วันเสาร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

แทร็ก 9/29 (1)


พระอาจารย์
9/29 (560101C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
1 มกราคม 2556
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  3  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  พวกเด็กๆ ฟังกันไป เหมือนกับหว่านพืช เราไม่หวังผลอะไรหรอก   


โยม –   หนูก็ไม่เด็กแล้วนะคะ นี่หนูก็จะปาเข้าไป...ครึ่งทางแล้วค่ะ 

พระอาจารย์ –  คือเมล็ดพันธุ์นี่ ธรรมะที่ได้ยินได้ฟังเราไปนี่คือเมล็ดพันธุ์ เหมือนข้าวพันธุ์ดี เป็นข้าวที่ไม่ลีบไม่เล็ก แล้วก็ไม่แคระแกน ไม่มีโรคมีภัย ...เพราะเป็นสัจจะ

เพราะนั้นเมื่อเป็นเชื้อพันธุ์ที่ดี มันหว่านเข้าไป...ผ่านหู ลงไปที่ใจ ลงไปที่จิตแล้วนี่ จะงอกหรือไม่งอก ไม่ได้อยู่ที่เมล็ด...เมล็ดน่ะไม่ตายอยู่แล้ว เพราะเมล็ดนี่พันธุ์ดี

นั่น มันอยู่ที่เนื้อนา ที่ดิน กายใจของตัวเอง เราหว่านเราไถ เราปรับปรุงคุณภาพดีขึ้นมั้ย

เพราะนั้นตัวอุปกรณ์ที่จะหว่านไถทำเนื้อดินให้รองรับกับเมล็ดกล้าที่ให้เติบโตมาเป็นผล คือศีลสมาธิปัญญา คือการทำนาบุญของตัวเอง ...ตัวกายใจนี่คือเนื้อนาบุญ

แต่ว่าถ้ามันเป็นเนื้อนาที่ไม่ดี เป็นเนื้อนาที่เลว หว่านไว้เมล็ดไม่ตาย แต่ไม่งอก ถึงงอกก็แกร็น ไม่โต เพราะนั้นว่า จะไปโทษเมล็ดไม่ได้ ...โทษที่นาไม่ดี


โยม  แต่คนมักจะไปคิดว่าเป็นที่เมล็ด

พระอาจารย์ –  ใช่ มันก็เป็นอย่างงั้นกัน ...ก็คือธรรมทั้งหลายทั้งปวงดีอยู่แล้ว เป็นสัจจะ  แต่ว่ามันดูแลไม่เป็นเอง แล้วก็ไปโทษนั่นโทษนี่ ...ดีไม่ดีโทษครูบาอาจารย์ไปอีก  


โยม –  ใช่ 

พระอาจารย์ –  แต่ถ้าเรากลับมาสำรวจตัวเองว่า ศีลมีมั้ย พอดีกันมั้ย น้ำดีน้ำชุ่ม อากาศดี มันสัปปายะ ภายในพอดีกันมั้ย  หรือมันขาดมั้ย มันแห้งแตกระแหงเพราะอะไร

ก็ดูไปสิ ศีลมีมั้ย สมาธิมีมั้ย ปัญญามีอยู่มั้ย เพราะนั้นดูตั้งแต่เบื้องต้นกันนี่...เราดูแล้วไม่เจอใครมีศีลเลย เพราะนั้นเราก็ต้องพูดซ้ำซากๆ ถึงการรู้ตัวที่เดียว

ถ้าไม่มีการรู้ตัวที่เดียวนี่ มันแข็งกระด้าง เหมือนดินนี่แข็งกระด้าง ...เมื่อมันกระด้างแล้วนี่ จะเอาอะไรหว่านโปรย มันก็ไม่งอก ...มันแล้ง มันแข็ง

แต่ว่าพอดินอ่อนดินชุ่ม เพราะขันน้ำเข้า ...นี่ปรับพื้นดินนะ คือศีลน่ะ คือรากฐานเลย ใส่น้ำลงไปๆๆ พอดินดี ดินนุ่ม นุ่มแล้วเดี๋ยวก็จะแห้ง    
   

โยม –  ต้องเติมปุ๋ย

พระอาจารย์ –  ยัง ต้องย่ำเทือก...ให้ดินมันเละ ให้มันเป็นโคลน ให้มันอ่อนนุ่มจนที่ว่าปักดำได้...ให้ทั่วเลย ให้ทั่วผืนนา ทั่วแปลงก่อน จึงจะปักกล้า ปลูกกล้าได้

