วันเสาร์ที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2560

แทร็ก 9/34



พระอาจารย์
9/34 (560112A)
12 มกราคม 2556


พระอาจารย์ –  ธรรมปฏิบัติในยุคสมัยนี้ ที่มันเหมาะที่สุดน่ะ ปฏิบัติแล้ว เกิดความรู้ความเข้าใจได้ด้วยตัวเอง โดยไม่สงสัย แล้วก็ไม่หลงทางนี่...ง่ายๆ ไม่มีอะไรเกินมหาสติหรอก คือสติปัฎฐานสี่นั่นเอง

มันไม่เหมือนกับการปฏิบัติธรรมในสมัยแต่ก่อน การเข้าถึงมรรค การเข้าถึงผลนี่ มันมีหลากหลายวิธีการ แล้วก็ทำได้ด้วย ...แต่ในสมัยนี้มันยาก ไม่ใช่ไม่ได้...แต่มันยาก 

เพราะจริตสันดานของคนในยุคนี้ ตั้งแต่เกิดมานี่ มันรับรู้ รับทราบ รับจำ อะไรที่มันเกินจริงมาก จนถึงมากที่สุด ...ถ้าพูดถึงว่าคนสมัยแต่ก่อนมาฟังนี่จะไม่รู้เรื่องเลย มันจะคุยกันไม่รู้เรื่อง 

เปลือก การรู้ การคิด การจำนี่ มันล้ำเกินจริง ...เพราะนั้นสิ่งที่มันเก็บ ที่มันฝังไว้นี่ ในสัญญา ในความจำได้หมายรู้นี่ มันละเอียดในความปรุงแต่งของกิเลสสังขาร 

นั่น มันยากต่อการที่เลิกละเพิกถอนด้วยอำนาจของเจโตวิมุติ หรือเจโตกึ่งปัญญาวิมุติ ...เพราะไอ้ความรู้เกินจริงนี่ เวลามันรู้ เวลามันทราบ เวลามันเข้าไปเสพเข้าไปเสวยแล้วนี่...มันไม่ยอมทิ้ง มันทิ้งได้ยาก 

เพราะมันมีรสชาติ...รสชาติที่พอใจ พอดีกับกิเลสความต้องการ ความอยาก ความปรารถนา ...เพราะนั้นไอ้การที่มันจะสำรวมจิตให้สงบ ด้วยอุบายใดอุบายหนึ่งนี่ ...มันจึงไม่สามารถทำได้ ทำได้ก็ได้เล็กน้อย 

นั่นไม่เพียงพอต่อการจะน้อมนำเอาความสงบนั้นไปเป็นรากฐานของการพิจารณา ...กระทั่งทำความสงบในรูปแบบนั่งสมาธิเดินจงกรมยังยาก เพราะมันไม่สามารถจะรวมจิตให้เป็นหนึ่งได้ด้วยอุบาย

เพราะงั้นการปฏิบัติในยุคหรือในคนสมัยนี้ และสมัยหน้าและสมัยต่อๆ ไปนี่  จึงต้องมาเน้นอยู่ที่สติปัฏฐานให้มากที่สุด ...คือการฝึกสติ แล้วก็ใช้ชีวิตไปตามปกติวิสัย 

ทำหน้าที่การงานยังไง ยืนเดินนั่งนอน กิจกรรมภายนอกอย่างไร ก็ไม่ต้องไปปรับเปลี่ยนแก้ไขกับมันมากจนเกินไป เพียงแต่ว่าระลึกรู้บ่อยๆ ในอาการปัจจุบันนั้นๆ

ว่ากำลังทำอะไร กำลังอยู่ในเหตุการณ์ไหน มีความรู้สึกอย่างไร นี่ ...ด้วยการที่ทำอย่างนี้ แล้วก็พากเพียรที่จะฝึกความระลึกรู้กับตัวเองบ่อยๆ ...มันจึงจะเป็นรากฐานในการดำเนินไปในองค์มรรค 

