วันจันทร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2560

แทร็ก 9/36


พระอาจารย์
9/36 (560112C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
12 มกราคม 2556


พระอาจารย์ –  เมื่อวานก็พูดทีนึงแล้ว ไม่รู้ได้ยินรึเปล่า เสียงเราดังนะ (เสียงโยมบอกว่าได้ยิน)

กายคือศีล กายปกติคือศีล ศีลห้าก็คือแขนสอง ขาสอง หัวหนึ่ง...รักษาให้ได้ ถ้ารักษาศีลตัวนี้ได้ จะไม่คลาดเคลื่อนจากธรรม จะไม่คลาดเคลื่อนจากผลแห่งการปฏิบัติในองค์มรรค 

นั่น ก็จะได้รับอานิสงส์ที่แท้จริงของศีล...ที่ผู้ใดที่เข้าไปรักษาศีลแล้ว จะอยู่ด้วยจิตที่ไม่เศร้าหมอง 

พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า เหมือนเจ้าของบ้านเจ้าของเรือน แล้วมีการปัดกวาดเช็ดถูบ้านอยู่เสมอ มันมีความสะอาดอยู่ในบ้านของตัวเอง ...มันก็น่าอยู่ 

แต่ถ้าเจ้าของบ้านไม่เคยทำความสะอาดเช็ดถูบ้านของตัวเองเลย มันก็มีแต่หยากไย่ใยแมงมุม ...มันน่าอยู่ไหม เชิญให้ใครมาอยู่เขายังไม่อยู่เลย  อย่าว่าแต่ตัวเจ้าของยังไม่อยากอยู่

เนี่ย พระพุทธเจ้าท่านเปรียบว่าผู้ที่รักษาศีล เหมือนผู้ที่ทำความสะอาดบ้านของตัวเองนี่ให้สะอาดอยู่เสมอ ...มันก็น่าอยู่ ใครเห็นก็อยากเข้าใกล้ ไม่รังเกียจ ไม่ต่อต้าน ไม่มีเรื่อง ไม่พยายามจะหาเรื่อง 

นี่คืออานิสงส์ของศีลนะ...ในตัวของศีล ...และยังไม่ใช่อานิสงส์แค่นี้ มันยังส่งผลให้บังเกิดจิตตั้งมั่น จิตรวมอยู่ภายใน

นี่ความหมายเดียวกันหมดนะ จิตเป็นหนึ่ง จิตเป็นกลาง จิตเป็นสัมมาสมาธิ ...อะไรอย่างใดอย่างหนึ่งที่นอกเหนือจากที่เราพูดเมื่อกี้ ไม่เรียกว่าสัมมาสมาธิ 

เมื่อไม่เรียกว่าสัมมาสมาธิ หมายความว่าสมาธิตามความเห็นความเข้าใจนั้น ไม่เป็นไปเพื่อปัญญาญาณ หรือญาณทัสสนะ...ที่แจ่มชัดแจ่มใสในกองขันธ์ทั้งห้าตามจริง

ความสงบอย่างใดอย่างหนึ่งที่นอกเหนือจากที่เรากล่าวมาเมื่อสักครู่นี้ มันจะเกิดความรู้ที่เป็นความรู้ภายนอกขันธ์ห้า เป็นความรู้ที่เกินขันธ์ห้าในปัจจุบัน เป็นความรู้ที่คลาดเคลื่อนจากขันธ์ห้าในปัจจุบัน 

จึงเรียกว่าความรู้ความเห็นที่ได้มาจากอาการนั้น เรียกว่ารู้ไม่จริง เห็นไม่จริง ...เพราะสิ่งที่มันรู้และสิ่งที่มันเห็นนั้น...ไม่จริง

เกิดนิมิตอะไรขึ้นมา...ไอ้การรู้ไอ้การเห็นในนิมิตนั่นน่ะจริง แต่สิ่งที่มันเป็นนิมิตขึ้นมานั้นน่ะ...ไม่ใช่จริง ...แต่มันไม่รู้หรอก มันเกิดความเข้าไปถือครอง เข้าไปครอบครอง เข้าไปเชื่อว่าจริงเสียแล้ว

เพราะสมาธิเหล่านี้ที่ไม่ใช่สัมมาสมาธิ ไม่ได้เป็นสมาธิที่เป็นไปเพื่อความรู้ ความเห็น ความเข้าใจ...แล้วละ แล้ววาง 

