วันจันทร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 9/29 (3)


พระอาจารย์
9/29 (560101C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
1 มกราคม 2556
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 9/29  ช่วง 2

โยม –  หลวงพ่อ แล้วพวงมาลัยไหว้พระล่ะคะ   

พระอาจารย์ –  เหมือนกันน่ะ นี่ที่เรายังเข้าเป็นปุ๋ยหมดน่ะ พวงมาลัยที่เอามาไหว้กันน่ะ ...ก็ดีออก ใช่มั้ย

ทั้งหมดนี่น่ะ  คือ สีลัพพตปรามาส เข้าใจมั้ย  คือความลูบๆ คลำๆ ในวัตรและศีล ...คือการดำรงชีวิตหรือว่าความเชื่อ ที่เขาเชื่อกันมา ว่าอย่างนี้ไม่ดีนะ อย่างนั้นไม่ดีนะ อะไรอย่างนี้

ทำบุญแล้วต้องกรวดน้ำ แล้วน้ำนี่จะไปเทที่ไหนเหวี่ยงๆ ไปก็ไม่ได้ ต้องเทที่โคนต้นไม้ อะไรอย่างนี้ จะไปสาดๆ อย่างนี้ก็ไม่ได้ เดี๋ยวไม่ถึง จะต้องพินอบพิน้อมเทด้วยความสำรวม ไม่งั้นไม่ถึง อย่างเนี้ย


โยม  มันอยู่ที่เราตั้งจิตใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  เออ ถ้ากรวดน้ำแล้วเดินออกมาสาดทิ้ง คนจะมองยังไง  เห็นไหมว่านี่คือสีลัพพตปรามาส  แล้วเราจะไม่กล้าทำ เพราะกลัว ...เห็นมั้ย นี่ก็คือความยึดอีกแบบนึง


โยม –  ตอนนี้ก็มีคำถามนึงหนูจะถาม คืออย่างบางทีเราถวายของพระอย่างนี้ใช่ไหม สมมุติว่าเราใช้จิตอธิษฐานใช่ไหมคะ แต่บางคนบอกว่าไม่ได้ เสร็จแล้วคุณต้องกรวดน้ำ หนูก็ว่าก็เราตั้งจิตไปแล้ว เขาบอกไม่ได้ มันไม่ถึง ต้องกรวดน้ำ   

พระอาจารย์ –  ก็กรวดไปสิ 


โยม –  คืออย่างวันนั้นเราไม่มีสถานที่ให้กรวดน้ำ 

พระอาจารย์ –  ก็ไม่ต้องกรวด


โยม –  ก็ไม่เป็นไรใช่ไหมคะ  บุญก็คงถึงที่เราตั้งไว้ สมมุติเราจะอุทิศให้คุณแม่อย่างนี้ จิตที่เราตั้งให้ กับการที่เราไม่กรวดน้ำนี่ก็คือ เราก็คงต้องคิดว่าถึงรึเปล่า คือบางคนบอกว่าถ้าไม่กรวดน้ำ ไม่ถึง บุญนี้ไม่ถึงแม่ อะไรอย่างนี้น่ะฮ่ะ

พระอาจารย์ –  มันเอาอะไรมายืนยัน    


โยมบอกกัน –  ต้องรอไปพิสูจน์เอง   

พระอาจารย์ –  ไอ้คนพูดน่ะมันเอาอะไรมายืนยัน แล้วโยมเอาอะไรมายืนยัน     


โยม  ก็คือทำตามกันมา

พระอาจารย์ –  ก็นั่นน่ะสิ เราก็ยังไม่รู้เลยถึงรึเปล่า  


โยม –  ก็เห็นเขาบอกว่าให้กรวดน้ำ ก็กรวดน้ำ 

พระอาจารย์ –  คือมันเป็นลักษณะอาการที่ดูดี เป็นลักษณะที่ดี ถือว่าดีแล้ว ดีในปัจจุบัน ดีแล้ว ไม่ต้องคิดว่าจะถึงหรือไม่ถึง ...ถือว่าการกระทำนั้นดีแล้ว จิตส่งเป็นกุศลดีแล้ว ให้ดีอยู่แค่นี้

แต่เอาอะไรมายืนยัน ว่านี้ถึง นี้ไม่ถึง หือ มันมีสิทธิ์อะไรมายืนยัน ..เออ ถ้าเป็นพระพุทธเจ้าพูด เราจะเชื่อ แต่ในระดับอย่างนี้เอาอะไรมายืนยัน ต่อให้เป็นพระเรายังไม่เชื่อเลย

