วันอาทิตย์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2560

แทร็ก 9/31 (2)


พระอาจารย์
9/31 (560103B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง
3 มกราคม 2556
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 9/31  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  แต่ถ้าไปจดจ่อกับจิตน่ะเสร็จ...เสร็จมัน บอกให้ ...แล้วก็รอไปเหอะ หาดูจิตใหม่ต่อไปน่ะ มันจะไม่มีความต่อเนื่องหรอก มันจะสร้างความต่อเนื่องหรือว่าสัมมาสมาธิได้ยาก ยากมากๆ 

แต่กายนี่พอระลึกขึ้นปุ๊บ อาจจะมีความหลงแทรกซึมอยู่ ปุ๊บ ...แต่ถ้าหยั่งซ้ำระลึกรู้ซ้ำ อาการกายปรากฏตรงนั้นทันที ไม่หาย ไม่ต้องไปสร้าง ไม่ต้องไปรอด้วย ไม่ต้องไปว่าเมื่อไหร่มันจะมาวะ 

ถ้าไอ้ที่ว่าเมื่อไหร่จะมาวะ...ความคิด หรือจิต หรืออารมณ์ หรือกิเลส...นี่บางทีก็มา บางทีก็มี บางทีก็ไม่มี...แล้วจะดูอะไร ใช่ป่าว ...แต่กายเนี่ย ไม่ต้องรอ ถึงว่านี่คือความปกติ นี่คือศีลไง 

มันเป็นปัจจุบันศีล มันเป็นปัจจุบันกาย คือความเป็นปกติของกายที่ดำรงอยู่ตราบจนวันตาย ไม่หายไปไหน ...ถ้าหายก็ไม่มีขันธ์ห้าแล้ว ก็คือตายแล้ว มันก็มีขันธ์ห้าขึ้นมาใหม่

ถึงบอกว่ายังไงๆ มันต้องยืนลงยันลงที่กายนี่แหละ หยั่งลงที่กาย ...ไอ้ที่เราใช้คำว่าหยั่งๆๆ นี่ก็เหมือนกับเอาสตินี่ระลึกแล้วก็หยั่งลงไปถึงความรู้สึกที่ปรากฏของกายปัจจุบัน ...นี่เขาเรียกว่าหยั่งลงไป 

ไอ้การหยั่งนั่นก็คือโยนก้อนหินลงไปในน้ำนั่นแหละ มันก็เข้าไปถึง...เห็นเนื้อน้ำ ...ไม่ใช่เห็นจอกแหนหรือผักตบชวา หรือว่าคน หรือว่าสัตว์ที่มันแหวกว่ายอยู่บนน้ำ...ไม่ใช่

มันก็จะเห็นตัวน้ำ ...พอเห็นตัวน้ำ รู้หยั่งลงถึงตัวน้ำ...แล้วก็พยายามจดจ่อไว้ หน่วงไว้ เขาเรียกว่าตรึก ให้อยู่ในอาการตรึก 

เพราะนั้นไอ้ตัวตรึกลงที่กาย หรือว่าน้อมรักษาไว้ที่กายปัจจุบัน  ถ้าเปรียบภาษาฌานที่ว่าอยู่ในองค์ของวิตกวิจาร เข้าใจมั้ย ...เคยได้ยินรึเปล่า องค์ฌานมี ๕ ...องค์แรกคือวิตกวิจาร 

แต่ว่ามันไม่ได้ไปวิตกวิจารกับสิ่งอื่น หรือว่าในบริกรรม หรือว่าในจุดที่ฌาน รูปฌาน หรืออรูปฌานจะไปกำหนด เช่น กสิณ ๑๐ บ้าง ดินน้ำไฟลมอากาศภายนอก หรือว่าคำบริกรรม หรือว่าซากอสุภะ อะไรก็ตาม 

แต่มันเข้ามาวิตก เหมือนกับให้มันเกิดการวิตกคือหยั่ง วิจารก็คล้ายกับไซ้หรือคลอเคลีย ให้การหยั่งนี้คลอเคลียกับความรู้สึกในกายโดยทั่ว ความรู้สึก ไม่ให้มันออกนอกความรู้สึกกาย ...นี่เขาเรียกว่าวิจาร