อย่าใจร้อน อย่าใจเร็ว เพราะความคิดน่ะมันล้ำ มันล้ำยุคล้ำสมัยเกินไป ...อะไรๆ มันได้มาแบบรวดเร็ว มักง่าย จนเคยชิน จนติดเป็นนิสัย 

พอมาเริ่มภาวนา การกำหนดระลึกรู้ ผลยังไม่ทันปรากฏ มันก็จะเอาไวๆ ...ถ้าไม่ได้ก็เริ่มท้อถอยบ้าง พาลบ้าง หาว่าไม่ได้ผลบ้าง ...จิตมันไว มันคุ้นเคยกับอะไรที่ได้มาง่ายๆ 

สมัยนี้อะไรมันได้มาง่ายทั้งนั้น ภายนอกน่ะ ...แค่นึกคิด แค่ต้องการ มันก็หยิบโทรศัพท์ หยิบมือถือ มันก็ได้ดิลิเวอรี่มาถึงที่ส่งถึงบ้าน อะไรอย่างนี้ ...มันไว 

จะไปไหนมาไหนก็รวดเร็วทันใจ ไม่ติดไม่ขัด สะดวกสบาย เลยติดเป็นนิสัย ...พอมาเริ่มภาวนามันก็ติด จะเอาแบบเร็วๆ สบายๆ เหมือนที่คุ้นเคย 

เพราะนั้นสิ่งที่มันจะขาดสำหรับผู้เริ่มภาวนาในยุคนี้ก็คือ ขาดความเพียร ความหมั่น ความขยัน ในการที่จะฝึกตัวเอง ฝึกการรู้อยู่กับตัว...เรียกว่ารู้ตัว นั่นแหละ ก็คือตัวสตินั่นเอง

ถ้ามีความเพียร ไม่ท้อไม่ถอย สมาธิปัญญามันเกิดขึ้นได้ ในทุกที่ ทุกสถาน ทุกเวลา...โดยไม่เลือก ไม่เลือกท่านั่ง ไม่เลือกท่ายืน ไม่เลือกสถานที่ 

มันก็จะสามารถตั้งได้ตามเหตุอันควรแห่งศีล แห่งสติ...ที่ถึงพร้อมในระดับนั้นๆ ...ไม่ได้ตั้งขึ้นได้ด้วยความอยาก ไม่ได้ตั้งขึ้นได้เพราะคิดเอาเอง ไม่ได้ตั้งขึ้นเพราะคนอื่นเขาบอก...ไม่ใช่ 

มันตั้งตามเหตุแห่งศีลแห่งสติ ...ถ้าประกอบเหตุแห่งศีลแห่งสติในปัจจุบันนี่มากเพียงพอ จิตจะตั้งมั่นขึ้นไปตามลำดับเอง 

แต่อาจจะช้า ...ไอ้ที่มันช้าก็เพราะว่าทำน้อย ปล่อยปละละเลยมาก ...ความอยากมาก คิดมาก เรื่องมาก มากเรื่อง...เนี่ย พวกนี้ 

ถ้ามันตกอยู่ในอาการนี้ “มาก” เท่าไหร่ หรือเข้าไปมีเจตนาอยู่ในอาการเหล่านี้มากขึ้นเท่าไหร่ ...ผลแห่งสมาธิปัญญาก็น้อยลงเท่านั้น ...อันนี้คือหลักตามความเป็นจริง มันเป็นหลักอย่างนี้ 

ไม่ว่ายุคสมัยไหนก็ต้องอยู่ในหลักนี้ ประกอบเหตุเช่นใด...ผลได้อย่างนั้น ...ประกอบเหตุแห่งมรรค ประกอบเหตุแห่งศีล ประกอบเหตุแห่งสติ...ผลก็ได้เป็นจิตตั้งมั่น จิตเป็นสมาธิ 

ประกอบเหตุแห่งอวิชชาตัณหาอุปาทาน...จิตก็ฟุ้งซ่าน ล้มเหลว เหลวไหล เหลาะแหละ โลเล ขุ่นมัว เศร้าหมอง มีกิเลส...มาก ใหญ่ น้อย...ตามออกมา ไม่จบไม่สิ้น

