วันเสาร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2560

แทร็ก 9/30 (2)


พระอาจารย์
9/30 (560103A)
3 มกราคม 2556
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 9/30  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  เพราะว่าการเห็นกายหยาบๆ ก็คือเห็นรูปกายเดิน เห็นรูปกายนั่ง ...ก็เรียกว่าเห็นกายหยาบๆ 

แล้วก็ทำความละเอียดในกาย ก็เห็นความรู้สึกในการนั่ง ในการเดิน ในการหยิบ ในการจับ ในการเหลียว ในการเหยียด ในการคู้ เหล่านี้

ฝึก...กับกาย รู้กับกาย รู้กับตัวนี่...ให้มันละเอียด ถี่ถ้วนในกาย ในการปรากฏอิริยาบถของกายใหญ่ กายย่อย ...ถ้ามันเอาจริงเอาจัง คือเขาเรียกว่าเคร่งครัด ไม่ใช่เคร่งเครียดนะ แต่ว่ามันเคร่งครัด 

ให้มันเคร่งครัดกับกาย เรื่องของกาย เรื่องของอิริยาบถ ...ก็เคร่งครัดในอิริยาบถ มันคร่ำเคร่งกับอิริยาบถกาย ด้วยการเจริญสติระลึกรู้ จนเป็นนิสัย จนติดนิสัยรู้ตัว

ติดนิสัยประเภทที่ว่าหลับตาแล้ว นอนหลับ พอเวลาตื่นขึ้นมานี่ เปลือกตาลืม มันยังรู้ตัวตั้งแต่เปลือกตาลืมเลย ...เคยรู้รึเปล่า เคยรู้มั้ยว่าเปลือกตามันลืม หรือรู้สึกถึงอาการที่เปลือกตามันกระพริบลืมตาตื่น 

กว่าจะไปรู้กันน่ะ มันตอนไหนล่ะ ฮึ เคยสังเกตมั้ยว่า ตื่นนอนมาแล้วนี่ รู้ตัวได้ตอนไหน ...เนี่ย แปลว่ามันทิ้งหายสติห่างจากปัจจุบันนี่ 

เพราะนั้นว่าโดยความเคยชินเลย พวกเรานี่ ตื่นนอนขึ้นมานี่ ลืมตัวก่อน โมหะแทรกก่อน ไม่รู้ตัว ...พอไม่รู้ตัวแล้วคราวนี้ความคิดก็เริ่ม...อดีต อนาคตมาแล้ว

"เดี๋ยวจะทำอะไรต่อไป เดี๋ยวจะไปกินน้ำก่อน เดี๋ยวจะไปเข้าห้องน้ำ" ความคิดมาเลย เห็นมั้ย หรือถ้าไม่คิดมันก็โมหะ...ความเคยชินมาเลย เหมือนทำเป็นอัตโนมัติของความเคยชิน 

มันไม่ใช่อัตโนมัติรู้ แต่อัตโนมัติหลง...หลง แล้วก็ทำตามความเคยชิน เคยทำยังไง ซ้ำซาก มันก็วนทำเหมือนเดิมซ้ำซาก ...แต่ว่าทำได้เอง เหมือนทำได้เอง

แต่ถ้าฝึกสติในการระลึกรู้ปุ๊บ พอตื่นปั๊บนี่...รู้ตัว ...รู้ที่ไหนก่อนก็ได้ รู้ที่ตัว แล้วก็จับอาการตัวไว้ ...ต้องจดจ่อไว้ ต้องจดจ่อกายไว้ จดจ่อความรู้สึกกายไว้ จะเหยียด จะย่าง จะยกขา 

เคยเห็นท่าลุกของการตื่นนอนมั้ย เคยเห็นความรู้สึกทุกกระบวนการของการตื่นนอนมั้ย ...ที่พรวดๆๆๆ เขาเรียกว่าไม่ใส่ใจ มันลวกๆ มักง่าย จิตน่ะมันชอบอะไรอย่างนั้น มันเร็ว ความหลงความอะไร

