วันเสาร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2560

แทร็ก 9/35


พระอาจารย์
9/35 (560112B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
12 มกราคม 2556


พระอาจารย์ –  อย่าไปมองเป็นเรื่องไกลตัว อย่าไปมองเป็นเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญ  ศีลสมาธิปัญญานี่แหละ จึงจะเป็นที่พึ่งอันประเสริฐของสัตว์โลก 

บ้าน คนรัก งาน เงิน ทรัพย์สมบัติ ชื่อเสียง ความนับหน้าถือตา ความยกย่องสรรเสริญ เหล่านี้ถ้าเทียบคุณค่ากับศีลสมาธิปัญญา ถ้าเทียบกันแล้วนี่ เหมือนขี้กับเพชร

แต่จิตของพวกเราทั้งหลาย ของจิตผู้ไม่รู้ทั้งหลาย กลับไม่เห็นคุณค่า กลับประมาท กลับว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ ไม่เห็นช่วยอะไรได้เลย 

ผู้คนจึงอ่อนล้าในการปฏิบัติ ผู้คนจึงดูถูกดูแคลนการปฏิบัติ ...ต่อไปน่ะมันจะดูถูกดูแคลนแม้กระทั่งผู้ปฏิบัติ นี่เราพูดไปถึงอนาคตให้เลย

กว่าจะสร้างจิตผู้ไม่รู้นี่ ให้มันมีศรัทธาในศีลสมาธิปัญญา...ก็ยาก ...ผู้บอกกล่าวเล่าสอนก็ปากเปียกปากแฉะ ผู้ฟังผู้ปฏิบัติตามก็น้อยลงๆ ...มันไม่ได้ปฏิสัมพันธ์กันในแง่ที่น่าจะมากขึ้น

แต่ครูบาอาจารย์ผู้สอนผู้สั่งก็ไม่เคยหยุดยั้งในการสั่งและการสอน เหมือนเป็นหน้าที่ ท่านมีหน้าที่เหมือนทดแทนคุณพุทธะ คุณธรรมะ คุณสังฆะ 

และคุณของธาตุของขันธ์ของโลก ที่ก่อร่างสร้างขันธ์มาให้ท่านได้ศึกษาสำเหนียกจนเข้าใจ ...ท่านจึงเหมือนตอบแทน ทำหน้าที่ให้คนทั้งหลายทั้งปวงรู้และเข้าใจเช่นเดียวกัน

เพราะสิ่งที่ท่านรู้ท่านเข้าใจนี่ ท่านยืนยันได้ด้วยตัวท่านเอง ว่าไม่ผิดไม่เพี้ยน ว่าเป็นสิ่งที่ประเสริฐสุด ยิ่งกว่าใดๆ ทั้งหลายทั้งปวงในสามโลกธาตุที่จิตมันเคารพนบนอบให้ค่าให้คุณให้ความสลักสำคัญกับมันอย่างยิ่ง

เหมือนท่านต้องการมาแก้ไขจิต น้อมนำจิต ของสัตว์บุคคลทั้งหลายทั้งปวงนั้น ให้เกิดความเห็นที่แท้ ที่จริง ที่ตรง ...คือสัมมาทิฏฐินั่นเอง 

เมื่อมันเป็นสัมมาทิฏฐิ ความเห็นที่ชอบ ที่ตรง จะรู้ได้ด้วยตัวเองว่า อะไรมีค่า 

อะไรที่มันเคยให้ค่าไว้นั่น จะเห็นเองว่า เทียบไม่ได้กับสิ่งที่พระพุทธเจ้าบอก กับสิ่งที่พระพุทธเจ้าแนะนำ กับสิ่งที่พระสงฆ์ท่านทำตามคำที่พระพุทธเจ้าแนะนำแล้วได้ผล

จึงเรียกว่ามรรคนี้เป็นทางสายเอก เป็นทางอันประเสริฐ เป็นทางอันเลิศ เป็นทางที่ไม่มีทุกข์ไม่มีภัย เป็นทางที่จะออกจากทุกข์และออกจากภัยในวัฏฏะสงสาร 

