วันพฤหัสบดีที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560

แทร็ก 9/30 (1)



พระอาจารย์
9/30 (560103A)
3 มกราคม 2556
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  มีทุกวงการน่ะคน ถ้ามันไม่ได้มีการอบรมจิตภาวนาให้เกื้อกูลกัน สงเคราะห์กัน ตายไปแล้วก็เอาอะไรไปไม่ได้อ่ะ แสวง เสวยแต่ความสุขชั่วคราวไป โดยเข้าใจว่ามันดีที่สุดแล้ว 

มันติดมันข้องอยู่แค่ความสุขเล็กๆ น้อยๆ เหมือนกับเครื่องฉาบทาเท่านั้นเอง หลง จริงจังเกินไป หาความสุขที่แท้จริง ไม่รู้จัก

เพราะว่าสุขที่แท้จริงก็คือสุขที่มันปราศจากอามิส ปราศจากความปรุงแต่งนั่นแหละ เรียกว่านิรามิสสุข 

คนที่ไม่รู้จักการภาวนา ไม่รู้จักศีลสมาธิปัญญา มันจะไม่สามารถเข้าไปหยั่งถึงความสุขที่เกิดขึ้นจากการปราศจากความปรุงแต่ง 

ขนาดผู้ปฏิบัติเล็กๆ น้อยๆ ก็ยังไม่ค่อยเชื่อถือเท่าไหร่ ยังผูกติดอยู่กับอะไรตั้งหลายอย่าง ความคิดบ้าง สภาวะบ้าง อารมณ์บ้าง มันยังผูกอย่างนั้น...ด้วยความคุ้นเคย

กว่าจะมาเรียนรู้เท่าทัน แล้วก็เห็นโทษเห็นภัยของการเข้าไปตั้งมั่นอยู่กับอารมณ์ เข้าไปเสวยกับอารมณ์ มันก็ต้องเจริญปัญญาโดยรอบโดยตลอด มันถึงจะคลายออก 

การปฏิบัติธรรมที่มันเนิ่นนาน ซ้ำซาก ชักช้ากันนี่ เพราะว่ามันไม่ต่อเนื่อง การรู้การเห็นนี่ มันแค่กระพร่องกระแพร่ง ขาดๆ หายๆ มันก็เลยเลิกละอะไรไม่ได้เด็ดขาด 

เห็นทุกข์เห็นโทษก็เห็นแค่ผิวๆ มันก็ไม่เชื่อจนถึงขั้นที่จะละวางได้ด้วยตัวของจิต ...แต่ไอ้ตัวความอยากละ ความอยากวาง มันก็มี แต่ไอ้ตัวจิตมันไม่ละไม่วางให้น่ะสิ ...ปัญหามันอยู่ที่ตัวจิตนั่นแหละ 

เหมือนกับปากกับใจไม่ตรงกันน่ะ ไอ้อยากได้ก็อยากได้ อยากละก็อยากละ ...แต่จิตน่ะ มันก็เอา มันก็ถือไว้อย่างนั้นน่ะ เผลอเมื่อไหร่มันก็เข้าไปครอบครอง เข้าไปผูกไว้

เพราะนั้นแค่เรียนรู้เท่าทันอาการปัจจุบันกาย แล้วก็อยู่โดยปราศจากความคิด ปราศจากความปรุงแต่งน่ะ มันก็ยากลำบากจะตายอยู่แล้ว ยิ่งมันมีงานภายนอกเข้ามาอีก มันก็ยิ่งทำได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย 

จะบอกว่ามันก็เหมือนเหยียบเรือสองแคมน่ะ บางครั้งมันก็ทุ่มเทลงไปภายนอก จนลืมภายใน บางครั้งก็หยั่งๆ ไว้ พอได้หยั่งไว้ภายในบ้าง 

แต่ประเภทที่ว่ากระโดดเข้ามาสองขาภายในนี่ น้อยมาก แล้วก็ได้ชั่วคราว แป๊บเดียว ...ผลมันเลยตามไม่ทัน ส่งผลมา...ผลของมรรคมาไม่ทัน 

