเดียวกัน  คือความหมายเดียวกันกับกายคตาสติ...ความหมายเดียวกัน

เพราะนั้น แค่รู้ตัวแค่นี้ มันกี่หัวข้อธรรมแล้วที่พระพุทธเจ้าท่านแจกแจงมา เห็นมั้ย ...แต่ถ้าเราไปคิดวิเคราะห์ตามนี่ งงๆ แล้วไม่รู้จะเอาอันไหนเป็นจุดเริ่มต้น

เห็นมั้ย ที่มาถามนี่เพราะไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง ใช่ป่าว ...เออ มันถึงมีพระไง พระคอยบอก  ไม่ใช่แพะ ถ้าแพะบอกไม่ถูก ถ้าแพะบอกมั่ว (หัวเราะกัน)  ถ้าพระล่ะบอกตรงหน่อย บอกแล้วเข้าใจใช่มั้ย

เห็นเค้าลางใช่มั้ย ว่าสมาธิ ปัญญาจะเกิดอย่างไรใช่มั้ย ...เอ้า ถ้ากูอยู่ตรงนี้ กูไม่ไปที่ไหน จิตกูรู้อยู่ที่เดียวนี่ จิตไม่เป็นหนึ่งได้รึ ...ก็มันมีกายเดียวให้รู้ตรงนี้ มันก็ต้องหนึ่งใช่ไหม จิตก็ต้องรู้อันเดียวนี่ใช่มั้ย 

นั่นน่ะจะเป็นเหตุให้เกิดจิตตั้งมั่น จิตเป็นหนึ่ง จิตเป็นสัมมาสมาธิ ...แต่ถ้ามันหลายกายล่ะ มันก็หลายจิตสิ ใช่มั้ย มันไม่ใช่กายเราที่นี้ที่เดียว มันมีกายเราที่นั้น กายเราที่โน้น

มันมีทั้งกายเราที่ข้างหน้าจะทำอะไร แล้วยังมีกายเราข้างหลัง ที่ทำเรื่องอะไรดีและไม่ดีมาก่อน แล้วยังมีกายคนอื่นอีก ...มันกี่กายเข้าไปแล้ว ...มันหลายกายเกิน 

เมื่อมีหลายกายก็หมายความว่าหลายจิต หลายตัวเรา หลายตัวเขา มันก็หลายทุกข์แล้ว นั่น มีตัวเราตรงที่นั้นก็ทุกข์ที่หนึ่งแล้ว มีตัวเราที่ทำไม่ดีข้างหลังก็เป็นทุกข์อีกที่หนึ่งแล้ว 

มีตัวเราที่เปลี่ยนว่าเดี๋ยวเราจะทำอย่างนี้แล้วน่าจะดีกว่ามั้ย ก็มีทุกข์หรือว่าสุขรออยู่ข้างหน้าไม่รู้เท่าไหร่ ...เรียกว่าสุขทุกข์ล่วงหน้าลับหลังนี่เต็มไปหมด ล้อมรอบเลยนะ

เพราะอะไร ...เพราะมันออกจากความเป็นคนในปัจจุบัน มันออกจากศีลในปัจจุบัน มันออกจากกายในปัจจุบัน

เอ้า ถ้ามันเหลือแค่กายเดียว อยู่ตรงนี้ หยุดปุ๊บ ไม่ต้องคิด...บ้านไม่มี รถไม่มี ข้าวไม่กิน ...อยู่ตรงนี้ ทุกข์ไม่มีแล้วระดับนึง  เห็นมั้ย มีทุกข์ตอนไหน มีทุกข์ยังไง

ก็มีทุกข์อยู่อันเดียว คือยังไง...ปวดโว้ย ตึง แน่น  เนี่ย อันนี้ทุกข์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นทุกข์ตามความเป็นจริง กายจึงมีทุกข์ตามความเป็นจริงให้เห็นอยู่ตลอดเวลา

มันมีจริงนะเนี่ย การปวดเมื่อย การตึง แน่น หนักอุ่น พวกนี้เป็นทุกข์ตามความเป็นจริง ...แต่ไอ้ทุกข์ที่...ยังไม่ได้กินข้าว หรือกินข้าวร้านนั้นจะไม่อร่อย หรือว่าไปกินร้านนั้นดี เอ๊ะ หรือว่าร้านโน้นดีกว่า (หัวเราะกัน)