แต่ผู้พูดผู้กล่าว จะพูดจะโฆษณาชวนเชื่อ จะย้ำขนาดไหนก็ตาม...จะไม่บังเกิดผลได้เลย ถ้าผู้ฟังผู้ได้ยินนั้นไม่น้อมไม่นำ...ไม่น้อมแล้วก็ไม่นำไปปฏิบัติเอง มันก็จะไม่เห็นคุณค่าอยู่วันยังค่ำนั่นแหละ 

แต่เมื่อใดที่มีศรัทธาแล้วน้อมนำไปปฏิบัติด้วยตัวเอง ลงมือทำด้วยตัวเอง ...ปัญญาที่พาให้เกิดความเห็นอันชอบ ความรู้อันชอบ ที่เรียกว่าสัมมาทิฏฐินี้  ก็จะค่อยๆ บังเกิดขึ้นภายในดวงจิตผู้ประกอบกระทำนั้นเอง

เหมือนคนกินข้าว ความอิ่มนั้นก็บังเกิดขึ้นแก่คนที่กินข้าวคนนั้น ไม่สามารถอิ่มแทนคนอื่นได้ หรือไม่สามารถให้คนอื่นกินแล้วมาอิ่มให้ตัวเองได้

นี่คือธรรมะของพระพุทธเจ้าท่านแนะนำ ท่านแนะสอน ไม่ว่าพระพุทธเจ้ากี่พระองค์ ไม่สามารถหยิบยกให้กันได้ ในศีลสมาธิปัญญา ในองค์มรรค 

นี่ไม่ใช่วัตถุข้าวของที่จะหยิบให้กัน ไม่ใช่สมบัติพัสถานที่จะผ่องถ่ายมรดกให้สืบทอดต่อกันได้ ...ท่านจึงเรียกว่าเป็นธรรมปฏิบัติ คือต้องได้ด้วยการปฏิบัติ เอากายวาจาใจของบุคคลนั้นปฏิบัติเอง ลงทุนเอง

คำว่าลงทุนเองนี่ ทุนอยู่ไหน ...ทุน...ทุกคนมีทุนเท่ากัน เสมอกัน ทุกคนได้ทุนมาเท่ากันเสมอกันตั้งแต่เกิด ...ทุนนั้นก็คือขันธ์ห้า ถ้าพูดให้สั้นเป็นสองหมวดก็แค่กายใจ 

ทุกคนมีทุนเท่ากันหมด ...ไม่ว่าคนนั้นบุคคลนั้นจะยากดีมีจน จะอยู่ในป่าในดง จะไม่ได้ร่ำเรียนหนังสือหรือจะมีทรัพย์สินเงินทองร่ำรวยมหาศาลขนาดไหน ก็มีทุนเท่ากัน 

นี่ มีทุนมาเท่ากัน เสมอกัน อันเดียวกัน แบบเดียวกัน ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบกัน ...คือกายวาจาใจนั้นเอง เป็นทุน...ของสัตว์มนุษย์ทุกเพศทุกวัย ทุกชั้นทุกวรรณะ

แต่เหมือนจิตที่มันโง่...มันมีทุน แต่มันลงทุนไม่เป็น  มันกลับเอาไปลงทุนที่อื่น จึงขาดทุนล้มละลาย ไม่ได้กำไรในการเกิดมา ...กำไรในที่นี้หมายถึงศีลสมาธิปัญญาเป็นกำไรที่แท้จริง

เมื่อมันเอากายวาจาใจนี้ไปลงทุนด้วยความไม่รู้ คือไปลงทุนผิดวัตถุประสงค์ ...นี่เรียกว่าลงทุนไม่เป็น 

ไอ้ที่ลงทุนไม่เป็นคือลงทุนแบบโง่ๆ มันก็ขาดทุนบรรลัย เป็นหนี้เป็นสินทั่วบ้านทั่วเมือง ทั่วประเทศทั่วโลก ต้องเกิดมาชดใช้หนี้กันไม่จบไม่สิ้นน่ะ ...มันลงทุนไม่เป็น

เพราะไม่เชื่อพระพุทธเจ้า เพราะไม่เชื่อธรรมของพระพุทธเจ้า เพราะไม่เชื่อธรรมที่พระสงฆ์ท่านสอน แค่นั้นเอง ...มันเชื่อตัวมันเอง ตัวมันเองคือผู้ที่ไม่รู้อะไรเลยนั่นแหละ 

