วันพุธที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2560

แทร็ก 9/37


พระอาจารย์
9/37 (560112D)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
12 มกราคม 2556


พระอาจารย์ –  เพราะฉะนั้นให้เชื่อในคุณของศีลสมาธิปัญญาให้มาก ให้เลื่อมใสในศีลสมาธิและปัญญาให้มาก...มากจนถึงขั้นเอาไปลองทำ เอาไปปฏิบัติ เอาไปตั้งอกตั้งใจทำ 

นั่นแหละ ต้องให้เลื่อมใสมากๆ จนถึงขั้นนั้น ทุกคน...ไม่เลือกเพศพรรณวรรณะ วัย สถานะ สถานที่อยู่ ...เพราะศีลสมาธิปัญญานี้เป็นสาธารณธรรม 

นี่เป็นธรรมที่เป็นกลางสำหรับสัตว์และบุคคลทุกประเภท ทุกหมู่เหล่า ไม่จำกัด  เพราะเป็นธรรมที่มีอยู่แล้ว ...แต่มันเข้าไปประกอบเหตุแห่งธรรมเหล่านี้ไม่ถูกต้อง ไม่ตรง เท่านั้นเอง

แต่ถ้าเข้าไปประกอบเหตุให้ถูกต้องตรงแล้ว ธรรมนี้มีอยู่แล้ว ปรากฏให้เห็นเอง ตามเหตุอันควรนั้นๆ ...เมื่อนั้นแหละ โลกนี้ ศาสนานี้ จะไม่ว่างเว้นจากพระอริยะเลย 

ตราบใดที่ยังมีผู้ปฏิบัติเช่นนี้ ซึ่งพระพุทธเจ้าท่านพยากรณ์ไว้เลยว่า...ต้องเป็นอย่างนี้ จนห้าพันปี จะไม่ขาดจากอริยบุคคลเลย ตราบใดที่ยังมีผู้ปฏิบัติ

แต่ต้องเข้าใจก่อนนะ ว่าผู้ปฏิบัติต้องปฏิบัติอย่างไร ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติไปเรื่อยเปื่อย ...แต่ผู้ปฏิบัตินั้นจะต้องปฏิบัติตรงต่อมรรค ตรงต่อศีล ตรงต่อสมาธิ ตรงต่อปัญญา 

เมื่อนั้นแหละ จะไม่ว่างเว้นจากอริยจิต อริยบุคคล จนห้าพันปีล่วงลับดับหาย ...เพราะฉะนั้น หมายความว่าทุกคนมีสิทธิ์ ทุกคนมีสิทธิ์ได้รับสิทธิ์นี้ ...ยกเว้นจะสละสิทธิ์ 

ก็อย่าสละสิทธิ์ที่มี สิทธิ์ที่ได้นี้ ...นั่นจึงเรียกว่าน่าเสียดาย การเกิดที่เป็นมงคลสมัย การเกิดที่เป็นมนุสสปฏิลาโภ เป็นมนุษย์ การเกิดมาในที่ปฏิรูปประเทศเป็นมงคล 

การได้สดับตรับฟังรับธรรมพระเทศนาเป็นมงคล การได้สากัจฉาธรรมเป็นมงคล ...มันกี่มงคลเข้าไปแล้วนี่ หือ กลับสละสิทธิ์ซะอย่างนั้น มันน่าเอาหัวไปทิ่มบ่อขี้มั้ย ไม่รู้มันจะเกิดมาทำไม 

นี่ ภาษาหลวงปู่ว่ามันเกิดมาทำไม ทำไมไม่ตายตั้งแต่ยังไม่เกิด มาอยู่เปลืองที่ดินที่นาข้าวปลาอาหารของโลกเขาเปล่าๆ ปลี้ๆ ไม่เป็นคุณค่าแก่โลก แก่สังสารวัฏ

เพราะนั้น ที่พูดเพื่อให้เห็นคุณค่าสำคัญในสิทธิ์ของตัวเองที่ได้มา ...ไม่ใช่มันจะได้ทุกคนนะสิทธิ์นี้ ในโลกเนี้ย ...อย่าสละสิทธิ์ด้วยความเผลอเพลิน ด้วยเห็นความสำคัญของความเผลอเพลินมากกว่า 

ด้วยเห็นความสำคัญของการที่กระทำไปตามอำเภอใจ กระทำไปตามอำนาจของความอยาก อำนาจของความไม่อยาก แล้วได้ผลแห่งความอยากและความไม่อยากกลับคืนมาถ่ายเดียว

คือเราต้องพูดว่าถ่ายเดียว เพราะยังไงมันก็ยังห้ามไม่ได้หรอก ...แต่อย่าให้มันเป็นถ่ายเดียว คือแบบหน้าเดียวน่ะ ...ให้มันมีการใช้สิทธิ์ให้มีคุณค่าควรแก่การได้รับสิทธิ์นี้น่ะ 

ให้มันเต็มที่หน่อย ให้มันเจือเข้ามาในการดำรงชีวิต การดำเนินชีวิตซะหน่อย ...แล้วต่อไปจากนั้นก็ให้มันหลายๆ หน่อย แล้วจากนั้นก็หมายความว่าให้มันสม่ำเสมอเลย ต่อเนื่อง

นั่นแหละ ถึงจะเรียกว่า ใช้คุณค่าคุณประโยชน์ของกายนี้ ขันธ์นี้ แบบเต็มที่สมราคาที่ได้สร้างบุญวาสนาให้ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ...ซึ่งไม่ใช่ง่ายๆ

เพราะพระพุทธเจ้าท่านบอกว่า การเกิดมาเป็นมนุษย์น่ะ เหมือนเต่าลอยคออยู่กลางมหาสมุทร แล้วร้อยปีมีบ่วงบาศคล้องลงมา แล้วโจ๊ะลงหัวเต่านั้นพอดีในมหาสมุทรนั้น 

นั่นแหละการเกิดมาเป็นมนุษย์น่ะ ง่ายมั้ยล่ะ ไม่ใช่ง่าย ...เกิดมาเป็นมนุษย์ก็ไม่ใช่ง่ายแล้วนะ ยังเกิดมาในที่ที่เป็นปฏิรูปประเทศ มันยิ่งยากยิ่งกว่านั้นอีกน่ะ 

แต่กลับไม่รู้จักคุณค่าสิทธิของตัวเองที่พึงได้พึงมี พึงกระทำได้ ...จึงเรียกว่า น่าเสียดาย ในการเกิดมาครั้งนี้ และครั้งต่อๆ ไป ...ยังมี บุญวาสนาเรายังมีในครั้งต่อๆ ไป

แต่อย่าใช้โอกาสนั้นมาก เดี๋ยวจะหมด ใช้มากจนหมด ใช้แบบเปล่าประโยชน์จนหมดโอกาส...มีสิทธิ์หมดโอกาสด้วย 