นี่ ธรรมทั้งหลายทั้งปวงมันขึ้นอยู่กับเหตุ  ธรรมทั้งหลายทั้งปวงขึ้นอยู่กับการประกอบเหตุของสัตว์บุคคลนั้นๆ ...แต่มันมักจะเชื่อความคิดของตัวมันเองน่ะ 

เนี่ย คิดดีแล้ว วิเคราะห์ดีแล้ว คิดเองเออเอง เข้าใจเอาเอง...ก็ว่ามันน่า...มันน่าจะเป็นอย่างนั้น มันไม่น่าจะเป็นอย่างนี้ ...มันก็ตายอยู่กับความคิดนั้นไป 

จิตมันก็ไม่บังเกิดอะไรเป็นมรรค อะไรเป็นผลขึ้นมา ไม่เกิดความรู้ความเข้าใจชัดเจนในตัวขันธ์ ตัวกาย ตัวจิตปัจจุบัน ตัวสิ่งแวดล้อมรอบตัวเองรอบขันธ์

อดทน ขยัน สร้างนิสัยระลึกรู้อยู่กับตัวบ่อยๆ  ไม่อ้างกาล ไม่อ้างเวลาสถานที่ ไม่อ้างหน้าที่การงาน ไม่อ้างธุระปะปัง ...คือถ้าตั้งใจฝึกน่ะมันฝึกได้ จิตน่ะ มันก็ไม่ใช่ว่าดื้อด้านหรือว่าดื้อดึงจนเกินวิสัย

แต่ที่มันไม่ค่อยได้มรรค มันไม่ค่อยได้ผลกันนี่ ...เพราะมันไม่ทำ มันไม่ประกอบเหตุแห่งศีลแห่งสมาธิขึ้นมา มันไม่ประกอบเหตุแห่งองค์มรรคขึ้นมาเท่านั้นเอง

ถ้าสัตว์ในโลก บุคคลในโลก ขยันหมั่นเพียรในการประกอบเหตุแห่งศีลสมาธิปัญญา ...พระอริยเจ้า มรรคผลนิพพานนี่ ไม่อดไม่อยากหรอกในโลกนี้

แต่พอมันยิ่งอยู่ในโลกนี้มานาน เกิดตายๆ มานาน ...เทคโนโลยี ความคิดความปรุงแต่ง ความซับซ้อนของความคิด ความซับซ้อนของอารมณ์ มันมีเหตุปัจจัยประกอบมาก

ความละเอียดแห่งความปรุงแต่งให้เกิดความซับซ้อนของเวทนาทั้งหลายทั้งปวงมันมาก ...มันเลยฉุดลาก มันเลยรั้ง มันเลยดึง มันเลยเหนี่ยว มันเลยเข้ามาเกาะกุม จนไม่ต้องมาทำมาหากินในองค์มรรคแล้ว

เนี่ย อยากเกิดมาช่วงนี้ทำไม ...ก็มันโง่ ก็มันขี้เกียจ ก็มันไม่ขยันหมั่นเพียรในการทำความรู้ความเข้าใจ ประกอบกระทำในเหตุแห่งมรรคทั้งหลายทั้งปวง

อย่าปล่อยให้มันโง่ซ้ำซาก หลงซ้ำซาก อยู่ในอาการเดิมๆ ซ้ำซาก วนไปเวียนมา ซ้ำซากอยู่ในความคิด ซ้ำซากอยู่ในเรื่องราวต่างๆ นานา ...ทั้งในอดีต ทั้งในอนาคต 

เพ้อฝัน เพ้อเจ้อ ไม่มีสาระ เสียเวลา หมดเวลาไปเปล่าๆ ปลี้ๆ พร้อมกับชีวิตที่ดับไปทุกขณะ ...สุดท้ายก็หมดอายุขัยไป ไม่มีสาระคุณค่าในการเกิด ในการดำรงชีวิต ในชาตินั้นๆ ไปเลย

อย่าให้เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่าเป็น โมฆะบุรุษ โมฆะสตรี ...นี่ ไม่ต้องแข่งกันเป็น เพราะแปดพันล้านคนในโลกนี่ มันเป็นอย่างนั้นกันเยอะแล้ว โมฆะบุรุษ โมฆะสตรีนี่ 