มันจึงเป็นสมาธิหรือเป็นความสงบที่ปรากฏแล้วมีผลแห่งความสงบนั้นเกิดขึ้น แล้วเป็นไปเพื่อการครอบครอง และถือเอา ...เหล่านี้จึงไม่สามารถเรียกได้ว่าเป็นสัมมาสมาธิ 

จะมากล่าวอ้างว่าเป็นสัมมาสมาธิไม่ได้เลย ...นั่นผิดจากสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านกล่าวในองค์มรรค สมาธิในองค์มรรคคืออย่างไร ...แล้วการปรากฏขึ้นของสัมมาสมาธิ จะต้องปรากฏขึ้นโดยอาศัยเหตุใด

ถ้าไม่ใช่เหตุแห่งศีลแล้ว ถ้าไม่ใช่เหตุแห่งสติในก้อนศีลกองศีล กองกายกองธาตุปัจจุบันแล้ว จะไม่เกิดสัมมาสมาธิได้ ...ต่อให้สงบปานไหนก็ตาม แต่ถ้ามันไปสงบกับสิ่งอื่น ผลที่ได้คลาดเคลื่อนจากความจริง

แรกๆ มันอาจจะคลาดเคลื่อนนิดๆ หน่อยๆ ...แต่ถ้ายังโง่งมงายอยู่อีก มันจะคลาดเคลื่อนไปมากขึ้นๆ จนแทบจะถอนตัวไม่ขึ้นเลย หรือไม่ยอมถอนออกเลย 

เพราะมันจะเป็นผลที่ก่อให้เกิดมานะความถือตัวพร้อมกัน ไม่ได้เป็นสมาธิที่เป็นไปเพื่อให้เกิดปัญญา เพื่อให้เกิดการคลายจางจากความถือตัวถือตน ถือหน้าถือตา ถือเราถือของเรา

จนมีคำถามติดปากผู้ปฏิบัติภาวนาว่า วันนี้เธอภาวนาแล้วเธอได้อะไรบ้าง ...มันจะเอาไปอวดพ่ออวดแม่มันรึไง ...จนกลายเป็นคำถามปกติของนักภาวนาเลย 

ถ้าเข้าคอร์สแล้วออกมานี่ "เธอเป็นยังไงล่ะ ดีขึ้นรึเปล่า ได้อะไร บอกชั้นมั่งชั้นจะได้ทำตาม"...'แล้วชั้นจะได้ดีกว่าเธอด้วย' ...ลึกๆ มันนึกอย่างนั้นนะ 

คือแอบตีหัวแล้วจะเข้าบ้าน ยึดว่ากูจะต้องเอาให้เหนือกว่าเขา ...มันเลยกลายเป็นนักภาวนาขี้โลภ ขี้งก จะสร้างตัวตนของตัวเองให้ยิ่งใหญ่ อลังการงานสร้าง อภิมหาโปรเจ็คท์ ...ไม่มีการถอดการเลิก

ถ้ามันได้ปฏิบัติอย่างนี้น่ากลัวนะ นักปฏิบัติอย่างนี้เยอะนะ พากันไป แห่กันไป โดยไม่รู้ตัวเลยว่ามันออกนอกหลักมรรคผลและนิพพาน ...ซึ่งไม่ใช่อย่างนี้ ไม่ได้เป็นไปด้วยการนี้ 

แต่มรรคผลนิพพาน...เป็นไปเพื่อการละ วาง จาง คลาย จากความเป็นเราของเรา ระวังความเป็นเราของเราที่จะมากขึ้น เพิ่มขึ้น ...นี่คือหลัก หลักการภาวนา หลักของพระพุทธเจ้า 

เพราะนั้นเมื่อมันเริ่มเห็นว่าอยากมี อยากเป็น อยากได้...ก็หัดรู้เท่า หัดรู้ทัน หัดรู้ละ หัดรู้ปล่อย หัดรู้วางเสียบ้าง ...อย่าไปบ้าตามมัน อย่าไปบ้าตามคนอื่น

แล้วก็กลับมาเพียรตั้งอกตั้งใจรักษาเนื้อรักษาตัว รักษากายรักษาศีลซะ...เป็นรากเป็นฐาน เป็นพื้นเป็นฐาน เป็นหลักการปฏิบัติเบื้องต้นของทุกคนที่ยังไม่เข้าใจและไม่เคยประกอบเหตุแห่งศีลให้ตรงตามองค์ศีล

