วันศุกร์ที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2560

แทร็ก 9/33



พระอาจารย์
9/33 (560111)
11 มกราคม 2556


พระอาจารย์ –  เมื่อใดที่เราอยู่ด้วยความไม่รู้ตัว เมื่อนั้นน่ะคือการพอกพูนขึ้นซึ่งอาสวะ ไปโดยปริยาย พอกพูนไปด้วยอวิชชา ตัณหา และอุปาทาน 

มันน่ากลัว...แต่เราผู้อยู่กับมัน ผู้ที่เป็นไปกับมัน จะไม่รู้สึกเลย จะไม่รู้สึกเลยว่ามันน่ากลัวอย่างไร มันเห็นเป็นเรื่องที่ธรรมดามากๆ มันเห็นเป็นเรื่องที่ไม่ผิดอะไรเลย 

อันเนี้ย ที่พระพุทธเจ้าท่านบอกว่าประมาท นี่คือความประมาทมัวเมาของกิเลส ที่มันปิดบังมรรคผลและนิพพานอยู่ ...กิเลสตัวเองน่ะแหละปิดบังมรรคผลนิพพาน ไม่ใช่คนอื่นปิดบังหรอก 

แล้วมันก็มาตีค่าตีราคาของศีลสมาธิปัญญาว่า เอามาใช้ในชีวิตไม่ได้ เอามาใช้ในหน้าที่การงานไม่ได้ เอามาใช้กับสถานที่นี้ เหตุการณ์นี้ บุคคลนี้ไม่ได้ 

มันก็มีข้ออ้างเงื่อนไขขึ้นมา ให้ผลัดไปทำที่นั้นกับเรื่องนั้น กับเหตุการณ์นั้นก่อน อะไรอย่างนั้น ผัดวันประกันพรุ่งไป ...แน่ะ เห็นมั้ยว่าจิตมันปิดบังมรรคผลนิพพาน

ถ้าไม่เด็ดเดี่ยวกล้าหาญ ถ้าไม่เอาจริงเอาจัง เอาใจใส่ และตั้งอกตั้งใจจริงๆ นี่...ศีลไม่บังเกิด สมาธิไม่บังเกิด ปัญญาไม่บังเกิดแน่ๆ

เพราะนั้นการภาวนาเบื้องต้น ทุกคนแหละ มันเหมือนกินยาขม มันไม่หวาน มันไม่กลมกล่อมหรอก มันก็ต้องฝืดฝืนทั้งนั้นแหละ ...แต่ว่าฝืดฝืนแล้วนี่ แล้วมันจะค่อยๆ ดีขึ้นไปตามลำดับ

เพราะนั้นธรรมนี่เป็นของที่แจกจ่ายเจือจานกันไปมา สงเคราะห์กันไปมา...คนพูดคนฟัง มันเป็นการเกื้อกูลกันอยู่แล้ว ...ธรรมนี่มีแต่ให้ คำว่าธรรมนี่เป็นเรื่องของการให้ 

หมายความว่าแม้แต่คนพูดนี่ก็ได้ แม้แต่คนฟังก็ได้ พูดเองก็ได้เอง เนี่ย เหมือนกับพูดให้ตัวเองฟังด้วยซ้ำ ...เห็นมั้ยว่าเรื่องของธรรมนี่มีแต่ให้ ไม่มีเสียหรอกในการสงเคราะห์อยู่ตลอดเวลา 

เพราะสภาพความเป็นธรรมนี่เป็นสาธารณะ เป็นกลาง ไม่ใช่ของสัตว์บุคคลใดๆ ...มันมีแต่การให้และเอื้อเฟื้อต่อสรรพสิ่ง แม้แต่จะเป็นตัวที่ก่อกำเนิดธรรมนั้นก็ตาม มันก็มีการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กลับคืน ตอบสนอง

เพราะนั้นการพูด การเตือน การบอกนี่ เพื่อให้เกิดความพากเพียร เกิดความขยัน และก็เกิดความชัดเจนในวิถีแห่งการปฏิบัติ ในแง่ของศีลสมาธิ ปัญญา ไม่ได้แง่ไหนแง่หนึ่ง หรือว่ารูปแบบไหนรูปแบบหนึ่ง 