เพราะนั้นใช้ให้มันเต็มที่ในชาตินี้แหละ ให้มันจบให้ได้ในชาตินี้ ให้มันแจ้งให้ได้ในชาตินี้ ...อย่าไปเชื่อจิตที่มันว่าไม่ได้หรอก ไม่ไหวล่ะมั้ง ประเภทรู้ทุกขณะจิต ละทุกขณะจิตนี่ กูคงฝันไม่ถึงล่ะมั้ง 

อย่าไปเชื่อคำกล่าวอ้างของจิต ที่มันเสี้ยมให้ละให้ทิ้งความพากความเพียรในการปฏิบัติในองค์มรรค
...ทำได้ แต่ไม่ทำ แค่นั้นน่ะ ...เข้าใจได้หมด แต่ไม่เอาความเข้าใจนี้ไปทำสานต่อ ปัญหามันอยู่แค่นี้เอง

เพราะนั้นจึงเรียกว่าโขกสับมันไว้ล่วงหน้า เพราะอีกหลายวันหลายเดือนหลายปี กว่ามันจะมาให้โขกสับใหม่ นั่น เลยต้องโขกสับไว้ล่วงหน้า ...คือประเภททบต้นไว้ก่อน มันจะได้ค้างไว้นานๆ หน่อย

คือที่ให้มันค้างมันคานี่ เป็นธรรมค้างคาอยู่ภายในนั่นแหละดี ดีกว่าให้ค้างคาด้วยกิเลส ...มันก็เลยทบต้นไว้หน่อย โขกไว้หน่อย ...ให้มันลึกลงหน่อย ให้มันลึกลงในกมลสันดาน 

ให้มันเกิดรอยแตกปริอยู่ในสันดานของจิตอวิชชาหน่อย ...ถ้ามันแตกปริด้วยธรรมที่เข้าไปกระแทกกระทั้นนี่  กาวตราช้างก็ติดไม่ค่อยอยู่นะ ...ธรรมก็อยู่นานหน่อย มันจำไม่รู้ลืมอ่ะ 

เพราะธรรมนี่เป็นของจริงนะ ไม่มีอะไรมาลบล้างได้หรอก ...ต่อให้กิเลสมันจะเล่ห์หลอก เล่ห์เหลี่ยมร้อยแปดพันเก้าขนาดไหน ไม่มีทางมาลบล้างสัจจะ สัจธรรมได้ 

มันจึงอยู่ยั้งยืนยงอยู่ภายในหัวจิตหัวใจของสัตว์มนุษย์นั้น ที่ได้ยินและได้ฟัง ...เพราะฉะนั้น นับว่าเป็นบุญที่ได้โดนโขกและสับ ...แต่จะดียิ่งขึ้น ถ้านำความที่ได้ยินได้ฟังนั้นไปทำสานต่อ 

จนก่อเกิดมรรคก่อเกิดผลขึ้นมากับดวงจิตนั้นๆ บุคคลนั้นๆ ...นั่นแหละ มีค่าอันประเสริฐต่อคนรอบข้าง ต่อโลก ต่อสัตว์มนุษย์ ต่อตัวเองเป็นหลักเลย

ถือว่าเป็นการจรรโลงพระศาสนา ถือว่าเป็นการสืบทอดอายุพระศาสนาที่แท้จริง ถือว่าเป็นการสืบทอดธรรมของพระพุทธเจ้าที่แท้จริง ไม่ให้มันล่วงลับดับสูญไปตามกาลสมัย

เพราะฉะนั้นน่ะ เกือบทุกคนในที่นี้...ที่มันขาด ที่มันไม่มีเลย...คือศีล ...และการปฏิบัติภาวนาที่ตรงต่อศีล แล้วก็เพียรคร่ำเคร่งอยู่ในการรักษาศีลนี่น้อยมาก 

จนถึงขั้นบางที อาจจะบางขณะบางความเห็นบางความคิดยังบอกว่า อันนี้ไม่ใช่เรื่องสำคัญเลย ...นี่ มันน่าจะเอาหัวจับมุดน้ำซะ ไอ้จิตดวงนั้นน่ะ ดวงที่มันแส่ส่ายไปมาเป็นความคิดความเห็นเหล่านั้น

เพราะมันจะชักลากให้ออกนอกมรรคเบื้องต้น ...นี่ อย่าประมาทว่าเป็นมรรคเบื้องต้น ชื่อว่าเบื้องต้น ชื่อว่ารากฐาน ชื่อว่าขั้นอนุบาล ขั้นประถมอะไรก็ตามเถอะ 

แต่ถ้าไม่มีขั้นต้นนี้แล้ว ถ้ามันออกจากมรรคเบื้องต้นนี่ ไม่สามารถจะจบปริญญาเอกได้นะ ...แต่ได้อะไรรู้รึเปล่า ...ได้ปริญญาเอกห้องแถวน่ะได้อยู่ ไม่จบดอกเตอร์จริง 

นั่น ไปซื้อเอามาแปะข้างฝาไว้โชว์คนอื่นเท่านั้นแหละ เขาเรียกว่าปริญญาแบบห้องแถว ...เพราะนั้นถ้าเริ่มต้นได้ถูก ได้ตรง ได้ใช่ แล้วนี่ อย่าไปประมาทว่าธรรมนี้เล็กน้อย 

อย่าประมาทว่าธรรมนี้เป็นของต่ำ อย่าประมาทว่าธรรมนี้เป็นของหยาบ อย่าประมาทว่าธรรมนี้เป็นของทำเมื่อไหร่ก็ได้ ...นี่เขาเรียกว่าประมาทในธรรมนะ

ชื่ออาจจะดูว่าเป็น ธรรมขั้นต้น ธรรมเบื้องต้น ธรรมง่ายๆ ธรรมที่ว่าทุกคนมีอยู่แล้ว...นี่ อย่าประมาทธรรมนี้นะ สติในกาย สติในปัจจุบันกายนี่...สำคัญ 

ยืนเดินนั่งนอน คู้เหยียดไหว เย็นร้อนอ่อนแข็ง เหล่านี้ ฟังดูพื้นๆ ฟังดูง่ายๆ ฟังดูว่าไม่เห็นจะต้องทำอะไรกับมันเลย

นี้ต่างหากที่เป็นเรื่องสำคัญที่สุดเลย ที่มนุษย์มองข้ามความเป็นจริงส่วนนี้...ที่จิตผู้ไม่รู้มันมองข้ามความจริงส่วนนี้ แล้วไปหาความจริงส่วนอื่นมาทดแทนความจริงส่วนนี้

เมื่อมันหาอะไรมาทดแทนความจริงส่วนนี้อยู่ตลอดเวลา มันจึงเกิดภาวะที่เรียกว่าประมาทในธรรม ประมาทในศีล ...ถ้าประมาทในศีล ก็พูดง่ายๆ ว่าคือประมาทในองค์มรรคนั่นเอง

ทุกท่านทั้งหลายทั้งปวง จงถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท...นี่พระพุทธเจ้าบอก สังขารนี้มีความเสื่อมไปสิ้นไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด

ประมาทธรรมของพุทธะ ก็เป็นส่วนหนึ่งของความประมาท 

ประมาทอยู่กับความลุ่มหลงมัวเมา ไม่อยู่กับปัจจุบัน ก็เรียกว่าเป็นความประมาท 

ประมาทในการเกิดในการตาย ว่าไม่เกิดว่าไม่ตาย ว่ายังไม่ถึงเวลาเกิด ว่ายังไม่ถึงเวลาตาย ก็คือประมาท

พระพุทธเจ้าถึงเตือนว่า จงถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด

ผู้ที่จะอยู่ด้วยความไม่ประมาทที่สุด ก็คือพระอรหันต์ ...ผู้ที่เริ่มต้นกำลังจะทำตัวเองให้ออกจากความประมาท ก็คือผู้ปฏิบัติภาวนานั่นเอง

คือผู้ที่คร่ำเคร่ง เคร่งครัดอยู่ในการรักษาความระลึกรู้ในปัจจุบัน จึงเรียกว่าเป็นผู้ที่กระทำอยู่ซึ่งความไม่ประมาท ทุกขณะ ทุกเวลา ทุกเหตุการณ์ ทุกสถานที่ ทุกครั้ง ตามสติกำลังของตัวคนนั้นๆ 

จนเพียบพร้อมด้วยความรู้เนื้อรู้ตัวตลอดเวลา เป็นอัตโนมัติ นั่นแหละจึงเรียกว่าเป็นผู้ที่ไม่ประมาท

เพราะนั้นกว่าที่มันจะถึงจุดขั้นนั้น ที่ว่าเป็นผู้ที่ไม่ประมาทเลย แม้แต่เสี้ยวหนึ่ง วินาทีหนึ่ง ขณะจิตหนึ่ง ...นี่ จะต้องดำเนินอยู่ในวิถีแห่งมรรคเท่านั้น 

คือสติ ศีลสมาธิและปัญญา จึงจะเป็นไปเพื่อความไม่ประมาท ด้วยความสมบูรณ์แห่งความไม่ประมาทอีกต่อไป ...ทีนี้ไม่เลือกว่าไม่ประมาทในศีลสมาธิปัญญา ไม่ประมาทในเรื่องของการเกิดการตาย 

ไม่ประมาทในการที่ไม่เกิดไม่ตาย หรือประมาทที่มีความสุขความสบายอยู่ตลอดเวลา ...มันจะไม่รวมเลยว่าเรียกว่าอะไร คือไม่ประมาทในสรรพสิ่งทุกความคิดความเห็นเลย ...ความประมาทเกิดขึ้นไม่ได้ 

เพราะอยู่ด้วยความรู้อยู่ตลอดเวลา อยู่ด้วยสติ อยู่ด้วยสัมปชัญญะ อยู่ด้วยความชัดเจนในปัจจุบัน อยู่ในอาการที่ปรากฏทั้งภายในภายนอกอยู่ตลอดเวลา ไม่คลาดเคลื่อนจากธรรมปัจจุบัน

กว่าจะก่อร่างสร้างพีระมิดขึ้นมา ก็ต้องเริ่มจากอิฐก้อนแรกน่ะ วางเรียงอยู่บนผืนดินนั่นเอง เป็นฐาน ที่จะก่อให้เกิดพีระมิดใหญ่โตมโหฬารได้ 

แล้วก็มียอดแหลมเป็นหนึ่งเดียว คือก้อนสุดท้าย ที่สำเร็จจบสิ้นในความเป็นพีระมิด ...แต่ก้อนสุดท้ายจะมีไม่ได้เลย ถ้าไม่มีก้อนแรกที่วางอยู่บนผืนดิน 

ถ้าไม่เริ่มต้นที่นี้ ถ้าไม่อยู่กับที่นี้ ถ้าไม่ตั้งมั่นอยู่กับที่นี้ ถ้าไม่ตั้งมั่นอยู่กับเดี๋ยวนี้ ...หมายความว่าไม่มีรากฐานของพีระมิด มันก็ล้มครืน แตกกระจัดกระจาย ไม่เป็นชิ้นไม่เป็นอัน

อิฐที่มันแตกกระจัดกระจายนี่ เปรียบเหมือนจิตที่มันแตกกระจัดกระจายไม่เป็นชิ้นไม่เป็นอัน ...มันไปตก มันไปอยู่ที่ไหน มันก็ไปก่อร่างสร้างวัตถุ สิ่งก่อสร้างอย่างใหม่ขึ้นใหม่ 

เรียกว่าการเกิดนี่ก็เกิดได้ตลอด เป็นอะไรบ้างก็ไม่รู้ ...เพราะจิตที่มันแตกกระจัดกระจายออกไปแบบไม่มีหัวไม่มีท้าย ไม่มีทิศไม่มีทาง

จึงว่าอย่าประมาทในศีล ว่าเป็นเรื่องหยาบ เบื้องต้น เป็นเรื่องเล็กน้อยได้อย่างไร ...รู้เข้าไปเถอะ กายโง่ๆ กายเฉยๆ ยืนเดินนั่งนอนนั่นแหละ 

สะสมอานิสงส์ของศีลสมาธิ...ให้ต่อเนื่องไม่ขาดสาย ให้ได้มากที่สุดในชีวิตประจำวัน ...ผลก็บังเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัตินั้นเอง

ไม่ต้องคาดหวังห่างไกลอะไรหรอก ให้อยู่กับปัจจุบันกายนั้นเอง เป็นที่ตั้งเป็นที่หยุดอยู่ของจิต ...ให้จิตมันมาหยุดอยู่กับกายปัจจุบันนั่นแหละ 

มันจึงหยุด มันจึงไม่แตกกระสานซ่านกระเซ็นออกไป ในที่ที่มันจะก่อให้เกิดทุกข์ ก่อให้เกิดโทษและภัย ก่อให้เกิดความเกิดตายไม่จบไม่สิ้น

นี่แหละ เท่านี้แหละ การปฏิบัติธรรมก็มีอยู่เท่านี้แหละ ไม่มีมากกว่านี้แล้ว ...ไอ้ที่มากกว่านี้น่ะเกิน ไอ้ที่ออกจากนี้ไปก็เกิน แล้วก็ไอ้ที่ไม่อยู่ในนี้เลยก็ขาด ...มันมีอยู่สองอย่าง ไม่เกินก็ขาด 

แต่ไอ้ที่อยู่กับตรงนี้น่ะน้อย ...ก็ทำให้มันมากซะ อย่าไปขาดๆ เกินๆ ...ไอ้พวกขาดๆ เกินๆ เขาเรียกว่าพวกวิกลจริต จิตวิปริต วิปลาสคลาดเคลื่อนน่ะ เขาเรียกว่าวิกลจริต จิตมันวิปลาสคลาดเคลื่อนออกไป

ก็ระวังให้มันพอดี อยู่ในที่นี้ คือกายปัจจุบันนี้ เป็นที่อยู่ที่ตั้งของจิต...แม้กระทั่งของเรา ...คือแรกๆ มันมี “เรา” ก็ให้เรามันอยู่ซะที่นี้ก่อน จะได้ตีถูกหัวตีถูกตัวมัน 