อย่าไปเพิ่ม อย่าไปรันนิ่งนัมเบอร์กับเขา ลูกหลานชาวพุทธน่ะ พุทธมาตั้งแต่เกิด...แต่จิตมันยังไม่เป็นพุทธ มันยังเข้าไม่ถึงพุทธะ ยังเข้าไม่ถึงธรรมะ ยังเข้าไม่ถึงสังฆะ

แล้วเมื่อไหร่มันจะเข้าได้สักที ...นี่ มาเดินดอยก็เข้าไม่ได้ มาทรมานตรากตรำก็เข้าไม่ได้ ถ้าไม่ประกอบกระทำอยู่ภายในกายวาจาจิตของตัวเจ้าของนั้น 

แต่ว่าการมาขึ้นดอย มาอดอยากทุรกันดารนี่ มันเป็นอุบายอย่างหนึ่ง...สำหรับไอ้พวกที่เกิดมาไม่เคยลำบากเลยน่ะ มันจะได้รู้จักว่าเหตุแห่งกาย เหตุที่ปรากฏแห่งกาย ที่เรียกว่าทุกข์

เมื่อถึงเหตุแห่งกายที่เป็นทุกข์ปรากฏนี่...ไม่มีใครช่วยได้ แม้แต่ตัวเอง ...หนีก็ไม่ได้ แก้ก็ไม่ได้ 

คือถ้ามันอยู่ในเมืองมันก็จ้างรถไปส่งบนยอดดอยแล้ว ...แต่เผอิญมันมาอย่างนี้ มันไม่มีรถไปส่ง มีแต่สองตีนสองมือ มันก็ต้องทนเดินไป...ด้วยภาวะจำยอม ด้วยภาวะที่เป็นภาคบังคับ ตามสถานการณ์

แต่จริงๆ น่ะ มันเป็นการเรียนรู้เรื่องขันธ์ การเรียนรู้เรื่องความเป็นจริงของกายอย่างหนึ่ง 

คือถ้าเป็นครูบาอาจารย์สมัยก่อนนี่ ท่านเรียนรู้เรื่องขันธ์ หรือว่าท่านจะเห็นว่าขันธ์มันเป็นทุกข์อย่างไรนี่ กายเป็นทุกข์อย่างไรนี่ ท่านนั่งกันทั้งวันทั้งคืนน่ะ 

ท่านนั่งสมาธิ เดินจงกรมข้ามวันข้ามคืน สามวันสามคืนไม่หยุดน่ะ ท่านทำได้ ท่านบังคับตัวเองให้ทำในรูปแบบนั้นได้ ...เพื่อจะให้เห็น ให้เข้าใจ...โดยไม่ทิ้ง โดยไม่ท้อ โดยไม่หนี โดยไม่เลิก

แต่ถ้าลำพังพวกเราให้ไปทำอย่างนั้นน่ะ...ไม่เกินครึ่งชั่วโมง ...ต่อให้ตั้งสัจจะแข็งแกร่งขนาดไหนก็เอาไม่อยู่ เพราะทนต่อสภาพทุกข์ที่บีบคั้นนั้นไม่ได้ 

แล้วปัญญาที่เกิดขึ้นจากความคิดความปรุงน่ะ มันก็บอกว่าเลิกซะดีกว่า นี่ คิดครั้งแรก...ไม่ตาม สองครั้ง...ยังไม่ตาม สามครั้ง...เริ่มขยับ สี่ครั้ง...เริ่มยกขาออก ห้าครั้ง...กูลุกดีกว่า

ใจนี่...ความอดทน ความตั้งมั่น ความขันตินี่...มันน้อย ...เพราะนั้นการเดินดอย การที่มาขึ้นดอยลูกนั้นลงลูกนี้ ...มันก็จะได้รู้จัก ก็จะได้เห็นซะบ้าง

ว่ากายนี้...ที่เคยอยู่ห่มผ้าให้มันสบาย เวลาหิวก็หาอะไรให้มันกินอย่างสบาย เวลาสกปรกเลอะเทอะ ก็อาบน้ำเช็ดตัวให้มันอย่างสบาย