เราไม่เคยพูดถึงรูปแบบการนั่ง การยืน การเดินจงกรม หรือกำหนดอะไรเป็นพิเศษ ...แต่เราจะพูดซ้ำซากอยู่แค่...ศีลสมาธิปัญญาคืออะไร 

ให้เห็นคุณค่าของกายปัจจุบัน ให้เห็นคุณค่าของจิตที่ตั้งมั่นอยู่กับกายปัจจุบัน ให้เห็นคุณค่าของการรู้การเห็นกายปัจจุบัน อยู่แค่นี้เอง

นี่คือหลักปฏิบัติ หรือวิถีของการปฏิบัติ ไม่ใช่รูปแบบการปฏิบัติ ไม่เรียกว่ารูปแบบการปฏิบัติ ...แต่เรียกว่าเป็นวิถีของการปฏิบัติ การดำรงชีวิต การนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน 

การนำเอาไป...สามารถเอาไปใช้ได้ทุกที่ทุกเวลาทุกสถาน ให้เป็นอกาลิกธรรม...อกาลิโก นั่นแหละ 

ถ้ามันเข้ารูปแบบ หรือว่าเราพูดถึงรูปแบบของการปฏิบัติปุ๊บ ...มันจะไม่เป็นอกาลิโก มันจะไม่เป็นอกาลิกธรรม อกาลิกจิต 

แต่ถ้าพูดถึงวิถีแห่งมรรค วิถีแห่งศีล วิถีแห่งสมาธิ วิถีแห่งปัญญา...เนี่ย จะเป็นสาธารณะ เป็นกลาง เป็นอกาลิโก เป็นอกาลิกธรรม ไม่มีเวลา ไม่มีวัน ไม่มีสถานที่ ไม่มีบุคคล ไม่มีข้ออ้าง ไม่มีข้อแม้ ไม่มีเงื่อนไข

ถ้าเข้าใจและก็ชัดเจนในจุดนี้ การปฏิบัติก็จะตรงต่อมรรค ก็จะเร็ว ...เร็วเพราะอะไร  เร็วเพราะมันตรง ...ไม่ใช่เร็วเพราะว่าใส่ปุ๋ย เร่งปุ๋ย...ไม่ใช่ 

มันเร็วเพราะว่ามันตรง ไม่คด ไม่โค้ง ไม่งอ ไม่อ้อม ...เพราะมันตรงมันก็เลยเร็ว เหมือนขึ้นทางด่วนเงี้ย มันไม่มีเบี้ยใบ้รายทางหรือว่าไปตัดเข้าที่ใครให้โค้งไปโค้งมาอะไรอย่างนี้ 

แต่นี่มันตรงไปเลย ตรงต่อศีล ตรงต่อสมาธิ ตรงต่อปัญญา ...มันก็เหมือนกับไฮเวย์น่ะ มันจะไม่ด่วน จะไม่ไวได้ยังไง ใช่ไหม

แต่ว่าความเชื่อความเห็นที่มันติด ที่มันคา ที่มันข้องอยู่นี่...โดยสัญญาความจำ โดยคนรอบข้างเนี่ย มันจะเป็นตัวเหนี่ยวตัวรั้ง และก็เป็นตัวที่เราเสียดาย 

และก็เป็นตัวที่เรายังคายังข้องอยู่ ยังหมายมั่นกับมันอยู่เท่านั้นเอง ...เพราะฉะนั้น ปัญญาของเราในเบื้องต้นนี่ คือปัญญาในองค์ศีล หมายความว่าปัญญาที่จะรักษาศีลให้ได้ ให้ดี ให้ต่อเนื่อง

ปัญญาในการรักษาศีลคืออะไร ...เวลาจิตมันจะแลบไปแลบมาหานู่นหานี่ คิดเรื่องการกระทำ จะทำอย่างนั้นดีกว่ามั้ย จะทำอย่างนี้ดีกว่ามั้ย 