แต่ถ้ามันมี “เรา” หลายที่ จะตีไม่ถูกตัวมันหรอก เพราะมันมีหลายตัว “เรา” ไม่รู้จะตีตัวไหนก่อนดี ...ก็จับมันให้มันเป็น “เรา” ในปัจจุบันซะ เดี๋ยวถูกหัวมันเองน่ะ 

นี่เขาเรียกว่ารวมมันให้มาอยู่ที่เดียว มันจะได้จัดการได้ง่าย คือตายทีเดียวยกคลอก ...แต่ถ้าออกนอก “นี้” ไปล่ะก็ ไม่จบไม่สิ้น ยืดยาวคราวไกล หาที่หยุดหาที่จบไม่เจอ จิตน่ะ

นะ เอาอันนี้ให้เข้าใจ แล้วไปทำ ตั้งใจทำ...ทุกคน ...ไม่งั้นก็ต้องเกิดมาใหม่ มาเจอพระบ้างแพะบ้าง ยุ่งล่ะมึง ...เจอพระล่ะไม่ยุ่ง เจอแพะล่ะยุ่ง ใช่ไหม หือ 

เอ้า พอ ไม่ต้องถามแล้ว พูดจนไม่มีอะไรให้ถามแล้ว (หัวเราะ) ...ไอ้ที่ถามนั่น กิเลสความสงสัย ไม่ใช่ว่ามันทำถึงแล้วมันสงสัยหรือไม่มั่นใจ ...มันเป็นกิเลส ไม่ต้องถาม


..................................





วันจันทร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2560

แทร็ก 9/36


พระอาจารย์
9/36 (560112C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
12 มกราคม 2556


พระอาจารย์ –  เมื่อวานก็พูดทีนึงแล้ว ไม่รู้ได้ยินรึเปล่า เสียงเราดังนะ (เสียงโยมบอกว่าได้ยิน)

กายคือศีล กายปกติคือศีล ศีลห้าก็คือแขนสอง ขาสอง หัวหนึ่ง...รักษาให้ได้ ถ้ารักษาศีลตัวนี้ได้ จะไม่คลาดเคลื่อนจากธรรม จะไม่คลาดเคลื่อนจากผลแห่งการปฏิบัติในองค์มรรค 

นั่น ก็จะได้รับอานิสงส์ที่แท้จริงของศีล...ที่ผู้ใดที่เข้าไปรักษาศีลแล้ว จะอยู่ด้วยจิตที่ไม่เศร้าหมอง 

พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า เหมือนเจ้าของบ้านเจ้าของเรือน แล้วมีการปัดกวาดเช็ดถูบ้านอยู่เสมอ มันมีความสะอาดอยู่ในบ้านของตัวเอง ...มันก็น่าอยู่ 

แต่ถ้าเจ้าของบ้านไม่เคยทำความสะอาดเช็ดถูบ้านของตัวเองเลย มันก็มีแต่หยากไย่ใยแมงมุม ...มันน่าอยู่ไหม เชิญให้ใครมาอยู่เขายังไม่อยู่เลย  อย่าว่าแต่ตัวเจ้าของยังไม่อยากอยู่

เนี่ย พระพุทธเจ้าท่านเปรียบว่าผู้ที่รักษาศีล เหมือนผู้ที่ทำความสะอาดบ้านของตัวเองนี่ให้สะอาดอยู่เสมอ ...มันก็น่าอยู่ ใครเห็นก็อยากเข้าใกล้ ไม่รังเกียจ ไม่ต่อต้าน ไม่มีเรื่อง ไม่พยายามจะหาเรื่อง 

นี่คืออานิสงส์ของศีลนะ...ในตัวของศีล ...และยังไม่ใช่อานิสงส์แค่นี้ มันยังส่งผลให้บังเกิดจิตตั้งมั่น จิตรวมอยู่ภายใน

นี่ความหมายเดียวกันหมดนะ จิตเป็นหนึ่ง จิตเป็นกลาง จิตเป็นสัมมาสมาธิ ...อะไรอย่างใดอย่างหนึ่งที่นอกเหนือจากที่เราพูดเมื่อกี้ ไม่เรียกว่าสัมมาสมาธิ 

เมื่อไม่เรียกว่าสัมมาสมาธิ หมายความว่าสมาธิตามความเห็นความเข้าใจนั้น ไม่เป็นไปเพื่อปัญญาญาณ หรือญาณทัสสนะ...ที่แจ่มชัดแจ่มใสในกองขันธ์ทั้งห้าตามจริง

ความสงบอย่างใดอย่างหนึ่งที่นอกเหนือจากที่เรากล่าวมาเมื่อสักครู่นี้ มันจะเกิดความรู้ที่เป็นความรู้ภายนอกขันธ์ห้า เป็นความรู้ที่เกินขันธ์ห้าในปัจจุบัน เป็นความรู้ที่คลาดเคลื่อนจากขันธ์ห้าในปัจจุบัน 

จึงเรียกว่าความรู้ความเห็นที่ได้มาจากอาการนั้น เรียกว่ารู้ไม่จริง เห็นไม่จริง ...เพราะสิ่งที่มันรู้และสิ่งที่มันเห็นนั้น...ไม่จริง

เกิดนิมิตอะไรขึ้นมา...ไอ้การรู้ไอ้การเห็นในนิมิตนั่นน่ะจริง แต่สิ่งที่มันเป็นนิมิตขึ้นมานั้นน่ะ...ไม่ใช่จริง ...แต่มันไม่รู้หรอก มันเกิดความเข้าไปถือครอง เข้าไปครอบครอง เข้าไปเชื่อว่าจริงเสียแล้ว

เพราะสมาธิเหล่านี้ที่ไม่ใช่สัมมาสมาธิ ไม่ได้เป็นสมาธิที่เป็นไปเพื่อความรู้ ความเห็น ความเข้าใจ...แล้วละ แล้ววาง 

มันจึงเป็นสมาธิหรือเป็นความสงบที่ปรากฏแล้วมีผลแห่งความสงบนั้นเกิดขึ้น แล้วเป็นไปเพื่อการครอบครอง และถือเอา ...เหล่านี้จึงไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นสัมมาสมาธิ 

จะมากล่าวอ้างว่าเป็นสัมมาสมาธิไม่ได้เลย ...นั่นผิดจากสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านกล่าวในองค์มรรค สมาธิในองค์มรรคคืออย่างไร ...แล้วการปรากฏขึ้นของสัมมาสมาธิ จะต้องปรากฏขึ้นโดยอาศัยเหตุใด

ถ้าไม่ใช่เหตุแห่งศีลแล้ว ถ้าไม่ใช่เหตุแห่งสติในก้อนศีลกองศีล กองกายกองธาตุปัจจุบันแล้ว จะไม่เกิดสัมมาสมาธิได้ ...ต่อให้สงบปานไหนก็ตาม แต่ถ้ามันไปสงบกับสิ่งอื่น ผลที่ได้คลาดเคลื่อนจากความจริง

แรกๆ มันอาจจะคลาดเคลื่อนนิดๆ หน่อยๆ ...แต่ถ้ายังโง่งมงายอยู่อีก มันจะคลาดเคลื่อนไปมากขึ้นๆ จนแทบจะถอนตัวไม่ขึ้นเลย หรือไม่ยอมถอนออกเลย 