เมื่อก่อนก็มีคนเคยมาถามหลวงปู่ว่า ทำไมครูบาอาจารย์ท่านไม่พูดเรื่องพรหม เรื่องเทพ เรื่องผีอะไร  ฟังแล้วมันจะเกิดความศรัทธาเลื่อมใสได้...ว่างั้น

หลวงปู่บอก...แล้วเราจะไปจับขาเอามันมานั่งให้เห็นได้ยังไงล่ะ ถ้าเราไปพูดแล้วมันบอกว่าไหนล่ะหลวงปู่ ...พอดีท่านบอกว่า ไม่มีเชือกอะไรไปผูกแล้วดึงให้มันมาเห็นได้อย่างนี้

ท่านบอกเรื่องอย่างนี้ท่านไม่พูดซะดีกว่า ในสิ่งที่มันยืนยันไม่ได้ เข้าใจมั้ย ...มันเป็นเรื่องความรู้จำเพาะ แล้วก็รู้ได้แค่จำเพาะเท่านั้นเอง   
  
เพราะนั้น..ถึงไม่ถึง วางไว้ ทำไว้ ดีแล้ว ถือว่าดีแล้ว ...บุญหรือการอุทิศน่ะมันไม่ใช่ว่าหว่านเงินแล้วก็เหมือนกับผีเปรตมารับ มันคิดเอากันเองอย่างนั้นน่ะ แล้วถ้าไม่บอกชื่อแล้วไม่ถึง

แล้วมันถึงไม่ถึงน่ะรู้รึเปล่า แน่ใจได้ยังไงว่าถึง มันแน่ได้ยังไง เอาอะไรมาเป็นเครื่องยืนยัน มีมาตรวัดมั้ย ว่าถึงแค่ไหนกี่ขีดๆ ...ไม่มี คือมองให้เห็นน่ะอย่างนี้ 

เพราะนั้นอย่ากลัวจนเป็นทุกข์ เศร้าหมอง ...เห็นมั้ยว่า ถ้าเมื่อใดเกิดความยึดมั่นผูกในสิ่งที่ไร้สาระ คือหาสาระไม่ได้นี่ ก็เกิดความเศร้าหมอง เป็นทุกข์ ...ลึกๆ มันเป็นทุกข์เกิดขึ้นแล้ว 

แต่พอจะทิ้งก็ไม่กล้าทิ้งอีกแล้ว กลัวคำพูด กลัวเขามากระแนะกระแหน ว่าเธอทำงี้ได้ยังไง ...แค่นี้จิตวูบแล้ว หายเลย ใจหายเลย คราวนี้ก็กินไม่ได้นอนไม่หลับ

หรือว่าต้องไปทำอะไรแก้แล้ว ไม่งั้นไม่สบายใจ  พอทำแก้แล้วก็ เออ นอนหลับดีฝันดี ...มันเป็นเรื่องอะไร จิตตัวเองทั้งนั้นแหละ บอกให้


โยม –  จิตตกไปเลย

พระอาจารย์ –  แต่ถ้าเด็ดเดี่ยว...ให้เข้าใจคำว่าเด็ดเดี่ยวนี่  ถ้าเด็ดเดี่ยวที่จะละ เด็ดเดี่ยวที่จะไม่กลัว ออกจากความกลัวนั้นซะ ทีละเล็กทีละน้อยนะ

แล้วไม่ต้องไปป่าวประกาศ...เฮ้ย กูไม่กลัวโว้ย กูไม่ทำตาม พวกมึงน่ะสีลัพพตะ ...เดี๋ยวเหอะ เดี๋ยวมาเป็นระลอกเลย    


โยม  (หัวเราะกัน) มาลองของ  

พระอาจารย์ –  คือทุกอย่างทำไปด้วยความสงบสำรวมภายใน เข้าใจมั้ย การปฏิบัติธรรมน่ะเรียบร้อย สำรวม งดงาม ...การละก็ละแบบเรียบร้อย สำรวม งดงาม

ไม่ใช่ว่าอันธพาล ไปก้าวก่ายความคิดความเห็นผู้อื่น ...อะไรมันเกินไป มันรู้เองน่ะ งามกาย งามวาจา งามใจ งามเบื้องต้น งามท่ามกลาง งามที่สุด

ศีลเป็นงามเบื้องต้น สมาธิงามท่ามกลาง ปัญญางามที่สุด  ทุกอย่างเป็นไปด้วยความงดงาม ไม่เบียดเบียน ไม่กล่าวร้าย ไม่กล่าวโทษเบียดเบียนใคร ...นี่คืออริยะจิต อริยะบุคคล