ปัญญาจะต้องล้อมกรอบเท่าทันแล้วว่าไม่เอา ...ศีลดีกว่า ศีลปัจจุบันนี่ดีที่สุดแล้ว ...นี่ปัญญามันจะควบคุมไม่ให้มันแตกออกจากศีล ...มันต้องมีปัญญาขั้นนี้ก่อน 

ยังไม่ใช่ปัญญาขั้นเลิกละเพิกถอนอัตตาตัวตนหรือว่าสักกาย ...แต่เป็นปัญญาที่จะน้อมกลับมา เพื่อให้จิตมันน้อมกลับมาอยู่ที่นี้ ที่เดียว อยู่ที่ศีลนี้ศีลเดียว กายนี้กายเดียว 

ถ้ามันอยู่ได้ และมีปัญญาควบคุมศีลนี้ได้ เดี๋ยวมันจะเข้าใจเองว่าศีลนี้คือมหาศีล คืออธิศีล คือศีลอันยิ่งใหญ่ คือศีลใหญ่ ศีลหลวง ...มหาศีลน่ะศีลใหญ่

แต่ถ้าไม่มีปัญญาที่ควบคุม มันก็ไม่ทัน มันจะไม่ทันจิตที่ว่า...ที่มันเคยคา เคยข้อง เคยได้ยิน เคยได้ฟัง เคยลองทำมา เหล่านี้ มันก็จะไพล่ออกไป หรือว่าเผลอเพลินไป 

หรือว่าเพลิดเพลินไป ตามความคิด ตามความปรุงแต่งนั้นนี้ ...เพราะนั้นปัญญามันจะต้องทันตรงนี้ก่อน เห็นทัน แล้วก็กลับมาอยู่กับหลักกาย หลักศีลนี้...ประจำ 

ยังไม่ต้องคิดมากเรื่องการละสักกาย เรื่องอะไร ...นั่นเป็นปัญญาขั้นลำดับต่อไป แต่ปัญญาที่จะต้องรักษาตัวศีลนี้เป็นเบื้องต้น

เพราะนั้นการที่จะรักษาศีลได้ ก็ต้องมีปัญญาแล้ว ปัญญามันต้องเกิดพอสมควรแล้ว ไม่งั้นศีลก็ไม่เกิด ...การต่อเนื่องในศีล การสม่ำเสมอในศีล การไม่ขาดตกบกพร่องในศีลก็จะเกิด 

เห็นมั้ย แม้ว่าศีลก็ต้องมีปัญญา แล้วมันก็จะยกระดับของปัญญา ต่อไปก็เป็นปัญญาที่จะรักษาสมาธิ ...เพราะนั้นปัญญานี่มันเกิดคู่กันตลอดแหละในมรรคน่ะ 

ไม่ใช่ว่ามันจะละวางอย่างเดียว หรือว่าถอดถอนกิเลสอย่างเดียว ...มันเป็นปัญญาที่มารักษาตัวมรรค องค์มรรคด้วย เพื่อให้เกิดการที่เป็นปัญญาขั้นประหัตประหารจริงๆ จังๆ ขึ้นมา

เพราะนั้นว่าไม่ใช่แค่รู้กายเห็นกายนี่มันไม่มีปัญญาเลยนะ ...ไม่มีปัญญามันรู้กายเห็นกายไม่ได้นะ เพราะจิตมันจะพาโลดแล่นไปเลยน่ะ ไปเห็นคุณค่าที่อื่นมากกว่า 

เพราะนั้นมันต้องมีปัญญาในระดับนึงแล้ว มันถึงจะยอมกลับมาที่นี่ ...ปัญญามันรักษาตัวศีลให้ ปัญญาก็เกิด

และเมื่อได้ศีลที่เป็นกอบเป็นกำขึ้น มันมีน้ำหนักของศีลขึ้น ...เหมือนกับแก้วที่ใส่น้ำเข้าไปแล้วมันมีน้ำหนัก มันมีน้ำหนักมันมีมวลขึ้นมา 

นั่นแหละ มันจึงจะเกิดผลตามมาคือสมาธิหรือจิตตั้งมั่น แนบแน่น รู้เห็นเป็นกลางอยู่ภายใน ชัดเจนขึ้น 