เพราะมันจะเป็นผลที่ก่อให้เกิดมานะความถือตัวพร้อมกัน ไม่ได้เป็นสมาธิที่เป็นไปเพื่อให้เกิดปัญญา เพื่อให้เกิดการคลายจางจากความถือตัวถือตน ถือหน้าถือตา ถือเราถือของเรา

จนมีคำถามติดปากผู้ปฏิบัติภาวนาว่า วันนี้เธอภาวนาแล้วเธอได้อะไรบ้าง ...มันจะเอาไปอวดพ่ออวดแม่มันรึไง ...จนกลายเป็นคำถามปกติของนักภาวนาเลย 

ถ้าเข้าคอร์สแล้วออกมานี่ "เธอเป็นยังไงล่ะ ดีขึ้นรึเปล่า ได้อะไร บอกชั้นมั่งชั้นจะได้ทำตาม"...'แล้วชั้นจะได้ดีกว่าเธอด้วย' ...ลึกๆ มันนึกอย่างนั้นนะ 

คือแอบตีหัวแล้วจะเข้าบ้าน ยึดว่ากูจะต้องเอาให้เหนือกว่าเขา ...มันเลยกลายเป็นนักภาวนาขี้โลภ ขี้งก จะสร้างตัวตนของตัวเองให้ยิ่งใหญ่ อลังการงานสร้าง อภิมหาโปรเจ็คท์ ...ไม่มีการถอดการเลิก

ถ้ามันได้ปฏิบัติอย่างนี้น่ากลัวนะ นักปฏิบัติอย่างนี้เยอะนะ พากันไป แห่กันไป โดยไม่รู้ตัวเลยว่ามันออกนอกหลักมรรคผลและนิพพาน ...ซึ่งไม่ใช่อย่างนี้ ไม่ได้เป็นไปด้วยการนี้ 

แต่มรรคผลนิพพาน...เป็นไปเพื่อการละ วาง จาง คลาย จากความเป็นเราของเรา ระวังความเป็นเราของเราที่จะมากขึ้น เพิ่มขึ้น ...นี่คือหลัก หลักการภาวนา หลักของพระพุทธเจ้า 

เพราะนั้นเมื่อมันเริ่มเห็นว่าอยากมี อยากเป็น อยากได้...ก็หัดรู้เท่า หัดรู้ทัน หัดรู้ละ หัดรู้ปล่อย หัดรู้วางเสียบ้าง ...อย่าไปบ้าตามมัน อย่าไปบ้าตามคนอื่น

แล้วก็กลับมาเพียรตั้งอกตั้งใจรักษาเนื้อรักษาตัว รักษากายรักษาศีลซะ...เป็นรากเป็นฐาน เป็นพื้นเป็นฐาน เป็นหลักการปฏิบัติเบื้องต้นของทุกคนที่ยังไม่เข้าใจและไม่เคยประกอบเหตุแห่งศีลให้ตรงตามองค์ศีล

ถ้าก้าวแรกก้าวผิด ถ้าก้าวแรกก้าวพลาด...คือบันไดเลื่อนน่ะเขาเลื่อนขึ้น กูเสือกก้าวลงน่ะ โดยไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังก้าวลง แต่ก็นึกอยู่ว่ากำลังก้าวขึ้นไป ...นั่นน่ะถ้าก้าวพลาด มันจะเป็นอย่างนั้น

มันเลื่อนลงต่ำ มันเลื่อนลงไปติด มันเลื่อนลงไปข้อง มันเลื่อนลงไปแวะกับอะไรก็ไม่รู้ ...ไปหา ไปครอบไปครอง ไปมีไปเป็น ไปหวงแหน ไปทุรนทุรายในการรักษาเอาไว้

แต่ถ้าก้าวแรกน่ะเริ่มตรง ไม่บิดเบี้ยว ไม่คดเคี้ยว ...เหมือนลูกธนูน่ะ ถ้าดัดให้ตรงตั้งแต่หัว ตั้งแต่โคนน่ะ มันก็จะยิงเข้าเป้าได้แม่นยำ 

แต่ถ้าไม่ดัดเลย คดๆ งอๆ มันไม่เข้าเป้า...แต่มันไปแทงหัวใจคนอื่น มันไปทิ่ม มันไปตำคนอื่น ...หรือไม่มันก็เหมือนบูมเมอแรงน่ะ มันก็เหวี่ยงกลับมา

หรือเป็นแบบกระจกเงาสะท้อน...กูกะจะยิงมึง ทำไมมันกลับมาแทงกูเองวะ ...กูยิงมัน มันยิงกู กูยิงมันดอก มันยิงกูคืนสามดอกเลยทบต้น อย่างนี้

คือถ้าก้าวคลาดเคลื่อนไปแล้วนี่ ตั้งแต่เบื้องต้นแห่งศีลเนี่ย  ...ถ้าไม่ตรงต่อศีล...ไม่เข้าใจ...มันก็จะยิ่งคลาดเคลื่อนไปเรื่อยๆ

แต่ถ้าเข้าใจแล้ว ใส่ใจ เพียร เคร่งครัดในศีล ...เคร่งครัดในศีล ในความหมายนี้คือเคร่งครัดในกาย ไม่ปล่อยปละละเลยในกายปัจจุบัน ไม่ทำให้มันหาย ไม่ทำให้มันขาด...ทั้งจะเจตนาและไม่เจตนา

คือเจตนาก็มี ไม่เจตนาก็หลงก็ลืม ...เหล่านี้ต้องอาศัยความเพียร  เหตุแห่งศีลจะปรากฏขึ้นมา เพื่อแสดงอานิสงส์แห่งศีลให้กับผู้ปฏิบัตินั้นๆ เอง 

นี่ไม่ใช่ประโยชน์แก่ผู้อื่นเลยนะ ประโยชน์สำหรับผู้อื่นน่ะเป็นผลพลอยได้ ...แต่ประโยชน์ที่ได้ตรงๆ คือตัวคนนั้น 

ถ้าคร่ำเคร่ง เคร่งครัด มัธยัสถ์ อยู่ในกายตัวเองเท่านั้น ไม่หลายกาย ไม่มีกายคนอื่นมาปะปน ...ผลที่ได้ก็เร็วและแรง 

เพราะนั้นผลแห่งศีลน่ะไม่ต้องว่าอะไรหรอก จิตตั้งมั่นภายใน จิตมั่นคงภายใน จิตไม่หวั่นไหวกับภายนอก และต่อไปจิตจะไม่หวั่นไหวแม้กระทั่งเรื่องภายใน ...อานิสงส์ของศีลมีไปตามลำดับ

แล้วความตั้งมั่น มั่นคงอยู่ภายในนี้แหละ จึงจะก่อเกิดสภาวะรู้และเห็น ...ซึ่งไม่ได้รู้และเห็นที่อื่น มันจะไม่รู้และเห็นที่อื่น มันจะรู้และเห็นที่กาย 

