วันอังคารที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2560

แทร็ก 9/32 (2)


พระอาจารย์
9/32 (560103C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
3 มกราคม 2556
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 9/32  ช่วง 1 

พระอาจารย์ –  นั่น ดูเหมือนกลมกลืนอยู่ในโลก แต่ว่าจิตไม่กลมกลืนเลย ...ภายนอกน่ะอาจจะดูกลมกลืนกับโลก แต่ว่าจิตไม่กลมกลืนกับโลกเลย 

แล้วไม่มีใครจับผิดได้ ตัวเองรู้เอง ตัวเองเห็นเอง ตัวเองรู้เองว่าทำอะไร ตัวเองรู้เองว่าใจเป็นยังไง เพราะว่ามันจะเริ่มเดินในองค์มรรคไปเรื่อยๆ 

ในการที่ตาเห็นรูป มีจิตแสดงอาการหนึ่ง หูได้ยินเสียง จิตเป็นยังไงแสดงอาการหนึ่ง ...เพราะนั้นมันก็จะชัดเจนว่าไอ้ที่ทำ ไอ้ที่เห็น ไอ้ที่ประกอบกัน ใจเป็นยังไง ...ก็จะเห็นความต่างกัน

จะไม่มีใครรู้ไม่มีใครเห็นหรอก ...ก็ทำเหมือนกับคนอื่นเขาน่ะ กินเหมือนกัน ไปเหมือนกัน ใช้ชีวิตอยู่เหมือนกัน ...แต่ใจไม่เหมือนกัน จิตไม่เหมือนกัน ความเห็นไม่เหมือนกัน

ลักษณะนี้จึงเป็นธรรมจำเพาะ แล้วมันจะถูกจำกัด ...ผู้ที่ปฏิบัติอย่างนี้เช่นนี้จะจำกัดตัวเอง วาจาก็ต้องจำกัด การสาธยายธรรม การพูดธรรมก็ต้องจำกัดจำเพาะจริงๆ พูดมากไม่ได้ 

แต่ว่าสมัยนี้ยังไม่ถึงขั้นนั้นหรอก อีกสักร้อย ห้าร้อยปีข้างหน้าไป พันปีข้างหน้าไป คล้ายๆ อย่างนั้น 

แต่ตอนนี้ยังมีโอกาส...ธรรมยังยืดหน้าอ้าปากได้อยู่ในโลกพอสมควร  ศีลสมาธิปัญญายังเป็นที่เคารพกับหมู่คนอยู่บ้างพอสมควร...อยู่บ้าง...พอสมควร ไม่เรียกว่ามาก

ไม่ต้องเอาไกลหรอก แค่ห้า-หกร้อยปีก่อน คนไทยกับวัด คนไทยกับพระ คนไทยกับสิ่งอะไรที่เป็นของพระนี่...กลัวเลยแหละ อย่าไปแตะต้องเชียว 

นั่นหมายความว่ายังไง ...คือความเข้มของจิตที่มันให้ความสำคัญกับศีลสมาธิปัญญานี่สูงมาก เข้มข้นมาก ...เดี๋ยวนี้...ตบหัวพระ "เป็นไง ไปไหนมา" ....จิตมันรู้สึกอย่างนั้นเลยนะ เหมือนตีตัวเสมอ 

ไม่มีอะไร ไม่กลัวบาป ไม่ละอายต่อบาป ไม่กลัวศีล ไม่ละอายต่อศีล ไม่กลัวธรรม ไม่ละอายต่อธรรม ไม่กลัวสมาธิ ไม่กลัวการปรามาสสมาธิ การปรามาสปัญญา ...มันพูดมันทำแบบปรามาสเป็นปกติวิสัย

อยากเห็นความปรามาสมั้ย ไปดูในเว็บ เขียนกันไป ด่ากัน อ้างธรรม ด่าพระ ด่าพระสงฆ์ ด่าอะไรได้หมด ไม่อาย ไม่กลัวเลย ...นั่นน่ะการปรามาสศีลสมาธิปัญญาโดยไม่ละอายใจ

เราถึงได้บอกว่า พอมีบ้างที่เคารพ ให้ความสำคัญกับศีลสมาธิปัญญา...เป็นกลุ่ม แทรกอยู่ในกลุ่มคน ...นี่ มันน้อยลงเรื่อยๆ นะ

แต่การปรามาสพุทธะ ธรรมะ สังฆะ ปรามาสศีลสมาธิปัญญา ปรามาสวิถีแห่งการปฏิบัติ ปรามาสผู้ปฏิบัติ จะพูดได้โดยไม่ละอายปากมากขึ้น