แล้วจากนั้นมันจึงจะเกิดภาวะที่เรียกว่าจำแนกแยกแยะ วิจยะ ใคร่ครวญ ถี่ถ้วน รอบคอบ ภายในกาย ทุกแง่ทุกมุม ...ตีจนแตกละเอียดหมด 

ตีเหตุแห่งกายที่ปรากฏ...กายเล็ก กายน้อย กายใหญ่ กายย่อย กายละเอียด กายประณีต กายที่สุดละเอียดสุดประณีต ...มันตีจนแตกหมด 

นี่ มันตีแตกจนกระจัดกระจายรวมตัวกันไม่ติด ไม่ติดมาเป็นก้อนเรา ก้อนของเราเลยน่ะ ...แน่ะ มันแตกขั้นเป็นอณูธาตุ ปัญญามันจะเข้าไปตีแตกหมด ถี่ถ้วนหมด ถึงขั้นนั้น

นั่น ถ้าไม่เริ่มที่นี้ ก็ไม่สามารถจบได้ ...เพราะนั้นอย่าเบื่อ อย่าท้อถอย อย่ามักง่าย อย่าโลภมากกับธรรมอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่เป็นปัจจุบันธรรม 

ไอ้ที่มันโลภเพราะมันไปหมายในอนาคตธรรม มันอยากได้อนาคตธรรม หรือสภาวธรรมที่ยังไม่ปรากฏ 

แล้วมันก็พยายาม...การปฏิบัติทั้งหลายทั้งปวงก็มุ่งเน้นไปเพื่อให้เกิดสภาวธรรมที่ยังไม่ปรากฏนั้นให้ปรากฏ ...นั่นแหละ มันผิดจากมรรคตั้งแต่เริ่มปฏิบัติอย่างนั้นแล้ว

เมื่อรู้ เมื่อเข้าใจแล้ว ก็ต้องเลิกอาการนั้น กลับมารู้โง่ๆ อยู่กับกายที่เป็นปัจจุบัน  นั่นแหละ ก็จะเริ่มตั้งหัวเรือใหม่ให้มันตรงทางหน่อย ...แล้วเดี๋ยวก็จะเบ้ไปอีกน่ะ ก็คอยเท่าทัน...ไม่เอาอ่ะ ซ้ำซากลงที่เดิม 

มันก็กลับมาเบ้หัวเรือใหม่ให้ตรงต่อครรลองของมรรค ...แต่จะเดินหรือไม่เดิน เรือมันจะเดินหรือมีคนพายไปมั้ย มันอีกเรื่องหนึ่งล่ะ ...นั่นต้องอาศัยความพากเพียรแล้ว 

มันหันหัวเรือตรง...แต่กูไม่พาย...มันก็เท่านั้นแหละ ...คือประเภทหนึ่งวิ...เลิก หนึ่งวิ...หาย หนึ่งวิ...ไม่สานต่อ ไม่ทำต่อเนื่อง ...การเจริญขึ้นในองค์ศีลองค์มรรคก็ไม่เกิด 

มันก็คาราคาซังอยู่ที่เดิมนั่นแหละ ซึ่งเดี๋ยวผลมันก็คือว่า...พอเริ่มทำไปเรื่อยๆ แล้วก็จะรู้สึกว่า...ทำแล้วไม่เห็นได้อะไรเลย ...ไอ้นี่มันเป็นรูทีนคำตอบ... “ไม่เห็นได้อะไรเลย” “งั้นๆ น่ะ” 

แล้วก็เกิดความขี้เกียจ ท้อถอย ล่าถอย  แล้วไปแสวงหาอนาคตธรรมต่อ ตามคำพูด ตามคำบอก ตามความเห็นของผู้อื่น ตามตำราบ้าง ตามที่เขาขีดเขาเขียนมาบ้าง 

เดี๋ยวนี้ตำราเยอะ วิธีการปฏิบัติเยอะ อุบายการปฏิบัติก็เยอะ มีให้เลือกสรรหาเหมือนกับตลาดนัดเลย มีเงินก็ไปซื้อเอา วิธีการปฏิบัติน่ะ ง่ายจะตายชัก 

แต่ไม่รู้จะปฏิบัติถูกหรือปฏิบัติผิดก็ไม่รู้นะ ...มันก็เลยวกวนอยู่นั่นน่ะ เหมือนเขาวงกต