ผลของกิเลสคือความทุกข์ อุปาทานทุกข์ ความเป็นอุปาทานทุกข์ ความเป็นเรา ความเป็นของเรา มันก็เลยสะสมเพิ่มกำลัง เต็มกำลังไปเรื่อยๆ ด้วยอำนาจของอวิชชา ตัณหา อุปาทาน 

เพราะนั้นมันก็สะสมแต้มเพิ่มคะแนนบวกขึ้นไป พอกพูนขึ้นไป ...การละการวางก็น้อย อำนาจแห่งการละการวาง หรือกำลัง ความเด็ดเดี่ยวในการละการวาง มันก็น้อย

แต่เมื่อใดที่มันอยู่ในฝากฝั่งของศีลสมาธิปัญญามาก กำลังในการละ การวาง การปล่อย มันก็มาก แล้วก็ไม่เกิดความลังเล เสียดาย

สมมุติเวลาเรามีเรื่องมีราวมีปัญหาอะไรขึ้นมานี่ ส่วนมากมันก็จมอยู่ในการคิดค้น พอรู้ตัวแล้วก็จะหยุดการคิด รู้แล้วก็ละความคิด รู้แล้วก็ออกจากความคิดนี่ บางทีมันก็ไม่กล้าออก 

กลัว มันกลัวที่จะ...ถ้าไม่คิดแล้วจะไม่ประสบผลดั่งคาดดั่งหวัง ...ไอ้ดั่งคาดดั่งหวังนั่นน่ะอุปาทานภพ แล้วมันก็ให้ความสำคัญกับอุปาทานภพ ข้างหน้า อนาคต 

โดยที่ว่าจริงจัง หรือว่าเที่ยง...เที่ยงในภาษามันน่ะ ...แต่ในความเป็นจริงมันไม่เที่ยงเลย มันประกอบด้วยเหตุปัจจัยมากมายมหาศาล ไม่ได้ขึ้นกับความคิดอย่างเดียว 

แต่ว่าไอ้ตัวความคิดหรือว่าตัวที่สร้างเรื่องไปข้างหน้า มันก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น หรือว่าเค้าๆ ลางๆ แต่จิตมันไม่เห็นอย่างนั้น มันเชื่อแบบหมายมั่น หรือว่ายึดมั่น 

เขาเรียกว่าเกิดความเชื่อจนยึดมั่นถือมั่น ในภพนั้นๆ ว่าควรต้องมี ควรต้องเป็นอย่างนั้นๆ

เพราะนั้นพอกำลังของศีลสมาธิปัญญานี่มันไม่มากกว่า หรือว่ามันไม่เฉียบคมกว่านี่ มันตัดละไม่ออก วางไม่ได้ ไม่กล้าวาง เกิดความห่วงหาอาวรณ์ ก็เลยคิดซ้ำซาก 

ตกอยู่ในภาวะคิดซ้ำซาก หลงซ้ำซาก วนเวียน แง่มุมต่างๆ นานา มันก็ปรุงไปตามภาษาของมัน ...แต่ขณะที่ปรุง ขณะที่หา อยู่ในความคิดนั้นน่ะ มันเป็นความเศร้าหมอง มันมีความเศร้าหมอง ขุ่นมัว 

ไอ้ความเศร้าหมองขุ่นมัวคืออะไร คือมันลังเล ไม่แน่ใจว่าจะได้หรือไม่ได้นั่นน่ะ จิตมันก็เกิดความเศร้าหมอง เพราะว่ามันไม่เกิดความชัดเจน มันไม่ชัดเจน

แต่ถ้าเราอยู่กับความชัดเจน มันก็ต้องอยู่กับปัจจุบัน เพราะปัจจุบันเป็นสิ่งที่มันมีอยู่ชัดเจน ปรากฏอยู่ชัดเจนอย่างนี้ แต่มันกลับวิ่งไปหาสู่ความไม่ชัดเจน แล้วก็พยายามจะทำให้มันชัดให้ได้ ทั้งที่มันไม่ชัด 