เห็นมั้ยว่า มันจะสร้างตัวเราที่เข้าไปลิ้มรสนี่ แต่ละร้านๆ และก็จะมีรสชาติที่มันคาดเดาเอา..อร่อยกว่าหรือไม่อร่อยกว่ามั้ย  เริ่มสงสัย แล้วก็..เอ อันนั้นน่าจะอร่อย

แต่เราถามว่า...จริงไหม มันมีจริงไหม ในเดี๋ยวนี้มันมีจริงมั้ย ...ไม่มีจริงเลยนะ ...แต่มันเชื่อว่าจริง เชื่อว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ มันเชื่อตัวนั้นมากกว่าตัวนี้ใช่ไหม ...ทุกคนเลย จะเป็นอย่างนี้เลย

ถ้าอย่างนี้เราถามแบบตรงๆ เลยว่ามันโง่หรือฉลาด ...เอาอย่างนี้ดีกว่า อันไหนจริงหรืออันไหนเท็จ แล้วมันสมควรจะเชื่อความจริงมากกว่าความเท็จ ทำไมถึงไปเชื่อความเท็จมากกว่าความจริง ...มันไม่โง่ก็คงเรียกว่าพระอรหันต์แล้ว


โยม –  แล้วอย่างนี้การใช้ชีวิตก็ไม่ต้องมีการวางแผนเลยสิครับ   

พระอาจารย์ –  ใช่ โง่เข้าไว้ (หัวเราะกัน) ...กล้าโง่มั้ยล่ะ ตรงเนี้ย เราต้องถามว่ากล้ามั้ยล่ะ เนี่ย มันทำไม่ได้เพราะไม่กล้า 

ไม่กล้าเพราะอะไร ...เพราะปัญญาเรายังไม่สามารถรองรับตรงนี้ได้ ...แต่ถ้าเราฝึกไปเรื่อยๆ มันจะกล้า ...มันกล้าที่จะเผชิญกับทุกสิ่งที่ปรากฏโดยไม่อิดออด

แต่ตอนนี้...กลัวมั้ยถ้าจะไม่คิดโปรเจ็คท์งานเลย กลัวมั้ยถ้าจะไม่เตรียมการพูดกับการไปเสนองานคนแล้วไม่คิด นี่มันอยู่ไม่ได้ ต้องคิด ...นอกจากผู้ที่ฝึกดีแล้ว ก็ช่างหัวมัน ไปว่ากันแบบไลฟ์ ไลฟ์คอนเสิร์ท  


โยม – (หัวเราะ) สดๆ   

พระอาจารย์ –  ว่ากันเป็นขณะๆ เลย...มึงมายังไงว่ากันตรงนั้นเลย  ได้ผลยังไง..ไม่สน รับได้หมด  


โยม  ค่อยเป็นทุกข์ ณ ขณะนั้น 

พระอาจารย์ –  ใช่ ค่อยไปเรียนรู้กับปัจจุบันล้วนๆ เลย ไม่มีการทุกข์ล่วงหน้า 


โยม –  เอาง่ายๆ อย่างเช่น เดี๋ยวจะต้องไปกินอาหารนี่ ก็ไปเจอร้านไหนก็กินเลย อร่อยไม่อร่อยไปรับตรงนั้น  

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ  ถ้าจะฝึกนะ ฝึกอย่างนั้น   


โยม –  นั่นคือการใช้ชีวิต  

พระอาจารย์ –  แต่ว่าบอกให้เลยว่า ในระดับพวกเรา...ยากมาก  เพราะมันจะไม่ยอมรับ


โยม  มันจะคิดไปก่อน 

พระอาจารย์ –  ใช่ เพราะมันมีโปรเจ็คท์ แล้วมันให้ค่ากับสิ่งที่มันคิดนั้นมาก ...ตรงที่ให้ค่ากับสิ่งที่คิดนั้นมากน่ะ ที่ท่านเรียกว่า...อุปาทาน 

คือความยึดมั่นถือมั่น แล้วว่าจริง มันต้องจริงแน่เลย ...แล้วถ้าไม่จริงตรงนั้น กูจะหงุดหงิดแล้ว หงุดหงิดในสิ่งที่ไม่มีจริง เห็นมั้ย ท่านเรียกว่าอุปาทาน

เนี่ย พระ...พระซื้ออาหารกินไม่ได้  บิณฑบาตแล้วแต่เขาจะให้...เพราะอะไร ทำไมพระพุทธเจ้าถึงวางรูปแบบนี้ ...คือดัดสันดานมันซะมั่ง เข้าใจมั้ย เพื่อดัดสันดานมัน