แต่ถ้าซ้ำซากจำเจอยู่ในกายเดียวที่เดียวนี้ รู้เดียวนี้ ...อดทนไปเหอะ เดี๋ยวมันก็แก่กล้าภายในขึ้นมาเอง ศีลก็แก่กล้า สมาธิก็แก่กล้า ปัญญาญาณก็แก่กล้าขึ้นมาเองน่ะ 

เพราะว่ามันไม่สามารถทานทนต่อความบากบั่นพากเพียร ซ้ำแล้วซ้ำเล่าๆ ภาวิตา พาหุลีกตาได้ ...แล้วก็จะค่อยๆ บังเกิดผลขึ้นมา เกิดความสงบร่มเย็นภายใน 

มันไม่ค่อยมีอาการเดือดเนื้อร้อนใจกับเรื่องราวสัตว์บุคคลอื่นเหมือนเดิม เหมือนที่เคยผ่านมา ...มันก็ค่อยๆ เก็บเกี่ยวผลไปตามลำดับทีละเล็กทีละน้อยไป

เพราะนั้นการภาวนา เป็นเรื่องของการแข่งกับตัวเอง และก็แข่งกับเวลา แข่งกับกิเลสตัวเอง ที่มันอยู่ในสภาวะ Unlimited น่ะ คือเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผลิตขึ้นมาเรื่อยๆ ไม่มีคำว่าจบและหยุด 

เนี่ย ต้องแข่งกับกิเลสของตัวเอง ไม่ได้ไปแข่งกิเลสคนอื่น และก็ต้องแข่งกับเวลาที่มันกำลังกลืนกินขันธ์ห้า ให้มอดไหม้ ให้หมดสิ้น ให้ดับ ให้แตกสลาย ให้ตาย ให้หมดสิ้นไปตามอายุขัย 

เห็นมั้ย มันต้องแข่ง...สองแข่ง แข่งกับตัวเอง แข่งกับกิเลสตัวเองแล้วก็แข่งกับเวลา ...จะมาเพลิดๆ เพลินๆ  หลงๆ ลืมๆ  ไหลๆ หลงๆ ไปกับอะไรก็ไม่รู้ ไม่เป็นโล้ไม่เป็นพาย 

ปล่อยให้จิตไปอยู่กับอะไรก็ไม่รู้ที่ไม่เป็นโล้ไม่เป็นพาย ไม่เป็นคุณ ไม่เป็นประโยชน์ต่อการรู้แจ้งเห็นจริง ไม่เป็นประโยชน์ต่อมรรคผลและนิพพาน ไม่เป็นประโยชน์ต่อความดับไปสิ้นไปของภพและชาติ 

เนี่ย มันไม่เป็นโล้เป็นพาย ...ก็ทำให้มันเป็นโล้เป็นพาย คือกลับมาหมั่น ขยัน ทำความรู้ตัวอยู่ ...นั่งที่ไหนก็รู้ ยืนที่ไหนก็รู้ กำลังคิดก็รู้ว่ากำลังคิด 

หรือกำลังมีอารมณ์ก็รู้ว่ากำลังมีอารมณ์อะไร กำลังติดข้องก็รู้ว่ากำลังติดข้องอะไร อย่างนี้ รู้มันเข้าไปเหอะ แล้วไม่มีอะไรก็กลับมารู้กาย เอากายเป็นหลักไว้ อยู่อย่างนั้น 

เวลาที่อารมณ์มันถั่งโถมถาโถมมา ก็เห็นว่ามันกำลังบ้าอยู่กับอารมณ์ ให้เห็นว่ามันกำลังบ้าไปในอารมณ์ แล้วก็รีบกลับมารู้อยู่กับกายไว้ เป็นพื้นฐาน เป็นหลัก เป็นที่ยึด เป็นที่เกี่ยว เป็นที่เกาะ เป็นที่มั่น

การก้าวไปในองค์มรรค การเจริญขึ้นในองค์มรรค มันก็จะเกิดขึ้นเอง อย่างค่อยเป็นค่อยไป นุ่มนวล พอดี เรียบง่าย เป็นกลาง