เพราะมันยังไม่เกิด ไม่มีอะไรเกิดขึ้นได้อย่างนั้น ...นั่นแหละท่านเรียกว่าความเศร้าหมอง ขุ่นมัว ที่เกิดจากความปรุงแต่งไปในอดีต ในอนาคต แล้วมันก็เข้าไปหมายมั่นจริงจัง

เพราะนั้นเวลาที่มันไม่มีเรื่องอะไรนี่ หรือว่ายังไม่เกิดปัญหาอะไรนี่ แทนที่จะเอาเวลาไปเผลอเพลินทำนู่นทำนี่ หรือว่าอยู่ด้วยความสบายใจ ผ่อนคลายอะไรอย่างนี้ 

เวลานั้นน่ะควรจะระลึก รู้ตัว ตั้งมั่นกับกายใจปัจจุบันให้มาก ให้นาน ให้ต่อเนื่องที่สุด มันจะได้สะสมกำลังด้วยศีลสมาธิปัญญา เอาไว้ใช้ยามคับขัน 

เวลาที่มันหลงเข้าไปจมแช่กับอารมณ์ หลงเข้าไปจมแช่อยู่ในอดีตอนาคตนั่นแหละ หรือหลงไปจมแช่อยู่กับเรื่องราวของสัตว์บุคคลที่มันคาดไม่ถึง ว่าการกระทำคำพูดนั้นจะปรากฏเช่นนั้นน่ะ 

มันก็สามารถจะเอามาใช้เป็นกำลังที่จะเกิดความไม่หวั่นไหว เท่าทัน แล้วก็ไม่ก่อทุกข์ภายใน มโนกรรม ...มโนกรรม ทุกข์ภายในนี่ ถ้ามันก่อขึ้นเรื่อยๆ นี่ เดี๋ยววจีกรรมภายนอก อาการภายนอก ก็จะตามมา 

มันก็เกิดความผูกเรื่องเป็นวิบากขันธ์ วิบากกรรม ไม่จบไม่สิ้นอีกต่อไป ...มันก็กลายเป็นว่าพอกพูนภพชาติไปโดยปริยาย

อย่าไปปล่อย เวลาที่ออกจากผัสสะอารมณ์ภายนอกได้ ก็พยายามตั้งมั่นให้ได้ ...แล้วก็ถ้ามันยังขี้เกียจขี้คร้านที่จะรู้ในปัจจุบันธรรม ก็ต้องอาศัยรูปแบบ นั่งสมาธิบ้าง 

นี่เป็นตัวกำกับ เป็นตัวกำชับ ให้มันเกิดความตั้งอกตั้งใจอยู่ภายใน เป็นระยะเวลาหนึ่ง ช่วงหนึ่ง ชั่วโมงนึง ครึ่งชั่วโมง

ก็สังเกต ให้สังเกตดูว่า สมมุติว่าคนที่นั่งสมาธิเป็นนี่ เวลานั่งสมาธิโดยที่ไม่ได้นั่งเข้าไปทำความสงบนี่ แต่นั่งทำความรู้ตัว รู้ชัด ในกายในรู้ปัจจุบันนี่ 

เวลามันรวมดีแล้วนี่ ลืมตามาแล้ว ออกจากสมาธิมาแล้ว ออกมาจากการกำหนดในรูปแบบนั้นน่ะ สติสัมปชัญญะนี่มันจะมีติดตัวมาด้วย 

เหมือนกับมันจะเกิดการรู้การเห็นตาม...เป็นกำลังอยู่ข้างใน ที่มันสว่างแจ้งในการกระทำของปัจจุบันกาย ปัจจุบันรู้อยู่

เพราะนั้นน่ะในรูปแบบ ถ้าต้องทำในรูปแบบ ในลักษณะที่ทำสติรู้ตัว ด้วยความรู้ชัดเห็นชัดนี่ มันก็มีกำลังติดเนื้อติดตัวกลับมาในชีวิต 