สมัยเราเด็กๆ ยังไม่มีขนาดนี้เลย  เมื่อสักสี่สิบห้าสิบปีก่อนน่ะ คนยังเคารพพระสงฆ์ ประเภทเดินผ่านพระนี่ไม่เหยียบเงาน่ะ...หลีกกันขนาดนั้น โดยเฉพาะบ้านนอกต่างจังหวัดนี่ พระเดินผ่าน จะลงนั่ง ไม่ยืน 

ประมาณนั้นเลย ให้ความเคารพกันมาก แม้จะไม่ใช่พระอริยะอะไรน่ะ ขอให้เป็นพระ เหลืองๆ โล้นๆ มาน่ะ เคารพแล้ว...โดยนิสัยมาอย่างนั้น ถูกอบรมมาอย่างนั้น

แต่มันจางลง เจือจางลงไปแล้ว พร้อมกับการเข้าถึงธรรมก็เจือจางพร้อมกันไป ...ทำไมสมัยก่อนสมัยโบราณ พระอริยะเยอะแยะ ที่ไหนก็มีทุกหัวระแหง ...ก็เพราะอย่างนั้นน่ะ 

เพราะความเข้มข้นของศีลสมาธิปัญญา การให้ศรัทธา การเคารพต่อธรรมนี่มีมาก สูง ...การเข้าถึงธรรม การรู้ธรรมการเห็นธรรม ก็มาก สูง เป็นปัจยการซึ่งกันและกันอย่างนี้

ทำไมเดี๋ยวนี้มันยาก ...ก็สันดานมันหยาบ มันทรามลง  อวิชชามันคลุมมืดทึบ ปิดบัง มีกำลังหนาแน่น ...ปุถุชนก็แปลว่า ผู้ที่ยังหนาแน่น 

แต่นี่มัน ปุ..ปุ..ปุ ถุ ชนเลย มันไม่ใช่ปุถุชนเดียว มันปุๆๆๆ ปุถุเลย ...หนา จนไม่รู้จะหนายังไงแล้ว  แล้วมันจะหนาขึ้นไปเรื่อยๆ ถ้ายังไม่รู้จักฟังธรรมที่จะขัดเกลาหยาบๆ

เราบอกว่าการฟังนี่มันขัดเกลาหยาบๆ ...บางคนแค่ฟังเฉยๆ ไม่คิดต่อด้วย หนักหัว นี่แปลว่า จินตามยปัญญาจะไม่เกิดเลย ฟังไปงั้นๆ น่ะ นี่ประเภทฟังไปงั้นๆ 

สำหรับคนปฏิบัติใหม่ๆ อ่ะนะ หรือว่าคนที่ถูกพามาฟัง หรือว่าติดรถมาก็เลยมาฟัง อะไรอย่างนี้...ก็มี มันก็มีทั้งนั้นแหละ ฟัง..แต่ไม่คิดตาม ไม่สนใจ ไม่ใคร่ครวญ ตัวจินตามยปัญญาไม่เกิด

เพราะงั้น ภาวนามยปัญญาต้องอาศัยจินตากับสุตตะนี่เป็นตัวสนับสนุน ไม่งั้นภาวนาหรือว่าศรัทธาในการจะลงมือทำนี่ หรือว่าลงกาย ลงวาจา ลงจิตปัจจุบัน ลงไปประกอบในองค์มรรคนี่ มันไม่มีกำลังจะเข้าไปทำเลย 

เพราะนั้นถ้าไม่เริ่มตั้งแต่การฟัง ไม่เข้ามาฟัง ไม่มีทางเลย ...แล้วเดี๋ยวนี้คนฟังธรรม หรือคนฟังแร้พ ถ้าให้มันเลือก...กูเอาแร้พดีกว่า ม่วนเลย มันดี ใช่มั้ย ...ฟังธรรมแล้วหลับเป็นแถววว 

ทำไมมันถึงหลับ...มันน่าเบื่อ ทำไมมันถึงน่าเบื่อ...เพราะมันไม่ใคร่ครวญตาม มันก็เลยไม่เห็นในระดับของสมอง จินตาที่จะเกิดความลึกซึ้งแยบคายในระดับจินตา จิตก็ง่วงเหงาหาวนอน เบื่อ หลับซะดีกว่า

แต่เพลงแร้พมานี่ จิตนี่ตื่นเลย ของชอบมัน ของชอบของมัน...มันคือใคร มันคือ "เรา" ..."เรา" คือใคร "เรา" คืออวิชชา ...โคตรกัน มันโคตรเดียวกันนะ 