แล้วมันก็เชื่อจริงๆ จังๆ เชื่อจนเรียกว่าใครมาเถียงมันไม่ได้น่ะ ...มันก็สมควรแล้วที่จะเป็นหนี้เป็นสินเขาทั่วประเทศทั่วโลก เป็นหนี้กับคนรอบข้าง เป็นหนี้กับคนที่ไม่เคยรู้จักมักคุ้นมาก่อนเลย 

มันสามารถจะสร้างหนี้ได้ทุกอย่าง ทุกที่ ทุกเหตุการณ์ ทุกเรื่องราว ทุกสัตว์บุคคล แม้กระทั่งไม่ใช่เป็นสัตว์ไม่ใช่เป็นบุคคล มันยังไปติดหนี้เป็นหนี้เขาได้น่ะ 

นั่น เป็นหนี้กระทั่งวัตถุข้าวของ เป็นหนี้กับของที่ไม่มีวิญญาณครอง ...เกิดมากี่ครั้งก็พอกพูนหนี้ พอกพูนกันเข้าไป เวลาเจ้าหนี้เขามาทวง ก็บ่น ก็ไม่ยอม 

ก็หาทางแก้ ก็หาทางหนี แก้และหนีด้วยวิธีการไปสร้างหนี้ใหม่ ...มันก็กลายเป็นดินพอกหางหมู หรือว่าเป็นวัวพันหลัก ...มันไปไหนไม่รอดหรอก 

เพราะมันไม่รู้จักวิธีแก้ที่แท้จริง แก้ด้วยศีล แก้ด้วยมรรค แก้ด้วยสมาธิ แก้ด้วยปัญญา ...วิธีแก้นี้ มีมาตั้งสองพันห้าร้อยปีแล้ว วิธีแก้นี้ มีคนน้อมและนำไปทำจนแก้ได้มากมายนับอสงไขย

แต่มันคิดว่ามันฉลาดไง มันก็เลยจะแก้ด้วยตัวของมันเอง แก้ด้วยความคิดของตัวเอง แก้โดยอาศัยการหาเหตุและผลของตัวเอง มันเลยแก้ไม่จบ 

แทนที่จะจบกลับพอกหนี้พูนสิน มีดอกเบี้ยที่ยังไม่ได้ชดใช้ชำระคืน และรอวันที่เขาจะมาทวงคืน ...ไม่รู้ตอนไหน ไม่มีใครรู้ด้วย 

เพราะมันยังไม่รู้เลยว่ามันไปสร้างหนี้ตอนไหน ...อย่าว่าแต่คิดว่าจะยอมรับในการชดใช้หนี้เลยนะ มันยังไม่รู้เลยว่าเราไปสร้างหนี้กับอะไร สร้างหนี้ตรงไหนยังไง 

ไม่รู้จักแม้กระทั่งกรรมและวิบากกรรม ไม่รู้จักกระทั่งผลของกุศลกรรมอกุศลกรรมคืออะไร ให้ผลอย่างไร ...นี่ มันไม่เชื่อ

 (เสียงหักไม้) ไม้แก่ดัดยากน่ะ มันหัก เห็นมั้ยนั่น ...แต่ไม้อ่อนน่ะมันดัดง่าย ผู้ที่เริ่มต้นฝึกฝนหัดปฏิบัติ เหมือนไม้อ่อน ยังพอดัดง่าย ...ไอ้พวกแก่เกินแกงนี่ ต้องหักให้มันสำนึก มันถึงจะงอกใหม่

เมื่อเริ่มมีศรัทธาในการปฏิบัติ เริ่มเห็นคุณค่าของการปฏิบัติแล้ว ถึงว่าเป็นก้าวแรก เป็นก้าวสำคัญ ...ก้าวแรกนี่สำคัญ สำคัญกว่าก้าวที่สามสี่ห้าแปดเก้าสิบอีก 

มันสำคัญที่ก้าวแรกนี่แหละ ว่ามันจะก้าวไปทางไหน มันจะก้าวไปกับใคร แล้วก็มันจะก้าวไปเพื่ออะไร ...ถ้ามันก้าวถูกตั้งแต่ก้าวแรกนี่ ก็เรียกว่ามีชัยไปครึ่งแล้ว 