เวลาจะลุกไปเข้าที่หลับที่นอน ลุกไปหยิบนั่นหยิบนี่ มันก็เกิดความรู้ชัดเห็นชัด สว่างอยู่ภายใน ได้ระยะหนึ่งช่วงหนึ่ง ...แล้วจากนั้นไป พอมันเริ่มคลี่คลาย ก็ต้องกำชับสติในปัจจุบันให้ได้ 

นี่เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง เท่าที่จะทำได้...มันต้องฝึก ...การนั่งสมาธิภาวนาก็ต้องมี ทุกวันน่ะ ในรูปแบบก็ต้องทำ แล้วก็ในอิริยาบถปกติก็ต้องทำ 

มันไม่มีว่าง ไม่มีเว้น ไม่มีเปิดโอกาส ปล่อยทิ้งช่วงให้กิเลสมันครอบครองใจ ความไม่รู้มันครอบครองใจ ...ให้สังเกตว่าวันวันนึงนี่ มันมีความไม่รู้ครอบงำมากน้อยเท่าไหร่ 

ให้สำรวจบ้าง ว่าทั้งวันเลยนี่ สักยี่สิบชั่วโมง สิบชั่วโมง หรือว่าครึ่งวัน มันอยู่ด้วยความไม่รู้ อยู่กับความไม่รู้ หรืออยู่กับความรู้ อยู่กับสติ อยู่กับศีล อยู่กับกายนี่ กี่ชั่วโมงกี่นาที ...มันก็ต้องพัฒนาให้มันดีขึ้น

ไอ้เรื่องงานภายนอกก็ปล่อยมันบ้าง ช่างหัวมันบ้าง แล้วแต่มันจะเป็นไปบ้าง ไม่ต้องไปซีเรียสกับมันมาก อย่าไปปล่อยให้มันมีกำลัง ดึงกายดึงใจหายไป 

จนตามหากายตามหาใจตัวเองไม่เจอ หรือว่าเจอแล้วก็อยู่กับมันได้ยาก เหมือนกับมันจะวิ่งหนีหายไปอยู่ตลอดเวลา เพราะว่ามันไปทำงาน จิตมันไปทำงานที่ไม่ใช่งานในองค์มรรค 

แล้วจิตมันเห็นคุณค่าของผลจากการทำงานนอกองค์มรรคนี่ มากกว่าคุณค่าของการทำงานในองค์มรรค เพราะว่างานในองค์มรรค ผลมันยังไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ผลมันก็ยังไม่ปรากฏชัดเจน

แต่ว่าผลจากการกระทำตามความคิด หรือว่าผลจากที่คิดไปแล้วกระทำตามเนี่ย มันรู้สึกว่าน่าจะชัดเจนกว่า ได้ผลเร็วกว่า มันก็มุ่งมั่นออกมาไปจม ฟุ้งซ่านอยู่ในความคิดนั่นน่ะ อดีตอนาคตอะไรก็ตาม

มันต้องคอยหมั่นละ หมั่นวาง หมั่นถอนตัว ถอนใจ ถอนจิตออกมา ถอนจิตที่มันอยู่ในแง่มุมของการคิดการปรุง ให้มันมากลายเป็นจิตที่รู้เห็นจดจ่ออยู่กับกายใจปัจจุบันให้มาก 

แล้วก็รู้แค่ไหนก็รู้แค่นั้นแหละ...กายน่ะ อย่าไปฟุ้งซ่าน อย่าไปหาเหตุหาผลกับมันอีก ก็แค่รู้ ...แล้วก็รู้ลงไปถึงความรู้สึกในกาย ว่านั่ง และความรู้สึกในการนั่งเป็นยังไง 

รู้ถึงความรู้สึกในการเดิน ในการกระทบ ในการเหยียด ความรู้สึกของการก้าว อย่างเนี้ย ให้เห็นความรู้สึกของการเดินจริงๆ 

ไม่ใช่เดินแบบผีดิบ หรือว่าเดินแบบท่อนไม้ ก็เดินให้เห็นความรู้สึกจริงๆ ของการเดิน ของการนั่ง


(ต่อแทร็ก 9/30  ช่วง 2)





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น