ตรงนั้นน่ะ...พอดี เกิดความพอดีของศีลแล้ว เกิดความเต็มพร้อมของศีล


โยม  แต่เดี๋ยวนี้การศึกษามันทำให้เด็กไม่มีตรงนี้เยอะ เพราะเหมือนแข่งกันเรียน แข่งกันอะไร จนรู้สึกว่าปัจจุบันทำไมมันถึงได้ขนาดนี้  

พระอาจารย์ –  มันเป็นวัฏฏะ มันเป็นวัฏจักร มันเป็นความขึ้นลง เสื่อมขึ้น-ดีลง ดีขึ้น-เสื่อมลง

แต่ก่อน สมัยก่อน ในโลก...อย่าว่าแต่พวกเรายุคเราดีกว่า ยุคก่อนนู้นดีกว่านี้เยอะก็มี ดีกว่ายุคเราด้วย  แล้วก็เสื่อมลงมา แล้วเดี๋ยวก็จะดีขึ้นมาใหม่ ...นี่คือวัฏจักร

พระอาทิตย์ก่อนที่จะเที่ยงวัน มันมายังไง มันมาจากความมืดก่อน แล้วก็ค่อยขึ้นมา ฉายแสง ทอแสง พอเริ่มจะทอแสง แล้วก็จะเริ่มส่องสว่างเต็มที่เต็มกำลัง แต่ว่าสุดท้ายนั้นก็โรยแสง โรยราลง

อันนี้เป็นวัฏจักร อันนี้คือกฎธรรมชาติ ที่ไม่มีใครบังอาจไปเปลี่ยนแปลงได้ ไม่มีใครบังอาจไปฉุดรั้งได้ ไม่มีใครบังอาจไปควบคุม เหนือกว่ามันได้ 

มีบังอาจอยู่ตัวเดียวคือจิตผู้ไม่รู้ บังอาจ ...เพราะมันบังอาจ มันจึงทุกข์ มันไม่น้อม มันไม่ยอมรับ มันไม่อ่อนน้อมต่อธรรม จิตมันอหังการ อวดดี อหังการ

แต่ถ้าอ่อนน้อมต่อธรรม นอบน้อมต่อธรรม...ร่มเย็น ยอมรับแต่โดยดี จงยอมรับทุกสิ่งทุกอย่างแต่โดยดี โดยไม่มีปากไม่มีเสียง ไม่มีหือ ไม่มีอือ

จิตน่ะมันคอยแต่จะหืออืออยู่เรื่อย แนะเป็นภาษา เป็นคำพูด เป็นวลี ใช้อาศัยสมมุติน่ะมาเป็นความเห็น บัญญัติขึ้นว่าอย่างนั้นอย่างนี้ ปุ๊บเลย

เห็นอะไรได้ยินอะไร ปุ๊บเลย จิตน่ะมันปั๊บๆๆๆ วิจารณ์เลย ให้ค่าปั๊บๆๆ เป็นสมมุติภาษาเลย แล้วแต่ว่าจะเอาถูกเอาผิด ก็สมมุติว่าถูก สมมุติว่าผิดขึ้นมาแล้ว

บอกแล้วว่า...สมมุติว่าถูก สมมุติว่าผิด ก็ชื่อก็บอกแล้วว่าสมมุติขึ้นมาว่าถูก ...ก็ถ้าไม่อาศัยสมมุติภาษา มันก็ไม่มีสมมุติถูก ก็ไม่มีสมมุติผิด

แต่ก็กว่าที่มันจะเห็นรายละเอียดเหล่านี้ได้ บอกแล้วว่าต้องย่ำเทือก


โยม –  ย่ำเทือก?

พระอาจารย์ –  รู้อยู่ที่นี้ที่เดียว...ที่นี้ที่เดียว ซ้ำๆ นี่เรียกว่าย่ำเทือกมั้ยล่ะ ...ไม่ต้องไปหาที่อื่น ไม่ต้องไปทำที่อื่น ลงแปลงเดียว นามีคนละหนึ่งกระบิ คือหนึ่งกว้างคืบยาววาหนาศอก

นี่คือที่นา ย่ำมันเทือก ให้มันทั่วเลย  นั่นแหละมันจึงจะเห็นรายละเอียดที่มันลึกลับซับซ้อนจนดูเหมือนกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน  มันก็จะเห็นเลยว่า...ไม่ใช่  คนละเนื้อกัน มันเป็นส่วนๆ