แต่เมื่ออยู่ในสถานการณ์อย่างนี้ มันทำอย่างนั้นไม่ได้ ...ทำอย่างที่เคยทำ อย่างที่เคยเข้าไปแก้ ทุกวี่ทุกวันน่ะ เนี่ย เห็นมั้ย มันทำไม่ได้ในสถานการณ์อย่างนี้

ถ้าน้อมด้วยปัญญาก็จะเห็น ความเป็นจริงในแง่มุมหนึ่งของกาย...ว่ากายนี้เป็นทุกข์ ด้วยตัวของมันเอง ...เมื่อเหตุแห่งกายที่เป็นทุกข์ปรากฏ ไม่สามารถจะควบคุมแก้ไขได้ ...มันไม่ฟัง มันไม่เชื่อ 

มันไม่ได้อยู่ในอำนาจของเรา มันไม่ได้อยู่ในอำนาจของใคร มันไม่ได้อยู่ในอำนาจของความอยาก มันไม่ได้อยู่ในอำนาจของความไม่อยาก ...มันเป็นอิสระของมันตามเหตุและตามปัจจัย...อย่างนี้ต่างหาก

คือถ้าให้มันอยู่บ้านตามลำพัง มันไม่มาเห็นหรอก ...มันไม่ยอมให้กายนี้เป็นทุกข์เลยน่ะ มันทนไม่ได้ นิดนึงก็ทนไม่ได้ ยุงกัดรีบตบเลย หนาวนิดหนาวหน่อย ห่มผ้าทันที 

มันเลยรู้สึกว่ากายนี้ ไม่เห็นมันเป็นทุกข์ยังไง เพราะมันแก้ได้ทุกครั้งไป ...ความถือเนื้อถือตัว ความถือตัวถือตน ความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ ความเข้าใจในตัวจิตหรือ "เรา" ที่ว่าสามารถควบคุมทุกข์ในกายนี้ได้ 

ซึ่งมันขัด...มันขัดกับความเป็นจริง ขัดกับความเป็นจริงที่มีมาตั้งแต่ตั้งฟ้าตั้งแผ่นดินเลย ว่ากายนี้เป็นทุกขสัจ ว่ากายนี้เป็นไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ...มันขัดโดยสิ้นเชิงเลย

จะไปรู้อีกทีก็ใกล้ตาย กำลังจะตาย หมอรักษาไม่ได้ กินยาก็ไม่หาย ฉีดยาก็ไม่ดีขึ้น ...แต่พอถึงจุดนั้นน่ะทำอะไรไม่ได้แล้ว 

ปัญญาสักกระผีกลิ้นที่จะทำความรู้ความเข้าใจ และยอมรับกับสภาพนี้ด้วยความเป็นกลาง มั่นคง ยอมรับ...หาไม่ได้ตรงนั้นแล้ว ทำให้เกิดขึ้นตรงนั้นไม่ได้แล้ว 

ก็จะตายไปพร้อมกับความทุรนทุราย ไม่ยอมรับ ไม่ยอมเข้าใจ ไม่ยอมในอาการที่มันกำลังแสดงตามความเป็นจริงของเขา...ซึ่งไม่ใช่ของเรา

เขาเรียกว่าไปรู้ตอนที่มันสายเกินไปแล้ว ทำอะไรไม่ได้แล้ว ...ศีลก็ไม่มี สมาธิก็ไม่มี ปัญญาญาณทัสสนะ ปัจจัตตัง ความรู้ความยอมรับ ความแจ้งในขันธ์ในกาย ในอริยสัจสี่...ไม่มีเลย

ก็ตายไปแบบโง่ๆ  แล้วก็ไม่จบ  ก็เกิดมาใหม่...แบบโง่ๆ อีกครั้ง ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ...มันไม่รู้หรอก ไม่มีใครเชื่อหรอก...ตอนนี้ก็ไม่เชื่อ ใช่มั้ย แล้วก็ตายแล้ว...ก็ลืม 