เพราะนั้นว่าคนที่ตรงต่อมรรค เจริญอยู่ในมรรค เจริญอยู่ในมัชฌิมาปฏิปทานี่ ...ปฏิปทาของกาย วาจาใจนี่ จะเป็นไปด้วยความเรียบง่าย ธรรมดา ไม่โอ้อวด ไม่ขี้อวด ไม่ไปยกตนข่มท่าน 

ให้ดูเอาเถอะ มันจะเป็นอย่างนั้น จะอยู่ด้วยความสงบเสงี่ยม เป็นผู้เสียเปรียบอยู่ตลอดเวลา เป็นผู้รับโทษรับภัยแทนผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา ...เนี่ย มันยอมรับไง มันฝึกอยู่กับการยอมรับตัวมันเอง 

มันก็ยอม ยอมให้บุคคลอื่นล่วงเกิน ยอมให้โลกนี้ล่วงเกิน คล้ายๆ อย่างนั้น ...มันก็อยู่รับรู้ด้วยความสงบเสงี่ยมเจียมเนื้อเจียมตัว ด้วยความสงวนตัว ...มันมีการสงวนเนื้อสงวนตัว สงวนศีล 

คำว่าสงวนเนื้อสงวนตัว ก็คือหมายความว่าสงวนศีล สงวนสมาธิภายในอยู่ ไม่ให้มันขาดตกบกพร่อง มันต้องอยู่ด้วยความสงวนเนื้อสงวนตัว ไม่อยู่ด้วยอาการเห่อเหิม กำเริบ อหังการ

เพราะนั้นการปฏิบัติ หรือว่าผู้ที่ปฏิบัติตรงอยู่ในองค์มรรคนี่ จะมีความงดงาม ทั้งภายนอกภายใน นี่เขาเรียกว่าเข้าสู่ความงามพร้อม งามด้วยศีลสมาธิปัญญานั่นเอง 

ไม่ได้งามด้วยการแต่งหน้าตาเนื้อตัว ไม่ใช่สวยงามแบบนั้น ...งามด้วยศีลสมาธิและปัญญา เป็นความงามที่แม้แต่เทวดาอินทร์พรหมยังต้องยอมมากราบมาเคารพ มาอภิวันท์ อภิวาท มาบูชา มาอัญชุลี 

นั่น ทั้งที่ว่าไม่เคยรู้จักมักคุ้นกันเลยนะ ...เห็นมั้ยว่าความงามหรือว่าความหอมของศีลสมาธิปัญญานี่เป็นอย่างนี้

เพราะนั้นการภาวนาอย่าท้อถอยในองค์มรรค อย่าท้อถอยในการเจริญสติปัจจุบัน ...การรู้ตัวอยู่กับปัจจุบัน...โดยอาศัยกายนี่เป็นหลักยึดโยงของปัจจุบัน 

ทำอยู่แค่นี้แหละ ง่าย สั้น ไม่มีพิธีรีตองอะไรมาก ไม่มีรูปแบบของการนั่งนอนยืนเดิน...ธรรมดา เคยยืน เคยเดิน ปกติการยืนเดินนั่งนอนยังไง ก็อยู่อย่างนั้น

จึงว่ามันไม่มีพิธีรีตองอะไรให้มันวุ่นวี่วุ่นวายต้องรั้งต้องรอ หรือต้องสร้าง หรือต้องเพิ่มอะไรขึ้นมาอีก 

ตอนไหน เวลาไหน มันก็มี...มีกายให้ระลึกรู้อยู่เสมอ มีความปกติกาย มีความเป็นปัจจุบันกายปรากฏให้ระลึก...ให้รู้...ให้ตั้งมั่นอยู่เสมออยู่แล้ว

ถ้าชัดเจนอยู่ในจุดนี้ แล้วก็ทำอยู่ในจุดนี้ ...มันก็จะเกิดความแนบแน่นมั่นคงอยู่กับศีลอยู่กับกายมากขึ้นๆๆ ...ชัดเจนขึ้น มากขึ้นแล้วก็จะชัดเจนขึ้นภายใน


.................................. 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น