แต่ก็ไม่ต้องช้าเหมือนกับผีบ้าหรอก มันค่อยๆ เอาสติเข้าไปตาม ฝึก...ต้องฝึก ให้มันกลมกลืนกัน พอดีกัน ไม่ต้องยกหนอๆ แหนๆ อะไรหรอก ...ก็แค่รู้ไปตรงๆ ไม่ต้องสมมุติบัญญัติกับมัน 

เพราะว่าจะไปสมมุติบัญญัติกับมันทำไม ก็เราจะทิ้งสมมุติ เราจะทิ้งบัญญัติ แล้วจะไปบัญญัติกำกับซ้ำซากกับมันทำไม ...เพราะตัวมันก็นอกบัญญัติเหนือสมมุติอยู่แล้ว กายน่ะ 

มันไม่มีบัญญัติ ไม่มีสมมุติในตัวมัน มันก็เป็นอาการหนึ่งแค่นั้นน่ะ...เพราะนั้นต้องฝึก ตั้งใจให้ดี ในการที่จะมาทำความรู้รอบเห็นรอบในกายก่อน 

มาทำความถี่ถ้วนในกาย ทำความคุ้นเคยกับกายปัจจุบันให้มากที่สุด อย่าไปคุ้นเคยกับจิตมาก ...จิตนี่ มันดูเหมือนมันมีชีวิตน่ะจิต  จิตเรา เรื่องของเราในจิตน่ะ เรื่องของเราทั้งนั้นจิตน่ะ 

ดูเหมือนจิตมันมีชีวิตจิตใจในตัวของมันเองเลย เพราะว่าความไม่รู้นี่มันเข้าไปให้ค่า...จิตในความเป็นเรา  จนเหมือนกับจิตนี่มันมีชีวิตจิตใจของตัวเราอยู่ในนั้น ...มันเหมือนกับเป็นสัตว์ตัวหนึ่งเลยน่ะ

ถ้าให้เราเปรียบก็ว่าเหมือนหมาน่ะ อย่าไปเล่นกับมัน ...ถ้าเล่นกับมัน มันก็มาคลอเคลีย เพราะว่าดีกับมันนี่ มันก็คลอเคลียเคล้าแข้งเคล้าขาอยู่ ...ถ้าไปตีมันล่ะ มันก็แว้งกัดอีก เดี๋ยวมันก็แฮ่ ฮื่อใส่ ...กลัวอีก

แล้วทำยังไง ...ก็ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ หมามันเป็นยังไง ถ้าไม่สนใจมัน ไม่หันไปมองมันด้วยนะ อย่าจ้องตามันนะ ถ้าจ้องเดี๋ยวก็อดไม่ได้ที่จะเข้าไปลูบหัวมันอีกแล้ว เข้าไปเล่นกับมัน ไม่มอง ไม่สนใจ

หมาเมื่อมันเจอความไม่สนใจ มันก็ไม่เกิดความคุ้นเคย ใช่ป่าว เหมือนหมาข้างถนนน่ะ ไม่มีเจ้าของ มันก็ไม่เข้ามาวอแว หรือว่าเข้ามาพัวพัน มันก็ต่างคนต่างไปของมัน 

แล้วสุดท้ายไม่มีใครเลี้ยงดูให้อาหารการกิน มันก็ตายของมันไปเอง ...มองให้เห็นอย่างนั้น

จิตน่ะมันมีชีวิตจิตใจเหมือนเป็นตัวเราของเรา ดูเหมือนว่า พอจะบอกให้มันทำอะไร สั่งให้มันเลิกคิดนี่ สั่งให้มันคิดน้อยๆ ยังสั่งมันไม่ได้ ใช่มั้ย 

มันเหมือนมีชีวิตในตัวของมันเอง บอกอะไรก็ไม่ฟัง ...บอกไม่ให้มันเกิดอารมณ์ มันก็จะเกิด  บอกให้มันไม่มีความอยาก มันก็ไม่ฟัง อะไรอย่างนี้