เพราะนั้นในการวิตกวิจารนี่ ก็คือองค์เหตุของฌาน แต่ลักษณะฌานแบบนี้นี่ ไม่ใช่ลักษณะของวิตกวิจารที่ให้เกิดรูปฌานหรืออรูปฌาน แต่มันไปวิตกวิจารเพื่อให้เกิดฌานที่เรียกว่าเป็นโลกุตตระฌาน 

คือฌานนี่ ผลของฌานที่การวิตกวิจารหรือจดจ่อหรือเพียรเพ่งอยู่ในกายปัจจุบัน หรือปัจจุบันกายนี่ มันจะเป็นเหตุให้เกิดความหลุดพ้น ...จึงเรียกว่าเป็นโลกุตตระฌาน 

แล้วพอมันรวม ...พอรวมนี่มันก็จะไม่เรียกหรอกว่าเป็นฌาน ๔  ฌานอะไร ...ถ้ารวมอยู่ภายในก็เรียกว่าเป็นอุปจารสมาธิบ้าง อัปปนาสมาธิบ้าง

เนี่ย พอขึ้นชื่อว่า ขณิกะสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ พวกนี้เป็นสัมมาสมาธิหมดเลย ...แล้วก็สัมมาสมาธิตัวนี้ มันก็เกิดจากวิตกวิจารเหมือนกัน...แต่วิตกวิจารในสติปัฏฐานสี่ เข้าใจป่าว 

แต่ตอนนี้สติปัฏฐานที่เราว่าเอากายเป็นฐานนี่ เพราะนั้นจิตมันก็จะค่อยๆ รวมเป็นดวงจิตผู้รู้มากขึ้น ...ไอ้ดวงจิตผู้รู้ที่มันชัดเจนขึ้นนั่นแหละ มันก็คือระดับของอุปจาระ ...เหมือนคล้ายๆ อย่างนั้น 

ถ้าจะพูดตามภาษามันคล้ายๆ อย่างนั้น แต่จริงๆ ไม่ต้องไปคิดหรอก ...คือพูดให้เห็นว่าตามปริยัตินี่ มันจะเป็นอย่างนี้ แต่ในภาคปฏิบัติน่ะมันจะไม่มีคำพูด 

เพราะนั้นลักษณะอุปจาระนี่ สามารถทรงได้ตลอดเวลาเลย...สำหรับผู้ปฏิบัติที่ตั้งใจจริงๆ นะ ...แต่ในลักษณะพวกเราๆ นี่...ยากมาก เพราะว่าพวกเราข้องแวะกับผัสสะอยู่ตลอด 

เพราะนั้นกำลังของสติ กำลังของความเพียร ไม่สามารถที่จะจดจ่ออยู่ในกายเดียวได้ต่อเนื่อง ...แต่ถ้าตั้งใจหรือว่ามีเวล่ำเวลานี่ พยายาม อย่างที่เราบอกว่าให้ใส่ใจมากๆ นี่...เพื่อให้ดวงจิตผู้รู้มันตั้ง 

นี่คือฐาน...เหมือนอุปจารสมาธิ  ตรงอุปจาระตรงนี้แหละ จะเป็นเหตุให้เกิดปัญญาญาณ ...ปัญญาญาณจะเริ่มเกิดตรงนี้ ชัดเจนนะ จะเกิดขึ้นชัดเจน 

จริงๆ ขณิกะก็เกิดแล้วปัญญาน่ะ แต่ว่าไม่ชัดเจน ยังไม่ชัดเจน แล้วก็ไม่ชัดเจนถึงขั้นละ วาง ถอดและถอน หรือเป็นปหานเป็นขณะๆ ปหานให้มันอ่อนตัวหรือว่าหมดกำลังของความไม่รู้มันหมดไป