เพราะว่ามึงอยากกิน มึงมีเงินมึงก็ไปซื้อกิน ก็เสร็จกิเลสดิ ใช่มั้ย ...แต่ว่าถ้าเป็นพระนี่ท่านจำกัดโดยรูปแบบเลย เหมือนเป็นขอทาน เขาให้อะไรมา จะพอใจ-จะไม่พอใจ ก็ต้องรับ

อยากกินเย็นกูได้ร้อน อยากกินร้อนกูได้เย็น อยากได้มากกูกลับได้น้อย อยากได้ของไม่เผ็ดกูกลับได้ของเผ็ดมากมา ...แล้วหนีไม่ได้นะ ต้องกินนะ ไม่กินมึงก็ตายดิ 

เนี่ย เงินก็ไม่ให้จับ เอ้า แล้วกูจะไปซื้อของยังไง ใช่มั้ย ...นี่คือการทรมานในรูปแบบอย่างนึง เพื่อทรมานจิตที่มันจะไปไขว่คว้า ควาน ค้นหา...เพื่อมา serve need สนองตัณหา ว่างั้นเถอะ

ซึ่งการมีชีวิตของพวกเราน่ะมันสนองตัณหา แต่ไม่รู้ตัวหรอกว่าสนองตัณหา ...ถึงรู้ก็แกล้งทำเป็นไม่รู้ เอาหูเอาตาหลิ่วไปซะข้างนึง .. “ไม่ใช่ความอยากของผมหรอก ผมทำไปด้วยความหวังดี”

นั่น เขาเรียกว่าอะไร มันคดๆ งอๆ น่ะ มันไม่ตรงๆ ...พอไม่ตรงมันก็ไม่เห็นความจริง มันไม่กล้าที่จะเผชิญความเป็นจริง ไม่กล้าเผชิญความเป็นจริงแม้กระทั่งจิตเจ้าของ ว่าทำไปด้วยความอยาก

คือไม่ได้เมตตาอนาทรหรอก กูพูดดีนี่ แต่ลึกๆ แล้วกูถือมีดเล่มนึงกูแทงมึงชิบหายเลยล่ะ ...กล้าดูมั้ยล่ะ กล้ายอมรับมัน ดูตรงๆ มั้ยล่ะ อย่าไปปิด อย่าไปกลัว อย่าไปอายตัวเอง

เออนั่นมันพูดเรื่องขั้น advance แล้ว ...แต่ไอ้ขั้นนี้...เดินดิน เดินให้เป็นก่อน ยืนให้เป็นก่อน นั่งให้เป็นก่อน นั่งให้เป็นคนก่อน ...ถ้ายังนั่งไม่เป็นคน เดินไม่เป็นคน ยืนนอนไม่เป็นคน แอดวานซ์ไม่ได้

จะไปแอดวานซ์...แยกแยะ ธัมวิจยะรายละเอียดของที่ว่า อันไหนจิต อันไหนกิเลส อันไหนใจ อันไหนขันธ์ ซึ่งมันยังมีรายละเอียดยิบย่อยอีกมากมาย นี่...ไม่มีทาง จะไม่มีทางเลย

เพราะนั้น เดินให้เป็น ยืนให้เป็น นั่งให้เป็น นั่งให้เป็นคน ...นั่งยังไงนั่งให้เป็นคน นั่งตรงไหนรู้อยู่ตรงนั้น เดินตรงไหนรู้อยู่กับเดินนั้น เนี่ย มันพอดีกัน ให้รู้กับกาย กายกับรู้นี่พอดีกันในปัจจุบัน

นี่ อย่างนี้เป็น...แล้วให้เป็นอย่างนี้บ่อยๆ มันจะกลับคืนสู่ความเป็นคนเต็มคนขึ้น ...เมื่อเป็นคนเต็มคนขึ้นนั่นแหละ จึงจะเป็นรากฐานของธรรมทั้งหลายทั้งปวงได้

เป็นคนแท้ๆ แต่ไม่ยอมรับสภาพความเป็นคน...ได้ไง ...หนีจากความเป็นคนตลอดเวลา ฝันหวาน ฝันไปข้างหน้า ฝันไปข้างหลัง ฝันถึงตัวเราที่ดีกว่า ตัวเราที่ละเอียดกว่า ตัวเราที่เลิศกว่า ข้างหน้าอยู่ตลอด