มันเหมือนมีชีวิตเป็นของตัวมันเอง ที่แตะต้องมันไม่ได้ ...ก็เรานั่นแหละ เป็นผู้ไปให้กำลังมัน เวลาจะเอาอะไร จะอยากได้อะไร ก็เข้าไปให้ชีวิตจิตใจกับมัน 

จิตมันก็เลยดูเหมือนมีความเป็นบุคคล หรือว่าความเป็นสัตว์อยู่ในอาการนั้นของจิต ...ทั้งๆ ที่ว่า พระพุทธเจ้าท่านก็บอกแล้วว่า จิตตานุสติปัฏฐาน ท่านก็บอกว่าจิตสักว่าจิต

ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของใคร ...ไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคลก็แปลว่ามันไม่ใช่มีชีวิตจิตใจอะไรในความเป็นจริง 

แต่ว่าจิตน่ะ เราคุ้นเคยกับจิตมาก เหมือนกับว่าเป็นหมาเลี้ยงแสนรักแสนรู้ ทำได้ทุกอย่าง ...มันก็ภาคภูมิใจในสัตว์เลี้ยงตัวนี้มาก ว่าเป็นของเรา ตัวเรา สมบัติของเรา 

กูสั่งให้ทำให้คิดเรื่องอะไร มันก็คิดให้ทำให้ บอกให้มันคิดวิธีหาความสุข มันก็คิดหาความสุขทุกรูปแบบมาให้ แล้วก็ทำตามมัน ได้บ้างไม่ได้บ้าง มันก็ถือว่าได้แล้วมีแล้ว ...มันก็เป็นตัวเราๆ เป็นสัตว์ของเรา

เพราะนั้นอย่าไปข้องแวะกับจิตมาก ให้มันมาคร่ำเคร่ง เคร่งครัดอยู่ในกายให้มากๆ ให้มันทั่ว เหมือนกับไม่ให้มันหลุดเล็ดรอดออกไปจากอิริยาบถใหญ่ อิริยาบถย่อยได้ 

ช่องทางที่มันหลงลืมกาย ห่างกายนี่ เป็นช่องทางที่จิตน่ะมันจะออกไปทำงาน ...แล้วการเท่าทันจิต มันเท่าทันได้ขณะแรกเท่านั้น ขณะเดียว แป๊บเดียว แล้วจากนั้นก็ไม่ทันแล้ว เลื่อนลอย ไหลไป

เพราะนั้นดูจิตแค่อย่างเดียวไม่พอหรอก ...คือขอให้เห็นว่าจิตกำลังคิด กำลังนึก แค่นั้นน่ะ ดูให้เห็นแค่นั้นก่อน  เสร็จแล้วมันต้องเอามาจดจ่ออยู่ในกาย ถ้าไม่จดจ่ออยู่ในกายนี่ เดี๋ยวก็ถูกหลอกไปกินหมดน่ะ 

ไอ้ที่ว่ารู้จิตดูจิตน่ะ มันดูได้แค่ขณะเดียว ฐานหรือว่าดวงจิตผู้รู้ผู้ตั้งมั่นไม่มี ไม่มีฐาน ...เพราะนั้นเวลาทำงานมันก็เห็นอาการของจิตวุบวับๆ มันก็เห็นแค่นั้นน่ะ มันไม่มีจิตตั้งมั่น 

มันไม่ตั้งมั่นมารู้มาเห็น มาเป็นรากเป็นฐาน มาหยุดมาอยู่ มาเป็นดวงจิตที่รวมตัวเป็นหนึ่ง ตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธิ ...มันก็เห็นแค่ขณะนึง วูบไปวาบมา ก็...เออ เห็นแล้วนะ ...แล้วก็หลงต่อแล้วนะ อย่างเนี้ย

คือมันไม่รู้หรอกว่ามันหลงต่อ มันไม่เห็นหรอก ...ไอ้ตอนที่หลงต่อออกไปนั่นมันไม่เห็นหรอกน่ะ แต่มันเห็นตอน เออ เกิดอารมณ์ หรือกำลังคิดหนักๆ น่ะเห็น เห็นแค่แป๊บนึงแล้วก็หายไปแล้ว 