การกระทำ กายวาจาใจ ไม่เบียดเบียนใคร เป็นไปด้วยความสำรวม เป็นไปเพื่อมรรคผลและนิพพาน ทั้งผู้เห็นและผู้ได้ยิน ไม่ได้เป็นไปเพื่อขัดขวางมรรคผลและนิพพาน ...นี่คือโดยลักษณะของอริยะ

ทั้งตัวเองก็เป็นไปเพื่อนิพพาน และคนเห็นรอบข้างก็เป็นไปเพื่อน้อมนำให้เข้าสู่มรรคผลและนิพพาน ...นี่จึงเรียกว่าเป็นจริยวัตร จรณสัมปันโน

พระพุทธเจ้าท่านก็บอกแล้ว จรณสัมปันโน ...จรณ คือการอยู่การไป วิถีการดำรงชีวิต ...สัมปันโน เป็นไปเพื่อเกิดญาณทัสสนะอันรู้แจ้ง

วิชชาจรณสัมปันโน...อยู่ด้วยความรู้เป็นจรณ จะไปจะมาอะไรมีความเพียบพร้อมเรียบร้อย อยู่ด้วยสติสำรวมระมัดระวัง ...นี่คือวิชชาจรณสัมปันโน พระอริยะท่านอยู่ด้วยวิชชาจรณสัมปันโน 

ไม่ได้อยู่กับความไม่รู้ ทำอะไรด้วยความไม่รู้เนื้อไม่รู้ตัว หรือพูดกระทำโดยไม่คิดหน้าคิดหลัง ทำไปตามอารมณ์ ทำไปตามความโลภความหลง ทำไปตามความเอาแต่ใจ...ไม่มี

ทำทุกอย่าง ยืนเดินนั่งนอนไปมาพูดกล่าวคิดนึกเป็นด้วยวิชชาจรณสัมปันโน คือมีวิชชา มีความรู้เข้าใจตลอดเวลา จึงไม่มีความว่าด่างพร้อย มลทิน ...โดยอัตโนมัติท่านเป็นอย่างนั้น

เพราะนั้นน่ะ การมีชีวิตอยู่ในโลกของพวกเราเนี่ย มันอยู่ด้วยสีลัพพตะร้อยเปอร์เซ็นต์ ...กว่าที่เราจะคัดกรองออก คัดแยกออกมา...ต้องคัดแยกด้วยศีลที่เป็นศีล ไม่ใช่สีลัพพตะ

แล้วมันจะเห็นเองว่าศีลคืออะไร สีลัพพตะคืออะไร ...แล้วในศีลตัวนี้เอง ก็จะเห็นสักกายกับกาย...ว่ากายจริงๆ คืออะไร และกายสักกายคืออะไร 

แล้วก็จะเห็นความชัดเจนกับสงสัย ว่าอะไรเรียกว่าชัดเจน อะไรเรียกว่าสงสัย ...เห็นมั้ยว่าแค่ศีลตัวเดียว จะเห็นสามตัวนี้หมด ว่าอันไหนจริง-อันไหนไม่จริง มันจึงละออกจากสังโยชน์สามเบื้องต้น

แต่ถ้าไม่อยู่ตรงนี้ ...มันจะแยกไม่ออกว่าอันไหนเป็นสีลัพพตะ อันไหนเป็นศีล  มันจะแยกไม่ออก อันไหนเป็นสักกาย อันไหนเป็นกายที่แท้จริง  มันจะแยกไม่ออกว่าอันไหนคือความเป็นจริง อะไรคือความสงสัย

มันก็จะสงสัยไปหมด แล้วก็ไม่รู้ว่าอะไรจริง อะไรเท็จ  เพราะกำลังสงสัยในเรื่องที่กำลังเป็นความจริง ...นั่น แม้แต่ความจริงก็ยังสงสัย เอากะมันดิ จิต

ก็แค่ว่านั่ง แล้วรู้ว่านั่ง มันก็ยังสงสัยว่าแล้วทำไมต้องเป็นอย่างนี้ แน่ะ สงสัยอีกแล้ว หาเรื่องนะ จิตน่ะมันหาเรื่องได้ทุกเม็ดน่ะ เห็นมั้ย ถ้าไม่สำรวมเป็นหนึ่งไว้ 