ถ้าก้าวแรกก้าวผิด ถ้าก้าวแรกก้าวพลาด...คือบันไดเลื่อนน่ะเขาเลื่อนขึ้น กูเสือกก้าวลงน่ะ โดยไม่รู้ตัวเลยว่ากำลังก้าวลง แต่ก็นึกอยู่ว่ากำลังก้าวขึ้นไป ...นั่นน่ะถ้าก้าวพลาด มันจะเป็นอย่างนั้น

มันเลื่อนลงต่ำ มันเลื่อนลงไปติด มันเลื่อนลงไปข้อง มันเลื่อนลงไปแวะกับอะไรก็ไม่รู้ ...ไปหา ไปครอบไปครอง ไปมีไปเป็น ไปหวงแหน ไปทุรนทุรายในการรักษาเอาไว้

แต่ถ้าก้าวแรกน่ะเริ่มตรง ไม่บิดเบี้ยว ไม่คดเคี้ยว ...เหมือนลูกธนูน่ะ ถ้าดัดให้ตรงตั้งแต่หัว ตั้งแต่โคนน่ะ มันก็จะยิงเข้าเป้าได้แม่นยำ 

แต่ถ้าไม่ดัดเลย คดๆ งอๆ มันไม่เข้าเป้า...แต่มันไปแทงหัวใจคนอื่น มันไปทิ่ม มันไปตำคนอื่น ...หรือไม่มันก็เหมือนบูมเมอแรงน่ะ มันก็เหวี่ยงกลับมา

หรือเป็นแบบกระจกเงาสะท้อน...กูกะจะยิงมึง ทำไมมันกลับมาแทงกูเองวะ ...กูยิงมัน มันยิงกู กูยิงมันดอก มันยิงกูคืนสามดอกเลยทบต้น อย่างนี้

คือถ้าก้าวคลาดเคลื่อนไปแล้วนี่ ตั้งแต่เบื้องต้นแห่งศีลเนี่ย  ...ถ้าไม่ตรงต่อศีล...ไม่เข้าใจ...มันก็จะยิ่งคลาดเคลื่อนไปเรื่อยๆ

แต่ถ้าเข้าใจแล้ว ใส่ใจ เพียร เคร่งครัดในศีล ...เคร่งครัดในศีล ในความหมายนี้คือเคร่งครัดในกาย ไม่ปล่อยปละละเลยในกายปัจจุบัน ไม่ทำให้มันหาย ไม่ทำให้มันขาด...ทั้งจะเจตนาและไม่เจตนา

คือเจตนาก็มี ไม่เจตนาก็หลงก็ลืม ...เหล่านี้ต้องอาศัยความเพียร  เหตุแห่งศีลจะปรากฏขึ้นมา เพื่อแสดงอานิสงส์แห่งศีลให้กับผู้ปฏิบัตินั้นๆ เอง 

นี่ไม่ใช่ประโยชน์แก่ผู้อื่นเลยนะ ประโยชน์สำหรับผู้อื่นน่ะเป็นผลพลอยได้ ...แต่ประโยชน์ที่ได้ตรงๆ คือตัวคนนั้น 

ถ้าคร่ำเคร่ง เคร่งครัด มัธยัสถ์ อยู่ในกายตัวเองเท่านั้น ไม่หลายกาย ไม่มีกายคนอื่นมาปะปน ...ผลที่ได้ก็เร็วและแรง 

เพราะนั้นผลแห่งศีลน่ะไม่ต้องว่าอะไรหรอก จิตตั้งมั่นภายใน จิตมั่นคงภายใน จิตไม่หวั่นไหวกับภายนอก และต่อไปจิตจะไม่หวั่นไหวแม้กระทั่งเรื่องภายใน ...อานิสงส์ของศีลมีไปตามลำดับ

แล้วความตั้งมั่น มั่นคงอยู่ภายในนี้แหละ จึงจะก่อเกิดสภาวะรู้และเห็น ...ซึ่งไม่ได้รู้และเห็นที่อื่น มันจะไม่รู้และเห็นที่อื่น มันจะรู้และเห็นที่กาย 