เพราะว่ากายนี้เป็นที่ตั้งแห่งความรู้และตั้งมั่นอยู่ภายใน มันจึงต้องมารู้และเห็นกายที่อยู่เบื้องหน้ามันนั่นเอง

ด้วยอำนาจของสัมมาสมาธิ มันจะเห็นตัวที่อยู่เบื้องหน้ามัน ที่มันอาศัยสิ่งนั้นน่ะเป็นหลักที่ให้มันตั้งมั่นอยู่ภายใน ...มันจึงเกิดภาวะที่เรียกว่า ชัดเจน แยบคาย โยนิโสมนสิการต่อกายก้อนนี้ ก้อนศีลก้อนกายนี้ 

มันจะชัดเจน แยบคาย แยกแยะ วิจยะ กลั่นกรอง คัดกรอง ถี่ถ้วน ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ...เคยเห็นน้ำกลั่นมั้ย ถ้าได้กลั่นออกมาแล้ว น้ำเป็นยังไง ...บริสุทธิ์ เป็นน้ำบริสุทธิ์ 

ถ้ามันมีปัญญาที่มาจากสัมมาสมาธิ เข้าไปกลั่นกรองกายแล้วนี่ ...ผลที่ได้ก็คือกายบริสุทธิ์ กายตามความเป็นจริง หรือกายวิสุทธิ

ไม่ใช่กายที่เกิดกับความเห็นโง่ๆ ของจิต ไม่ใช่กายที่เกิดขึ้นจากความจำโง่ๆ ของจิต ไม่ใช่กายที่เกิดด้วยความเชื่อโง่ๆ ของจิต 

แต่มันจะเป็นกายที่กลั่นกรองได้ดีแล้ว พอสมควร พอประมาณตามกำลังของมรรคนั้นๆ ของผู้ปฏิบัตินั้นๆ ...ไม่มากไม่น้อยกว่านั้น

เมื่อมันเห็นอย่างนี้ มันเข้าใจได้ด้วยตัวของมันเองอย่างนี้ มันจะไปทำอะไรล่ะ ...มันก็จะยิ่งกลั่นยิ่งกรองให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้นๆ ไป ด้วยอำนาจแห่งศีลสมาธิและปัญญา

เพราะทุกครั้งทุกคราที่มันกลั่นและกรองจนได้กายที่ค่อนข้างบริสุทธิ์ขึ้นกว่าเดิม มันจะรับรู้รสชาติของความที่ทุกข์น้อยลง อุปาทานทุกข์ อุปาทานในขันธ์น้อยลง 

ความทุรนทุรายในกายก็น้อยลง ความรู้สึกขึ้นและลงตามอาการที่แปรปรวนไปมาของกายก็น้อยลง ความเข้าไปรู้สึกเป็นเจ้าของกายก็น้อยลง

ความรู้สึกเหล่านี้ ที่ท่านเรียกว่าผลบังเกิดขึ้นจำเพาะจิตดวงนั้นๆ ...ที่เรียกว่าปัจจัตตัง  

ถ้าความรู้ความเห็นที่เป็นปัจจัตตังขึ้นมาแล้วนี่ ...มันจะยิ่งสนับสนุนองค์ศีลสมาธิปัญญาให้แก่กล้ามากขึ้น ต่อเนื่องขึ้น สม่ำเสมอขึ้น ให้ความระมัดระวังสำคัญกับศีลสมาธิปัญญา มากขึ้น ยิ่งขึ้นกว่าเดิม

นี่เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ วิสุทธิของกายของใจปัจจุบัน ...ถ้าทำในลักษณะนี้ ผลปรากฏในลักษณะนี้ ให้เข้าใจไว้เลย...เรียกว่านี้เดินอยู่ในมรรค นี้เรียกว่าเป็นการเจริญมรรค 

ผลแห่งการเจริญอย่างนี้ ไม่มีอื่น ไม่เป็นอื่น นอกจากหลุด พ้น จบ สิ้น ไม่กลับมาอีก คือนิพพาน

ถ้านักภาวนาทุกคนน่ะ มุ่งลงในการปฏิบัติในลักษณะนี้ วิถีนี้ ...จะไม่อดไม่อยากอริยบุคคลเลย จะไม่ขาดแคลนอริยจิต อริยบุคคลเลย


(ต่อแทร็ก 9/37)



วันเสาร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2560

แทร็ก 9/35


พระอาจารย์
9/35 (560112B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
12 มกราคม 2556


พระอาจารย์ –  อย่าไปมองเป็นเรื่องไกลตัว อย่าไปมองเป็นเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญ  ศีลสมาธิปัญญานี่แหละ จึงจะเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของสัตว์โลก 

บ้าน คนรัก งาน เงิน ทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียง ความนับหน้าถือตา ความยกย่องสรรเสริญ เหล่านี้ถ้าเทียบคุณค่ากับศีลสมาธิปัญญา ถ้าเทียบกันแล้วนี่ เหมือนขี้กับเพชร

แต่จิตของพวกเราทั้งหลาย ของจิตผู้ไม่รู้ทั้งหลาย กลับไม่เห็นคุณค่า กลับประมาท กลับว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ไม่เห็นช่วยอะไรได้เลย 

ผู้คนจึงอ่อนล้าในการปฏิบัติ ผู้คนจึงดูถูกดูแคลนการปฏิบัติ ...ต่อไปน่ะมันจะดูถูกดูแคลนแม้กระทั่งผู้ปฏิบัติ นี่เราพูดไปถึงอนาคตให้เลย

กว่าจะสร้างจิตผู้ไม่รู้นี่ ให้มันมีศรัทธาในศีลสมาธิปัญญา...ก็ยาก ...ผู้บอกกล่าวเล่าสอนก็ปากเปียกปากแฉะ ผู้ฟังผู้ปฏิบัติตามก็น้อยลงๆ ...มันไม่ได้ปฏิสัมพันธ์กันในแง่ที่น่าจะมากขึ้น

แต่ครูบาอาจารย์ผู้สอนผู้สั่งก็ไม่เคยหยุดยั้งในการสั่งและการสอน เหมือนเป็นหน้าที่ ท่านมีหน้าที่เหมือนทดแทนคุณพุทธะ คุณธรรมะ คุณสังฆะ 

และคุณของธาตุของขันธ์ของโลก ที่ก่อร่างสร้างขันธ์มาให้ท่านได้ศึกษาสำเหนียกจนเข้าใจ ...ท่านจึงเหมือนตอบแทน ทำหน้าที่ให้คนทั้งหลายทั้งปวงรู้และเข้าใจเช่นเดียวกัน

เพราะสิ่งที่ท่านรู้ท่านเข้าใจนี่ ท่านยืนยันได้ด้วยตัวท่านเอง ว่าไม่ผิดไม่เพี้ยน ว่าเป็นสิ่งที่ประเสริฐสุด ยิ่งกว่าใดๆ ทั้งหลายทั้งปวงในสามโลกธาตุที่จิตมันเคารพนบนอบให้ค่าให้คุณให้ความสลักสำคัญกับมันอย่างยิ่ง