เนี่ย เล่นกับมัน เหมือนกับเข้าไปเล่นกับมันโดยที่ไม่รู้ตัวเลย เหมือนกับเข้าไปลูบหมา หมาเลียปากยังไม่รู้ตัวเลยว่านั่นเข้าไปเล่นกับมันแล้ว

แต่ไอ้ตอนเห็นว่าเป็นหมา ครั้งแรก มันวิ่งเข้ามาหรือเกิดขึ้นมา...จากที่มันไม่มีอะไรแล้วมีขึ้นมานี่ก็เห็น ก็เห็นมันมา แต่ว่าเห็นสักพักนึง มันก็เข้าไปกลืนกัน ...ไอ้ตอนเข้าไปกลืนกันน่ะไม่รู้ตัว ไม่มีสติเลย 

แต่พอกลืนไปนานๆ แล้วมีอะไรแรงๆ ขึ้นมา มันถึงเห็นอีก ...มันก็อยู่อย่างนั้น มันอยู่นอกฐานหมดเลย นอกฐานปัจจุบันน่ะ ...ปัจจุบันอยู่ที่รู้ ปัจจุบันอยู่ที่กาย เป็นตัวที่เป็นปัจจุบันที่สุด

ทำไมถึงต้องบอกว่าอยู่กับปัจจุบัน เพราะปัจจุบันเป็นความเป็นจริง ความเป็นจริงมันอยู่ในปัจจุบัน ...อะไรที่ออกจากปัจจุบันน่ะ มันไม่จริง 

อันนี้...อะไรที่ออกนอกปัจจุบันน่ะ มันอุปาทานขันธ์ คือเป็นขันธ์ที่จิตสังขารนี่มันสร้างขึ้นมา จิตผู้ไม่รู้หรือจิตอวิชชานี่ มันสร้าง มาเป็นรูป เป็นลักษณะอารมณ์ ลักษณะความสุขความทุกข์ 

มันเป็นลักษณะที่มันสร้างขึ้นมา เป็นอดีต เป็นอนาคต ข้างหน้า ข้างหลังตลอด ...แต่ไอ้ความเป็นจริงที่มันเป็นปัจจุบันจริงๆ นี่ มันก็มีแค่กายกับรู้ที่เป็นปัจจุบันชัดเจน 

จริงๆ ปัจจุบันก็มีทั้งผัสสะด้วย รูปที่เห็น ตาที่เห็น หูที่ได้ยินเสียง เสียงที่ได้ยิน มันก็เป็นปัจจุบัน ...แต่ว่าไอ้ปัจจุบันพวกนี้ มันยังเป็นรายละเอียด 

มันไม่สามารถจะไปจดจ่อหรือว่าตั้งมั่นอยู่กับผัสสะนั้นได้ตลอดเวลา เพราะผัสสะมันก็เกิดๆ ดับๆ เหมือนกัน แค่พอให้รู้ พอให้เห็นแค่นิดเดียว 

แต่อย่าไปตั้งจดจ่ออยู่ว่าจะเอาเสียงเป็นอารมณ์ แล้วก็จะรู้ปัจจุบันของว่ากำลังได้ยินอะไรอย่างนี้ ไม่ได้ หรือว่าเอาตา เอารูปเป็นปัจจุบันแล้วก็จะตั้งว่า รู้ว่าเห็นๆๆ ตลอดเวลานี่ไม่ได้ 

มันก็ได้แค่ครั้งคราว ก็เหมือนกับอาการของจิตนี่เหมือนกัน ... แต่ว่าตัวที่มันจะเป็นฐาน ตัวที่เป็นฐานนี่ คือองคาพยพของกาย มหาภูตรูปนี่ มันถึงจะเป็นฐานที่จิตมันสามารถรวมตั้งมั่นเป็นหนึ่งได้ 

นี่เป็นสัมมาสมาธิที่แนบแน่นขึ้น ...ไอ้สมาธิแบบขณิกะๆ น่ะเอาไว้หลอกเด็กเอา เข้าใจมั้ย พอให้ระงับ ไม่ให้แล่นโลดไหลไปในอารมณ์แรงๆ เท่านั้นแหละ