พอถูกปุ๊บนี่ ถูก "เรา" เลย...ถูกใจเราเลย ถูกใจ “เรา” เลย ...แต่ไอ้วิชชานี่ไม่พอใจ เพราะอวิชชา กับ วิชชา...หรือเหตุที่จะให้ก่อเกิดวิชชานี่ศัตรูกัน อยู่ร่วมกันไม่ได้ 

ต้องเรียกว่าอยู่ร่วมกันไม่ได้นะ ... เมื่อใดมีความสว่าง...ความมืดดับ  เมื่อใดมีความมืดเกิด...ความสว่างดับ ...มันตรงข้ามกัน เพราะนั้นมันกลัวกัน

แต่แรกๆ อวิชชามันแรงกว่า เราจะกลัวธรรม เรากลัวปัญญา เรากลัวการที่จะระลึกรู้ การอยู่กับรู้ ...กลัว กลัวว่าอยู่แล้วไม่ได้ประโยชน์ ถ้าอยู่ในความมืดแล้วมันได้อะไรตั้งหลายอย่าง 

ทำก็ได้ คิดก็ได้ ทำตามความคิดก็จะได้ตามความคิด ...ถึงแม้จะไม่ได้ เดี๋ยวกูก็คิดใหม่ก็ได้ ในแง่ใหม่ มุมใหม่ ทำอย่างใหม่ ...แน่ะ มันก็ยังบอก ยังมีผลอ้างอิงแล้วก็ยอมรับได้ มันเชื่อๆๆๆ ว่าได้ผล 

คือมักง่ายไง  จิตนี่มักง่าย อะไรง่ายๆ...ชอบ สะดวก...ชอบ เร็วๆ...ชอบ ฟาสต์ฟู้ด แดกด่วน ...แต่อะไรที่ลึกซึ้งเข้ามา แล้วก็ต้องรอ ...ไม่เอาอ่ะ คงไม่ได้อ่ะ คงไม่มีจริง ...ปัดเลย 

อวิชชามาเลย ปัดออก ปัดมรรคออกเลย ปัดวิถีแห่งมรรคออกเลย ปัดการดำเนินอยู่ในองค์มรรคออกเลย ...ถึงบอกไง ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์นะ แล้วอ่านเองนะ เฮ่อ 

เราต้องบอกว่า เฮ่อ มึงไปอ่านเหอะ มันก็เป็นแบบ...“เดี๋ยวกูก็นอน นอนทำก็ได้” แน่ะ “เดี๋ยวให้แก่หน่อยค่อยทำก็ได้  เดี๋ยวเวลานั้นน่ะเดี๋ยวก็จริงจังขึ้นมาเองแหละ” ...นั่นแหละตัวของมัน มันจะบอกอย่างนั้น 

ก็ต้องอาศัยหลัก ครูบาอาจารย์เป็นหลัก แล้วก็เข่นๆๆ มันไป ...วันก่อนมีคนมาฟัง ฟังเสร็จบอก "ผมฟังอาจารย์นี่ มันแปล๊บเข้าไปถึงจิตผมเลย อาจารย์นี่ใส่อารมณ์จริงๆ นะ มันแปล๊บ กระเทือนวาบเลย" 

เราบอกว่า...มันไม่กระเทือนอย่างเดียว มันกะเทาะด้วยนะ ...นี่ ครูบาอาจารย์ เป็นธรรมที่มันเสียดแทงใจ เสียดแทงเข้าไปถึงใจ

ทำไมถึงเสียดแทงถึงใจ ...ไอ้ที่มันรู้สึกกระเทือนออกนั่นน่ะ กิเลสมันกระเทือน ...แค่แยก ยังไม่หลุดหรอก ...แค่แยก เดี๋ยวมันก็สมานกันใหม่ 

ถ้ายังไม่หาร่มเงาของตัวเองด้วยศีลสมาธิปัญญา เดี๋ยวมันก็รวมสมานเข้ามา ...แต่มันถูกแรงกระแทกเข้าไปให้แยกออก แค่นั้นเอง ผิวๆ

เพราะนั้นว่า ธรรมเป็นเรื่องของปัจจัตตัง จำเพาะ...ต้องทำเอง ...ศีลสมาธิปัญญาแบ่งให้ไม่ได้เลย 

จะให้มีจนล้นสามโลกธาตุก็แบ่งให้ไม่ได้ ...เพราะมันเป็นสมบัติจำเพาะกายจำเพาะจิตผู้ปฏิบัตินั้นๆ เลย...ต้องทำ ต้องเจริญขึ้นเอง เป็นปัจจัตตัง

ครูบาอาจารย์ก็จะค่อยๆ หมดลงไป เหมือนร่มเงาในโลกก็จะล่ม ล้มๆๆ ล้มตึงๆๆ ไป ...แล้วพวกเราเกิดใหม่สมัยหน้าก็...มองหาครูบาอาจารย์ เหมือนตามองดูต้นไม้นี้ เรายังมองดูเห็นด้วยตาอย่างนี้ 