เหมือนท่านต้องการมาแก้ไขจิต น้อมนำจิต ของสัตว์บุคคลทั้งหลายทั้งปวงนั้น ให้เกิดความเห็นที่แท้ ที่จริง ที่ตรง ...คือสัมมาทิฏฐินั่นเอง 

เมื่อมันเป็นสัมมาทิฏฐิ ความเห็นที่ชอบ ที่ตรง จะรู้ได้ด้วยตัวเองว่า อะไรมีค่า 

อะไรที่มันเคยให้ค่าไว้นั่น จะเห็นเองว่า เทียบไม่ได้กับสิ่งที่พระพุทธเจ้าบอก กับสิ่งที่พระพุทธเจ้าแนะนำ กับสิ่งที่พระสงฆ์ท่านทำตามคำที่พระพุทธเจ้าแนะนำแล้วได้ผล

จึงเรียกว่ามรรคนี้เป็นทางสายเอก เป็นทางอันประเสริฐ เป็นทางอันเลิศ เป็นทางที่ไม่มีทุกข์ไม่มีภัย เป็นทางที่จะออกจากทุกข์และออกจากภัยในวัฏฏะสงสาร 

แต่ผู้พูดผู้กล่าว จะพูดจะโฆษณาชวนเชื่อ จะย้ำขนาดไหนก็ตาม...จะไม่บังเกิดผลได้เลย ถ้าผู้ฟังผู้ได้ยินนั้นไม่น้อมไม่นำ...ไม่น้อมแล้วก็ไม่นำไปปฏิบัติเอง มันก็จะไม่เห็นคุณค่าอยู่วันยังค่ำนั่นแหละ 

แต่เมื่อใดที่มีศรัทธาแล้วน้อมนำไปปฏิบัติด้วยตัวเอง ลงมือทำด้วยตัวเอง ...ปัญญาที่พาให้เกิดความเห็นอันชอบ ความรู้อันชอบ ที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐินี้  ก็จะค่อยๆ บังเกิดขึ้นภายในดวงจิตผู้ประกอบกระทำนั้นเอง

เหมือนคนกินข้าว ความอิ่มนั้นก็บังเกิดขึ้นแก่คนที่กินข้าวคนนั้น ไม่สามารถอิ่มแทนคนอื่นได้ หรือไม่สามารถให้คนอื่นกินแล้วมาอิ่มให้ตัวเองได้

นี่คือธรรมะของพระพุทธเจ้าท่านแนะนำ ท่านแนะสอน ไม่ว่าพระพุทธเจ้ากี่พระองค์ ไม่สามารถหยิบยกให้กันได้ ในศีลสมาธิปัญญา ในองค์มรรค 

นี่ไม่ใช่วัตถุข้าวของที่จะหยิบให้กัน ไม่ใช่สมบัติพัสถานที่จะผ่องถ่ายมรดกให้สืบทอดต่อกันได้ ...ท่านจึงเรียกว่าเป็นธรรมปฏิบัติ คือต้องได้ด้วยการปฏิบัติ เอากายวาจาใจของบุคคลนั้นปฏิบัติเอง ลงทุนเอง

คำว่าลงทุนเองนี่ ทุนอยู่ไหน ...ทุน...ทุกคนมีทุนเท่ากัน เสมอกัน ทุกคนได้ทุนมาเท่ากันเสมอกันตั้งแต่เกิด ...ทุนนั้นก็คือขันธ์ห้า ถ้าพูดให้สั้นเป็นสองหมวดก็แค่กายใจ 

ทุกคนมีทุนเท่ากันหมด ...ไม่ว่าคนนั้นบุคคลนั้นจะยากดีมีจน จะอยู่ในป่าในดง จะไม่ได้ร่ำเรียนหนังสือหรือจะมีทรัพย์สินเงินทองร่ำรวยมหาศาลขนาดไหน ก็มีทุนเท่ากัน 

นี่ มีทุนมาเท่ากัน เสมอกัน อันเดียวกัน แบบเดียวกัน ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบกัน ...คือกายวาจาใจนั้นเอง เป็นทุน...ของสัตว์มนุษย์ทุกเพศทุกวัย ทุกชั้นทุกวรรณะ

แต่เหมือนจิตที่มันโง่...มันมีทุน แต่มันลงทุนไม่เป็น  มันกลับเอาไปลงทุนที่อื่น จึงขาดทุนล้มละลาย ไม่ได้กำไรในการเกิดมา ...กำไรในที่นี้หมายถึงศีลสมาธิปัญญาเป็นกำไรที่แท้จริง

เมื่อมันเอากายวาจาใจนี้ไปลงทุนด้วยความไม่รู้ คือไปลงทุนผิดวัตถุประสงค์ ...นี่เรียกว่าลงทุนไม่เป็น 

ไอ้ที่ลงทุนไม่เป็นคือลงทุนแบบโง่ๆ มันก็ขาดทุนบรรลัย เป็นหนี้เป็นสินทั่วบ้านทั่วเมือง ทั่วประเทศทั่วโลก ต้องเกิดมาชดใช้หนี้กันไม่จบไม่สิ้นน่ะ ...มันลงทุนไม่เป็น

เพราะไม่เชื่อพระพุทธเจ้า เพราะไม่เชื่อธรรมของพระพุทธเจ้า เพราะไม่เชื่อธรรมที่พระสงฆ์ท่านสอน แค่นั้นเอง ...มันเชื่อตัวมันเอง ตัวมันเองคือผู้ที่ไม่รู้อะไรเลยนั่นแหละ 

แล้วมันก็เชื่อจริงๆ จังๆ เชื่อจนเรียกว่าใครมาเถียงมันไม่ได้น่ะ ...มันก็สมควรแล้วที่จะเป็นหนี้เป็นสินเขาทั่วประเทศทั่วโลก เป็นหนี้กับคนรอบข้าง เป็นหนี้กับคนที่ไม่เคยรู้จักมักคุ้นมาก่อนเลย 

มันสามารถจะสร้างหนี้ได้ทุกอย่าง ทุกที่ ทุกเหตุการณ์ ทุกเรื่องราว ทุกสัตว์บุคคล แม้กระทั่งไม่ใช่เป็นสัตว์ไม่ใช่เป็นบุคคล มันยังไปติดหนี้เป็นหนี้เขาได้น่ะ 

นั่น เป็นหนี้กระทั่งวัตถุข้าวของ เป็นหนี้กับของที่ไม่มีวิญญาณครอง ...เกิดมากี่ครั้งก็พอกพูนหนี้ พอกพูนกันเข้าไป เวลาเจ้าหนี้เขามาทวง ก็บ่น ก็ไม่ยอม 

ก็หาทางแก้ ก็หาทางหนี แก้และหนีด้วยวิธีการไปสร้างหนี้ใหม่ ...มันก็กลายเป็นดินพอกหางหมู หรือว่าเป็นวัวพันหลัก ...มันไปไหนไม่รอดหรอก 