แต่ว่าเพื่อทำความรู้แจ้งนี่ไม่มีทาง มันจะไม่สามารถเอาสมาธิระดับขณิกะอย่างนั้นไปใช้ได้พอ ...มันต้องตั้งมั่นอยู่ภายในด้วยความมั่นคงจริงๆ มันจึงจะเกิดโยนิโสมนสิการ...คือแยบคาย 

นั่นแหละปัญญาญาณมันจะเกิดภาวะรู้ภาวะเห็นสภาพธรรมตามจริงจึงจะเกิด ...คือมันจะต้องอาศัยการเห็นการรู้ที่ต่อเนื่องกว่านี้ 

เพราะนั้นถ้ามันไม่มีสัมมาสมาธินี่ มันจะไม่เกิดภาวะที่รู้ต่อเนื่อง เห็นต่อเนื่อง มันก็เห็นแว้บ...หาย แว้บ...หาย อยู่อย่างนี้ มันไม่ต่อเนื่อง ...ไม่ต่อเนื่องก็ไม่เชื่อหรอก จิตมันว่าอย่างนั้น

แต่ถ้าเห็นต่อเนื่องแล้วมันเถียงไม่ออก มันเถียงไม่ได้ เห็นความเป็นไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคลต่อเนื่องเลยอย่างนี้ เห็นความเป็นก้อนต่อเนื่องเลย เห็นความแปรปรวนไป แปรปรวนมาแบบต่อเนื่องเลย 

เดี๋ยวอีกเดี๋ยวมันไม่เชื่อแล้วว่ามันมีเราของเราอยู่นี่ มันหาความเป็นสัตว์เป็นบุคคลไม่ได้จริงๆ ...จิตมันจะค่อยๆ ยอม เพราะมันเห็นต่อเนื่อง

เพราะนั้นตัวที่มันเห็นต่อเนื่องนี่ท่านเรียกว่าสัมปชัญญะ  ไอ้ตัวสัมปชัญญะมันก็ต้องอาศัยจิตตั้งมั่นเป็นหนึ่งไม่หวั่นไหว ...ถึงได้บอกว่า สติมา อาตาปี สัมปชาโน มันต้องอยู่ในลักษณะนี้

เพราะนั้นตัวอาตาปีน่ะคือการจดจ่อในกายเดียว กายปัจจุบันกายเดียว นั่น ในกายปัจจุบัน ในกายานุสติปัฏฐาน ท่านไม่ได้พูดถึงตาหูจมูกลิ้นกาย ไม่ได้พูดถึงผัสสะเลยนะ 

ท่านพูดแต่กายานุสติ คือเรื่องของกาย และในขณะที่รู้ตั้งมั่นอยู่กับกาย พอมันตั้งมั่นดีแล้วนี่ อาการผัสสะทางอายตนะนี่ มันจะรู้ต่อไปเอง มันจะเห็นเองด้วยจิตที่ตั้งมั่น 

คราวนี้มันจะเห็น ตรงนู้นก็เห็น ตรงนี้ก็เห็น เห็นว่ามีการได้ยิน เห็นว่ากำลังได้ยิน...เห็น นี่จะไม่ใช่รู้แล้ว มันจะเห็นว่ากำลังได้ยินอยู่ กำลังเห็นรูป กำลังอยู่ในอาการเห็นรูป กำลังอยู่ในอาการเย็นร้อนอ่อนแข็ง 

มันเห็น แต่ว่ามันเห็นแล้วตัวรู้นี่มันจะอยู่เฉยๆ นี่เขาเรียกว่ามันมีฐานรู้ ฐานตั้งมั่นอยู่ มันไม่ใช่ไปรู้แล้วก็ลอย รู้แล้วก็ลอยออกไป ตีนลอยๆ เลื่อนลอย...เรียกว่ารู้แบบเลื่อนลอย


(ต่อแทร็ก 9/31)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น