เพราะว่ากายนี้เป็นที่ตั้งแห่งความรู้และตั้งมั่นอยู่ภายใน มันจึงต้องมารู้และเห็นกายที่อยู่เบื้องหน้ามันนั่นเอง

ด้วยอำนาจของสัมมาสมาธิ มันจะเห็นตัวที่อยู่เบื้องหน้ามัน ที่มันอาศัยสิ่งนั้นน่ะเป็นหลักที่ให้มันตั้งมั่นอยู่ภายใน ...มันจึงเกิดภาวะที่เรียกว่า ชัดเจน แยบคาย โยนิโสมนสิการต่อกายก้อนนี้ ก้อนศีลก้อนกายนี้ 

มันจะชัดเจน แยบคาย แยกแยะ วิจยะ กลั่นกรอง คัดกรอง ถี่ถ้วน ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ...เคยเห็นน้ำกลั่นมั้ย ถ้าได้กลั่นออกมาแล้ว น้ำเป็นยังไง ...บริสุทธิ์ เป็นน้ำบริสุทธิ์ 

ถ้ามันมีปัญญาที่มาจากสัมมาสมาธิ เข้าไปกลั่นกรองกายแล้วนี่ ...ผลที่ได้ก็คือกายบริสุทธิ์ กายตามความเป็นจริง หรือกายวิสุทธิ

ไม่ใช่กายที่เกิดกับความเห็นโง่ๆ ของจิต ไม่ใช่กายที่เกิดขึ้นจากความจำโง่ๆ ของจิต ไม่ใช่กายที่เกิดด้วยความเชื่อโง่ๆ ของจิต 

แต่มันจะเป็นกายที่กลั่นกรองได้ดีแล้ว พอสมควร พอประมาณตามกำลังของมรรคนั้นๆ ของผู้ปฏิบัตินั้นๆ ...ไม่มากไม่น้อยกว่านั้น

เมื่อมันเห็นอย่างนี้ มันเข้าใจได้ด้วยตัวของมันเองอย่างนี้ มันจะไปทำอะไรล่ะ ...มันก็จะยิ่งกลั่นยิ่งกรองให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้นๆ ไป ด้วยอำนาจแห่งศีลสมาธิและปัญญา

เพราะทุกครั้งทุกคราที่มันกลั่นและกรองจนได้กายที่ค่อนข้างบริสุทธิ์ขึ้นกว่าเดิม มันจะรับรู้รสชาติของความที่ทุกข์น้อยลง อุปาทานทุกข์ อุปาทานในขันธ์น้อยลง 

ความทุรนทุรายในกายก็น้อยลง ความรู้สึกขึ้นและลงตามอาการที่แปรปรวนไปมาของกายก็น้อยลง ความเข้าไปรู้สึกเป็นเจ้าของกายก็น้อยลง

ความรู้สึกเหล่านี้ ที่ท่านเรียกว่าผลบังเกิดขึ้นจำเพาะจิตดวงนั้นๆ ...ที่เรียกว่าปัจจัตตัง  

ถ้าความรู้ความเห็นที่เป็นปัจจัตตังขึ้นมาแล้วนี่ ...มันจะยิ่งสนับสนุนองค์ศีลสมาธิปัญญาให้แก่กล้ามากขึ้น ต่อเนื่องขึ้น สม่ำเสมอขึ้น ให้ความระมัดระวังสำคัญกับศีลสมาธิปัญญา มากขึ้น ยิ่งขึ้นกว่าเดิม

นี่เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ วิสุทธิของกายของใจปัจจุบัน ...ถ้าทำในลักษณะนี้ ผลปรากฏในลักษณะนี้ ให้เข้าใจไว้เลย...เรียกว่านี้เดินอยู่ในมรรค นี้เรียกว่าเป็นการเจริญมรรค 

ผลแห่งการเจริญอย่างนี้ ไม่มีอื่น ไม่เป็นอื่น นอกจากหลุด พ้น จบ สิ้น ไม่กลับมาอีก คือนิพพาน

ถ้านักภาวนาทุกคนน่ะ มุ่งลงในการปฏิบัติในลักษณะนี้ วิถีนี้ ...จะไม่อดไม่อยากอริยบุคคลเลย จะไม่ขาดแคลนอริยจิต อริยบุคคลเลย


(ต่อแทร็ก 9/37)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น