เพราะมันไม่รู้จักวิธีแก้ที่แท้จริง แก้ด้วยศีล แก้ด้วยมรรค แก้ด้วยสมาธิ แก้ด้วยปัญญา ...วิธีแก้นี้ มีมาตั้งสองพันห้าร้อยปีแล้ว วิธีแก้นี้ มีคนน้อมและนำไปทำจนแก้ได้มากมายนับอสงไขย

แต่มันคิดว่ามันฉลาดไง มันก็เลยจะแก้ด้วยตัวของมันเอง แก้ด้วยความคิดของตัวเอง แก้โดยอาศัยการหาเหตุและผลของตัวเอง มันเลยแก้ไม่จบ 

แทนที่จะจบกลับพอกหนี้พูนสิน มีดอกเบี้ยที่ยังไม่ได้ชดใช้ชำระคืน และรอวันที่เขาจะมาทวงคืน ...ไม่รู้ตอนไหน ไม่มีใครรู้ด้วย 

เพราะมันยังไม่รู้เลยว่ามันไปสร้างหนี้ตอนไหน ...อย่าว่าแต่คิดว่าจะยอมรับในการชดใช้หนี้เลยนะ มันยังไม่รู้เลยว่าเราไปสร้างหนี้กับอะไร สร้างหนี้ตรงไหนยังไง 

ไม่รู้จักแม้กระทั่งกรรมและวิบากกรรม ไม่รู้จักกระทั่งผลของกุศลกรรมอกุศลกรรมคืออะไร ให้ผลอย่างไร ...นี่ มันไม่เชื่อ

 (เสียงหักไม้) ไม้แก่ดัดยากน่ะ มันหัก เห็นมั้ยนั่น ...แต่ไม้อ่อนน่ะมันดัดง่าย ผู้ที่เริ่มต้นฝึกฝนหัดปฏิบัติ เหมือนไม้อ่อน ยังพอดัดง่าย ...ไอ้พวกแก่เกินแกงนี่ ต้องหักให้มันสำนึก มันถึงจะงอกใหม่

เมื่อเริ่มมีศรัทธาในการปฏิบัติ เริ่มเห็นคุณค่าของการปฏิบัติแล้ว ถึงว่าเป็นก้าวแรก เป็นก้าวสำคัญ ...ก้าวแรกนี่สำคัญ สำคัญกว่าก้าวที่สามสี่ห้าแปดเก้าสิบอีก 

มันสำคัญที่ก้าวแรกนี่แหละ ว่ามันจะก้าวไปทางไหน มันจะก้าวไปกับใคร แล้วก็มันจะก้าวไปเพื่ออะไร ...ถ้ามันก้าวถูกตั้งแต่ก้าวแรกนี่ ก็เรียกว่ามีชัยไปครึ่งแล้ว 

พวกพ่อแก่แม่แก่นั่งรอบตัวเราทั้งหลายนี่ สะบักสะบอมทั้งนั้นแหละ น้ำหูน้ำตาไหล น้ำหูน้ำตาเล็ด เพราะผลของการปฏิบัติที่ไม่ได้ดั่งใจ หรือได้ไม่เหมือนอย่างคนอื่นเขาว่า 

กว่าจะมาหันหัวเรือให้มันตรง เสียน้ำหูน้ำตา เสียน้ำลายไปไม่รู้เท่าไหร่ ในการด่าการเถียงกัน การทะเลาะกัน อวดคุณวิเศษแก่กัน

แต่มันก็ยังดีน่ะ ยังไม่แก่เกินแกง เอามาแกงต้มยำเผ็ดร้อนๆ ได้พอสมควร ...พอให้น้ำหูน้ำตาคนกินไหลบ้าง 

แต่ไอ้พวกไม้อ่อนนี่สำคัญ เมื่อเริ่มต้นปฏิบัติ ถือว่ามีโอกาสอันดี ที่มาได้ยินได้ฟังธรรมที่เรียกว่า...เป็นธรรมในความหมายของธรรมจริงๆ

ก็อยู่ที่คนฟังนั้นจะเลือก และก็ก้าวเดินไปตามธรรมเหล่านี้ไหม...นี่ช่วยไม่ได้แล้ว ...แต่ถือว่ามีโอกาสแล้ว...อันดีด้วย ซึ่งไม่ได้หาได้ง่ายๆ เหมือนไปซื้อของในตลาดแบกะดิน ตลาดนัด

ในเรื่องของหลักการปฏิบัติ ในเรื่องของผลการปฏิบัติ ในเรื่องของจุดหมายของการปฏิบัติ...ให้ชัดเจน และให้เข้าใจ 

ชัดเจนอย่างไร เข้าใจอย่างไร ...ให้ชัดเจนตามที่พระพุทธเจ้าต้องการ  ให้เข้าใจตามที่พระพุทธเจ้าอยากให้เข้าใจ นั่นแหละ...อะไรเป็นศีล อะไรเป็นสมาธิ อะไรเป็นปัญญา อะไรเป็นมรรค อะไรเป็นอริยสัจ 

แล้วจะต้องประกอบเหตุกับสิ่งเหล่านี้อย่างไร จึงจะได้ผลตามที่พระพุทธเจ้าต้องการหรือว่าสรรเสริญว่าผลนั้นเป็นผลอันยิ่ง ผลอันประเสริฐ อันเลิศ มีคุณอันหาประมาณมิได้

เพราะนั้นอย่าเบื่อ ที่เราจะพูดซ้ำซาก เหมือนแผ่นเสียงตกร่อง...ว่าศีลคืออะไร สมาธิคืออะไร ปัญญาคืออะไร มรรคคืออะไร อริยสัจสี่คืออะไร กิจที่พึงกระทำต่ออริยสัจสี่คืออะไร

เหมือนตอกย้ำ ย้ำแล้วย้ำอีก ...ขนาดว่าย้ำแล้วย้ำอีก มันยังหาเรื่องเบี่ยงเบนได้เลย ด้วยปัญญาของหัวไอ้เรืองนั่นน่ะ คิดเอง เออเอง ตัดสินใจเอง...เออ น่าจะใช่เว้ยเฮ้ย

กว่าจะรู้ตัวว่าถูกหลอกไปขาย ถูกหลอกไปฆ่านี่ ซมซานมาแล้ว ...มันจึงต้องย้ำแล้วย้ำอีกๆ แล้วก็มันต้องย้ำอยู่แค่นี้ 

เพราะมันมากี่ทีๆ ก็บอกแค่เนี้ย ว่าศีลคืออะไร ให้มันชัด สมาธิอย่างไร จึงจะเป็นเหตุให้เกิดปัญญาญาณ

ต้องชัด ต้องอยู่ในหลัก ต้องอยู่ในกฎเกณฑ์นี้ ต้องไม่ออกจากความหมายนี้ ต้องไม่ออกจากความจริงของศีลสมาธิปัญญาอย่างนี้ 

มันจึงจะได้ผล มันจึงจะตรงต่อผล ตรงต่อนิพพาน ตรงต่อความไม่กลับมาเกิดอีก ตรงต่อการที่เกิดและตายน้อยลง สั้นลง ...นั่นแหละผล


(ต่อแทร็ก 9/36)