แต่ในขั้นอุปจารนี่ถือว่าเป็นที่ที่ควรแก่งาน เป็นจิตที่สมควรแก่งาน ...แต่ถ้ามันเกิดรวมเข้าไปปึ้ง เข้าอัปปนา ทำงานไม่ได้  เหลือแต่รู้ ทรงผู้รู้สว่างกระจ่างโล่งอยู่แบบไม่มีผัสสะ ไม่มีกาย ไม่มีโลกปรากฏได้เลย 

แต่ว่าผลจากการออกจากอัปปนาแล้ว นี่ ชัดเจนมาก ต่อเนื่อง เหมือนอัตโนมัติ สามารถทรงภาวะอัตโนมัติของอุปจาระนี่ได้เกือบตลอดวัน ทั้งวันหรือหลายวันได้ ...มันเป็นอย่างนี้

นี่ ตามหลักของมัชฌิมาปฏิปทาจะเป็นอย่างนี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการหยิบยกอะไรมาพิจารณาเลย ...ซ้ำซากลงที่เดียว คือปัจจุบันกาย แล้วทุกอย่างเป็นไปตามครรลองของมรรคหมด 

เมื่อมันรู้แจ้งเห็นจริงในกายแล้ว มันหมดเรื่องแล้ว หมดเรื่อง ...คราวนี้เป็นเรื่องราวในจิตแล้ว เรื่องของกิเลส เรื่องของการไปการมาของนาม การปรากฏขึ้นของนาม 

นั่น มันไม่ใส่ใจใยดี มันไม่ข้องแวะกับกาย มันไม่สงสัยไม่ลังเลแล้ว...ว่ากายนี่ยังเป็นเราจริงรึเปล่า กายนี้ยังเป็นชายยังเป็นหญิงจริงรึเปล่า

ซึ่งพวกเราตอนนี้ยังสงสัยอยู่ ..."อาจจะเป็นจริงอยู่มั้ง" นี่ ยังเชื่ออยู่ ยังสงสัยว่ายังเป็นชาย ยังเป็นหญิง ยังเป็นเราอยู่จริงๆ หรือไม่ใช่แค่สงสัย...มันแบบกูเชื่อเลยแหละ

แต่พอมาถึงขั้นนี้...ถ้ายังสงสัยคือมันยังวางไม่ขาด ...แต่ถ้ามันหายสงสัยแล้ว หมายความว่าไม่เชื่อแล้ว หมดความเชื่อเช่นนี้ว่าชายหญิง หมดความเชื่อว่าเป็นคนเป็นสัตว์แล้ว ...เป็นแค่สิ่งหนึ่ง 

นี่ตรงนี้มันก็หมดวาระ หมดภาระ มันก็วางทิ้งเลย ทิ้งเรื่องกาย ...จากนั้นก็มาดูอาการวูบวาบๆ คราวนี้มันมาคอยสังเกตสะเก็ดดาวโดยตรง ฝนดาวตกบ้าง 

แล้วไอ้ตรงนี้ ไอ้ตรงที่ไม่มีสะเก็ดดาวหรือดาวตก ...ตรงนี้จะหลงเข้าอรูป จะไปหมายอรูป บางครั้งนี่หายไปเลย...ตอนนี้มันอดไม่ได้ที่จะเข้าไปกลืนกินอรูป อรูปภพ 

เพราะบางครั้งก็ไม่มีอะไร บางทีมันหดหาย ความคิดเกิดไม่ได้เลย หายไปเลย อารมณ์ก็ไม่มีอารมณ์อะไรเลย มีแต่ความโปร่ง เบา ...จนสำคัญผิดก็ได้ คือหลงเข้าไปในอรูปก็ได้ว่าหมดแล้ว

มหาสติเวลาถึงนั่นแล้ว จิตมันไม่มีได้ผุดได้โผล่หรอก ดับแล้วดับๆๆๆ ไป จนจะไม่เหลืออะไร มันก็นึกว่าหมดแล้ว ...ก็จะมาเรียนรู้เรื่องอรูปขั้นต่อไป