เกิดมาก็ไม่รู้ว่าเกิดมาจากไหน มันก็คิดว่าชีวิตมีแค่เดี๋ยวนี้ขณะนี้เท่านั้นแหละ ...เห็นมั้ยว่าความโง่ความไม่รู้นี่มันปิด...มันปิดบังสัจจะความเป็นจริงทั้งหลายทั้งปวง 

จนไม่สามารถจะเปิด เบิกเลิกความไม่รู้ความไม่จริงทั้งหลายทั้งปวงออกจากขันธ์ออกจากโลกได้ เพื่อให้เกิดความรู้ชัดเห็นชัดตามความเป็นจริง ...แล้วก็ยังปล่อยปละละเลย ทำอยู่ในอาการเดิมซ้ำซากๆ 

จนเป็นนิสัย อนุสัยภายใน...ไม่กลัวตาย ไม่กลัวเกิด ...มันก็ขยันเกิดแล้วก็ขยันตาย เพราะมันไม่กลัวตายไม่กลัวเกิด มันไม่รู้จะกลัวไปทำไม ...เพราะมันรู้สึกว่าสบายดี มีความสุขดี

อยากได้อะไรก็หาทำได้ อยากเห็นอะไรก็พามันไปเห็นได้ อยากรู้อะไรก็พาไปหยิบหนังสือ เปิดคอมเปิดอินเตอร์เน็ท ...มันก็ได้ดั่งใจฉับไวทันด่วน 

ก็ไม่เห็นมันจะเป็นเรื่องเดือดร้อนแต่ประการใด...ในการดำรงคงอยู่ของกาย หรือการมีกายนี้ ...มันกลับว่าดีซะอีก กลับใช้งานได้ตั้งหลายอย่าง

นี่ ความไม่รู้มันปิดบังหมดน่ะ แล้วก็ดูเหมือนว่า...ไม่มีอะไรผิดเลยในการเกิดมา ในการมีชีวิตอยู่ ...นั่นน่ะ มันจึงตกอยู่ภายใต้ความประมาทมัวเมา ลุ่มหลง เพลิดเพลิน 

เหมือนไม่สำนึก เหมือนไม่มีสำนึกตามความเป็นจริงว่าการเกิดนี้เป็นทุกข์ การเจ็บไข้ได้ป่วยนี้เป็นทุกข์ การพลัดพรากจากสิ่งรักสิ่งหวงเป็นทุกข์ การได้เจอสิ่งที่ไม่ชอบคอพอใจเป็นทุกข์ 

การตายเป็นทุกข์ การเจอเหตุการณ์ต่างๆ ในโลกที่ไม่ได้ดั่งใจเป็นทุกข์ เจอการข้องแวะเกาะเกี่ยวกับสัตว์บุคคล ทั้งที่พอใจทั้งที่ไม่พอใจก็เป็นทุกข์

นี่ มันไม่สำนึก...จิตผู้ไม่รู้ไม่เคยสำนึก ว่าตั้งแต่เกิดมาจนวันตายน่ะ มันมีแต่เรื่องทุกข์ทั้งสิ้น ตั้งแต่ตัวมันออกไป ตั้งแต่ภายนอกเข้ามา ...นั่น พระพุทธเจ้าท่านจึงเรียกว่า จิตผู้ไม่รู้

มันไม่รู้อะไรเลย แต่มันเข้าใจว่าตัวมันน่ะยิ่งใหญ่ ทุกอย่างที่มันรู้น่ะถูกหมด ใช่หมด จริงหมด ...จริงจนถึงขั้นปฏิเสธศีลสมาธิปัญญาที่พระพุทธเจ้าตรัสแนะนำ ชี้แนะ บอกกล่าว 

นั่น มันเต็มไปด้วยความอหังการ ไม่นอบน้อมต่อธรรมที่ปรากฏ ...สัตว์มนุษย์เหล่านี้ที่เกิดมา ถือว่าเกิดมาบนความสิ้นหวัง หมดความหวัง...นี่แหละที่พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า โมฆะบุรุษในการเกิด


(ต่อแทร็ก 9/35)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น