ต่อไปอีกสักพันสองพันปีข้างหน้า เราจะมองหาครูบาอาจารย์นี่ เหมือนมองจุลินทรีย์ คือมองด้วยตาเปล่าไม่เห็นแล้ว ...ตอนนี้ยังพอเห็นว่ามีๆๆๆ มันยังพอเห็นอยู่ ...ต่อไปนี่ยิ่งกว่าจุลินทรีย์อีก 

อยู่ไหนๆ วิ่งตามหายังไม่เจอเลย มีก็น้อย แถมคนที่มีก็ต้องอยู่ด้วยภาวะที่ไม่เปิดเผยตัวเองด้วยกาลทั้งปวง...ไม่รู้ล่ะ ท่านจะมีความปัจจัตตังจำเพาะว่าสมควรแต่ธรรม ไม่สมควรแต่ธรรมอย่างไร

อันนี้เป็นเรื่องที่มันหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย โลกมันเป็นอย่างนี้ กิเลสมันเป็นอย่างนี้ ...กิเลสมันเต็มเลย มันจะสุมเท่ากับเขาหิมาลัยเลยมั้งถ้าเปรียบเทียบกับตอนนี้ 

ตอนนี้มันยังอยู่ในระดับกลางๆ แต่มันกำลังก่อตัวขึ้น แล้วก็เข้าไปสิงสู่อยู่ในจิตมนุษย์มากขึ้น ...จริงๆ ไม่ใช่อะไร นี่ เราพูดเปรียบเทียบให้เท่านั้นเอง

แต่จริงๆ จิตมนุษย์น่ะเป็นผู้ที่หมักหมมขึ้นโดยปริยาย จนเทียบกันสูงสุดเท่ากับหิมาลัยน่ะ ...นั่นน่ะคือยุคที่ศาสนาจบแล้ว พระอริยะก็อยู่ที่ไหนก็ไม่รู้

แต่มีนะ มีจนถึงห้าพันปีน่ะ...ไม่หมด หมดไปพร้อมกับศาสนาหมด ...แต่ผู้ปฏิบัติก็ยังมี พระอริยะก็ยังมี แต่ว่ามีอยู่ที่ไหนก็ไม่รู้นะ 

ไม่มีใครรู้หรอก เป็นเรื่องของท่านเองแล้ว แล้วอย่านึกว่าจะไปหาฟังธรรมจากท่านได้...ไม่มีทาง ถ้าไม่ได้เป็นซัมธิ้งเอลฟ์ซึ่งกันและกันจริงๆ นะ ...มันจะต้องเป็นอย่างนั้นนะ

ซึ่งบอกแล้วว่า อย่าไปถึงวาระนั้นเลย เอาให้เกิดตายซักในร้อยปี-ห้าร้อยปีข้างหน้านี้ก็พอแล้ว พอให้มันลุล่วงไป ...เพราะนั้นเวลาที่ยังเหลืออยู่นี่ ก็ใช้ให้มันคุ้มค่าทุกลมหายใจเข้าออก ให้ได้มากที่สุด 

เราไม่ได้บอกว่าตลอดเวลาหรอก ไอ้ตลอดเวลานั่นก็ให้มันเป็นไปเอง แต่ว่าให้มันมีประโยชน์ที่สุด ด้วยการทำ...ที่ว่ามันไม่ได้ยากจนเกินกำลัง การรู้ตัวนี่

เราไม่ได้บอกว่าให้ไปนั่งข้ามวันข้ามคืน เราไม่ได้บอกว่าให้ไปเดินจงกรมทั้งวัน ...สมัยเรายังยากกว่านี้อีก ใช่ป่าว สมัยเราทำนี่ ...ยากจะตายห่า 

เพราะเราไม่รู้เลยว่าทำอย่างนี้ได้เหรอ แล้วเราไม่เชื่อด้วยว่าทำได้ ...ต้องลองทำน่ะ ก็ต้องทำจน จะบ้าตาย ทรมานก็ทรมาน ทุกข์ก็ทุกข์ ...ถึงบอก มันไม่ได้เกินกำลังของทุกคน 

แม้แต่ยืนเดินนั่งนอน การทำงาน การอยู่ในหน้าที่การงานก็มียืนเดินนั่งนอน หรือว่ามันไม่มียืนเดินนั่งนอน หรือมันไม่มีอิริยาบถในงาน ในกิจกรรมภายนอกหือ ...มันก็มีนี่


(ต่อแทร็ก 9/32  ช่วง 3)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น