ที่ว่าไม่มีอะไร...แล้วใครรู้ว่าไม่มีอะไร ใครเห็นว่าไม่มีอะไร...ก็ถอยอีก กลายเป็นสองสิ่งอีกแล้ว ...ถ้ายังมีสองสิ่งแสดงว่ายังมีภพอยู่ ยังเป็นภพ ยังมีภพปรากฏแล้วเข้าไปอยู่ในภพนั้น...ก็ถอน 

นี่ รู้ก็จะยิ่งชัดขึ้นๆ มีแต่รู้ ...ไม่มีว่างแล้วนะ ไม่เข้าไปในว่าง...เหลือแต่รู้  ในรู้ก็ไม่ว่าง ก็เป็นรู้...รู้ก็คือรู้ เห็นก็คือเห็น อยู่ที่รู้และเห็น ...อันนี้จิตเอก เข้าสู่ความเป็นจิตเอก

พอถึงจิตเอกนี่โลก-อรูป ขาดๆ ไม่มีแล้วๆ มันไม่มีความหมายแล้ว จิตไม่ให้ค่าแล้ว จิตไม่ไปแตะต้อง ไม่ข้องแวะแล้ว เหลือแต่อย่างเดียวคือรู้และเห็น ...นั่นแหละจิตเอก 

ตรงนั้นน่ะมันถึงจะสำคัญผิดอีกทีว่าหมดแล้วอีก ...ก็ตราบใดที่ยังมีรู้มีเห็นอยู่ มันจะเรียกว่าหมดได้ยังไง ใช่มั้ย  ก็ยังมีรู้และเห็น แล้วจะบอกว่าหมดได้ยังไง

แต่มันสำคัญว่าหมดแล้ว เออ ก็มันไม่เห็นอะไรแล้วน่ะ แต่มันลืมไป มันลืมทวนกลับมาอีกว่า ก็มันจะหมดยังไง ก็มันยังมีรู้และเห็นอยู่น่ะ ...นั่น อันนี้เป็นงานของพระอรหันต์ เป็นงานที่ไม่ต้องทำงาน 

ก็ทำความรู้แจ้งซ้ำอยู่อย่างนี้ ที่ว่าหมดแล้ว ก็มึงน่ะแหละยังรู้และเห็นน่ะ นั่น เห็นอยู่แค่นั้นแหละ รู้อยู่แค่นั้นแหละ เป็นความรู้เท่านั้นแหละ ที่จะลบล้างตัวมันเอง

พอมันเข้าใจตรงนั้น อ๋อ ไม่มี ไม่มีคือไม่มี ไม่มีแม้กระทั่งรู้ ไม่มีแม้กระทั่งเห็น ไม่มีแม้กระทั่งผู้รู้ ไม่มีแม้กระทั่งผู้เห็น ...เอ้า นั่นแหละ อนันตมหาสุญญตา นั่นคือ หมด จบ สิ้น หมดจด 

นี่คือความหมดจด หมดสิ้น โดยสิ้นเชิง ...หมดโดยสิ้นเชิงด้วยนะ ไม่ใช่หมดธรรมดานะ หมดโดยสิ้นเชิง หมายความว่าไม่มีการตั้งขึ้นมาได้อีกแล้ว 

คือถ้าโคตรมัน โคตรรู้น่ะ หรือตัวจิต ตัวรู้นี่...ตั้งไม่ได้เลย อะไรก็ตั้งไม่ได้ ไม่ว่าอะไร หมดแล้ว ...แล้วมันก็ยืนยันได้ด้วยตัวของมัน ด้วยใจที่ไม่มีประมาณนั่นแหละว่าหมดแล้ว 

ไม่ใช่ยืนยันด้วยดวงจิตผู้รู้นะ มันก็เกิดเป็นอาสวักขยญาณ ...และก็ตัวญาณนั้นน่ะเป็นตัวบอก คือความเป็นใจล้วนๆ นั่นแหละบอก

เนี่ย มันเป็นไปตามบัญญัติ ไม่ข้ามขั้นเลย มันจะไม่ข้ามขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง มันจะเป็นอย่างเนี้ย