พวกพ่อแก่แม่แก่นั่งรอบตัวเราทั้งหลายนี่ สะบักสะบอมทั้งนั้นแหละ น้ำหูน้ำตาไหล น้ำหูน้ำตาเล็ด เพราะผลของการปฏิบัติที่ไม่ได้ดั่งใจ หรือได้ไม่เหมือนอย่างคนอื่นเขาว่า 

กว่าจะมาหันหัวเรือให้มันตรง เสียน้ำหูน้ำตา เสียน้ำลายไปไม่รู้เท่าไหร่ ในการด่าการเถียงกัน การทะเลาะกัน อวดคุณวิเศษแก่กัน

แต่มันก็ยังดีน่ะ ยังไม่แก่เกินแกง เอามาแกงต้มยำเผ็ดร้อนๆ ได้พอสมควร ...พอให้น้ำหูน้ำตาคนกินไหลบ้าง 

แต่ไอ้พวกไม้อ่อนนี่สำคัญ เมื่อเริ่มต้นปฏิบัติ ถือว่ามีโอกาสอันดี ที่มาได้ยินได้ฟังธรรมที่เรียกว่า...เป็นธรรมในความหมายของธรรมจริงๆ

ก็อยู่ที่คนฟังนั้นจะเลือก และก็ก้าวเดินไปตามธรรมเหล่านี้ไหม...นี่ช่วยไม่ได้แล้ว ...แต่ถือว่ามีโอกาสแล้ว...อันดีด้วย ซึ่งไม่ได้หาได้ง่ายๆ เหมือนไปซื้อของในตลาดแบกะดิน ตลาดนัด

ในเรื่องของหลักการปฏิบัติ ในเรื่องของผลการปฏิบัติ ในเรื่องของจุดหมายของการปฏิบัติ...ให้ชัดเจน และให้เข้าใจ 

ชัดเจนอย่างไร เข้าใจอย่างไร ...ให้ชัดเจนตามที่พระพุทธเจ้าต้องการ  ให้เข้าใจตามที่พระพุทธเจ้าอยากให้เข้าใจ นั่นแหละ...อะไรเป็นศีล อะไรเป็นสมาธิ อะไรเป็นปัญญา อะไรเป็นมรรค อะไรเป็นอริยสัจ 

แล้วจะต้องประกอบเหตุกับสิ่งเหล่านี้อย่างไร จึงจะได้ผลตามที่พระพุทธเจ้าต้องการหรือว่าสรรเสริญว่าผลนั้นเป็นผลอันยิ่ง ผลอันประเสริฐ อันเลิศ มีคุณอันหาประมาณมิได้

เพราะนั้นอย่าเบื่อ ที่เราจะพูดซ้ำซาก เหมือนแผ่นเสียงตกร่อง...ว่าศีลคืออะไร สมาธิคืออะไร ปัญญาคืออะไร มรรคคืออะไร อริยสัจสี่คืออะไร กิจที่พึงกระทำต่ออริยสัจสี่คืออะไร

เหมือนตอกย้ำ ย้ำแล้วย้ำอีก ...ขนาดว่าย้ำแล้วย้ำอีก มันยังหาเรื่องเบี่ยงเบนได้เลย ด้วยปัญญาของหัวไอ้เรืองนั่นน่ะ คิดเอง เออเอง ตัดสินใจเอง...เออ น่าจะใช่เว้ยเฮ้ย

กว่าจะรู้ตัวว่าถูกหลอกไปขาย ถูกหลอกไปฆ่านี่ ซมซานมาแล้ว ...มันจึงต้องย้ำแล้วย้ำอีกๆ แล้วก็มันต้องย้ำอยู่แค่นี้ 

เพราะมันมากี่ทีๆ ก็บอกแค่เนี้ย ว่าศีลคืออะไร ให้มันชัด สมาธิอย่างไร จึงจะเป็นเหตุให้เกิดปัญญาญาณ

ต้องชัด ต้องอยู่ในหลัก ต้องอยู่ในกฎเกณฑ์นี้ ต้องไม่ออกจากความหมายนี้ ต้องไม่ออกจากความจริงของศีลสมาธิปัญญาอย่างนี้ 

มันจึงจะได้ผล มันจึงจะตรงต่อผล ตรงต่อนิพพาน ตรงต่อความไม่กลับมาเกิดอีก ตรงต่อการที่เกิดและตายน้อยลง สั้นลง ...นั่นแหละผล


(ต่อแทร็ก 9/36)






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น