นามส่วนนาม รูปส่วนรูป เวทนาส่วนเวทนา ขันธ์ส่วนขันธ์ จิตส่วนจิต ใจส่วนใจ อารมณ์ส่วนอารมณ์ กิเลสส่วนกิเลส เสียงส่วนเสียง กลิ่นส่วนกลิ่น ...คนละเรื่องกันหมดเลย ไม่ใช่อันเดียวกัน

นี่ มันแยก เกิดการจำแนกออก เพราะรายละเอียดที่มันย่ำเทือก มันละเอียดอยู่ภายใน เกิดความละเอียดรอบคอบ ถี่ถ้วน มนสิการ มีความแยบคายขั้นลึกซึ้ง อย่างลึกซึ้ง

เพราะนั้นในปัญญาขั้นแรกๆ เรียกว่าปัญญาขั้นหยาบๆ นี่ หยาบขนาดไหน ขนาดที่ว่า...นั่งแล้วรู้ว่านั่งนี่ถือว่าหยาบที่สุดแล้ว แต่ว่าเป็นต้นทางของปัญญา

บอกแล้วไงว่าแค่รู้ตัว ปัญญาก็เกิดพร้อมอยู่แล้ว แต่ว่าเป็นปัญญาขั้นหยาบๆ

แต่ถ้าย่ำๆๆ ปุ๊บนี่ ปัญญาละเอียดขึ้นตาม ยกระดับของปัญญาขึ้นมาๆๆ ถึงขั้นถอดรูปถอดกาย ถอดจิตถอดใจ ถอดออกจากกัน ไม่ปนเปื้อนกัน


โยม –  กายานุสติ ให้มาดูกาย ...แต่คงยังก้าวไม่ถึงขนาดนั้น ต้องรู้ตัวเองให้มากกว่านี้ก่อน ต้องย่ำวันนี้ก่อน   

พระอาจารย์ –  เราบอกให้อย่างว่า...กายเดียว  มีกายเดียว ไม่มีกายที่คิด  กายเดียว...กายปัจจุบัน เอาแค่กายเดียว ...อย่านึก    


โยม –  ไม่ค่ะ ไม่นึก  

พระอาจารย์ –  อย่าเอามานึก เดี๋ยวจะสับสนในกาย ...ถ้าหลายกายขึ้นมาแล้วมันจะเกิดการเปรียบเทียบกาย แล้วมันจะเกิดวิธีการ แล้วก็หลากผลขึ้นมา มันจะมีผลที่แตกต่างขึ้นมา

แล้วมันจะเกิดการเปรียบเทียบ แล้วมันจะเลือกและก็ไม่เลือก แล้วมันจะเกิดการให้ค่า แล้วก็ว่าถูก แล้วก็ว่าผิด แล้วก็ว่าควร แล้วก็ว่าไม่ควร แล้วก็ว่าใช่ แล้วก็ว่าไม่ใช่

เอาให้เหลือกายเดียว ไม่ต้องไปเลือก อย่าให้มีตัวเลือก ...ตัวเลือกที่มันขึ้นมาน่ะ จิตสร้างขึ้นทั้งนั้น  แม้จะเป็นอสุภะ ก็จิตสร้างอสุภะขึ้น ...ในความเป็นจริงตรงนี้เห็นมั้ยอสุภะ เห็นแต่ความรู้สึกในกายใช่มั้ย  


โยม  ใช่   

พระอาจารย์ –  นั่นแหละคือกายเดียว มันมีจริงๆ กายเดียวนี้เท่านั้น

แล้วการรับรู้ต่อกายเดียวนี้ ก็รับรู้ในลักษณะสามัญธรรมดา ไม่ลึกซึ้งกว่านี้ๆ  ไม่ลึกกว่านี้ แล้วก็ไม่ตื้นกว่านี้  ตรงนี้จึงเรียกว่า...พอดี พอดีกาย พอดีจิต พอดีกาย พอดีรู้

แต่ถ้าบีบ ถ้าคั้น ก็จะไปถึงอสุภะได้ เพราะนั้นการจะเข้าไปเห็นอสุภะ อย่างที่เห็นตามภาพ มันจะต้องบีบคั้นจิต ให้มันสร้างรูปอสุภะขึ้นมาทาบตัวนี้อีก