เพราะนั้นว่าในขั้นตอนของพวกเราก็คือ รู้ตัวให้มาก  เพราะว่าศีลเล็กน้อย ศีลกระพร่องกระแพร่ง ศีลด่างพร้อย ศีลขาด ศีลทะลุ...อย่าถามหามรรคผลนิพพานนะ เป็นไปไม่ได้

ศีลคือกาย กายคือศีล ...เอาจนมันถึงว่าก้อนนี้เป็นก้อนศีล ไม่ใช่ก้อนเรา  ดูมันจนเห็นว่าก้อนนี้เป็นก้อนธาตุ ไม่ใช่ก้อนหญิงก้อนชาย ...จนจิตมันเชื่อ 

นี่ไม่ใช่ไปบังคับให้มันเชื่อ ดูเอาจนมันเชื่อเองน่ะ เอาจนจิตมันหมดคำพูดมาเถียงน่ะ ...เห็นมั้ย มันจะต้องอาศัยความต่อเนื่องซ้ำซากขนาดไหน...ก็นึกเอาแล้วกัน 

แต่ถ้ายังไม่เกิดความต่อเนื่องจริงจังน่ะ อย่าทิ้งกาย อย่าปล่อยให้มันหายนาน อย่าให้มันห่างกายปัจจุบัน อย่าไปจมแช่คิดค้นกับเรื่องราว...ทั้งทางโลกและก็ทางธรรม...ข้างหน้าข้างหลัง 

ยิ่งห่างไกลกาย ยิ่งห่างกายปัจจุบัน ยิ่งออกจากกายปัจจุบันนานเท่าไหร่...การพอกพูนภพและชาติมากขึ้นเท่านั้น ...การสะสมความไม่รู้ การพอกพูนความไม่รู้เป็นอาสวะอนุสัยมันก็มากขึ้นเท่านั้น

ถ้าอยู่กับความไม่รู้ก็หมายความว่า กำลังของมันก็จะยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ...เราถึงบอกว่าอย่าห่าง อย่าห่างรู้ อย่าห่างเห็น อย่าห่างกายปัจจุบัน 

อย่างน้อยวันหนึ่งๆ ก็ให้มันได้มากเท่าที่จะสามารถทำได้ แล้วก็ให้มากขึ้นไปเรื่อยๆ ...ไม่ต้องกลัวว่ามันจะมากเกิน ศีลสมาธิปัญญาอย่าไปกลัวว่ามันจะเกิน

ไอ้ที่เรากลัวคือกลัวขาด กลัวจะไม่มีเลย เพราะส่วนมากมันไม่มีเลย มันยังไม่รู้ตัวเลยว่ามันไม่มีเลย ...แล้วมันก็อยู่ได้หน้าตาเฉยแบบกลมกลืนมากกับโลก 

มันเข้าไปกลมกลืนกับโลกแบบหน้าตาเฉย และไม่รู้สึกด้วยว่าผิด ไม่รู้สึกเลยว่าไม่ถูกในองค์มรรค ไม่สำคัญเลย ...มันกลมกลืนอย่างมากเลยกับโลก

เพราะว่ามันห่างศีลสมาธิปัญญา ห่างสติ ห่างกาย ห่างปัจจุบัน ...แต่ยิ่งมีปัจจุบัน อยู่กับปัจจุบันกาย ด้วยสติ มากขึ้นเท่าไหร่...ยิ่งใกล้ชิดองค์มรรค ยิ่งแนบชิดติดกับมรรค 

และก็ยิ่งเดินเข้าไปในมรรค ลึกเข้าไปในมรรคเรื่อยๆ ...ถนนของมรรค หรือว่าเส้นทางของมรรค หรือว่าครรลองของมรรค มันก็ขยับเข้าไปๆ ในมรรค 

จนก็เป็นมรรคเบื้องต้น มรรคขั้นกลาง แล้วก็ที่สุดของมรรค...ก็ต้องอาศัยกายใจปัจจุบันเป็นหลัก ความต่อเนื่องคือการก้าวเดินไปในมรรค นั่นแหละ


(ต่อแทร็ก 9/32)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น