สำรวมเป็นหนึ่งคือตั้งมั่นๆๆ รู้อย่างเดียว ...ช่างหัวมัน ก็รู้ว่านั่งๆ  มันจะหาว่าอะไรคือนั่ง นั่งมายังไง แล้วคืออะไร นั่งอย่างนี้ถูกรึเปล่า แล้วรู้อย่างนี้จะใช่นั่งจริงมั้ยหรือว่าไม่ใช่ ...นี่ เห็นมั้ย สงสัย 

ก็นั่งก็นั่ง...รู้ยังไงก็รู้ยังงั้น มากก็มาก น้อยก็น้อย ชัดก็ชัด ไม่ชัดก็ไม่ชัด  เออ อย่างนั้นเขาเรียกว่าโง่ๆ รู้โง่ๆ ไป ...นั่นแหละ มันจึงจะละความสงสัย 

แล้วก็ชัดเจนขึ้นเมื่อมันรวมขึ้นๆ เป็นหนึ่งกับกาย รู้กับกาย ต่อหน้ากับกาย ทุกอย่างจะชัดเจนหมด ...พอชัดเจนหายสงสัย ไม่สงสัยลังเลในกาย มันก็จะเห็นกายตามความเป็นจริง

นี่มันก็จะเห็นว่ากายตามความเป็นจริงคืออันนี้ กายไม่จริงคืออย่างนี้ๆ...ไอ้ความเชื่อความเห็นต่างๆ นานา ที่มันออกนอกเหนือจากความเป็นจริงนี้ มันก็ไม่เชื่อแล้ว

จะไปเชื่ออะไร เป็นเรื่องของจิตมันพ่นออกมา จับต้องไม่ได้ หาความจริงไม่เจอ หาความถูกความใช่ไม่มี ...เพราะนั้นก็จะอยู่ที่ความจริงล้วนๆ คือกายล้วนๆ ขันธ์ล้วนๆ นั่นแหละ จริงที่สุดแล้ว

แล้วก็ไม่เห็นจะมีอะไรมาลบล้างความจริงนี้ได้ ...ใครมันเก่งกล้าสามารถขนาดไหน จะมาลบล้างความเป็นจริงของกายได้ หือ ก็เห็นตายทุกราย ใช่ป่าว ต่อให้ได้อภิญญาญาณสูงสุดน่ะ

แม้แต่พระพุทธเจ้านะ ยังลบล้างขันธ์ไม่ได้เลย ยังลบล้างกายไม่ได้เลย ...ตาย สุดท้ายก็ตาย สุดท้ายก็เจ็บ ก็เสื่อม เห็นมั้ย มีอำนาจขนาดไหนเข้าไปลบล้างขันธ์ได้ล่ะ...ไม่มี

มีแต่จิตผู้ไม่รู้เท่านั้นแหละบังอาจ...เรียกว่าอหังการ คิดว่าเหนือ คิดว่าแน่ คิดว่าทำได้ ...นั่นแหละคือความเห็นหนึ่งที่เริ่มแล้วนะเนี่ย

ไอ้ความเห็นหยาบๆ เริ่มต้นแต่สีลัพพตปรามาส เขาว่ากันมา เขาทำให้ดูกันมา แล้วก็เชื่อ เป็นความเห็น ฝังไว้ๆ แล้วความเห็นมันก็แตกกระจายกระจัดไปจนถึงขั้นละเอียดลึกซึ้งเลย

จนเป็นทิฏฐิสวะ ถึงขั้นอาสวะ เข้าไปแนบแน่นอยู่ในอาสวะ เรียกว่าทิฏฐิสวะ แล้วก็ก่อรวมกันเป็นมานาสวะ ภวาสวะอยู่ภายใน

เพราะนั้นธรรมชาติของดวงจิตผู้ไม่รู้ จึง...หาตัวมันไม่เจอหรอก  แต่มันมีลักษณะคือ ค้นๆๆ แล้วก็จริงจัง แล้วก็เชื่อในสิ่งที่มันไม่น่าเชื่อ ...แต่ว่าหน้าตาของมันอยู่ที่ไหนไม่รู้

นั่นแหละ หน้าตามันคือภวาสวะ มานาสวะ ทิฏฐิสวะ กามาสวะ อยู่ภายใน ..ต่อเมื่อมันเห็นความเบาบางๆๆ ลงไป  เมื่อเห็นจริงๆ น่ะ...อวิชชาไม่มีตัวตนที่แท้จริง เป็นอะไรก็ไม่รู้

เอ้า เอาแล้ว ไป มีโอกาสก็ค่อยมา  ไปทำ...ทำจนกว่ามันจะตั้งหลักขึ้นมาได้


.................................



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น