แต่ไอ้ตัวที่เย็นร้อนอ่อนแข็ง เดินดินกินข้าวแกง กระทบร้อนกระทบหนาวมีความรู้สึกเย็นร้อนหนาวนี่ ไม่ค่อยดูๆ ไม่ค่อยยอมรับตัวนี้ ...ฝันแต่จะไปถึงตัวนั้นน่ะๆ

ตัวเราตัวนั้นน่ะ ที่ได้นอนในห้องแอร์ ที่ขับรถเก๋งคันสวยๆ หรูๆ  ที่มีเงินที่จะไปเที่ยวที่ไหนก็ได้ในโลกนี้ ...เนี่ย มันฝันๆๆ ที่มีตัวเราอยู่ในตัวนั้นน่ะ ทั้งๆ ที่ไม่มี

เมื่อไม่มี แต่ฝันที่จะไปมี มันก็เกิดทุกข์ขึ้นแล้ว ...ตรงนี้ท่านเรียกว่าทุรนทุราย มันมีความทุรนทุรายหรือความเศร้าหมองตลอดเวลา จึงอยู่กับความเศร้าหมองตลอดเวลา

เพราะอะไร ...ไม่แน่ใจว่ากูจะได้ไหม มันไม่แน่  แต่ว่าลึกๆ ก็ยังผลักดันว่าต้องเอาให้แน่ เอ้า มันกลายเป็นยักแย่ยักยันกันอยู่อย่างนี้ ...นั่นแหละคือความเศร้าหมองขุ่นมัว ไม่ชัดเจน มันไม่เกิดความชัดเจน

แล้วที่ไหนล่ะมันชัด ...ก็ที่ตูดมึงกระทบพื้นน่ะมันชัดมั้ย ...นี่ จริง ความเป็นจริงมีอยู่ที่นี้เอง  อยากรู้ความเป็นจริงใช่มั้ยล่ะ อยากเห็นความเป็นจริงใช่มั้ยล่ะ ก็ดูตูดที่กระทบพื้นนี่..จริง

ไม่ต้องไปดูที่อื่นเลย ไม่ต้องไปหาความจริงที่อื่นเลย ...นอกนั้นไม่จริง ถ้าออกจากนี้ไปล่ะไม่จริง  แต่ที่นั่งแล้วมีความรู้สึกตรงนี้ เดี๋ยวนี้ แน่นอนเลย..จริง

เพราะนั้น ความเป็นจริงจึงมีอยู่จำเพาะแค่ในปัจจุบัน ไม่มีในอดีต ไม่มีในอนาคต ...แต่พอเริ่มปฏิบัติ ถ้าไม่เข้าใจ มันจะหาความจริงของอนาคตธรรม หาธรรมในอนาคต

เห็นมั้ย ขนาดเป็นนักปฏิบัติยังถูกหลอกเลย ขนาดเป็นนักปฏิบัติแล้วยังโง่ได้เลย และยังมีสิทธิ์โง่งมงายกับสภาวะตั้งหลายปีก็ยังได้เลย เนี่ย จะนั่งเพื่อให้มันสงบ...ทุกข์แล้ว

ทุกข์เพราะอะไร ...ก็มันไม่สงบ แล้วมันไม่ยอมรับความไม่สงบ เห็นมั้ย ทุกข์มั้ย ไม่สงบก็ทุกข์ ...ซึ่งมันสมควรจะทุกข์มั้ยนี่ อย่างนี้ ไม่สมควร...ถ้ามีปัญญา

ถ้ามีปัญญาก็หมายความว่า...ยอมรับตามความเป็นจริง เห็นตามความเป็นจริงแล้วยอมรับตามความเป็นจริง 

หมายความว่า...ก็มันไม่สงบ กูก็ยอมรับว่ามันไม่สงบ แล้วกูไม่หาความสงบกว่านี้ ก็ไม่ทุกข์แล้ว เข้าใจป่าว แล้วกูจะไปทำมันทำไมไอ้ความสงบนี่ 

แต่คราวนี้ว่า พอไม่ทำความสงบ เดี๋ยวมันจะมีว่า...เอ กูจะไม่ได้ปัญญามั้ง แล้วกูจะไม่ได้ผลของการภาวนา แล้วการภาวนานี้จะไม่ได้ผล อย่างนั้น 

เนี่ย มันสร้างค่าไว้แล้ว ทั้งที่ว่าไปผูกไว้แล้ว ไปสร้างเงื่อนไว้แล้ว ไปผูกปมไว้แล้ว ไปหมายมั่น


(ต่อแทร็ก  9/28  ช่วง 3)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น