แต่เป็นกายที่เกิดจากจิตบีบคั้นหรือปรุงแต่งให้เกิดรูปนิมิตหรือกายนิมิตนี้ขึ้นมา โดยเข้าใจและหมายมั่นว่ากายนิมิตนี้ จะทำให้ราคะนั้นหาย หรือไม่กำเริบ หรืออาจจะเข้าใจว่ากายที่แท้จริงคืออะไรได้มากขึ้น

นี่ มันจะมีการหมายผลนั้นแล้ว ใช่มั้ย ...ซึ่งจริงๆ น่ะเราไม่ปฏิเสธหรอก กายอสุภะนี่ไปดูเอาเหอะ..ถ้าเป็นเมื่อร้อยปีก่อนน่ะดูไป แต่เดี๋ยวนี้อย่าดูเลย เดี๋ยวจะสับสน

เพราะกำลังจิตของพวกเรานี่ ไม่ใช่ระดับหลวงตาหลวงปู่ครูบาอาจารย์ ไม่ใช่ระดับคนในยุคห้าสิบ-ร้อยปีก่อน ...มันแทบจะคนละโลกแล้ว มันคนละโลกกันแล้ว

จิตสมาธิ จิตสมถะ จิตตั้งมั่นของพวกเรานี่ ไม่มีทางที่จะบีบคั้นจนถึงอสุภะได้ต่อเนื่อง มันจะได้แค่แวบๆ หาย...แวบๆ หาย แล้วจะท้อ นั่น พอท้อแล้วจะเบื่อ

แล้วก็จะปรามาสธรรมแล้ว จะเกิดการปรามาสธรรม ปรามาสสิ่งที่ท่านพูดแล้ว ...ซึ่งจริงๆ ตัวเองทำไม่ถึงเอง ทำไม่ได้เองน่ะ  เพราะมันคนละโลก เหตุปัจจัยสมัยนี้ไม่เอื้อ มันไม่เอื้อ

เอากายเดียว ใครจะว่าโง่ ใครจะว่าไปไม่ถึง ใครจะว่าละราคะไม่ได้ ใครจะว่าไม่เข้าถึงที่สุดของกาย ...อย่าฟัง อย่าเอาจิตออกมาฟัง อย่าเอาจิตออกมาจำ ไอ้ที่เคยจำก็ล้างออก


โยม –  มันไม่ออก    

พระอาจารย์ –  ไม่ออกก็เฉยๆ ไม่สนใจ ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ เขาเรียกว่า “วางเฉย” ซะ วางเป็นกลางๆ ซะ      


โยม –  หลวงพ่อครับ จิตที่นึกหรือสติที่นึก 

พระอาจารย์ –  สติก็คือจิตตัวหนึ่ง เจตสิก  ความคิดก็คือจิตตัวหนึ่ง ก็เรียกว่าเจตสิก  สมาธิก็คือจิตอย่างหนึ่ง ก็เรียกว่าเจตสิก ...ทั้งหมดนี่คืออาการของจิตหมด แต่อาการของจิตมีทั้ง กุศลจิต อกุศลจิต อัพยากฤต

จิตที่เป็นลักษณะที่เรียกสมมุติว่า “สติ”  จิตที่เป็นลักษณะที่เรียกสมมุติว่า “สมาธิ”  จิตที่เป็นลักษณะที่เรียกสมมุติว่า “ปัญญา” ก็คือเจตสิกที่เป็นกุศล มหากุศล แล้วมีหน้าที่ในการทำความรู้ความเห็นตามความเป็นจริง

แต่เจตสิกส่วนที่เป็นอกุศล เจตสิกตัวที่เป็นความฟุ้งซ่าน โลดแล่นออกไป นอกเหนือก้อนนี้กายนี้ปัจจุบันนี้ ...เจตสิกเหล่านั้น เป็นเหตุให้เกิดความหมุนวน ไม่จบและสิ้น

ก็คือเจตสิกเหมือนกัน กลุ่มเดียวกันหมด แต่ว่าทำงานคนละหน้าที่ ...โดยจิตทั้งหลายทั้งปวงนี้ ออกมาจากใจผู้รู้...ที่เป็นประธาน เป็นฐาน

เพราะนั้นที่เราพูดนี่ เราจะแยกไม่เหมือนกันระหว่าง..จิตกับใจ ... จิต-ไปมา..เคลื่อน  ใจ-อยู่ รู้...ไม่เคลื่อน ...นี่ ไม่เหมือนกัน


(ต่อแทร็ก 9/29  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น